กล้วยยังคงเป็นสินค้าเกษตรส่งออกที่สำคัญของสปป.ลาว

กล้วยสปป.ลาวยังคงทำรายได้สูงสุดในบรรดาสินค้าเกษตรทั้งหมดโดยมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมดในปี 2563 สูงถึงเกือบ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ แม้จะมีข้อจำกัดทางการค้าจากการแพร่ระบาด COVID-19 ตามข้อมูลกระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์ของสปป.ลาวระบุว่ามูลค่าของกล้วยที่ขายให้กับประเทศเพื่อนบ้านอย่างจีนและไทยในปี 2563 เพิ่มขึ้นเป็น 227.4 ล้านดอลลาร์ ในแง่ของผลผลิตปริมาณกล้วยที่ปลูกเพื่อการส่งออกก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกที่สร้างขึ้นภายใต้ระบบเกษตรพันธสัญญา อย่างไรก็ตามจำนวนนักลงทุนและสวนกล้วยลดลงหลังจากที่รัฐบาลหยุดให้สัมปทานสำหรับพื้นที่เพาะปลูกใหม่และสิ้นสุดข้อตกลงกับ บริษัท ที่ละเมิดกฎระเบียบ ในปัจจุบันรัฐบาลพยายามทำให้เกษตรกรรมที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นของสปป.ลาวเติบโตควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดที่ยั่งยืนและสมดุลของการลงทุนกับสิ่งแวดล้อม

ที่มา : https://www.freshplaza.com/article/9303635/laos-bananas-remain-top-agricultural-export/

กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังเวียดนามเพิ่มสูงขึ้น

การส่งออกของกัมพูชาไปยังเวียดนามเพิ่มขึ้นในปี 2020 แม้ว่าทั้งสองประเทศจะกำหนดให้มีการควบคุมการเคลื่อนย้ายสินค้าข้ามพรมแดนอย่างเข้มงวดเพื่อต่อสู้กับโรคระบาดอย่างโควิด-19 ก็ตาม โดยข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์แสดงให้เห็นว่าการส่งออกของกัมพูชาไปยังเวียดนามเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.8 ในปี 2020 สู่มูลค่า 385 ล้านดอลลาร์ ส่วนการนำเข้าของกัมพูชาจากเวียดนามลดลงร้อยละ 3.1 สู่มูลค่า 2,633 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นการค้าทวิภาคีระหว่างสองประเทศมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 3,018 ล้านดอลลาร์ลดลงร้อยละ 1.13 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยการเพิ่มขึ้นของการส่งออกส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าด้านเกษตรที่เพิ่มขึ้น จากความต้องการของผู้บริโภคทางฝั่งเวียดนาม ซึ่งกัมพูชาได้กำหนดให้มีการตรวจสอบสินค้าและการขนส่งผ่านแดนอย่างเข้มงวด ผู้ที่จะข้ามพรมแดนต้องเข้าสู่เขตกักกัน 14 วัน เพื่อเป็นการกักกันการแพร่ระบาดของโควิด-19

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50825872/cambodias-exports-to-vietnam-increase/

ทางการกัมพูชาคาดการณ์ GDP เติบโตร้อยละ 3.5 ในปี 2021

กระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศคาดการณ์ถึงการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไว้ที่ร้อยละ 3.5 จากการหดตัวในปี 2020 ที่ร้อยละ 3.1 โดยภาคอุตสาหกรรมทุกภาคส่วนภายในประเทศพร้อมที่จะขับเคลื่อนการเติบโต ซึ่งภาคอุตสาหกรรมโดยรวมคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.9 เนื่องจากการส่งออกเครื่องนุ่งห่มที่เพิ่มขึ้น ส่วนเครื่องนุ่งห่มคาดว่าจะเติบโตร้อยละ 4.6 ไปจนถึงภาคการก่อสร้างคาดว่าจะเติบโตร้อยละ 2.9 โดยก่อนหน้านี้กัมพูชาเผชิญกับการแข่งขันในตลาดที่รุนแรงขึ้น เนื่องจากการควบคุมของโรคระบาด ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางข้อตกลงการค้า สิทธิพิเศษ EBA ที่ถูกเพิกถอนไปบางส่วน และการเติบโตของผลิตภาพแรงงานที่ลดลง เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้กระทรวงได้เสนอแนวทางแก้ไข 3 ประการ ได้แก่ การเพิ่มผลผลิต การลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้า การขนส่งและโลจิสติกส์ และการส่งเสริมการค้าให้เป็นไปตามแผนกลยุทธ์ของรัฐฯ ส่วนภาคบริการคาดว่าจะเติบโตร้อยละ 3.4 นำโดยส่วนการขนส่งและการสื่อสาร

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50825871/economic-forecast-for-2021-projects-3-5-percent-gdp-growth/

ททท.จับมืออาเซียนต้า จัดประชุมสมาชิก เตรียมความพร้อมและเพิ่มศักยภาพ ในการขายท่องเที่ยวไทย หลังโควิดคลี่คลาย

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) โดยกองตลาดอาเซียน เอเชียใต้ และแปซิฟิกใต้ ร่วมกับ ททท.สำนักงานเชียงใหม่ สมาคมท่องเที่ยวอาเซียน (ASEAN Tourism Association : ASEANTA) จัดประชุมให้กับผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่เป็นสมาชิกสมาคมฯ ได้เตรียมความพร้อมหลังสถานการณ์ COVID-19 และเพิ่มขีดความสามารถในการที่จะทำการตลาดท่องเที่ยว กับกลุ่มเป้าหมายทางการตลาดในภูมิภาคอาเซียน เอเชียใต้ และแปซิฟิกใต้ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับเครือข่าย ในการส่งเสริมการเดินทางของนักท่องเที่ยวสู่ประเทศไทย เมื่อมีการเปิดการเดินทางได้ตามปกติ โดยได้มีการอัพเดทสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวของภูมิภาคภาคเหนือ และนำเสนอข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ ให้กับผู้ประกอบการ ASEANTA จำนวน 60 คน ที่เดินทางมาจากกรุงเทพฯ ได้รับทราบ พร้อมกิจกรรม Workshop กับวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิที่จะมาระดมความคิดเห็น และแนวคิดในการจัดทำ Product หรือเส้นทางท่องเที่ยวเพื่อรองรับการท่องเที่ยวแบบ New Normal ซึ่งสำหรับผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว ที่ต้องการติดต่อสื่อสารกับผู้ประกอบการท่องเที่ยวต่างประเทศ ททท. จึงได้จัดทำ Platform Online Thailand Tourism Virtual Market (TTVM) ขึ้นมา เพื่อเป็นเครื่องมือในการสื่อสารและการตลาดดิจิตัล ในรูปแบบ B2B (Business to Business) เพื่อเพิ่มโอกาสในการทำตลาด

ที่มา : https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/1612282/

“อาคม”มั่นใจเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวไตรมาสสี่

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังระบุ หลังจากไทยเริ่มมีการฉีดวัคซีนในประเทศ ส่งผลให้ ประชาชนมีความมั่นใจมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดการเดินทางในประเทศเพิ่มขึ้นด้วย โดยขณะนี้ ได้รับรายงานว่า ในช่วงเทศสงกรานต์ในเดือนเม.ย.นี้ ทางสายการบินต่างๆ ถูกจับจองเที่ยวบินเต็มทุกเที่ยวบินแล้ว และปริมาณการเดินทางไปต่างจังหวัดในช่วงนี้ก็เพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลดีเพราะทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ สถาบันจัดอันดับเครดิตรวมทั้งศูนย์วิจัยหลายแห่งประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มกลับมาดีขึ้นเรื่อยๆ ประชาชนเริ่มมีความเชื่อมั่น รวมทั้งประชาชนกลุ่มฐานรากจะมีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ส่วนที่จะออกมาตรการฟื้นฟู หรือเดินหน้ามาตรการคนละครึ่ง เฟส 3 ต่อเนื่องหรือไม่นั้น จะต้องรอติดตามสถานการณ์ก่อน และยังต้องติดตามดัชนีตัวเลขเศรษฐกิจอีกครั้ง ทั้งนี้ เชื่อว่าเศรษฐกิจไตรมาส 4 จะดีขึ้นแน่นอน เนื่องจากประเทศไทยจะสามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวได้ ซึ่งเป็นผลมาจากมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 และนักท่องเที่ยวมีใบรับรองการฉีดวัคโควิด ขณะเดียวกัน ประเทศไทยจะต้องไปเจรจากับประเทศต้นทางที่คนไทยอยากจะเดินทางท่องเที่ยวเพื่อส่งคนททยออกไป เพื่อแลกกับต่างชาติให้เข้ามาเที่ยวในประเทศ เพื่อช่วยธุรกิจสายการบินระหว่างประเทศด้วย

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/927622

เวียดนามจำเป็นต้องเปิดพรมแดน เพื่อฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยว

นายเหงียน ฮิ๋ว เถาะ นายกสมาคมท่องเที่ยวแห่งประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เผยว่าเวียดนามจำเป็นต้องค้นหาโซลูชันและเตรียมความพร้อมกับเงื่อนไขที่จำเป็นทั้งหมด เพื่อที่จะเปิดพรมแดนให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในเดือนกรกฎาคม 2564 ซึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติถือเป็นทางออกเดียวสำหรับการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวเวียดนาม คิดเป็นสัดส่วน 9.2% ของ GDP ในปี 2562 ทั้งนี้ การควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นข้อได้เปรียบที่สำคัญของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศ เพื่อที่จะสามารถรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ ตั้งแต่ต้นปีนี้จนถึงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ในขณะที่ ณ ปัจจุบัน ประเทศในกลุ่มภูมิภาคแห่งนี้ มีแผนที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะประเทศไทย ได้ประกาศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2564 ตลอดจนสิงคโปร์เปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีใบรับรองระบุสถานะติดลบของ COVID-19 อย่างไรก็ตาม เวียดนามยังไม่สามารถรับนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมากได้ แต่ก็ไม่อาจชะลอตัวได้ เนื่องจากการแข่งขันของประเทศในภูมิภาค ประกอบกับคนในพื้นที่กลัวการระบาดอีกครั้ง

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/904845/viet-nam-needs-to-open-borders-for-tourism-recovery-experts.html

เศรษฐกิจเวียดนามยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในช่วงแรกของปี 64

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เผยว่าเศรษฐกิจเวียดนามฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ ได้รับสัญญาจากการเติบโตของภาคธุรกิจควบคู่กับการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยตัวชี้วัดที่แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจฟื้นตัว ได่แก่ การผลิตทางการเกษตร ป่าไม้ อุตสาหกรรมและดัชนีพัฒนาธุรกิจ เป็นต้น และยังมีตัวชี้วัดอื่น ได้แก่ การดึงดูดของการลงทุนจากภาคเอกชนและกิจกรรมการส่งออก-นำเข้าที่กลับมาดีขึ้น ทั้งนี้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ยอดจดทะเบียนของธุรกิจใหม่กว่า 8,000 แห่งทั่วประเทศ ด้วยเงินทุนจดทะเบียนแตะ 179 พันล้านดอง นอกจากนี้ นาย Tran Toan Thang หัวหน้าศูนย์ข้อมูลและวิเคราห์เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (NCIF) กล่าวว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเวียดนาม ได้รับสัญญาในทิศทางที่เป็นบวกในช่วงไตรมาสที่ 3-4 ของปีที่แล้ว ถึงแม้ว่าจะอยู่ในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ธุรกิจในท้องถิ่นหยุดกิจการชั่วคราวกว่า 33,000 แห่งในช่วง 2 เดือนแรกของปี เพิ่มขึ้น 18.6% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

ที่มา : https://vietnamtimes.org.vn/vietnamese-economy-continues-to-reboot-during-first-months-of-2021-29289.html

เปิดตัวโครงการนโยบายอุตสาหกรรมสีเขียวของสปป.ลาว

กระทรวงอุตสาหกรรมและการพาณิชย์และ Global Green Growth Institute ได้ลงนามในข้อตกลงเพื่อเปิดตัวโครงการอย่างเป็นทางการเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาภายใต้แนวความคิด “นโยบายอุตสาหกรรมสีเขียวของสปป.ลาว” ภายใต้โครงการนี้จะมีการแก้ไขนโยบายสำหรับภาคอุตสาหกรรมพลังงานให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงแผนปฏิบัติการสำหรับการลงทุนของภาคเอกชนในภาคพลังงานอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับโครงการ ในระยะกลางโครงการจะขยายการลงทุนของภาคเอกชนในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในอุตสาหกรรม ในระยะยาวจะมีแนวทางลดการปล่อยก๊าซจากอุตสาหกรรมและการเปลี่ยนภาคอุตสาหกรรมไปสู่เส้นทางการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ปล่อยมลพิษน้อยลงในอนาคต โครงการเหล่านี้จะช่วยเร่งการนำแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมในสปป.ลาวและด้วยเหตุนี้จึงเป็นก้าวสำคัญในการฟื้นตัวของภาคพลังงานอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่เป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจสปป.ลาวในอนาคต

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_New_53.php

ยูเอ็นชี้ราคาอาหารพุ่งสูงขึ้นนับตั้งแต่ทหารยึดอำนาจ

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่าองค์การอาหารแห่งสหประชาชาติ ชี้ราคาอาหารและเชื้อเพลิงในเมียนมา ปรับตัวสูงขึ้นนับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ. ส่งผลต่อความเป็นอยู่ของผู้คนฐานะยากจน ในขณะที่โครงการอาหารโลก (WFP) เผยว่าราคาอาหารเพิ่มสูง โดยเฉพาะราคาน้ำมันปาล์มที่เพิ่มขึ้น 20% ในบางพื้นที่รอบเมืองย่างกุ้ง และราคาข้าวเพิ่มขึ้น 4% ในเมืองย่างกุ้งและมัณฑะเลย์ ตลอดจนในบางพื้นที่ของรัฐคะฉิ่น ราคาข้าวปรับตัวพุ่ง 35% โดยปัจจัยที่ทำให้ราคากลุ่มอาหารและเชื้อเพลิงสูงขึ้นนั้น เป็นผลมาจากภาคธนาคารเป็นอัมพาต ทำให้ส่งเงินกลับเข้าประเทศเป็นไปอย่างล่าช้าและปัญหาการขาดแคลนเงินสด

ที่มา : https://www.straitstimes.com/asia/se-asia/troubling-signs-of-myanmar-food-price-rises-since-coup-un-agency

ธนาคาร ACLEDA พิจารณาขยายเพดานสินเชื่อมูลค่า 200 ล้านดอลลาร์ ในกัมพูชา

ธนาคาร ACLEDA พิจารณาขยายเพดานสินเชื่อมูลค่า 200 ล้านดอลลาร์ ในกัมพูชา โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาของ The International Finance Corporation (IFC) ซึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่มธนาคารโลก โดย IFC ได้เสนอการขยายเพดานสินเชื่อนี้เพื่อให้ธนาคารสามารถขยายโครงการปล่อยสินเชื่อให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งเมื่อเดือนกันยายน 2020 ธนาคาร ACLEDA มีสินเชื่อรวมอยู่ที่ 3.6 พันล้านดอลลาร์ และมีเงินฝากรวมราว 4.2 พันล้านดอลลาร์ โดยธนาคารผู้ให้กู้กล่าวถึงผลกระทบในการพัฒนาภาคธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ที่มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ จึงส่งผลให้เกิดข้อเสียเปรียบในการขยายธุรกิจหรือการเพิ่มสภาพคล่องให้กับธุรกิจ ด้วยปัญหาเบื้องต้นทางธนาคารจึงมีแนวคิดที่จะร่วมพัฒนาธุรกิจขนาด SMEs จากการสนับสนุนและส่งเสริมให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากยิ่งขึ้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50825298/200m-loan-for-cambodias-leading-commercial-bank-acleda-in-the-works/