จ.มุกดาหาร เปิดประชุมเชื่อมโยงการค้าระหว่างผู้ประกอบการค้าเวียดนาม-มุกดาหาร

ที่ โรงแรมพลอยพาเลซ จ.มุกดาหาร นายวลัยพรรณ น้อยสันเทียะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหารเป็นประธานเปิดงานในนามผู้แทนจังหวัดมุกดาหารและคณะ เดินทางมาจัดการประชุมเชื่อมโยงการค้าการลงทุน ระหว่างผู้ประกอบการของจังหวัดกวางบินห์ กวางตรี เงอาน และเว้ (สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม) และผู้ประกอบการจังหวัดมุกดาหาร (ราชอาณาจักรไทย)

ทั้งนี้ จังหวัดมุกดาหาร เป็นเมืองชายแดนริมฝั่งแม่น้ำโขง ด้านตะวันออกติดกับแขวงสะหวันนะเขต สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยมีสะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว แห่งที่ 2 ที่เปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2550 เชื่อมเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก (East-WestEconomic Corridor : EWEC) ระหว่างไทยกับสปป.ลาว เข้าด้วยกัน ตามเส้นทาง หมายเลข 9 จังหวัดมุกดาหารจึงสามารถเชื่อมโยง“Corridor Link” ทางบกกับแขวงสะหวันนะเขต ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและยังเชื่อมโยงไปสู่ประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และประเทศจีนตอนใต้

นอกจากนี้ จังหวัดมุกดาหารยังเป็น เป็น 1 ใน 5 จังหวัด ซึ่งอยู่ในแผนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่กำหนดให้พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองชายแดน มุ่งเน้นพัฒนาการลงทุนร่วมระหว่างประเทศ ในลักษณะเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนให้เป็นฐานเศรษฐกิจและประตูการค้าที่สำคัญเพื่อสนับสนุนการค้า การลงทุน อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว อีกด้วย มุกดาหารจึงมีศักยภาพและโอกาสขยายความร่วมมือทางด้านการค้า การลงทุนกับสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ซึ่งในรอบปีที่ผ่านมามีมูลค่าการค้าผ่านแดนไทย – เวียดนามผ่านช่องทางจังหวัดมุกดาหาร สินค้าได้แก่ โค กระบือ สินค้าอุปโภคบริโภค เนื้อสัตว์แช่เย็น ข้าวเหนียว เป็นต้น มูลค่าการค้ารวม 47,931.70 ล้านบาท

ที่มา : https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG221004102051698

“เวียดนาม” อาจไม่ทะลุเป้ายอดนักท่องเที่ยวต่างชาติ 5 ล้านคนในปี 65

นาย Nguyễn Trùng Khánh ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวเวียดนาม (VNAT) เปิดเผยว่าในเดือนมกราคม-กรกฎาคม 2565 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาประเทศเวียดนาม จำนวน 954,600 คน เพิ่มขึ้น 10 เท่าจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่ยังหดตัว 90.3% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราว 15% ของแผนทั้งปี และได้ตั้งเป้าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาเวียดนามประมาณ 5 ล้านคน ทั้งนี้ นาย Hoang Nhan Chinh หัวหน้าของคณะกรรมการที่ปรึกษาการท่องเที่ยว (TAB) กล่าวกับสำนักข่าว Vietnamnet ว่าในเดือนพ.ค. เวียดนามจำเป็นต้องเปิดรับนักท่องเที่ยวกว่า 650,000 คนต่อเดือนในช่วงเดือนที่เหลือของปีนี้ เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายของจำนวนนักท่องเที่ยวประจำปี อย่างไรก็ตาม นับว่าเป็นเรื่องยากมากที่จะสามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-may-not-reach-goal-of-5-million-int-l-visitors-in-2022-2066185.html

“เวียดนาม” รั้งตำแหน่งเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 3 ของอาเซียน ปี 2570

ตามรายงานล่าสุดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของเวียดนามจะขยายตัวอย่างมากในช่วง 5 ปีข้างหน้า และขึ้นเป็นอันดับ 3 ในอาเซียนภายในปี 2570 โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาตัวเลขของขนาดเศรษฐกิจอินโดนีเซีย มีมูลค่าสูงถึง 1.29 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาประเทศไทย 522.01 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ ขณะที่ประเทศอื่นๆ อาทิเช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์และเวียดนาม มีมูลค่าของ GDP อยู่ที่ 439.37, 424.43, 411.98 และ 408.95 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ ทั้งนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ คาดการณ์ว่าในช่วงปี 2568-2570 จีดีพีของเวียดนามจะขึ้นเป็นอันดับ 3 ในอาเซียน +6

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnamese-gdp-set-to-rank-third-in-asean-by-2027-2066437.html

“เมืองโฮจิมินห์” ดึงดูดเม็ดเงินทุนจากต่างประเทศ 2.97 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ตามข้อมูลของสำนักงานการวางแผนและการลงทุน เปิดเผยว่าเมืองโฮจิมินห์ดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) อยู่ที่ 2.97 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 20 ก.ย. 2565 เพิ่มขึ้น 26.1% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งจากจำนวนเงินลงทุนทั้งหมด เงินทุนบางส่วนกว่า 348 ล้านดอลลาร์สหรัฐไปยังโครงการใหม่ 567 โครงการ หดตัว 7.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ทั้งนี้ สิงคโปร์เป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดของเวียดนามในภาคใต้ จำนวน 97 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 121.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 35% ของเงินทุนจดทะเบียนใหม่ทั้งหมด รองลงมาญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ตามลำดับ ในขณะเดียวกันเงินทุนอีกราว 1.49 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ถูกเพิ่มลงในไปยัง 114 โครงการที่มีอยู่ในปัจจุบัน สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 2.5 เท่า นอกจากนี้ ยังมีมูลค่าในการซื้อหุ้นของนักลงทุนต่างชาติ ประมาณ 1.13 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 16.2% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/297-billion-usd-in-fdi-poured-into-hcm-city-in-9-months/239392.vnp

แนวโน้ม GDP เวียดนามทั้งปี 65 โต 8% กรณีพื้นฐาน

นาย Tran Quoc Phuong รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการวางแผนและการลงทุน เปิดเผยว่าการเติบโตทาง GDP ของเวียดนามในปี 2565 จะขยายตัวที่ 8% สำหรับกรณีพื้นฐาน (Base Case) หากตลาดไม่มีความผันผวน ในขณะที่หากประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจในกรณีเลวร้าย (Worst Case) จะขยายตัว 7.5% สาเหตุมาจากเผชิญกับความไม่แน่นอนและผบกระทบจากปัจจัยภายนอกในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ทั้งนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจเวียดนามในปีหน้า มองว่าเวียดนามจะเผชิญทั้งความท้าทายและโอกาส แต่อย่างไรก็ดีต้องเผชิญกับแรงกดดันเงินเฟ้อและเศรษฐกิจโลกที่หดตัว นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานรัฐฯ แสดงให้เห็นถึงข้อกังวลต่อภัยคุกคามอื่นๆ ที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจเวียดนาม โดยเฉพาะวิกฤตรัสเซีย-ยูเครนที่กำลังดำเนินอยู่ และความเสี่ยงที่ไม่ปกติ อาทิเช่น พายุ น้ำท่วมและโรคระบาด

ที่มา : https://thoibaotaichinhvietnam.vn/gdp-growth-to-hit-8-this-year-in-base-case-scenario-official-113863.html

“เวียดนาม” ได้รับโอกาสทอง เปิดรับเม็ดเงินทุนจากต่างชาติระลอกใหม่

นาย Tran Quoc Phuong รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวางแผนและการลงทุน กล่าวว่าเวียดนามมี “โอกาสทอง” ที่จะดึงดูดคลื่นระลอกใหม่ของการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในเขตเศรษฐกิจ (EZs) และนิคมอุตสาหกรรม (IPs) โดยเมื่อพิจารณาจากข้อมูลจะพบว่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ประจำปี จะไหลเข้าไปยังเขตเศรษฐกิจและนิคมอุตสาหกรรม มีสัดส่วนราว 35%-40% ของเงินทุนจากต่างประเทศทั้งหมด ทั้งนี้ กระทรวงฯ เปิดเผยว่าในปัจจุบันเวียดนามมีโครงการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม 403 โครงการ และเขตเศรษฐกิจตามชายแดน 18 โครงการ และเขตเศรษฐกิจตามชายแดน 26 โครงการ ซึ่งทำให้เวียดนามกลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงสามารถรองรับกับองค์กรต่างชาติขนาดใหญ่ เช่น Samsung, Canon, LG, Sumitomo และ Foxconn  เป็นต้น

อีกทั้ง ผู้เชี่ยวชาญได้ให้อธิบายไว้ว่าทำไมเวียดนามจึงมองว่าโอกาสในครั้งนี้ถือเป็นการดึงดูดการลงทุนครั้งใหม่ นอกเหนือจากสามารถรักษาเสถียรภาพทางการเมืองแล้ว ประกอบกับเศรษฐกิจอยู่ในช่วงกำลังฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว หลังจากการระบาดของโควิด-19 โดยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเติบโตเร็วที่สุดในภูมิภาคและการควบคุมเงินเฟ้อ

ที่มา : https://en.nhandan.vn/vietnam-has-golden-chance-to-welcome-new-fdi-wave-post118468.html

“สำนักข่าวเบลเยียม” ชี้เวียดนามมีโอกาสทางเศรษฐกิจสูง

สำนักข่าว The Brussels Times ของเบลเยียม ได้ตีพิมพ์บทความเรื่อง “ความร่วมมือกันกว่า 30 ปีที่รักษาความเจริญรุ่งเรืองและความเป็นอยู่ที่ดีของสหภาพยุโรปและประชาชนขาวเวียดนาม” โดยประเด็นไฮไลท์สำคัญ คือเวียดนามและกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปกำลังจะกลายเป็นภูมิภาคที่มีความสามารถในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อาทิเช่น การควบคุมเงินเฟ้อและคงอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับสูง ถึงแม้เผชิญกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ สถาบันการจัดอันดับ “Moody’s” ปรับขึ้นอันดับความน่าเชื่อถือของเวียดนามจาก Ba3 เป็น Ba2 ในขณะที่นิคเคอิ (Nikkel) จัดอันดับการฟื้นตัวจากโควิด-19 ของเวียดนามอยู่ในอันดับที่ 2 ของโลก เพิ่มขึ้น 12 อันดับ นอกจากนี้ ตามรายงานของธนาคารโลก ประจำเดือนตุลาคม 2565 เปิดเผยว่าเศรษฐกิจของเวียดนามคาดว่าจะขยายตัว 7.2% ในปีนี้ เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งและผลการดำเนินงานทางด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออก

ที่มา :https://en.nhandan.vn/brussels-times-speaks-highly-of-vietnams-economic-prospects-post118467.html

“แบงก์ชาติเวียดนาม” คุมเข้มสภาพคล่อง

ธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) ทำการดึงปริมาณเงินออกจากในระบบ 57.6 ล้านล้านดองผ่านการดำเนินการในตลาดเปิด (OMO) และช่องทางในการขายเงินสกุลต่างประเทศ เพื่อรักษาสภาพคล่องในระบบของธนาคารให้อยู่ในระดับเหมาะสม หลังจากทำการลดปริมาณเงินแล้ว อัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมระหว่างธนาคารในช่วงข้ามคืน (Overnight) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรับตัวเพิ่มขึ้น 40 จุด อยู่ที่ 4.9% และในส่วนของอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงแบบ 1 สัปดาห์และ 1 เดือน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.2% และ 5.6% ตามลำดับ ทั้งนี้ นักวิเคราะห์มองว่าธนาคารกลางจะรักษาสภาพคล่องของระบบธนาคารเวียดนามให้ไม่มากจนเกินไป เพื่อคงอัตราดอกเบี้ยให้กู้ยืมระหว่างธนาคาร อยู่ที่ระดับ 5.0-5.5% ซึ่งเป็นระดับที่สมเหตุสมผลกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ และจะลดแรงกดดันต่ออัตราแลกเปลี่ยน

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1339007/central-bank-acts-to-tighten-dong-liquidity.html

“สนง.สถิติเวียดนาม” เผย GDP ไตรมาส 3 ขยายตัว 13.67%

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเมื่อวันที่ 29 ก.ย. ตามข้อมูลของหน่วยงานรัฐบาลว่าตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของเวียดนามในไตรมาส 3 ปี 2565 ขยายตัว 13.67% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงที่สุดในรอบหลายทศวรรษ อันเป็นผลมาจากภาคการผลิตและการส่งออก รวมถึงผลกระทบที่อยู่ในระดับต่ำ อีกทั้ง ภาคอุตสาหกรรมและการก่อสร้างในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน ขยายตัวดีขึ้น 12.91% จากปีก่อนหน้า และภาคบริการขยายตัว 18.86% ขณะที่ภาคเกษตรขยายตัว 3.24%

ที่มา : https://www.reuters.com/markets/asia/vietnam-q3-gdp-grows-1367-yy-vs-783-expansion-q2-stats-office-2022-09-29/

“เวียดนาม” ชี้ผู้ประกอบการค้าข้าวได้รับประโยชน์จากราคาที่ปรับตัวสูงขึ้น

ราคาข้าวที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากอินเดียจำกัดการส่งออกข้าว แต่เดิมอินเดียส่งออกข้าวไปกว่า 150 ประเทศทั่วโลกและมีส่วนสำคัญต่อสัดส่วนการค้าข้าวโลกประมาณ 36.7% ส่งผลกระทบต่อปริมาณการส่งออกข้าวทั่วโลกและเป็นแรงกดดันต่อราคาข้าวอีกด้วย ในขณะที่ฝั่งทางด้านผลผลิตข้าวยังคงเผชิญกับความเสี่ยงจากสภาพอากาศเลวร้ายของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกหลัก ทั้งนี้ จากสภาพอากาศที่เลวร้ายในประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของเอเชีย ซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 90 ของผลผลิตผลิตข้าวทั่วโลก ทำให้มีแนวโน้มว่าผลผลิตจะปรับตัวลดลงในปีนี้ นอกจากนี้ จากข้อมูลของกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA) เปิดเผยว่าสินค้าคงคลังทั่วโลกจะลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปี มีอัตราส่วนสินค้าคงคลังต่อการบริโภคอยู่ที่เพียง 34.4% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 36.6% ในช่วงปี 2561-2565 ดันให้ราคาข้าวปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการค้าขาวบางรายของเวียดนามจะได้รับประโยชน์จากข้อจำกัดการส่งออกข้าวของอินเดียและการลดกำลังการผลิตของจีน

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1338730/rice-companies-benefit-from-rising-prices.html