กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังกลุ่มประเทศ RCEP เพิ่มขึ้น 24% ในช่วงครึ่งแรกของปี

กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังประเทศกลุ่มความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) มูลค่าแตะ 4.07 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 24 จากมูลค่ารวม 3.28 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน รายงานโดยกระทรวงพาณิชย์เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (18 ก.ค.) ซึ่งประเทศส่งออกสำคัญสามอันดับแรกของกัมพูชาภายใต้ RCEP ได้แก่ เวียดนาม จีน และญี่ปุ่น โดยแบ่งเป็นการส่งออกไปยังเวียดนามรวมเกือบ 1.43 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 22 ขณะที่การส่งออกไปยังจีนมีมูลค่ารวม 713 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวร้อยละ 17 และญี่ปุ่นนำเข้าสินค้าจากกัมพูชามูลค่า 545 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 1 ด้วยการเติบโตทางด้านการส่งออกนี้ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ากลุ่มประเทศ RCEP ถือเป็นตลาดส่งออกที่มีศักยภาพสำหรับผลิตภัณฑ์ของกัมพูชา ด้วยเหตุผลดังกล่าวยังเสริมให้นักลงทุนต่างชาติเดินทางมาลงทุนยังกัมพูชามากขึ้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501326651/cambodias-export-to-rcep-countries-up-24-percent-in-h1/

กัมพูชาวางแผนยกระดับการส่งออกสินค้าเกษตรร่วมกับกานา

Florence Buerki Akonor เอกอัครราชทูตกานา ซึ่งปัจจุบันประจำอยู่ที่มาเลเซีย ได้เข้าเยี่ยมคารวะ Dith Tina รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง กัมพูชา ณ สำนักงานกระทรวงฯ โดยทั้งสองได้หารือร่วมกันในหลายหัวข้อ รวมถึงวิธีการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศในหลายภาคส่วน ซึ่งทางรัฐมนตรีฯ มียินดีเป็นอย่างมากที่ได้โอกาสในการหารือเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างกานาและกัมพูชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการเกษตรเพื่อความมั่นคงทางอาหาร ในขณะเดียวกัน กระทรวงฯ ได้รายงานสถานการณ์การส่งออกสินค้าเกษตรของกัมพูชามีการปรับตัวลดลงร้อยละ 22.5 ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ คิดเป็นมูลค่ารวม 2.4 พันล้านดอลลาร์ จากการส่งออกผลิตภัณฑ์ปริมาณรวม 3.9 ล้านตัน อาทิเช่น ข้าว กล้วย มะม่วง มันสำปะหลัง และเม็ดมะม่วงหิมพานต์ เป็นสำคัญ ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้ทั้ง 2 ประเทศ วางแผนที่จะจัดทำข้อตกลงร่วมกัน (MoU) เพื่อเป็นการสนับสนุนภาคการส่งออกสินค้าเกษตรระหว่างกัน โดยในระยะแรกจำเป็นต้องหารือร่วมกันในการกลยุทธ์ด้านการเกษตร อีกทั้งยังต้องพิจารณาด้านกฎหมาย และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนระหว่างกันเป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501325555/cambodia-looks-to-enhance-agriculture-exports-with-ghana/

กัมพูชาสร้าง QR Code ชำระเงิน “Bakong-UPI” หวังดึงดูดนักท่องเที่ยวจีน

กัมพูชาหวังใช้ KHQR ระหว่างเครือข่ายของ Bakong และเครือข่าย QR Code ของ UnionPay International (UPI) ในการช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวจีนมายังกัมพูชามากขึ้น ภายใต้ความร่วมมือระหว่างธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) และ UnionPay International (UPI) ที่ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) เกี่ยวกับความร่วมมือในการชำระเงินด้วยระบบคิวอาร์โค้ดข้ามพรมแดน ภายใต้ความร่วมมือนี้ นักท่องเที่ยวชาวจีนสามารถชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดในกัมพูชาผ่าน KHQR และชาวกัมพูชาสามารถชำระเงินในรูปแบบเดียวกันในประเทศจีนได้สร้างความสะดวกเป็นอย่างมากในการชำระเงิน โดยทางการกัมพูชาตั้งเป้าดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวจีน 1 ล้านคนในปี 2023 เพิ่มขึ้นจาก 106,875 คนในปี 2022 ตามรายงานของกระทรวงการท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะมาเยือนยังกัมพูชาในปีนี้ราว 5 ล้านคน สำหรับการเปิดให้ทำธุรกรรมการชำระเงินด้วย QR Code ข้ามพรมแดนผ่าน KHQR ระหว่างกัมพูชาและจีนมีกำหนดเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปลายปี 2023 ขณะที่ในปัจจุบันเริ่มมีการใช้แล้วระหว่างไทย รวมถึงพร้อมที่จะขยายการดำเนินงานของระบบการชำระเงินบน Bakong blockchain ไปยังเวียดนาม สปป.ลาว เมียนมาร์ จีน และอินเดีย

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501325944/bakong-upi-cross-border-qr-code-payment-cooperation-to-attract-more-chinese-tourists/

FDI ในกัมพูชาพุ่งแตะ 4.5 หมื่นล้านดอลลาร์

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของกัมพูชา ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2023 พุ่งแตะ 4.58 หมื่นล้านดอลลาร์ รายงานโดยธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) ซึ่งเม็ดเงินลงทุนส่วนใหญ่มาจากจีนคิดเป็นกว่าร้อยละ 45 ของการลงทุนทั้งหมด ตามมาด้วยเกาหลีใต้ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เวียดนาม มาเลเซีย ไทย และสหราชอาณาจักร ขณะเดียวกัน FDI ที่ไหลเข้ามายังกัมพูชาครอบคลุมภาคส่วนสำคัญต่างๆ เช่น ภาคการเงิน อุตสาหกรรมการผลิต อสังหาริมทรัพย์ โรงแรม รีสอร์ต เกษตรกรรม และภาคการก่อสร้าง เป็นสำคัญ โดยภาคการผลิตมีสัดส่วนสูงสุดที่ร้อยละ 31.6 ของการลงทุนทั้งหมด ด้าน Heng Sokkung เลขาธิการแห่งรัฐและโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม รายงานเสริมว่า ภายใต้กฎหมายการลงทุนฉบับใหม่ รวมถึงการลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีต่างๆ ของกัมพูชา จะเป็นส่วนสำคัญในการดึงดูด FDI ในอนาคต

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501324951/cambodia-fdi-registered-capital-at-45-billion/

กัมพูชาหวัง RCEP-FTA กระตุ้นภาคการส่งออก

กัมพูชาตั้งความหวังไว้กับข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคี (FTA) ในการกระตุ้นการส่งออกสินค้ากลุ่มเครื่องนุ่งห่ม รองเท้า และสินค้าเพื่อการเดินทาง (GFT) กล่าวโดย Ly Khun Thai ประธานสมาคมรองเท้ากัมพูชา หลังการส่งออกรองเท้าไปยังจีนและเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญนับตั้งแต่กัมพูชาลงนามในข้อตกลก RCEP และ FTA ทวิภาคีของกัมพูชากับจีน รวมถึงเกาหลีใต้เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งกล่าวเสริมว่าตลาดหลักในปัจจุบันสำหรับสินค้ากลุ่ม GFT ของกัมพูชา ได้แก่ ยุโรป สหรัฐฯ และแคนาดา โดยได้มีการส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวไปแล้วมูลค่ารวมกว่า 5.26 พันล้านดอลลาร์ นับตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคมถึงมิถุนายนปีนี้ ลดลงที่ร้อยละ 18.7 จากมูลค่าการส่งออกที่ 6.47 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ตามการรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิต ซึ่งอุตสาหกรรมสินค้ากลุ่ม GFT ถือเป็นแรงหลักของภาคการส่งออกกัมพูชา โดยมีผู้ประกอบด้วยโรงงานประมาณ 1,100 แห่ง สร้างการจ้างงานถึงประมาณ 750,000 คน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501325280/cambodia-hopes-rcep-bilateral-ftas-to-boost-exports-of-garment-footwear-travel-goods/

Q1 FDI กัมพูชาขยายตัวกว่า 9% คิดเป็นมูลค่ากว่า 45.8 พันล้านดอลลาร์

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในกัมพูชา ในช่วงไตรมาสแรกของปีมีมูลค่าแตะ 45.8 พันล้านดอลลาร์ ตามการรายงานของธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) คิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยแหล่งเงินทุนหลักมาจากจีน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เวียดนาม มาเลเซีย ไทย และสหราชอาณาจักร ด้าน NBC กล่าวเสริมว่า การไหลเข้าของการลงทุนส่วนใหญ่ไหลไปยังภาคส่วนหลักๆ ของระบบเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมทางด้านการเงิน อุตสาหกรรมการผลิต ภาคอสังหาริมทรัพย์ เกษตรกรรม โรงไฟฟ้าพลังน้ำ และอุตสาหกรรมการก่อสร้างเป็นสำคัญ โดยการเพิ่มขึ้นของ FDI สะท้อนถึงเสถียรภาพทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501324528/fdi-in-cambodia-increases-by-9-percent-in-q1-to-45-8-billion/

บริษัทสัญชาติจีนเข้าลงทุนยังกัมพูชากินสัดส่วนเกือบ 65%

สภาเพื่อการพัฒนาแห่งกัมพูชา (CDC) ได้ประกาศอนุมัติโครงการลงทุนใหม่ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ 113 โครงการ ด้วยทุนจดทะเบียนรวมกันประมาณ 1.1 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเกือบร้อยละ 65 มาจากนักลงทุนสัญชาติจีน ขณะที่มาจากนักลงทุนท้องถิ่นประมาณร้อยละ 20 ของทุนจดทะเบียนในช่วงแรกของปี ตามมาด้วยเวียดนามร้อยละ 6.64, เซเชลส์ร้อยละ 3.31, ไทยร้อยละ 1.77, สาธารณรัฐเกาหลีร้อยละ 1.70, ซามัวร้อยละ 0.60, สหรัฐอเมริการ้อยละ 0.49, สิงคโปร์ร้อยละ 0.18 และสวีเดนร้อยละ 0.07 โดยคาดว่าจะก่อให้เกิดการจ้างงานคนในท้องถิ่นกว่า 122,000 ตำแหน่ง ซึ่งโครงการส่วนใหญ่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมคิดกว่า 102 โครงการ รองลงมาคือภาคอุตสาหกรรมการเกษตร 7 โครงการ ภาคการท่องเที่ยว 3 โครงการ และ โครงสร้างพื้นฐาน 1 โครงการ ด้าน Ky Sereyvath นักเศรษฐศาสตร์ของ Royal Academy of Cambodia (RAC) กล่าวว่าปัจจัยสำคัญที่สร้างแรงดึงดูดการลงทุนของกัมพูชา ได้แก่ ข้อตกลงการค้าระดับทวิภาคีและระดับภูมิภาค ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงล่าสุดในกรอบการลงทุนทางกฎหมาย

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501324792/china-strengthens-investment-in-cambodia-with-nearly-65-percent-share/

ครึ่งปีแรก การค้าระหว่างประเทศกัมพูชาแตะ 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์

ในช่วง 6 เดือนแรกของปี มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของกัมพูชาอยู่ที่ 2.369 หมื่นล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิต โดยนับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมิถุนายน กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศมูลค่ารวม 1.146 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 ขณะที่การนำเข้าของกัมพูชาปรับตัวลดลงร้อยละ 22.9 หรือคิดเป็นมูลค่า 1.223 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งสหรัฐฯ ยังคงเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดสำหรับกัมพูชา โดยทำการนำเข้าสินค้าจากกัมพูชามูลค่ารวม 4.23 พันล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 8.9 เมื่อเทียบเป็นรายปี ตามมาด้วยเวียดนามที่มูลค่า 1.42 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.7 สำหรับคู่ค้าหลักอื่นๆ ของกัมพูชาได้แก่ ไทย ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และจีน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501322261/international-trade-tops-23-billion-in-h1/

‘เวียดนาม’ กลายเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของกัมพูชาในกลุ่มประเทศอาเซียน

กระทรวงพาณิชย์ของกัมพูชา ระบุว่าในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 การค้าระหว่างประเทศของกัมพูชาและเวียดนาม ทำรายได้สูงถึง 2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นกว่า 3% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ส่งผลให้เวียดนามกลายเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของกัมพูชาในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน เนื่องจากมูลค่าการค้าทวิภาคีของทั้งสองประเทศที่มีสัดส่วนราว 50% ของเม็ดเงินรวมระหว่างกัมพูชาและประเทศสมาชิกอาเซียน ทั้งนี้ จากการเติบโตของการส่งออกกัมพูชาไปยังเวียดนามนั้น ได้รับแรงหนุนมาจากการส่งออกผลผลิตทางการเกษตรที่สูงขึ้น เนื่องจากเก็บเกี่ยวผลผลิตได้มากขึ้น โดยเฉพาะข้าว ยางพารา เม็ดมะม่วงหิมพานต์และมันสำปะหลัง เป็นต้น ในขณะที่สินค้านำเข้าสำคัญจากเวียดนาม ได้แก่ วัสดุก่อสร้าง เครื่องจักร เชื้อเพลิงและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-becomes-largest-asean-trading-partner-of-cambodia-media-2163621.html

FSA อนุมัติหลักการประกาศร่างการลงทุนกองทุนรวมในกัมพูชา

Council of Non-Bank Financial Services Authority (FSA) หน่วยงานของกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง (MEF) ได้อนุมัติในหลักการร่างประกาศเพื่ออนุญาตให้นักลงทุนสามารถซื้อขายกองทุนรวมภายในตลอดหลักทรัพย์กัมพูชาได้ ซึ่งร่างประกาศดังกล่าวได้รับการอนุมัติเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (5 ก.ค.) โดยมี Aun Pornmoniroth รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวง MEF เป็นประธาน ร่วมกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ FSA รวมทั้ง Sou Socheat ผู้อำนวยการทั่วไปของ Securities and Exchange Regulator (SERC) ของประเทศกัมพูชา ซึ่งร่างดังกล่าวกำหนดเงื่อนไขและขั้นตอนสำหรับการออกหน่วยลงทุน รวมถึงการดำเนินการของผู้บริหารกองทุนรวม เพื่อเป็นการรับรองกรอบความรับผิดชอบและความโปร่งใส ตามกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง ภายใต้หลักการกฎหมายและข้อบังคับ อีกทั้ง FSA ยังอนุมัติคำขอของบริษัทต่างชาติอย่าง บริษัท Binance KH Co. Ltd. สำหรับการวางแพลตฟอร์มการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลใน FinTech Regulatory Sandbox ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลนำร่อง แต่ถึงอย่างไร FSA จำเป็นต้องเตรียมการและออกประกาศอื่นเพิ่มเติม เพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติที่จำเป็นสำหรับหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องตามอำนาจหน้าที่

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501321301/fsa-approves-draft-scheme-proclamation/