Q4 ปี 65 ค้าชายแดนเมียนมา-บังคลาเทศ ทะลุ! 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

จากข้อมูลของหอการค้ารัฐยะไข่ ของเมียนมา เผย ไตรมาสที่ 4 (ตุลาคม-ธันวาคม) ปี 2565 มูลค่าการส่งออกของเมียนมาผ่านชายแดนเมียนมา-บังกลาเทศ อยู่ที่ 5.58 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ประกอบด้วยชายแดนซิตเวย์และหม่องดอ ซึ่งเป็นการส่งออกสินค้าประมงเป็นหลัก เช่น ปลายี่สกเทศ ปลาตะลุมพุกฮิลซา และปลากะตัก ส่วนสินค้าเกษตร และสินค้าอุปโภคบริโภค มีการส่งออกบ้างเล็กน้อย นอกจากนี้ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 เมียนมาได้ส่งออก ข้าวพันธุ์ Emata จำนวน 2,500 ตัน ไปยังบังกลาเทศผ่านท่าเรือซิตเวย์ อีกด้วย

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-ships-5-mln-worth-of-exports-in-q4-2022/#article-title

“สปป.ลาว” เผยพัฒนาระบบการผลิตข้าว ด้วยเครื่องจักรทันสมัย

การก่อสร้างสะพาน ถนนและการติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าที่เร่งจัดหาเครื่องจักรที่ทันสมัย เพื่อใช้ในการเพาะปลูกข้าวในฤดูฝนและฤดูแห้งแล้ง เครื่องจักรดังกล่าว ใช้เพื่อปลูกเมล็ดพันธุ์ข้าวบนพื้นที่ 350 เฮกตาร์ในแขวงมูลปาโมกข์ แขวงจำปาสัก เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา นางปานี ยาท่อต (Mrs Pany Yathotou) รองประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และผู้ว่าการจังหวัดจำปาสัก ได้เข้ามาเยี่ยมชมกิจการ ระบบการเพาะเมล็ดแบบใช้เครื่องจักรช่วยประหยัดแรงงาน ประหยัดต้นทุน และเมล็ดกระจายลงดินอย่างเหมาะสม

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten2023_Modern13.php

การค้าระหว่างกัมพูชา – RCEP แตะ 3.1 หมื่นล้านดอลลาร์

มูลค่าการค้าระหว่างกัมพูชากับประเทศในกลุ่มสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) มีมูลค่ารวมถึง 3.1 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2022 เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการรายงานของกระทรวงพาณิชย์ โดยรายงานระบุว่าการส่งออกของกัมพูชาไปยังกลุ่มประเทศ RCEP มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 6.34 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 ขณะที่การนำเข้าจากประเทศสมาชิก RCEP มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 24.68 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ซึ่งรายงานเสริมว่าประเทศคู่ค้าหลัก 5 อันดับแรก ภายใต้ RCEP ได้แก่ จีน เวียดนาม ไทย สิงคโปร์ และญี่ปุ่น โดยข้อตกลงการค้าเสรี RCEP เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2022

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501221471/cambodias-trade-with-rcep-countries-hit-31-bln-last-year/

คาดเศรษฐกิจกัมพูชาเติบโตแม้จะได้รับผลกระทบจากโควิด-19

แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก รวมถึงกัมพูชาจะยังคงอยู่ในความไม่แน่นอน ในขณะเดียวกันทางการกลับประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจว่าจะมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง กล่าวโดย Ky Sereyvath นักเศรษฐศาสตร์และผู้อำนวยการของ Chinese Academy of Sciences of the Royal Academy of Cambodia ในขณะที่ธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) คาดการณ์ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ที่ประมาณร้อย 6 ในปี 2023 โดยนักเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาขึ้นอยู่กับปัจจัยหลัก 6 ประการ ได้แก่ ปัจจัยทางการเมืองในประเทศ การกลับมาของการท่องเที่ยว การจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของประชาชน ปัจจัยนโยบายการคลังของรัฐ และปัจจัยด้านสถานการณ์ค่าเงินเรียลเทียบกับดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501221877/cambodias-economy-to-grow-despite-volatility-of-covid-19/

“เวียดนาม” กลายเป็นแหล่งลงทุน 5 ชั้นนำของโลก สำหรับธุรกิจยุโรป

สภาหอการค้าสหภาพยุโรปในเวียดนาม (EuroCham) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีบรรยากาศทางธุรกิจ (Business Climate Index: BCI) ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 อยู่ที่ระดับ 48.0 ต่ำกว่าฐานดัชนี และปรับตัวลดลง 14.2 จุด เมื่อเทียบกับ 3 เดือนที่แล้ว อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจเวียดนามขยายตัวมากกว่า 8% ในปี 2565 แต่ว่าจะยังคงเผชิญกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก การปรับขึ้นดอกเบี้ย ภาวะเงินเฟ้อสูงขึ้นและความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่อ่อนแอ ทั้งนี้ นาย Alain Cany ประธานสภาหอฯ กล่าวว่าสิ่งต่างๆ จะเป็นไปในทิศทางที่เป็นบวกลดลงในไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 เมื่อเทียบกับช่วงต้นปี อย่างไรก็ตาม เวียดนามมีโอกาสที่ดีมากกว่าประเทศคู่แข่งในภูมิภาค เห็นได้ชัดจากสมาชิกของสภาหอฯ ส่วนใหญ่มองว่าเวียดนามเป็นศูนย์กลางของกลยุทธ์การลงทุนระดับโลก

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-remains-top-5-global-investment-sites-for-eu-firms/247155.vnp

9 เดือนของปีงบฯ 65-66 ส่งออกเมียนมา พุ่ง! 14%

กระทรวงพาณิชย์เมียนมา เผย 9 เดือนที่ผ่านมาของปีงบประมาณ 2565-2566 (วันที่ 1 เมษายนถึง 6 มกราคม 2566) เมียนมามีมูลค่าการส่งออก 1.275 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 14% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (2564-2565) ที่มีมูลค่า 1.115 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นผลมาจากการที่จีนผ่อนปรนคลายกฎระเบียบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลายลง ทำให้การส่งออกในภาคการเกษตรเพิ่มขึ้นในปีงบประมาณนี้โดยเฉพาะในด่านชายแดนอย่าง  Mang Wein และ Kyinsankyawt ที่ได้เปิดทำการค้าขายอีกครั้งหลังจากถูกปิดมาเกือบ 3 ปี นอกจากนี้มูลค่าการส่งออกในกลุ่มผลิตภัณฑ์ป่าไม้และปศุสัตว์ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน  ในปัจจุบัน ภาคธุรกิจตัดเย็บเสื้อผ้าแบบ CMP ที่ถือเป็นสินค้าส่งออกหลักของประเทศได้กลับมาเติบโตอีกครั้งหลังเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับแรงงาน ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2565-2566 เมียนมาตั้งเป้าการส่งออกไว้ที่ 1.55 หมื่นล้านดอลลาร์ และนำเข้ามูลค่า 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์  โดยประเทศผู้นำเข้าสินค้าหลักของเมียนมา  ได้แก่ จีน ไทย ญี่ปุ่น และอินเดีย

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/myanmars-exports-up-by-14-over-past-nine-months/#article-title

สปป.ลาว ปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษี หวังเพิ่มรายได้เข้ารัฐบาล

ปัจจุบันภาคธุรกิจใน สปป.ลาว มากกว่า 119,000 แห่ง กำลังใช้ระบบการจัดการภาษีที่เพิ่งเปิดตัวโดยรัฐบาล ซึ่งมีชื่อเรียกว่า TaxRIS โดยคิดเป็นกว่าร้อยละ 87.7 ของธุรกิจที่ได้จดทะเบียนในระบบที่มีจำนวนกว่า 135,789 แห่งในประเทศ ตามการรายงานของกระทรวงการคลัง ซึ่งระบบดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายภาครัฐบาลในการปรับปรุงการจัดเก็บภาษีให้ทันสมัย ผ่านกฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้น หลังฝ่ายนิติบัญญัติและนักเศรษฐศาสตร์มีความกังวลเป็นอย่างมากเกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงการชำระภาษี โดยในปีนี้กระทรวงการคลังได้กำหนดเป้าหมายการจัดเก็บภาษีไว้ที่ 38,448 พันล้านกีบ เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 21.70 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยตัวเลขดังกล่าวคิดเป็นประมาณร้อยละ 16.42 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) รวมถึงรัฐบาลยังได้วางแผนที่จะนำระบบประกาศศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์หรือที่เรียกว่า ASYCUDA และระบบภาษีอัจฉริยะเพื่อลดการหลีกเลี่ยงภาษี ภายใต้ระบบ Lao National Single Window (LNSW) เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten11_Govt_y23.php

CDC อนุมัติ 2 โครงการลงทุนใหม่ในกัมพูชา

สภาเพื่อการพัฒนาแห่งกัมพูชา (CDC) อนุมัติโครงการลงทุนใหม่ 2 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม 20 ล้านดอลลาร์ โดยบริษัทแรก ได้แก่ บริษัท TECHNOMATE (CAMBODIA) TECHNOLOGY CO., LTD. ซึ่งโครงการดังกล่าววางแผนจะจัดตั้ง 1.โรงงานผลิตหลอดไฟแบบพกพา ไฟพลังงานแสงอาทิตย์ วัสดุพลาสติก และอุปกรณ์ซ่อมแซม ภายในเขตพื้นีท่ Svay Rieng Giga Resource SEZ ด้วยเงินลงทุน 10 ล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะสร้างงานให้กับคนในพื้นที่ 750 ตำแหน่ง รวมถึงยังวางแผนจัดตั้ง 2.โรงงานผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า ด้วยเม็ดเงินลงทุน 10 ล้านดอลลาร์ โดยคาดว่าจะสร้างงานให้กับคนในท้องถิ่นกว่า 750 ตำแหน่ง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501221090/cdc-greenlights-two-new-investment-projects/

กัมพูชาคาดนักท่องเที่ยวปี 2023 สร้างรายได้แตะ 4 พันล้านดอลลาร์

กัมพูชาหวังดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ 4 ล้านคน และนักท่องเที่ยวภายในประเทศ 15 ล้านคน ในปีนี้ ซึ่งคาดว่าจะสร้างรายได้ประมาณ 4 พันล้านดอลลาร์ กล่าวโดยกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ในระหว่างการกำหนดแผนจัดแคมเปญ “Visit Cambodia 2023” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวผ่านงานระดับชาติ โดยเฉพาะในโอกาสที่กัมพูชาเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ 2023 และอาเซียนพาราเกมส์ 2023 ซึ่งในปี 2022 กัมพูชาได้ให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 2.2 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2021 ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามายังกัมพูชาเพียง 200,000 คน โดยในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาด กัมพูชาได้ให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 6.6 ล้านคนในปี 2019 สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 4.92 พันล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501220676/cambodia-expects-tourism-generating-4b-in-2023/

ตลาด Food Delivery ในอาเซียนโตเหลือ 5% ในปีที่ผ่านมา อาจทำให้ธุรกิจนี้อยู่ยากขึ้น

Momentum Works บริษัทที่ปรึกษาจากสิงคโปร์ ได้ออกรายงานเกี่ยวกับธุรกิจ Food Delivery ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยชี้ว่าอัตราการเติบโตของยอดขายทั้งหมด (GMV) เหลือเพียงแค่ 5% จากปี 2021 มายังปี 2022 ทำให้มูลค่าตลาดของ Food Delivery นั้นอยู่ที่ 16,300 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับข้อมูล มูลค่าตลาดของ Food Delivery ในอาเซียน ทาง Momentum Works ได้รวบรวมตัวเลขจากผู้เล่นรายสำคัญๆ ในตลาดไม่ว่าจะเป็น Grab และ Food Panda ที่เป็นผู้เล่นรายใหญ่ในละแวกนี้ GoTo ของอินโดนีเซีย LINE MAN Wongnai และ Robinhood ของไทย รวมถึงผู้เล่นรายอื่นๆ ในอาเซียน โดยตัวเลขการเติบโตของ GMV ที่ลดลงในปี 2022 อาจทำให้ตลาด Food Delivery ในอาเซียนนั้นอาจทำธุรกิจได้ยากมากขึ้น ซึ่งในประเทศไทยในปี 2022 ที่ผ่านมาผู้เล่นอันดับ 1 ที่ครองตลาด Food Delivery ได้แก่ Grab มีส่วนแบ่งตลาดมากถึง 54% รองลงมาคือ LINE MAN ที่ 24% และ Foodpanda 16% ขณะที่ Robinhood นั้นมีส่วนแบ่งตลาด 6% และ Shopee Food มีส่วนแบ่งแค่ 3% เท่านั้น ขณะที่มองภาพใหญ่ในอาเซียนนั้น Grab ยังคงครอง GMV มากที่สุดในอาเซียนที่ 54% ขณะที่ Foodpanda อยู่ที่ 19% และ GoTo ที่ 12% ขณะที่ LINE MAN และ Shopee Food นั้นกลับมี GMV รวมเท่ากันในอาเซียนที่ 6% โดยเทรนด์ธุรกิจ Food Delivery ที่ Momentum Works มองในปี 2023 นี้ได้แก่การกลับมาทานอาหารในร้าน เรื่องของ Cloud Kitchen หรือการส่งสินค้าสด ระบบ POS สำหรับร้านค้าที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในปี 2023

ที่มา : https://positioningmag.com/1415760