ส่งออกข้าวไทยปี 63 เสี่ยงหล่นอันดับ 3 โลก

ผู้ส่งออกข้าวแนะ“ตลาดนำการผลิต” ไทยต้องเร่งพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ ๆ สู้ศึก ระบุกว่าจะเพียงพอความต้องการของเกษตรกรต้องใช้เวลา 3-5 ปี ปี 63 ไทยเสี่ยงสูงหล่นอันดับ 3 ส่งออกข้าวโลก จากที่กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศจับมือขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต” เป้าหมายเพื่อสร้างประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสินค้าเกษตรและอาหารคุณภาพของโลก และผลักดันประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารติด 1 ใน 10 อันดับแรกของโลกนั้น สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ชี้ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ยุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต”เป็นเรื่องที่ไทยเองจะต้องเร่งดำเนินการ เนื่องจากการค้าของโลกในยุคโลกาภิวัตน์นี้มีการแข่งขันกันค่อนข้างสูง ตลาดผู้บริโภคเองก็มีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน ดังนั้นสิ่งที่ผู้บริโภคอยากจะได้คือสิ่งที่เราต้องมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ทำได้แค่ช่วงข้ามคืน ทั้งนี้ต้องเริ่มจากการพัฒนาไม่ว่าจะในการศึกษาวิจัยตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ จนมาถึงการทดลองปลูกจนมีผลเป็นที่น่าพอใจและลูกค้ายอมรับ จากนั้นก็ต้องขยายเมล็ดพันธุ์จนมีเพียงพอที่จะปลูกจนได้จำนวนที่สามารถนำไปจำหน่ายในตลาดได้ โดยรวมแล้วน่าจะใช้เวลาในส่วนนี้ไม่ต่ำกว่า 3-5 ปี เพราะฉะนั้นคงไม่สามารถที่จะทำให้บังเกิดผลได้ในปีนี้หรือปีหน้า ซึ่งยังไม่รวมถึงการพัฒนาในเรื่องการบริหารจัดการให้ความรู้ความเข้าใจกับเกษตรกรที่จะต้องเปลี่ยนแปลงรวมถึงภาคการแปรรูป ระบบสุขอนามัยและอื่น ๆ  อย่างไรก็ดีเป็นนิมิตหมายที่ดีถ้ามีการทำงานประสานกันระหว่างกระทรวงหลักรวมถึงภาคเอกชนที่จะมีข้อมูลที่ถูกต้องของตลาดซึ่งเอกชนจะใกล้ชิดมากกว่าหน่วยงานรัฐ แต่อย่างไรก็ตามก็มีหลายผลิตภัณฑ์การเกษตรที่ลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นข้าวซึ่งปีนี้คาดว่าจะส่งออกได้ไม่เกิน 6.5 ล้านตันจาก 7.5 ล้านตันในปีที่แล้วและอาจจะหล่นไปเป็นที่ 3 ของโลกในเรื่องตัวเลขส่งออกรองจากอินเดียและเวียดนาม ด้วยเหตุผลที่ข้าวไทยมีราคาที่แพงกว่าคู่แข่งในระดับค่อนข้างมากและพันธุ์ข้าวที่ไม่หลากหลายเหมือนที่คู่แข่งมีทำให้ตลาดข้าวของไทยหดตัวมาโดยต่อเนื่อง เราต้องมีพันธุ์ข้าวที่หลากหลายและมีผลผลิตต่อไร่ที่สูงถึงจะสามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งอื่น ๆ ได้  สิ่งเหล่านี้จะต้องใช้เวลาพอสมควร แต่ถึงจะช้าก็ต้องทำเพราะนี่คือความอยู่รอดของอุตสาหกรรมข้าวไทยในอนาคต หากมิเช่นนั้นข้าวไทยในตลาดโลกก็คงเหลือแค่เป็นตำนาน สิ่งที่นายกรัฐมนตรีพูดว่าจะผลักดันให้ไทยกลับมาเป็นอันดับ 1 ผู้ส่งออกข้าวโลกโลกภายใน 2 ปีคงไม่ใช่สิ่งที่น่าจะทำได้ แต่ถ้าเรามีความตั้งใจและพยายามผลักดันสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นและต่อเนื่อง ในอนาคตก็อาจจะมีความเป็นไปได้ ข้อมูลในปี 2562  ผู้ส่งออกข้าวโลก 3 อันดับแรกได้แก่  อินเดีย ปริมาณ 9.7 ล้านตัน , ไทย 7.5 ล้านตัน และเวียดนาม 6.5 ล้านตัน ขณะที่ช่วง 6 เดือนแรกปี 2563 อินเดียส่งออกได้ 5.5 ล้านตัน, เวียดนาม 3.4 ล้านตัน และไทย 3 ล้านตัน

ที่มา: https://www.thansettakij.com/content/Macro_econ/442502?utm_source=sub_category&utm_medium=internal_referral&utm_campaign=trade

“เวียดนาม-ไทย” มุ่งมั่นกระชับความร่วมมือทางการค้า

สำนักงานส่งเสริมการค้าไทยที่นครโฮจิมินห์ เป็นเจ้าภาพในงานส่งเสริมการแลกเปลี่ยนการค้า ณ วันที่ 14 กรกฎาคม เพื่อหาช่องทางแก่ผู้ประกอบการท้องถิ่นในการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายห่วงโซ่อุปทานระดับภูมิภาคและโอกาสสำคัญในการยกระดับความร่วมมือระหว่างไทยกับเวียดนาม ทั้งนี้ คุณสภาพร สุขมาก ผู้อำนวยการสำนักงานการค้าในต่างประเทศที่นครโฮจิมินห์ กล่าวว่าสำนักงานฯ ได้จัดงานส่งเสริมการแลกเปลี่ยนการค้าผ่านทางออนไลน์และโดยตรง เพื่อให้การสนับสนุนแก่บริษัทต่างๆ ในขณะที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ยังคงมุ่งสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ สภาพแวดล้อมในการทำธุรกิจระหว่างไทยกับเวียดนาม อีกทั้ง คุณศรัณยา สกลธนารักษ์ ประธานสมาคมนักธุรกิจไทยในเวียดนาม กล่าวว่าในฐานะสมาชิกของอาเซียน ไทยและเวียดนามควรส่งเสริมความหลากหลายทางเศรษฐกิจในหลายด้านด้วยกัน เพื่อที่จะดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเพิ่มขึ้นและสร้างซัพพลายเชนทั่วภูมิภาค เนื่องจากทั้งสองประเทศมีความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ที่จะกลายเป็นประตูสำคัญสู่อาเซียน รวมถึงปัจจัยต่างๆ ได้แก่ ยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขัน การลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์และการเคลื่อนย้ายสินค้าอย่างเสรี เป็นต้น

ที่มา : https://english.vov.vn/economy/vietnam-thailand-strive-to-intensify-trade-exchange-activities-416087.vov

ไทยร่วงเบอร์ 1 ในการจัดหาผักผลไม้ไปยังเวียดนาม

สมาคมผักผลไม้แห่งเวียดนาม (Vinafruit) เปิดเผยว่าในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 เวียดนามนำเข้าผักผลไม้รวมที่ 583 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 41 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสหรัฐอเมริกา จีน ออสเตรเลีย เมียนมาและไทย เป็นตลาดนำเข้ารายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ทั้งนี้ เลขาธิการสมาคมผักผลไม้แห่งเวียดนาม กล่าวว่าการส่งออกผักและผลไม้กำลังเผชิญกับช่วงเวลาอันยากลำบาก ดังนั้น ธุรกิจจึงต้องกระตุ้นการบริโภคในประเทศ จากการที่ผักมีราคาถูกกว่ามาก ด้วยเหตุนี้เอง คนเวียดนามส่วนใหญ่หันมาบริโภคในประเทศเพิ่มมากขึ้น ในขณะเดียวกัน เวียดนามส่งออกไปยังไทยเพิ่มมากขึ้นในปีนี้ ร้อยละ 233 มูลค่าราว 68 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ 5 เดือนแรกของปีนี้ เวียดนามเกินดุลการค้ามากกว่า 37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ จากข้อมูลข้างต้น เป็นผลมาจากความพยายามในการผลักดันขยายตลาด เพื่อชดเชยการส่งออกผักผลไม้ที่ลดลงไปจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักลงทุนไทยในเวียดนาม ได้แก่ กลุ่มเซ็นทรัล (Central Group) ที่มีการนำเข้าผักเวียดนามไปไทยเพิ่มขึ้น

ที่มา : https://vietnamtimes.org.vn/thailand-beaten-out-of-no1-in-fruit-and-vegetable-supply-to-vietnam-22295.html

พาณิชย์ เผยตลาดออนไลน์ออสซี่โต 10 % หลังโควิค -19

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ แนะผู้ส่งออกวางแผนลุยตลาดออสเตรเลียรับ New Normal ชี้เจาะผ่านช่องทางออนไลน์ หลังเติบโตแรง คาดจะขยายตัว 20% ภายใน 12-18 เดือนข้างหน้าเผยสินค้าสุขภาพ อาหาร อุปกรณ์ตกแต่งบ้าน มาแรง หลังจากเกิดวิกฤตโควิด-19 โดยพบว่าการค้าออนไลน์มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 10% ของมูลค่าธุรกิจค้าปลีกทั้งหมด โดยคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 20% ในอีก 12-18 เดือนข้างหน้า ซึ่งหากไม่เกิดวิกฤติโควิด-19 อาจจะต้องใช้เวลาถึง 10 ปี ซึ่งผู้ส่งออกไทยจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และวางแผนในการทำตลาดออสเตรเลียใหม่ โดยใช้ช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น เพื่อตอบสนองการใช้ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ของชาวออสเตรเลีย ทั้งนี้ นอกจากการขยายตัวของการค้าออนไลน์ ยังพบว่า รูปแบบการซื้อสินค้าได้เปลี่ยนเป็นการซื้อออนไลน์แบบไม่สัมผัสสินค้า (Contactless Shopping) หรือการเลือกซื้อสินค้าทางออนไลน์แล้วเลือกสถานที่ๆ จะรับสินค้า (Click and Collect) โดยการลดราคาสินค้า ไม่ใช่ปัจจัยหลักในการเลือกซื้อ แต่ความสะดวกสบายในการซื้อสินค้าเริ่มมีอิทธิพลมากขึ้น และรูปแบบการค้าออนไลน์ ยังมีอิทธิพลครอบคลุมทั้งการค้าสินค้าและบริการ เช่น การให้บริการ Streaming Video การให้อาหารนกเพนกวินของ Sea Life Sydney Aquarium เป็นต้น สำหรับสินค้าไทยที่มีโอกาสในการเจาะเข้าสู่ตลาดออสเตรเลีย ได้แก่ สินค้าเพื่อสุขภาพ ที่ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติและสินค้าออร์แกนิค ตั้งแต่อาหาร เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เครื่องสำอาง และสินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยง เพื่อตลาดสัตว์เลี้ยงที่มีมากกว่า 28 ล้านตัว นอกจากนี้ ยังมีอาหารประเภท Ready to Eat และ Ready to Cook ที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มมากขึ้นกว่าการรับประทานอาหารในร้านอาหาร โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภควัยทำงานที่มีมากกว่า 65% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ที่ต้องการความสะดวกในการพกพาและการรับประทาน และได้คุณประโยชน์ สารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายครบถ้วน รวมทั้งอุปกรณ์ตกแต่งบ้านและเฟอร์นิเจอร์แบบ DIY เครื่องครัว เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ทำสวน และเครื่องออกกำลังกาย ที่มีความต้องการเพิ่มขึ้น จากการ Work From Home จึงใช้เวลาในการปรับปรุงและซ่อมแซมที่พักอาศัย และรัฐบาลยังจัดสรรงบประมาณในการช่วยเหลือประชาชนสำหรับซ่อมแซม ปรับปรุงบ้านพักอาศัย การสร้างบ้านใหม่ และการอนุมัติโครงการก่อสร้างพื้นฐาน ทำให้มีความต้องการอุปกรณ์ก่อสร้างและของตกแต่งบ้านเพิ่มขึ้น การเปลี่ยนแปลงต่างๆ มาพร้อมกับความท้าทายและโอกาสทางธุรกิจ ความพร้อมของผู้ประกอบธุรกิจไทยในการเรียนรู้และปรับตัว เป็นสิ่งสำคัญในการทำธุรกิจในปัจจุบัน โดยตลาดออสเตรเลีย ไม่ใช่ตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่เป็นตลาดที่ต้องการสินค้าที่มีคุณภาพ มาตรฐาน และมีกฎระเบียบการนำเข้าที่ค่อนข้างเข้มงวด ซึ่งเป็นหัวใจหลักในการเข้าสู่ตลาดที่ผู้ประกอบธุรกิจควรคำนึงถึง เพื่อรักษาความสัมพันธ์ทางการค้า และสร้างโอกาสในการส่งออกให้กับสินค้าไทย

ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/889034?utm_source=category&utm_medium=internal_referral&utm_campaign=economic

ไฟเขียวต่างชาติลงทุนไทย มิ.ย.63 จำนวน 22 ราย

อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผยว่า เดือนมิ.ย.2563 คณะกรรมการฯ ได้อนุญาตให้คนต่างชาติ 22 ราย ประกอบธุรกิจในประเทศไทยภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติจากประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ และจีน มีการนำเงินเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจ 1,587 ล้านบาท ส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานคนไทย 3,575 คน และมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุน โดยการถ่ายทอดเทคโนโลยี ส่วนใหญ่เป็นองค์ความรู้ในแขนงที่คนไทยยังไม่มีความชำนาญหรือมีความเชี่ยวชาญในระดับที่ไม่สูงมากนัก เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับการทำงานในที่อับอากาศและการถ่ายเทสารเคมีในหอกลั่นสูงที่มีความกดอากาศตามมาตรฐานยุโรป องค์ความรู้เกี่ยวกับการทำงานของเครื่องกำเนิดไอน้ำที่ใช้หลักการแลกเปลี่ยนความร้อน (HRSG system) องค์ความรู้เกี่ยวกับโปรแกรมเพื่อออกแบบและพัฒนาคุณภาพชิ้นส่วนยานยนต์ และโปรแกรมเพื่อการตรวจและทดสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ และองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการความเสี่ยงของสินทรัพย์ เป็นต้น สำหรับธุรกิจที่คนต่างด้าวได้รับอนุญาต ได้แก่ 1.ธุรกิจบริการโดยเป็นคู่สัญญากับเอกชน จำนวน 4 ราย โดยเป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น และจีน มีเงินลงทุนจำนวน 542 ล้านบาท 2.ธุรกิจบริการให้แก่บริษัทในเครือ/ในกลุ่ม จำนวน 6 ราย โดยเป็นนักลงทุนจากประเทศสิงคโปร์ ญี่ปุ่น และเนเธอร์แลนด์ มีเงินลงทุนจำนวน 632 ล้านบาท 3.ธุรกิจนายหน้า ค้าปลีก ค้าส่ง จำนวน 7 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น ฟินแลนด์ เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และสิงคโปร์  มีเงินลงทุนจำนวน 181 ล้านบาท  4.ธุรกิจบริการให้แก่ลูกค้า จำนวน 5 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากประเทศสวิส ซามัว อังกฤษ สิงคโปร์ และหมู่เกาะบริติชเวอร์จิน มีเงินลงทุนจำนวน 232 ล้านบาท ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/888887?utm_source=category&utm_medium=internal_referral&utm_campaign=economic

พาณิชย์ เผย FTA ดันส่งออกมังคุดไทยช่วง 5 เดือนแรกขยายตัว 16%

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเปิดเผยว่า จากการติดตามการส่งออก “มังคุด” พบว่าขยายตัว 16% จากช่วงเดียวกันของปี 2562 และมีมูลค่าส่งออกถึง 290 ล้านเหรียญสหรัฐ แม้ยังอยู่ในช่วงสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ก็ตาม จีน อาเซียน และฮ่องกง เป็นตลาดส่งออกสำคัญ มีส่วนแบ่งตลาดรวมกันถึง 99% ของการส่งออกทั้งหมด ซึ่งไทยมีความตกลงเอฟทีเอ กับทั้ง 3 ประเทศปัจจุบันประเทศคู่เอฟทีเอของไทยมีทั้งหมด 14 ประเทศ ได้ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้ามังคุดจากไทยแล้ว เหลือเพียง 4 ประเทศ ที่ยังคงเก็บภาษีนำเข้า ได้แก่ เกาหลีใต้ (อัตราภาษีนำเข้า 24%) กัมพูชา มาเลเซีย และลาว (อัตราภาษีนำเข้า 5%) จึงถือเป็นโอกาสทองของผลไม้ไทยที่ได้รับสิทธิประโยชน์ภายใต้เอฟทีเอ จะขยายการส่งออกผลไม้ต่างๆ ของไทยไปยังต่างประเทศได้เพิ่มขึ้น ควบคู่กับการรักษามาตรฐานสินค้าให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล รวมทั้งสร้างเอกลักษณ์ด้วยการพัฒนาสร้างตราสินค้า เพื่อผลักดันให้ผลไม้ไทยครองใจผู้บริโภค”

ที่มา : https://www.infoquest.co.th/2020/25924

เวิลด์แบงก์ชี้จีดีพีไทยปี’63 หดตัวกว่า 5% คาดตกงานและสูญเสียรายได้จากโควิด-19 กว่า 8.3 ล้านคน

นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) เปิดเผยว่า ยอมรับเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบที่รุนแรงจากโควิด-19 โดยเวิลด์แบงก์คาดการณ์อัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลในประเทศ (GDP) ปีนี้อาจหดตัวกว่า 5% และน่าจะใช้เวลามากกว่า 2 ปีกว่า ที่จะกลับสู่ระดับจีดีพีก่อนที่จะประสบปัญหาโควิด-19 การส่งออกคาดหดตัวประมาณ 6.3% ซึ่งเป็นการชะลอตัวลงรายไตรมาสที่แรงที่สุดในรอบ 5 ปี เนื่องจากความต้องการสินค้าไทยในต่างประเทศยังคงอ่อนแอ จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ คาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะลดลง 3.2% เนื่องจากมาตรการห้ามการเดินทางและรายได้ที่ลดลง ซึ่งจำกัดการใช้จ่ายของผู้บริโภคโดยเฉพาะในไตรมาส 2/2563 ประกอบกับมีคนตกงานกระจายไปทั่ว และกระทบต่อครัวเรือนชนชั้นกลางไปถึงครัวเรือนที่ยากจน ภาคการท่องเที่ยวที่คิดเป็นสัดส่วน 15% ของจีดีพีได้รับผลกระทบอย่างมากจากการที่ไทยเกือบจะห้ามนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศตั้งแต่เดือนมี.ค. 2563 “ประมาณการว่าไทยจะมีคนตกงานและสูญเสียรายได้จากโควิด-19 กว่า 8.3 ล้านคน ทำให้งานมากมายโดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการมีความเสี่ยง ซึ่งจากรายงานยังพบอีกว่าจำนวนผู้ที่ไม่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือผู้ที่มีรายได้ต่อวันต่ำกว่า 5.5 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ (ตามภาวะเสมอภาคของอำนาจซื้อ) จะสูงขึ้นกว่าหนึ่งเท่าตัวจาก 4.7 ล้านคนในไตรมาสแรกเป็น 9.7 ล้านคนในไตรมาส 2/2563 โดยเฉพาะ สัดส่วนของคนที่ไม่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจในกลุ่มครัวเรือนชนชั้นกลางในภาคการผลิตและภาคบริการจะเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัว จาก 6% เป็น 20%”

ที่มา : https://www.khaosod.co.th/economics/news_4412170

คณะที่ปรึกษาโควิดด้านศก. ชง”บิ๊กตู่”แก้ปัญหาว่างงาน

คณะที่ปรึกษาด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจฯ จากโควิด เสนอ 3 ประเด็นให้นายกฯ ขับเคลื่อน ทั้งแก้ว่างงาน สื่อสารให้คนตระหนักหวั่นเกิดระบาดรอบสอง และฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรม นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะที่ปรึกษาด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมในศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) แถลงภายหลังการประชุมคณะที่ปรึกษาฯ ว่า ได้สรุป 3 ประเด็นสำคัญเสนอ นายกรัฐมนตรี โดยเรื่องแรก เสนอให้เร่งแก้ปัญหาการว่างงานเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานรากเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย เนื่องจากการแพร่ระบาดของ โรคไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ประชาชนจ้านวนมากต้องว่างงานและขาดรายได้ ดังนั้น การใช้จ่ายของภาครัฐโดยส่วนราชการที่เกี่ยวข้องต้องทำโครงการที่สามารถสร้างงานสร้างอาชีพให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะการสนับสนุนให้มีการจ้างงานระยะยาวภายในชุมชน การจ้างงานบัณฑิตจบใหม่ รวมถึงการจัดอบรมความรู้ที่สามารถนำไปต่อยอดในการประกอบอาชีพได้ ซึ่ง นายกรัฐมนตรี ได้ส่งเรื่องดังกล่าวกลับมายังสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช. ) ในฐานะเป็นคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 400,000 ล้านบาท ให้พิจารณาโครงการที่ก่อให้เกิดการจ้างงานด้วย ประเด็นต่อมาได้ขอให้การสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจและตระหนักถึงความเสี่ยงของการกลับมาระบาดรอบที่ 2 และจะต้องมีความร่วมมือที่จะจำกัดการระบาด รวมทั้งยังต้องรักษามาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ส่วนประเด็นสุดท้ายรัฐบาลจำเป็นต้องเร่งฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรม เพราะในช่วงที่ผ่านมา การลงทุนของชาวต่างชาติในประเทศไทยต้องหยุดชะงักลง…

 ที่มา : https://www.dailynews.co.th/economic/782462

พิษโควิด จีดีพีดิ่ง! ว่างงานพุ่งรอบ 20 ปี

ทีดีอาร์ไอชี้ โควิด-19 พ่นพิษ อัตราว่างงานพุ่ง 8-12 เท่าสูงสุดในรอบ 20 ปี เหตุเศรษฐกิจหดตัวแรง และชะลอต่อเนื่อง 2-3 ปีข้าง เตรีบมทบทวนตัวเลขเพิ่ม หลังธปท.ปรับคาดการณ์จีดีพี เหลือติดลบ 8.1% จากเดิมติดลบ 5.3%  ด้านกสิกรไทยชี้ อัตราว่างงานค้างไม่ตํ่ากว่า1 ล้านคน ตัวเลขประมาณการผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) เศรษฐกิจไทยปีนี้ทั้งปี มีแนวโน้มจะติดลบถึง 8.1% จากที่คาดการณ์เดิมจะติดลบ 5.3% เหตุเพราะตัวเลขจากทีมเศรษฐกิจรัฐบาลได้ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 จะติดลบถึง 15.5% และจะติดลบน้อยลงเหลือ 10.2% ในไตรมาส 3 และเหลือติดลบ 5.5% ในไตรมาสสุดท้ายของปี ส่วนสถานการณ์ด้านแรงงานนั้น อัตราว่างงานจะเพิ่ม 3-4% จากเดิมอยู่ที่ระดับ 1% ซึ่งค่อนข้างสูงมาก หากย้อนเทียบกับต้มยำกุ้ง ภาคเกษตรและการบริโภคภายในประเทศยังดี แต่วันนี้ตรงกันข้าม ซึ่งภาคการท่องเที่ยวยังน่าเป็นห่วง เพราะก่อนหน้าไทยสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับจำนวนนักท่องเที่ยว 40 ล้านคนแต่หากนักท่องเที่ยวไม่กลับมาก็มีความเสี่ยงสูง

ที่มา: https://www.thansettakij.com/content/money_market/439975?utm_source=homepage_hilight&utm_medium=internal_referral

ไทยพยายามเรียกคืนแรงงานพม่ากลับเข้าประเทศ

ประเทศไทยกำลังเตรียมต้อนรับแรงงานอพยพชาวเมียนมาที่ออกประเทศภายหลังจากตกงานเนื่องจากการระบาดของ COVID-19 สหพันธ์นายจ้างจัดหางานต่างประเทศเมียนมากล่าวว่ารัฐบาลไทย เมียนมาและบริษัทจัดหางานกำลังเจรจาเรื่องการดูแลสุขภาพสำหรับแรงงาน ภายใต้ข้อบังคับของไทยชาวต่างชาติต้องมีประกันสุขภาพอย่างน้อย 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ (K138.1 ล้านบาท) เพื่อครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการรักษา COVID-19 แรงงานต้องถูกกักกันเป็นเวลา 14 วันด้วยโดยแรงงานต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเอง ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 ถึงมีนาคม 2563 เมียนมาส่งออกแรงงานประมาณ 100,000 คนมายัง ไทย มาเลเซีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ จากข้อมูลของรัฐบาล ณ วันที่ 21 มิถุนายน มีแรงงานกว่า 71,000 คนกลับจากไทย ชาวเมียนมากว่า 4 ล้านคนที่ทำงานในต่างประเทศโดยส่วนใหญ่อยู่ในประเทศไทย เมื่อปีที่แล้วมีแรงงานกว่า 305,000 คนออกจากประเทศเพื่อทำงานและมีแรงงานที่ทำงานในประเทศ 2.3 ล้านคน แรงงานเมียนมาส่งเงินกลับประเทศประมาณ 910 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2561 หรือคิดเป็นประมาณ 1.06% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ

ที่มา: https://www.mmtimes.com/news/thailand-seeks-return-myanmar-workforce.html