“ตลาดแรงงานเวียดนาม” ไตรมาสแรกปี 66 ฟื้นตัวต่อเนื่อง

คุณ Nguyen Trung Tien รองผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ (GSO) เปิดเผยว่าตลาดแรงงานในเวียดนามยังคงรักษาระดับของโมเมนตัมการฟื้นตัวได้ในไตรมาสแรกของปี 2566 ในขณะที่ คุณ Pham Hoai Nam ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติประชากรและแรงงาน กล่าวเสริมว่าอัตราการว่างงานในวัยทำงานลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป มีจำนวน 52.2 ล้านคน สูงกว่าไตรมาสก่อนหน้าที่ 88,700 คน และเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 ล้านคนเมื่อเทียบกับปืที่แล้ว ตามมาด้วยผู้ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปและมีงานทำ มีจำนวน 51.1 ล้านคน สูงกว่าปีที่แล้วที่มีจำนวน 1.1 ล้านคน ทั้งนี้ จำนวนผู้ตกงานในวัยทำงาน มีจำนวนราว 885,500 คน ลดลง 12,400 คน เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่จำนวนผู้ว่างงาน อยู่ที่ 1.05 ล้านคน ลดลง 34,600 คน เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้ว

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/labour-market-continues-recovering-in-q1/251136.vnp

“เวียดนาม” เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ไตรมาส 1/2566 หดตัวลง

สำนักงานสถิติแห่งชาติ (GSO) เปิดเผยว่าดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (IIP) ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2566 ปรับตัวลดลง 2.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องมาจากได้รับผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่มีผลต่อภาคการผลิตในประเทศและการดำเนินกิจการ โดยเฉพาะสาขาอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ลดลงมากที่สุด 4.4% รองลงมาภาคการผลิตและแปรรูป 2.4% ในขณะที่ภาคการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าลดลง 1% อย่างไรก็ดี ภาคการจัดหาน้ำ บำบัดน้ำเสียและการจัดการ เพิ่มขึ้น 7% ตลอดจนดัชนีการอุปโภคของภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงเช่นเดียวกัน ส่งผลให้สินค้าคงคลังในไตรมาสแรก เพิ่มขึ้น 19.8% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และจากสถานการณ์ดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าภาคอุตสาหกรรมการผลิตและธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างมาก นอกจากนี้ การแข่งขันทางเศรษฐกิจและสงครามการค้าที่ทวีความรุนแรง รวมถึงความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาเชื้อเพลิงและต้นทุนโลจิสติกส์ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการในประเทศ

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/industrial-production-index-fell-in-q1-post1012161.vov

“เวียดนาม” ชี้เดือน มี.ค. ส่งออกพุ่ง 13.5%

จากข้อมูลของกรมศุลกากรเวียดนาม เปิดเผยว่าการส่งออกในเดือนมีนาคม มีมูลค่าอยู่ที่ 29.57 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 13.5% จากเดือนก่อนหน้า ในขณะเดียวกัน มูลค่าการการนำเข้าอยู่ที่ 28.92 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 24.4% จากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกรวมในไตรมาสแรกของปีนี้ อยู่ที่ 79.17 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 11.9% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่าที่ 75.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 14.7% ส่งผลให้ในไตรมาสแรก เวียดนามเกินดุลการค้า 4.07 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : https://en.nhandan.vn/vietnams-export-revenue-up-135-in-march-customs-data-post123884.html

“ADB” คาดการณ์เศรษฐกิจเวียดนาม ปี 66 โต 6.5%

ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) คาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของเวียดนามในปี 2566 ปรับชะลอตัวเล็กน้อย 6.5% ก่อนที่จะปรับเพิ่มขึ้น 6.8% ในปีหน้า และคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวสูงขึ้นอยู่ที่ 4.5% ในปีนี้ ทั้งนี้ นาย แอนดรูว์ เจฟฟรีส์ (Andrew Jeffries) ผู้อำนวยการ ADB ประจำเวียดนาม กล่าวว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามจะถูกจำกัดในปีนี้ เนื่องจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก ความเข็มงวดทางการเงินและผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ทั่วโลก อย่างไรก็ดาม ยังได้มีการเน้นย้ำถึงการลงทุนของภาครัฐฯ ที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการฟื้นตัวเศรษฐกิจของประเทศและการเติบโตในปีหน้า ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงทำการเบิกจ่ายงบประมาณกว่า 30 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ โดยเงินงบประมาณกว่า 90% ถูกจัดสรรไปยังกระทรวงและจังหวัดต่างๆ ในเดือนมกราคม 2566

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/adb-anticipates-economic-growth-of-65-for-vietnam-this-year-post1011747.vov

กระทรวงฯ ชี้เวียดนามเผชิญกับความท้าทายในการบรรลุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจ ปี 2566

กระทรวงการวางแผนและการลงทุน เปิดเผยว่าเวียดนามเผชิญกับความท้าทายหลายประการในการบรรลุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจ 6.5% ในปีนี้ หลังจากเศรษฐกิจในไตรมาสแรกส่งสัญญาชะลอตัว 3.32% ลดลงจาก 5.92% ในไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้ว ตลอดจนการส่งออกหดตัว 11.9% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เนื่องจากอุปสงค์ทั่วโลกที่อ่อนแอ ทั้งนี้ สถานการณ์โลกยังไม่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมและการส่งออก

ที่มา : https://www.channelnewsasia.com/business/vietnam-faces-challenge-meeting-2023-growth-target-planning-ministry-3393391

ดัชนี PMI ภาคการผลิตของเวียดนามเดือน มี.ค. กลับมาลดลง

ผลการสำรวจของ S&P Global รายงานว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของเวียดนาม ลดลงสู่ระดับ 47.7 ในเดือนมีนาคม จากระดับ 51.2 ในเดือนกุมภาพันธ์ ดัชนียังอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ส่งสัญญาแนวโน้มปรับตัวลดลง ทั้งนี้ คำสั่งซื้อใหม่ลดลงเป็นครั้งที่ 4 ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา เป็นผลมาจากอุปสงค์ที่ค่อนข้างอ่อนแอ ขณะที่ธุรกิจใหม่จากตลาดต่างประเทศลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน นอกจากนี้ รายงานยังระบุว่าท่ามกลางแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่ผ่อนคลายลงในไตรมาสแรก ราคาวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้นเริ่มชะลอตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคมในปีที่แล้ว

อย่างไรก็ดี ดัชนีที่กลับมาลดลงในเดือนมีนาคม หวังว่าจะเป็นเพียงปัญหาชั่วคราว เนื่องจากบริษัทต่างๆ ยังมีความมั่นใจแรงอุปสงค์และสภาวะตลาดที่มีเสถียรภาพในปีหน้า

ที่มา : https://english.news.cn/20230403/d5edf52a2f1140bc86fa87b826e3073b/c.html

“เวียดนาม” ตั้งเป้าจำนวนธุรกิจ 1.5 ล้านแห่งในปี 2568

รัฐบาลต้องการให้ภาคเอกชนเป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการพัฒนาประเทศ โดยตั้งเป้าว่ามีจำนวนธุรกิจ 1.5 ล้านแห่งในปี 2568 และกว่าครึ่งหนึ่งของกิจการในประเทศเป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่ กระทรวงการวางแผนและการลงทุนของเวียดนามได้นำนโยบายในการส่งเสริมการดำเนินกิจการของธุรกิจท้องถิ่น โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงการวางโครงสร้างพื้นฐาน เขตเศรษฐกิจและเขตอุตสาหกรรม เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของภาคธุรกิจที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ มูลค่าของภาคเอกชน คาดว่ามีสัดส่วน 55% ของ GDP ในปี 2568 และปรับตัวสูงขึ้น 60-65% ในปี 2573 อย่างไรก็ดี ธุรกิจส่วนใหญ่ 95%  หรือประมาณ 1 ล้านแห่งเป็นธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง (SMEs)

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnam-plans-to-have-15-million-businesses-in-2025-post1011250.vov

“OECD” คาดเศรษฐกิจเวียดนามปีนี้ขยายตัว 6.6%

องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) รายงานว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัว 6.6% ในปีนี้ โดยได้รับแรงหนุนจากการลงทุนจากต่างประเทศที่ไหลเข้าไปยังภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร สิ่งทอและรองเท้า รวมถึงได้รับปัจจัยบวกจากการที่ประเทศจีนผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ด้วยเหตุนี้ ทางองค์การ OECD มองว่าเวียดนามยังคงเป็นประเทศชั้นนำที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดจาก 5 อันดับแรกในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ ตามรายงาน ระบุว่าหลังสิ้นสุดโครงการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ได้สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกแก่เวียดนามที่จะหันไปแก้ไขสถานการณ์ทางการเงินของประเทศ อย่างไรก็ดี อุปสงค์ที่อ่อนแอ ส่งผลให้เศรษฐกิจเวียดนามชะลอตัวตามไปด้วย ตลอดจนภาวะเงินเฟ้อ เวียดนามควรติดตามทิศทางและแนวโน้มของเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnams-economy-to-grow-by-66-this-year-oecd-post1011080.vov

“เวียดนาม” เผยไตรมาสแรกปี 66 เม็ดเงินทุนต่างชาติไหลเข้าลดลง 39%

จากรายงานของสำนักงานส่งเสริมการลงทุนต่างประเทศของเวียดนาม (FIA) ระบุว่าในไตรมาสแรกของปี 2566 เวียดนามดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ มีมูลค่าราว 5.45 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 39% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และจากตัวเลขการลงทุนข้างต้น มีเงินทุนกว่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐไหลเข้าไปยังโครงการใหม่ จำนวน 522 โครงการ ตามมาด้วยเงินทุนกว่า 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐไหลเข้าไปยังโครงการที่มีอยู่ในปัจจุบัน จำนวน 228 โครงการ

ทั้งนี้ หากพิจารณาสัดส่วนการลงทุนในสาขาอุตสาหกรรมสำคัญของเวียดนาม พบว่าอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปมีสัดส่วนการลงทุนจากต่างชาติมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วน 73% รองลงมาอสังหาริมทรัพย์ 14.1% ในขณะที่ประเทศที่เข้ามาลงทุนในเวียดนามมากที่สุด คือ สิงคโปร์มีมูลค่าการลงทุน 1.69 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 31% ของการลงทุนจากต่างประเทศ รองลงมาจีนและไต้หวัน

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1502972/viet-nam-s-foreign-investment-plunges-39-per-cent-in-q1.html

“เวียดนาม” เผย CPI ไตรมาสแรกปี 66 พุ่ง 4.3%

กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 เพิ่มขึ้น 4.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และสาเหตุสำคัญที่ทำให้ดัชนี CPI ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมาจากราคาที่อยู่อาศัยและวัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้น 7.2% และราคาอาหาร เพิ่มขึ้น 4.5% โดยราคาที่อยู่อาศัยและวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องมาจากค่าเช่าและต้นทุนปัจจัยการผลิตที่สูงขึ้น ได้แก่ ปูนซีเมนต์ เหล็กและทราย เป็นต้น ในขณะเดียวกัน ความต้องการบริโภคอาหารเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลปีใหม่ ส่งผลให้ราคาอาหารสูงขึ้นและยังทำให้ดัชนี CPI เพิ่มขึ้น 1% นอกจากนี้ กระทรวงฯ ได้ประเมินสถานการณ์ของภาวะเงินเฟ้อไว้ 3 สถานการณ์ (Scenarios) ในช่วงไตรมาสที่ 2 และในช่วงที่เหลือของปี 2566 ตลอดจนคาดการณ์ว่าดัชนี CPI เฉลี่ยในปีนี้ เพิ่มขึ้น 3.9% – 4.8%

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-s-cpi-inches-up-in-q1-2125534.html