กัมพูชา-จีน ร่วมจัดนิทรรศการด้านการท่องเที่ยว ณ นครวัด

กระทรวงการท่องเที่ยวกัมพูชาร่วมกับทางการมณฑลเหอหนานของจีน เตรียมความพร้อมจัดนิทรรศการด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมกัมพูชา-จีน ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นทางตอนเหนือของอุทยานโบราณคดีอังกอร์กัมพูชา สำหรับเป้าหมายของการจัดงานเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างจังหวัดเสียมราฐและมณฑลเหอหนาน โดยมีการแสดงร่วมกันระหว่างเส้าหลินและโบกาตอร์ ซึ่งเป็นศิลปะด้านการต่อสู้ของทั้ง 2 ประเทศ ด้านกระทรวงฯ มั่นใจว่างานดังกล่าวจะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามายังกัมพูชามากขึ้น ควบคู่ไปกับแคมเปญ Visit Siem Reap 2024 และคาดหวังการผลักดันภาคการท่องเที่ยวด้วยโครงการส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีและการท่องเที่ยวโครงการใหม่ที่มีชื่อว่า “The 2024 Cambodia-China People-to-People Exchange Year” ด้าน Sok Soken รัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวกัมพูชา ให้ข้อมูลเสริมว่าในช่วง 2023 กัมพูชาให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมากถึง 5.4 ล้านคน ในจำนวนดังกล่าวคิดเป็นนักท่องเที่ยวชาวจีนประมาณ 540,000 คน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501475565/cambodia-china-cultural-tourism-exhibition-to-take-place-at-famed-angkor-complex-next-week/

BOI ไฟเขียว ‘เชอรี’ ค่ายรถระดับโลกจากจีน ตั้งฐานผลิต EV พวงมาลัยขวาในไทย

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ผลจากความพยายามในการดึงการลงทุนจาก บริษัท Chery Automobile ให้เข้ามาตั้งฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ได้ประสบความสำเร็จตามแผนที่หารือกัน โดย Chery (เชอรี) ซึ่งเป็นผู้ผลิตยานยนต์รายใหญ่ของจีนและเป็นผู้นำเทคโนโลยียานยนต์ระดับโลก ที่มียอดการส่งออกรถยนต์เป็นอันดับ 1 มาอย่างต่อเนื่อง 21 ปี โดยในปี 2566 Chery มียอดส่งออกกว่า 1.8 ล้านคัน ได้ตัดสินใจเลือกประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชนิดพวงมาลัยขวา เพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปยังภูมิภาคอาเซียน ออสเตรเลีย และตะวันออกกลาง โดยโครงการนี้ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอในกิจการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเมื่อวันที่ 2 เมษายน ที่ผ่านมา สำหรับแผนการลงทุนของบริษัท Chery Automobile ในประเทศไทย จะดำเนินธุรกิจภายใต้ชื่อบริษัท “โอโมดา แอนด์ เจคู (ประเทศไทย)” ซึ่ง OMODA และ JAECOO เป็นแบรนด์ของ Chery สำหรับทำตลาดในต่างประเทศ โดยจะตั้งโรงงานที่จังหวัดระยอง ในเฟสแรก ภายในปี 2568 จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าทั้งแบบ BEV และ HEV ปีละประมาณ 50,000 คัน และในเฟสที่ 2 ภายในปี 2571 จะขยายกำลังการผลิตถึงปีละ 80,000 คัน สำหรับการส่งเสริมโครงการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท ทั้งยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) ปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) และไฮบริด (HEV) บีโอไอได้อนุมัติให้การส่งเสริมรวมทั้งสิ้น 26 โครงการ จาก 19 บริษัท รวมมูลค่าเงินลงทุนกว่า 80,000 ล้านบาท

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1123160

‘เวียดนาม’ ซัพพลายเออร์ข้าวรายใหญ่ที่สุดในตลาดสิงคโปร์

สำนักงานการค้าเวียดนาม ประจำประเทศสิงคโปร์ รายงานว่าในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ อันดับของผู้ส่งออกข้าวอย่างเวียดนามแซงหน้าคู่แข่ง อินเดียและไทย เป็นครั้งแรกในตลาดสิงคโปร์ โดยมูลค่าการส่งออกของเวียดนามไปยังสิงคโปร์ อยู่ที่ 36.15 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 80.46% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และมีส่วนแบ่งการตลาดสูงถึง 32.03% รองลงมาไทยและอินเดีย มีมูลค่าการส่งออก 33.63 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 33.16 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม สำนักงานการค้าแนะนำให้ผู้ส่งออกข้าวเวียดนามเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาคุณภาพข้าวอย่างต่อเนื่อง

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1654252/viet-nam-to-have-many-opportunities-from-digitalisation-green-transformation-imf.html

สปป.ลาว – เมียนมา ประชุมร่วมทบทวนแนวทางความร่วมมือด้านชายแดน

สปป.ลาว และเมียนมา ร่วมประชุมเพื่อทบทวนแนวทางการตรวจสอบ การซ่อมแซม และการสร้างเครื่องหมายชายแดนระหว่าง สปป.ลาว และเมียนมา โดยจัดขึ้นที่แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยตามแนวชายแดนร่วมกัน ทั้งสองฝ่ายประเมินความคืบหน้าของงานและรับทราบความสำเร็จของการตรวจสอบแนวเขตแดนระยะทาง 236 กม. ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2567 ได้ตรวจสอบและบำรุงรักษาบริเวณชายแดน นอกจากนี้ คณะทำงานของทั้งสองประเทศได้ใช้อุปกรณ์ GPSรวบรวมข้อมูล 172 จุดตามแนวชายแดนแม่น้ำโขง ให้บริการวิจัยและปรับปรุงระบบแผนที่ชายแดนของทั้งสองประเทศจากระบบเก่าตามข้อตกลงเมื่อปี 2537 ทำให้ระบบใหม่และทันสมัยยิ่งขึ้น

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/laos-myanmar-review-border-cooperation/284818.vnp

สปป.ลาว ได้รับเงินสำหรับปรับปรุงถนนหมายเลข R12 กว่า 1.8 พันล้านบาท จากไทย

รัฐบาลไทยอนุมัติเงิน 1.8 พันล้านบาท หรือประมาณ 48.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่รัฐบาล สปป.ลาว เพื่อบำรุงรักษาและปรับปรุงทางหลวงหมายเลข R12 ซึ่งช่วยลดระยะเวลาเดินทางจากจังหวัดนครพนมของประเทศไทย ผ่าน สปป.ลาว และข้ามฝั่งไปยังชายแดนเวียดนามในจังหวัดกว๋างบิ่ญ โฆษกรัฐบาลไทย กล่าวว่า เงินสนับสนุนดังกล่าวจะถูกนำไปใช้ในการปรับปรุงอาคารขนส่งสินค้า สถานที่จัดเก็บสินค้า ไฟส่องสว่างบริเวณทางแยก สาธารณูปโภค ระบบระบายน้ำในชุมชน และสถานที่ท่องเที่ยวตลอดเส้นทางทางหลวงหมายเลข R12 และจะยกระดับการขนส่งทางถนน ระบบโลจิสติกส์ที่เชื่อมโยงไทยกับลาว เวียดนามและจีน ลดระยะเวลาการขนส่งจาก 10 ชั่วโมงเหลือเพียง 4 ชั่วโมง และลดขั้นตอนศุลกากรจาก 5 จุดเหลือเพียง 2 จุดตรวจ ทั้งนี้ ทางหลวงหมายเลข R12 ถือเป็นเส้นทางที่สั้นที่สุดเมื่อเทียบกับ R8 หรือ R9 ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก โดยปริมาณสินค้าที่ขนส่งจากนครพนมไปยังลาวผ่าน R12 หลังจากการบำรุงรักษาเสร็จสิ้น คาดว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 50%

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/thailand-gives-financial-support-to-laos-for-road-maintenance/284788.vnp

กระทรวงพาณิชย์เมียนมา เร่งการส่งออก

ในขณะที่รัฐบาลส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศด้วยการเพิ่มการส่งออก กระทรวงพาณิชย์และสมาพันธ์หอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งสหภาพเมียนมาจึงร่วมมือกันเพื่อปรับปรุงภาคการส่งออก โดยเมื่อวันที่ 20 เมษายน มีการส่งออกข้าวโพดจำนวน 12,700 ตันผ่านทาง The Myanmar Terminal – TMT (เดิมชื่อ Bo Aung Kyaw Jetty) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน นอกจากนี้ ในวันที่ 21 เมษายน ข้าวโพดจำนวน 6,600 ตันจะถูกส่งออกจากท่าเรือ Ahlon International Port Terminal 3 ในวันที่ 22 เมษายน ข้าวโพด 2,700 ตันจากท่าเรือ Min Htet Min และอีก 7,150 ตันจากท่าเรือเมียนมา ตามลำดับ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/commerce-ministry-boosts-export/#article-title

‘IMF’ เผยการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ดันโอกาสเศรษฐกิจเวียดนาม

นายกฤษณะ ศรีนิวาสัน ผู้อำนวยการแผนกเอเชียและแปซิฟิกของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกว่าเศรษฐกิจของเวียดนามมีทิศทางที่จะขยายตัว 6.5% จากปัจจัยหนุนทั้งการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และการปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งนี้ จากการประเมินเศรษฐกิจในภูมิภาค คาดว่าจะขยายตัว 4.5% ปี 2567

อย่างไรก็ดี ผลการประเมินเศรษฐกิจดังกล่าวขึ้นอยู่กับพื้นฐานเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ โดยเฉพาะเศรษฐกิจอินเดียในช่วงครึ่งหลังของปีที่แล้วที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างแข็งแกร่ง นอกจากนี้ ความท้าทายของการดำเนินนโยบายการเงิน รัฐบาลควรให้ความสำคัญในเรื่องหนี้สาธารณะและการปรับกันชนทางการคลังให้ดีขึ้น

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1654252/viet-nam-to-have-many-opportunities-from-digitalisation-green-transformation-imf.html

การค้าชายแดนเมียนมา-จีนพุ่งขึ้นเป็น 3.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีงบประมาณ 2566-2567

สถิติของกระทรวงพาณิชย์เมียนมาเผยว่า มูลค่าการค้าชายแดนระหว่างเมียนมาและจีนมีมูลค่าทะลุ 3.279 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีงบประมาณ 2566-2567 ที่ผ่านมา ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 3.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐที่บันทึกไว้ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนถึงการเพิ่มขึ้นอย่างน่าทึ่งที่ 178.25 ล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2565-2566 อย่างไรก็ดี เมียนมาดำเนินการค้าขายข้ามพรมแดนกับจีนเพื่อนบ้านผ่านทาง มูเซ, แลวแจ, ชีงชเวห่อ, กัมปติ และ เชียงตุง โดยด่านมูเซบันทึกตัวเลขการค้าสูงสุดที่ 2.055 พันล้านดอลลาร์ รองลงมาคือด่านชีงชเวห่อมูลค่าการค้าอยู่ที่กว่า 703 ล้านดอลลาร์, ด่านกัมปติ มูลค่าการค้ากว่า 208 ล้านดอลลาร์, ด่านแลวแจมูลค่าการค้าอยู่ที่ 158.568 ล้านดอลลาร์ และด่านเชียงตุง 154.239 ล้านดอลลาร์ ตามลำดับ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-china-border-trade-surges-to-us3-2b-in-fy2023-2024/#article-title

‘แบงก์ชาติเวียดนาม’ เผยสินเชื่ออสังหาฯ พุ่งต่อเนื่อง ปี 2558-2566

ธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) ยื่นส่งรายงานให้กับคณะผู้แทนสมัชชาแห่งชาติในเรื่องการจัดการตลาดอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย ตั้งแต่ปี 2558-2566 จากเอกสารรายงานระบุว่ายอดสินเชื่อคงค้างของภาคอสังหาฯ มีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้น 2.88 พันล้านล้านด่อง และได้มีการจัดสรรเงินไปยังกองทุนอสังหาฯ ประมาณ 1.09 พันล้านล้านด่อง และใช้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัยอีกราว 1.79 พันล้านล้านด่อง ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่าสินเชื่อคงค้างอสังหาฯ ตั้งแต่ปี 2558-2566 คิดเป็นสัดส่วนราว 18-21% ของสินเชื่อคงค้างทั้งหมดของเศรษฐกิจเวียดนาม และจากเหตุการณ์ดังกล่าว ทางธนาคารกลางจำเป็นที่จะต้องควบคุมกระแสเงินสดเข้าสู่ภาคอสังหาฯ และดำเนินการออกหนังสือเวียดนามเลขที่ 36, 22 และ 41 ซึ่งกำหนดว่าเงินกู้ระยะปานกลางและระยะยาวจะอยู่ในอัตรา 24-34%

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/real-estate-loans-increased-in-2015-2023-period-report-2271387.html

มูดี้ส์ชี้จีดีพีไทยปีนี้ขยายตัว 3%

คุณจินดารัตน์ วิริยะทวีกุล ที่ปรึกษาด้านหนี้สาธารณะ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เปิดเผยว่า “มูดี้ส์” หรือ Moody’s Investors Service บริษัทจัดอันดับเครดิตยักษ์ใหญ่ชื่อดังระดับโลกจากสหรัฐฯ ได้ประกาศคงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยที่ Baa1 หรือเทียบเท่า BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยในระดับมีเสถียรภาพ เนื่องจากข้อแรก ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ และมีความหลากหลาย มีนโยบายมหภาคที่แข็งแกร่งและมีประสิทธิผล มูดี้ส์คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะเติบโตจาก 1.9% ในปี 2566 เป็นประมาณ 3% ในปี 2567-2568 จากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยว รวมถึงการลงทุนของภาครัฐจะเพิ่มขึ้น หลังจากที่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีมีผลบังคับใช้

ในขณะที่ข้อที่สอง ภาคการคลังสาธารณะ (Public Finance) ของไทยยังมีความเข้มแข็ง แม้รัฐบาลจะดำเนินนโยบายขาดดุลทางการคลัง อย่างต่อเนื่อง ในระยะปานกลางรัฐบาลจะสามารถบริหารจัดการภาระหนี้สาธารณะให้อยู่ในระดับมีเสถียรภาพ และจะกลับเข้าสู่การดำเนินนโยบาย ทางการคลังอย่างระมัดระวังได้ (Conservative Fiscal Policymaking)

ที่มา : https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ/2778901