ราคาข้าวเมียนมาในประเทศ ดิ่งฮวบ!

ศูนย์ค้าส่งข้าววะดาน เผย ราคาข้าวหักในในประเทศราคาร่วงลงอีกครั้งหนึ่ง ระหว่างวันที่ 11 – 15 ก.ค.2565 ราคาข้าวหักที่เคยสูงถึง 35,000 จัตต่อถุง (108 ปอนด์) ราคาลดฮวบเหลือ 28,000 จัตต่อถุงในวันที่ 18 ก.ค.2565  ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ 7,000 จัตต่อถุงภายใน 3 วัน ราคาข้าวปัจจุบันอยู่ในช่วงระหว่าง 31,200 จัตต่อถุง ถึง 55,000 จัตต่อถุงขึ้นอยู่กับสายพันธ์ ตั้งแต่ ไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ 2565-2566 (เม.ย.-มิ.ย.2565) เมียนมาส่งข้าวและข้าวหักกว่า 550,000 ตัน โดยส่งออกทางทะเลกว่า 510,000 ตัน และผ่านชายแดนอีก 33,000 ตัน โดยตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ฟิลิปปินส์, จีน, เบลเยียม, สเปน ฯลฯ ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2563-2564 ที่ผ่านมา เมียนมา มีรายได้กว่า 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากการส่งออกข้าว 2 ล้านตัน

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/broken-rice-prices-fall-again/#article-title

ชาวประมงรัฐยะไข่ มุ่งเลี้ยงหอยนางรม-ปลาเก๋าดอกแดง สร้างรายได้งาม

กรมประมงของรัฐยะไข่ เผย ชาวประมงเริ่มเพาะเลี้ยงหอยนางรมและปลาเก๋าดอกแดง เพื่อส่งขายไปยังย่างกุ้งและเมืองอื่นๆ โดยราคาหน้าฟาร์มจะอยู่ระหว่าง 1,500 ถึง 2,000 จัต ส่วนที่ส่งไปยังโรงแรมและร้านอาหาร ราคาจะขายได้มากกว่า 5,000 จัต ขึ้นอยู่กับการแปรรูป ซึ่งหอยนางรมและปลาเก๋าดอกแดงส่วนใหญ่แล้วจะถูกเพาะเลี้ยงบริเวณป่าชายเลนของรัฐยะไข่ เขตตะนาวศรี และย่างกุ้ง โดยการเลี้ยงปลาเก๋าดอกแดงใช้เวลาประมาณ 6 เดือนจึงสามารถส่งขายได้ ราคาจะอยู่ระหว่าง 15,000-30,000 จัต ทั้งนี้ หอยนางรมและปลาเก๋าดอกแดงส่วนใหญ่มีการเพาะเลี้ยงในเมืองตั่งตแว, กวะ, มานออง, ย่าน-บแย และ เจาะตอ ของรัฐยะไข่

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/rakhine-state-produces-oysters-orange-spotted-groupers-on-commercial-scale/#article-title

H1 กำปอตกัมพูชา สร้างผลผลิตสินค้าประมงแตะ 12,000 ตัน

ครึ่งปีแรกชาวประมงจังหวัดกำปอตสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตสินค้าทางการประมงปริมาณกว่า 12,000 ตัน ด้าน Sar Surin อธิบดีกรมประมง กรมวิชาการเกษตร ป่าไม้ และประมงจังหวัดกำปอต กล่าวเสริมว่า มาจากปลาน้ำจืด 2,300 ตัน และจากปลาน้ำเค็ม 9,803 ตัน โดยจังหวัดกำปอตมีลักษณะทางภูมิศาตร์ติดกับทะเลและแม่น้ำ รวมถึงยังมีโรงเพาะสัตว์น้ำอีกกว่า 15 แห่ง ซึ่งสามารถผลิตปลาได้ถึง 5 ล้านตัว และยังมีสถานที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำประเภทอื่นๆอีกหลายแห่ง ในขณะที่อธิบดี กล่าวเสริมอีกว่าปัจจุบันทางการกัมพูชาได้เร่งอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลอย่างใกล้ชิด และได้ปลูกป่าชายเลนไปแล้ว 29,700 ต้น ใน 8 ชุมชนประมงในจังหวัด เพื่อเป็นการรักษาระบบนิเวศภายในพื้นที่

ที่มา: https://www.khmertimeskh.com/501114704/kampot-clocks-in-more-than-12000-tonnes-of-seafood-yield-in-h1/

จีนเร่งโครงการทางด่วนในกัมพูชา หวังพัฒนาศักยภาพโลจิสติกส์

โครงการทางด่วน พนมเปญ-สีหนุวิลล์ ภายใต้การลงทุนของ บริษัท China Road and Bridge Corporation ซึ่งโครงการก่อสร้างทางด่วนมีระยะทางทอดยาวกว่า 187 กม. โดยโครงการได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างเป็นครั้งแรกในเดือนมิถุนายน 2019 ด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า 2 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งในขณะนี้แล้วเสร็จกว่าร้อยละ 94 และมีกำหนดเปิดให้ทดลองใช้ในเดือนกันยายนปีนี้ โดยทางด่วน พนมเปญ-สีหนุวิลล์ ถือเป็นทางด่วนจากความร่วมมือระหว่างกัมพูชาและจีนภายใต้กรอบ Belt and Road ด้านรัฐมนตรีกระทรวงโยธาธิการและคมนาคมกัมพูชา กล่าวว่า โครงการดังกล่าวจะสร้างงานให้กับคนในท้องถิ่นมากกว่า 3,000 ตำแหน่ง และจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะถัดไป

ที่มา: https://www.khmertimeskh.com/501114676/chinese-invested-expressway-speeds-up-travel-helps-develop-talents-for-cambodia/

“วิกฤติห่วงโซ่อุปทาน” กระทบ สปป.ลาว เร่งผลิตปุ๋ย-อาหารสัตว์เพิ่มขึ้น

ปัจจุบัน รัฐบาลสปป.ลาว พยายามผลักดันนโยบายจำกัดการนำเข้าและสนับสนุนการผลิตปุ๋ยในประเทศ โดยเกษตรกรมีความต้องการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ประมาณ 2 ล้านตันต่อปี แต่ผลิตได้เพียง 600,000 ตันหรือ 30% ของความต้องการทั้งหมด ด้าน ดร.เพชร พรมพิภักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและป่าไม้ ได้ให้ข้อมูลว่า ได้เชิญผู้ผลิตปุ๋ยรายใหญ่จากเวียดนามมาพบกับผู้ประกอบการสปป.ลาว ในการหารือเพื่อผลิตปุ๋ยร่วมกัน ในขณะเดียวกัน เกษตรกรทั่วประเทศต้องการอาหารสัตว์ประมาณ 600,000 ตัน แต่โรงงานจำนวน 6 แห่งในประเทศผลิตได้ต่ำกว่า 400,000 ตัน ซึ่งธุรกิจจำนวนมาก สนใจในการตั้งโรงงานกันมากขึ้น ปัจจุบันเกษตรกรได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการนำเข้าจากไทยที่มีราคาสูง นอกเหนือจากต้นทุนเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นและการค่าเงินกีบที่อ่อนตัวลง ด้าน นาย Nadav Eshcar อดีตเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำสปป.ลาวและเวียดนาม ชี้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างสปป.ลาวและอิสราเอลจะมีส่วนช่วยพัฒนาด้านการเกษตรให้มากขึ้น และเชื่อว่าเทคโนโลยีของอิสราเอลสามารถนำมาใช้เพื่อประโยชน์และประสบความสำเร็จในสปป.ลาว อย่างแน่นอน

ที่มา: https://laotiantimes.com/2022/07/18/laos-to-produce-more-fertilizer-and-animal-feed-amid-supply-chain-turmoil/

“เวียดนาม” ขึ้นแท่นอันดับ 2 ช้อปปิ้งออนไลน์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

บริษัทสตาร์ทอัพด้านการขนส่งสินค้า “Ninja Van Vietnam” ได้เปิดเผยรายงานการวิจัยเกี่ยวกับธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน ชี้ให้เห็นว่าตลาดเวียดนามเป็นประเทศชั้นนำที่มีการซื้อสินค้าออนไลน์เฉลี่ย 104 ครั้งต่อปี และปัจจุบันมีสัดส่วน 15% ของการทำธุรกรรมซื้อสินค้าออนไลน์ทั้งหมดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากประเทศไทย 16% ทั้งนี้ ตามรายงานยังบ่งชี้ว่าปีนี้ คนเวียดนามซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ มีจำนวนมากกว่า 51 ล้านคน เพิ่มขึ้น 13.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน ขณะที่ยอดใช้จ่ายในการช้อปปิ้งออนไลน์อยู่ที่ 12.42 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ เมื่อสอบถามกลุ่มตัวอย่าง พบว่าผู้ตอบส่วนใหญ่ 73% ซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเป็นประจำ และ 59% นิยมสั่งซื้อสินค้าหรือซื้อสินค้าบ่อยครั้งบนเว็บไซต์ต่างประเทศ

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnam-comes-second-in-sea-for-online-shopping-post957465.vov

“แบงก์ชาติเวียดนาม” ขายเงินสกุลดอลลาร์ เหตุรักษาตลาดอัตราแลกเปลี่ยน

ตามข้อมูลของบริษัท Viet Dragon Securities Company (VDSC) เปิดเผยว่าธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) ได้ทำการขายเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ราว 12-13 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ เพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในประเทศ ซึ่งมูลค่าเงินข้างต้นนั้นคิดเป็นสัดส่วน 11% ของทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของเวียดนาม ปัจจุบันทุนสำรองเงินตราต่างประเทศมีมูลค่ามากกว่า 100 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็นกันชนสำคัญในการรักษาเสถียรภาพของตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศและช่วยให้รองรับแรงกระแทกจากปัจจัยภายนอก ทั้งนี้ ธนาคารกลางเวียดนาม มีจุดมุ่งหมายเพื่อจำกัดการเคลื่อนไหวของการลดค่าเงินดองเวียดนาม และรักษาเสียรภาพของอุปสงค์-อุปทานเงินดอลลาร์ในตลาดแลกเปลี่ยนในประเทศ

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1269358/central-bank-sold-greenback-to-stabilise-forex-market.html

ททท.จับตาเงินเฟ้อพ่นพิษ รายได้ท่องเที่ยวปี 66 รวม 2.3 ล้านล้านบาท

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ททท.ได้แถลงทิศทางการส่งเสริมการตลาดของ ททท.ในปี 2566 โดยได้วางเป้าหมายรายได้ท่องเที่ยวจากตลาดในประเทศและต่างประเทศรวม 1.25-2.38 ล้านล้านบาท และวางตำแหน่งทางการตลาดไว้ว่าเป็นประเทศที่มีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศสูงสุด 1 ใน 5 ของโลก ขณะที่เมื่อปี 2562 ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 ไทยอยู่อันดับที่ 4 ซึ่งในปี 2566 คาดมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 11-30 ล้านคน ขณะที่เป้าหมายรายได้ ตลาดต่างประเทศอยู่ที่ 580,000 ล้านบาทถึง 1.5 ล้านล้านบาท มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 50,000-54,000 บาทต่อคน ลดลงจากไตรมาสแรกของปีนี้ ที่มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 77,000 บาทต่อคนต่อทริป คาดว่าเกิดจากความกังวลเรื่องเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นทั่วโลก และการขึ้นดอกเบี้ย ส่งผลให้นักท่องเที่ยวประหยัดการใช้จ่าย

ที่มา: https://www.thairath.co.th/business/economics/2448546

H1 กัมพูชาจัดเก็บภาษีแตะ 70% ของเป้าหมายการจัดเก็บประจำปี 2022

กรมภาษีอากร (GDT) กระทรวงเศรษฐกิจและการคลังกัมพูชากล่าวถึงรายงานการจัดเก็บภาษีเงินได้ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2022 ที่จัดเก็บได้ถึงร้อยละ 70 ของกรอบการจัดเก็บภาษีประจำปี 2022 หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 1,973 ล้านดอลลาร์ จากมูลค่า 2,819 ล้านดอลลาร์ ที่ได้มีการกำหนดไว้ รวมถึง GDT ยังคาดว่าจะจัดเก็บภาษีได้เกินเป้าถึงร้อยละ 10 ในปีนี้ หลังจากได้ทำการปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษีใหม่ ในขณะที่กรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) ซึ่งรับหน้าที่ในการจัดเก็บภาษีสำหรับสินค้าขาเข้าและออก ได้รายงานถึงการจัดเก็บภาษีศุลกากรในช่วง 6 เดือนแรกของปีที่มูลค่า 1,293 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นร้อยละ 50.1 ของแผนการจัดเก็บภาษีประจำปี

ที่มา: https://www.khmertimeskh.com/501112847/h1-tax-income-collection-reaches-70-of-2022-plan/

ท่าเรือพนมเปญกัมพูชา รายงานผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งแรกของปี

ท่าเรืออิสระพนมเปญ (PPAP) ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์กัมพูชา (CSX) ได้รายงานถึงผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งมีรายรับที่เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 29 หรือคิดเป็นมูลค่า 19.76 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเดือน มกราคม-มิถุนายนของปีนี้ โดยปริมาณตู้คอนเทนเนอร์เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.02 หรือคิดเป็น 209,176 TEU (หน่วยเทียบเท่า 20 ฟุต) ซึ่งในเดือนมิถุนายนเพียงเดือนเดียว ท่าเรือมีรายรับสูงถึง 3.59 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 28 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยคาดว่ารายรับที่เพิ่มสูงขึ้นของท่าเรือสะท้อนให้เห็นถึงการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและธุรกิจในระดับภูมิภาคและในระดับโลก และเพื่อให้สอดรับกับการฟื้นตัวทางฝั่งผู้บริหารท่าเรือได้เตรียมสร้างท่าเรือตามแม่น้ำอีก 7 แห่ง เพื่อส่งเสริมการขนส่งทางการเกษตรและการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ

ที่มา: https://www.khmertimeskh.com/501113592/phnom-penh-autonomous-port-sees-h1-revenue-surging/