หนี้สาธารณะกัมพูชา พุ่งแตะ 9.81 พันล้านดอลลาร์

รัฐบาลกัมพูชา (RGC) ประกาศตัวเลขหนี้สาธารณะ ณ ปัจจุบันอยู่ที่ 9.81 พันล้านดอลลาร์ โดยคิดเป็นร้อยละ 68 ของ Bilateral Developing Partners (DPs) และอีกร้อยละ 32 จาก Multilateral DPs ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ปี 2022 ด้าน RGC ได้ลงนามในสัญญาเงินกู้สัมปทานฉบับใหม่กับ DPs เป็นจำนวนเงินรวม 317.24 ล้านดอลลาร์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนโครงการลงทุนภาครัฐในภาคส่วนสำคัญที่สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในระยะยาวและเพิ่มผลผลิตทางเศรษฐกิจ โดยรายงานสถานการณ์หนี้สาธารณะของกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังระบุว่า จีนถือเป็นเจ้าหนี้รายสำคัญในหมวดของหนี้จากต่างประเทศของกัมพูชา หรือคิดเป็นกว่าร้อยละ 40.72 ของหนี้ต่างประเทศทั้งหมด ซึ่งในปัจจุบันสถานะหนี้สาธารณะของกัมพูชายังคงสามารถจัดการได้ มีความยั่งยืนและมีความเสี่ยงต่ำ แม้ว่าเศรษฐกิจกัมพูชาจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และปัจจัยภายนอกอื่นๆ ก็ตาม

ที่มา: https://www.khmertimeskh.com/501094257/
cambodias-public-debt-at-9-81-billion-says-report/

รัฐบาลขอให้รัฐสภา ตั้งเป้าตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญอีกครั้ง

รัฐบาลได้ขอให้รัฐสภาพิจารณาและอนุมัติเป้าหมายเศรษฐกิจมหภาคที่สำคัญบางส่วนซึ่งได้รับการแก้ไขในปี 2565 ท่ามกลางความกลัวว่าเศรษฐกิจจะตกต่ำ นาย Sonexay Sitphaxay ผู้ว่าการธนาคารแห่ง สปป. ลาว นำเสนอรายงานในการประชุมสภาแห่งชาติที่กำลังดำเนินอยู่ โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับเป้าหมายที่แก้ไขแล้วซึ่งรัฐบาลจะต้องดำเนินการให้สำเร็จภายในสิ้นปีนี้ ภายใต้ข้อเสนอนี้ ความยืดหยุ่นของอัตราแลกเปลี่ยน kip/us dollar ซึ่งขณะนี้ได้รับอนุญาตให้ผันผวนภายในช่วงบวกหรือลบร้อยละ 5 ต่อปี จะได้รับการแก้ไขให้อยู่ในระดับที่ไม่สร้างแรงกดดันด้านเงินเฟ้อให้กับรัฐบาล รัฐบาลยังได้ขอให้เพิ่มจำนวนเงินในระบบ จากร้อยละ 22 เป็นร้อยละ 28 อันเนื่องมาจากค่าเงิน kip ที่อ่อนค่า ทั้งนี้รัฐบาลตั้งเป้าที่จะบรรลุเป้าหมายการเติบโตของ GDP ที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 4.5 ในปีนี้ แม้จะมีความไม่แน่นอนของปัจจัยภายในและภายนอก

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten113_Govtasks.php

EIC ปรับขึ้นจีดีพีปี 65 ขยายตัว 2.9% ต่างชาติเที่ยวไทยหนุนปีนี้ 7.4 ล้านคน

นายสมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงานศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปรับประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2565 ขึ้นเป็น 2.9% จากเดิม 2.7% ตามการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและภาคบริการ ผ่านการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวของไทยและการผ่อนคลายมาตรการผ่านแดนในหลายประเทศทั่วโลก โดย EIC ประเมินว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยรวม 7.4 ล้านคนในปีนี้ (เดิม 5.7 ล้านคน) อีกทั้ง กิจกรรมในภาคบริการในประเทศยังมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นจากการกลับออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น ตามอัตราการฉีดวัคซีนที่สูงและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคของภาครัฐ

ที่มา : https://www.businesstoday.co/business/14/06/2022/84717/

คลังสหรัฐฯ รับทราบความคืบหน้าของทางการเวียดนามชี้ประเด็นค่าเงิน

ธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) เปิดเผยว่ากระทรวงการคลังสหรัฐฯ ยอมรับรายงานความคืบหน้าของทางการเวียดนามเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจมหภาคและนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของคู่ค้าสำคัญของสหรัฐฯ โดยธนาคารกลาวเวียดนามยังคงทำงานอย่างใกล้ชิดกับกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป เพื่อที่จะหารือถึงข้อกังวลของทั้งสองฝ่ายและประสานผลประโยชน์ร่วมกัน อีกทั้ง ธนาคารกลางเวียดนามจะดำเนินนโยบายการเงินที่มุ่งรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและควบคุมเงินเฟ้อ นอกจากนี้ยังคงมุ่งรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจและเป้าหมายของนโยบายการเงิน อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ยังคงทบทวนบัญชีรายชื่อประเทศที่ละเมิดเกณฑ์ 3 ข้อของสหรัฐฯ ได้แก่ ตัวเลขเกินดุลการค้า, ตัวเลขเกินดุลบัญชีเดินสะพัด และการแทรกแซงตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ โดยเวียดนามและไต้หวัน ยังคงจับตาและติดตามผลต่อไป

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1250395/us-treasury-department-recognises-viet-nams-progress-in-addressing-currency-related-concerns.html

“เวียดนาม” ดัชนีค่าครองชีพสูงอันดับ 89 ของโลก

“นัมเบโอ (Numbeo)” เว็บไซต์ฐานข้อมูลด้านค่าครองชีพระดับสากล เปิดเผยดัชนีค่าครองชีพ (Cost of Living Index) ทั่วโลก ปี 2565 พบว่าอันดับของเวียดนามขยับเพิ่มขึ้นมาเป็นอันดับ 89 มีคะแนน 37.48 คะแนน โดยคำนวณจากดัชนีค่าครองชีพของนครโฮจิมินห์อยู่ที่ 39.01 จุด ซึ่งมีค่าดัชนีสูงสุดของทั้งประเทศ ส่วนค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของครอบครัวที่มีสมาชิก 4 คน ไม่รวมค่าเช่าบ้าน อยู่ที่ 40 ล้านดองต่อเดือน ขณะที่คนเดียวใช้จ่ายมากกว่า 11 ล้านดองต่อเดือน ในขณะที่แหล่งอื่นๆ ดัชนีค่าครองชีพในเมืองฮานอยอยู่ที่ 36.85 จุด ส่วนค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของครอบครัวที่มีสมาชิก 4 คน ไม่รวมค่าเช่าบ้าน อยู่ที่ 36 ล้านดองต่อเดือน ขณะที่คนเดียวใช้จ่ายประมาณ 10 ล้านดองต่อเดือน

นอกจากนี้ ประเทศที่มีค่าครองชีพสูง 5 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 หมู่เกาะเบอร์มิวด้าในมหาสมุทรแอตแลนติก 146.04 คะแนน อันดับ 2 สวิตเซอร์แลนด์ 123.35 คะแนน อันดับ 3 นอร์เวย์ 100.90 คะแนน อันดับ 4 ไอซ์แลนด์ 94.86 คะแนน และอันดับ 5 บาร์เบโดส 92.37 คะแนน

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnam-ranks-89th-in-cost-of-living-index-rankings-post950321.vov

CDC อนุมัติโครงการการลงทุนใหม่ในกัมพูชามูลค่าเกือบ 24 ล้านดอลลาร์

สภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) อนุมัติโครงการการลงทุนใหม่ 4 โครงการ ด้วยเงินลงทุนรวมเกือบ 24 ล้านดอลลาร์ สำหรับโครงการแรก ได้แก่ โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าของทางบริษัท Golden Sun Fashion Accessory Co, Ltd. ด้วยมูลค่าการลงทุนรวม 5 ล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะสามารถสร้างงานให้กับคนในท้องถิ่นได้จำนวน 926 ตำแหน่ง ส่วนโครงการลำดับที่ 2 คือ AMTO CHEMICAL TECHNOLOGY CO., LTD. ด้วยเงินลงทุน 1.7 ล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะสร้างงานได้ประมาณ 150 ตำแหน่ง ลำดับที่ 3 ได้แก่ Kai Feng Wood Products (Cambodia) Co., Ltd. ด้วยเงินลงทุน 6.6 ล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะสร้างงานให้กับท้องถิ่น 300 ตำแหน่ง และลำดับสุดท้าย MEI AN LEATHERWARE (CAMBODIA) CO., LTD ด้วยเงินลงทุน 10.5 ล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะสร้างงานจำนวน 1,000 ตำแหน่ง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501093977/projects-worth-nearly-24-million-approved-by-cdc/

มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของกัมพูชาเพิ่มขึ้นเกือบ 20% ในช่วง 5 เดือน

มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของกัมพูชามีมูลค่ารวมกว่า 22,400 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.7 จากมูลค่า 18.7 พันล้านดอลลาร์ในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออกทั้งหมดของกัมพูชามีมูลค่ารวมกันอยู่ที่ 9.41 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 34.5 ในขณะที่ยอดการนำเข้ารวมอยู่ที่ 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 ตามรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชา ซึ่งในรายงานยังระบุว่า จีนถือเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของกัมพูชา รองลงมาคือสหรัฐฯ เวียดนาม ไทย และสิงคโปร์ โดยปริมาณการค้าระหว่าง จีน-กัมพูชา พุ่งไปแตะ 4.99 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 26 จากประสิทธิผลของวัคซีนโควิด-19, ข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และ FTA ของกัมพูชา-จีน (CCFTA) เป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมการเติบโตทางการค้าของกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501093744/cambodias-international-trade-up-almost-20-pct-in-5-months/

สิ้นเดือนพ.ค.ของปีงบฯ 65-66 เงินลงทุนจากต่างประเทศเข้าสู่เมียนมา ดิ่งลง 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

คณะกรรมการการลงทุนและการบริหารบริษัทของเมียนมา (DICA) ณ สิ้นเดือนพ.ค.2565 ของปีงบประมาณ 2565-2566 เงินลงทุนจากต่างประเทศเพียง 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ไหลเข้าสู่เมียนมา เป็นการลงทุนจากจีนจำนวน 9.017 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไต้หวันระดมทุน 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  ฮ่องกง 1.215 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และญี่ปุ่น.1.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดย 6 เดือนแรก สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีการลงทุนในเมียนมามากที่สุด มีมูลค่าการลงทุนมากกว่า 297 ล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ โครงการลงทุนที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสำคัญส่วนใหญ่เป็นโครงการที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาประเทศ เช่น  1) การผลิตปุ๋ย 2) การผลิตปูนซีเมนต์ 3) การผลิตเหล็ก 4) เกษตรกรรมและปศุสัตว์และที่เกี่ยวข้อง: 5) การผลิตอาหารและสร้างมูลค่าเพิ่ม 6) การผลิตยานยนต์ไฟฟ้า7) การผลิตยาและอุปกรณ์การแพทย์  และ 8) การขนส่งสาธารณะ

ที่มา : https://news-eleven.com/article/232391

ราคาอาหารสัตว์พุ่งไม่หยุด ! หนุน ราคาไข่เป็ดแตะ 300 จัต

ราคาขายปลีกไข่ในตลาดภายในประเทศเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว ซึ่งกลายเป็นอาหารเพื่อสุขภาพในช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาด ราคาได้เพิ่มขึ้นจาก 100/120 จัต เป็น 1,000 จัตต่อไข่ 6-8 ฟอง ตั้งแต่นั้นมา ราคาอาหารไก่และเป็ดก็สูงขึ้นและไม่ลดลงอีกเลย แม้ว่าราคาไข่เป็ดในร้านค้าปลีกจะอยู่ที่ 300 จัต แต่พื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำราคาจะขายอยู่ที่ 240-250 จัต สำหรับไข่ฟองใหญ่ และ 200 จัต สำหรับไข่ฟองเล็ก . เกษตรกรเจ้าของฟาร์มเป็ดบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำของตำบลโบกะเล่ เขตอิรวดี เผย ราคาอาหารของเดือนนี้อยู่ที่ 28,000 จัตต่อถุง และเมื่อเข้าสู่ฤดูฝนเพื่อเป็นการประหยัดค่าอาหารสัตว์ลงไปได้พอสมควร เกษตรกรจะปล่อยเป็ดเพื่อเลี้ยงตามทุ่งตามวิถีธรรมชาติ ทั้งนี้ราคาไข่ในห้างสรรพสินค้า 10 ฟอง น้ำหนัก 60 กรัม ราคาอยู่ที่ 1,900 จัต ขณะที่น้ำหนัก 70 กรัม ราคาจะอยู่ที่ 2,100 จัต ส่วนไข่ออร์แกนิกราคาจะพุ่งไปถึง 3,000 จัต

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/duck-egg-price-reaches-k-300-due-to-increased-livestock-feed-price/#article-title

“เวิลด์แบงก์” มองศก.เวียดนามฟื้นตัวได้แข็งแกร่ง แม้เผชิญความไม่แน่นอนทั่วโลก

รายงานฉบับเดือนมิ.ย. ของธนาคารโลก (World Bank) แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจเวียดนามยังคงฟื้นตัวได้แข็งแกร่ง แม้ว่าจะมีความไม่แน่นอนทั่วโลก จากความขัดแย้งที่ยืดเยื้อในยูเครนและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้นและการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานที่เกิดจากการล็อกดาวน์ในประเทศจีน ทั้งนี้ ตามรายงานดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่าภาคอุตสาหกรรมยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง 10.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ในขณะที่ยอดค้าปลีก ขยายตัว 22.6% ต่อปี ซึ่งบ่งชี้ว่าการบริโภคของภาคเอกชนฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง แต่อย่างไรก็ดี การส่งออกกลับชะลอตัวจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นทั่วโลก นอกจากนี้ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่สี่ ขณะที่การเบิกจ่าย FDI มีแนวโน้มขยายตัวเป็นเดือนที่ 6

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnamese-economic-recovery-remains-strong-despite-global-uncertainties-wb-post950062.vov