‘เวียดนาม’ ตั้งเป้าขยายพื้นที่เพาะปลูกพืชที่ปล่อยมลพิษต่ำ 2.5 ล้านเฮกตาร์ ปี 2573

กระทรวงเกษตรและสิ่งแวดล้อมของเวียดนาม กำลังร่างแผนดำเนินงานในการส่งเสริมการผลิตพืชผลที่ปล่อยมลพิษต่ำในช่วงปี 2568 – 2573 โดยมุ่งที่จะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเพื่อบรรลุเป้าหมายของประเทศในการการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ภายในปี 2593 ทั้งนี้ ภายใต้แผนงานข้างต้น เวียดนามตั้งเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซมีเทนลง 30% และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตพืชผลลง 10% เมื่อเทียบกับระดับในปี 2563 ซึ่งการตั้งเป้าที่จะปล่อยก๊าซลดลงเหล่านี้ จำเป็นที่จะต้องปรับแต่งพืชผลต่างๆ ให้มีความเหมาะสมในแต่ละภูมิภาคและวิธีการ และในแผนงานปี 2573 พื้นที่ที่ปลูกพืชปล่อยมลพิษต่ำจะขยายพื้นที่อย่างน้อย 2.5 ล้านเฮกตาร์ โดยเน้นที่เขตการผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ที่เข้มข้น

นอกจากนี้ ยังจะมีการพัฒนาฐานข้อมูลแห่งชาติเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตพืชผล ซึ่งแบ่งตามพืช ภูมิภาค และเทคนิคที่ใช้ โดยแผนริเริ่มนี้มุ่งหวังที่จะวางรากฐานสำหรับตลาดคาร์บอนในอนาคตของภาคการเกษตรเวียดนาม

ที่มา : https://en.vneconomy.vn/vietnam-targets-2-5-million-hectares-of-low-emission-farming-by-2030.htm

‘อุตฯ เกมเวียดนาม’ ปี 68 มูลค่าทะลุ 430 ล้านดอลลาร์

‘GameGeek’ แพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงระบบนิเวศของอุตสาหกรรมเกมเวียดนาม ได้เปิดเผยข้อมูลว่าในปี 2567 เกมที่พัฒนาโดยสตูดิโอในเวียดนาม สร้างรายได้ประมาณ 315 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจากตัวเลขในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 รายได้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด มีมูลค่าอย่างน้อย 214.85 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยคาดการณ์ว่ารายได้รวมทั้งปี 2568 จะมีมูลค่าเกินกว่า 430 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 36.4% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และในปัจจุบัน เกมจากสตูดิโอในเวียดนาม มีสัดส่วนราว 37.3% ของยอดการดาวน์โหลดแอปเกมทั่วโลก แสดงให้เห็นว่าตลาดเกมประมาณ 30-40% ของเกมทั้งหมดที่ถูกดาวน์โหลดทั่วโลกนั้น พัฒนาโดยผู้สร้างเกมชาวเวียดนาม

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/gaming-industry-eyes-over-430-million-usd-revenue-this-year-post321826.vnp

‘เวียดนาม’ จัดตั้งกองทุนพัฒนาข้อมูลแห่งชาติ 38.4 พันล้านดอลลาร์ ขับเคลื่อนสู่ยุคดิจิทัล

รัฐบาลเวียดนาม ได้จัดตั้งกองทุนพัฒนาข้อมูลแห่งชาติ โดยมีทุนเริ่มต้น 1 ล้านล้านดอง หรือประมาณ 38.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและการกำกับดูแล โดยการจัดตั้งกองทุนฯ ในครั้งนี้ อยู่ภายใต้พระราชกฤษฎีกาหมายเลข 160/2025/ND-CP เป็นกองทุนการเงินของรัฐที่ไม่ใช่งบประมาณ และเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ซึ่งกองทุนนี้ได้รับการบริหารจัดการโดยกระทรวงความมั่นคงสาธารณะ ทั้งนี้ กรอบการจัดการและวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาและการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) รวมถึงฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) การเรียนรู้ของเครื่องจักร (Machine Learning) คลาวด์คอมพิวติ้ง เทคโนโลยีบล็อคเชน และโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ต IoT โดยจะรองรับการบริหารจัดการของรัฐบาล ประโยชน์ของชาติ สวัสดิการสาธารณะ และเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-launches-384-billion-usd-national-data-development-fund-to-fuel-digital-transformation-post321846.vnp

‘อุปสรรคการค้าที่มิใช่ภาษี’ ภัยต่อสินค้าเวียดนามในการเข้าสู่ตลาดอาเซียน

คุณ Le Trong Minh รองบรรณาธิการบริหารของสื่อเวียดนาม ‘Vietnam Investment Review’ กล่าวในที่ประชุมเชิงปฏิบัติการว่าถึงแม้อาเซียนจะสามารถขจัดภาษีศุลกากรภายในกลุ่มได้ แต่อุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers: NTBs) ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการค้าและการลงทุนในภูมิภาค และในบริบทที่อาเซียนเดินหน้าสู่วิสัยทัศน์ ปี 2588 เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจและการค้าดิจิทัล รวมถึงการขจัดอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี ซึ่งมีความจำเป็นเร่งด่วน

นอกจากนี้ สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) มองว่ามาตรการ NTBs เป็นต้นทุนที่จำเป็นในการดำเนินการ ถือเป็นภาระที่สำคัญของผู้ประกอบการ โดยต้นทุน NTBs อาจคิดเป็น 2-4% ของมูลค่าสินค้า  และหากสามารถลดต้นทุนที่เกิดจาก NTBs ได้ 10% อาเซียนจะสามารถเพิ่มการค้าได้ราว 3-4% ซึ่งเทียบเท่ากับเงินหลายหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/non-tariff-barriers-still-hinder-vietnamese-goods-from-entering-asean-post321781.vnp

‘คนเวียดนาม’ ช็อปออนไลน์โตแรง พุ่งแตะ 16 พันล้านดอลลาร์ ปี 67

จากรายงาน “Southeast Asia E-commerce 3.0” เปิดเผยว่าการซื้อขาย (GMV) บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีมูลค่าสูงถึง 128.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ปี 2567 เพิ่มขึ้น 12% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว (YoY) และยอดการซื้อขายออนไลน์เฉลี่ย 43.6 ล้านรายการต่อวัน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวใกล้เคียงกับตลาดสหรัฐฯ ทั้งนี้ แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชั้นนำ ได้แก่ Shopee Lazada และ TikTok Shop คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 90% ของปริมาณคำสั่งซื้อทั้งหมด โดยเวียดนามเป็น 1 ใน 5 ตลาดที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงที่สุดในภูมิภาคนี้ ตามมาด้วยไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ในขณะที่อินโดนีเซีย ยังคงเป็นตลาดอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ที่สุดในภูมิภาค โดยมีมูลค่า GMV อยู่ที่ 56.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ จากรายงานฉบับดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคชาวเวียดนามใช้จ่ายในการซื้อของออนไลน์สูงถึง 16 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2567 โดยส่วนใหญ่ซื้อผ่าน Shopee Lazada และ TikTok Shop ส่งผลให้เวียดนามอยู่ในอันดับ 3 แรกของตลาดอีคอมเมิร์ซ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnamese-consumers-spend-16-billion-usd-on-online-shopping-in-2024-post321782.vnp

‘สถิติอีคอมเมิร์ซ’ ชี้เวียดนาม โต 15.9% ปี 67

จากรายงานของ Momentum Works เปิดเผยข้อมูลว่าตลาดอีคอมเมิร์ซในเวียดนาม ปี 2567 มีมูลค่าสินค้ารวม (GMV) ที่ซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ขยายตัว 15.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (YoY) ในขณะที่ไทยและมาเลเซีย เป็นตลาดที่เติบโตเร็วที่สุด โดยมีการขยายตัว 21.7% และ 19.5% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ตามลำดับ และอินโดนีเซียยังคงเป็นตลาดใหญ่ที่สุด มีสัดส่วนราว 44% ของ GMV แม้ว่าจะเติบโตชะลอตัวลง

นอกจากนี้ จากการประเมินมูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปี 2567 อยู่ที่ 128.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 12%YoY โดยแพลตฟอร์มรายใหญ่ที่สุดมีจำนวน 3 ราย ได้แก่ Shopee, TikTok Shop และ Lazada ครองส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 84% ทั่วภูมิภาคในปัจจุบัน

ที่มา : https://en.vneconomy.vn/vietnam-records-double-digit-e-commerce-growth-in-2024-momentum-works.htm

‘นายกฯ เวียดนาม’ หวังบรรลุข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯ ก่อนเส้นตายภาษีศุลกากรเดือน ก.ค.

จากการประชุมใหญ่ของ World Economic Forum (WEF) ที่เมืองเทียนจิน ประเทศจีน โดยทางนายฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ (Pham Minh Chinh) นายกรัฐมนตรีเวียดนาม กล่าวในที่ประชุมว่าทางเวียดนามคาดว่าข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯ ก่อนที่การหยุดชะงักการขึ้นภาษีศุลกากร 46% สำหรับสินค้าส่งออกของเวียดนามจะสิ้นสุดลงในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม และทางนายกฯ เห็นว่าการเจรจาระหว่างสองประเทศที่ผ่านมา เป็นไปได้ด้วยดี

ทั้งนี้ สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่าสหรัฐฯ ได้ยื่นรายการข้อเรียกร้องทางการค้าต่อเวียดนาม ซึ่งทางการเวียดนามระบุว่าเป็น “เรื่องยาก” และยังกดดันให้เวียดนามลดการใช้เทคโนโลยีจีนในอุปกรณ์ที่ประกอบในประเทศ ก่อนที่จะส่งออกไปยังสหรัฐฯ และภายใต้แรงกดดันจากสหรัฐฯ ทำให้เวียดนามเร่งปราบปรามการขนส่งสินค้าผิดกฎหมาย ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับสินค้าจีน

นอกจากนี้ เวียดนามยังแสดงความเต็มใจที่จะลดอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากร (NTB) และขยายการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ

ที่มา : https://www.bangkokpost.com/business/general/3058397/vietnam-pm-expects-us-trade-deal-before-july-tariff-deadline

‘เซ็นทรัล รีเทล’ เดินหน้าทุ่มเงิน 1.38 พันล้านดอลลาร์ ลงทุนไทยและเวียดนาม

เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น (CRC) เตรียมลงทุนกว่า 45 พันล้านบาท หรือประมาณ 1.38 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2027 เพื่อขยายตลาดสำคัญและเร่งการเติบโตทั้งในประเทศไทยและเวียดนาม โดยกลยุทธ์ของทางบริษัทในครั้งนี้ มุ่งเน้นไปที่ ‘New heights, Next growth’ ซึ่งประกอบไปด้วย 3 ด้านหลัก ได้แก่ การเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของลูกค้า 26 ล้านราย การเร่งพัฒนาธุรกิจใหม่ และการขยายพื้นที่ทางภูมิศาสตร์

นอกจากนี้ บริษัทฯ เตรียมพัฒนาแพลตฟอร์มเทคโนโลยีรวมศูนย์ เพื่อเปิดประสบการณ์การช้อปปิ้งแบบ Omnichannel และยกระดับ AI โดยมุ่งเป้าไปที่การเติบโตของยอดขายออนไลน์เป็นตัวเลขสองหลักอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับเร่งขยายธุรกิจอาหารและห้างสรรพสินค้าในเวียดนาม และส่งเสริมให้ร้านค้าสามารถตกแต่งตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมายในแต่ละพื้นที่

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/central-retail-unveils-138-billion-usd-expansion-plan-for-thailand-and-vietnam-post321602.vnp

‘เวียดนาม – ไทย’ ตั้งเป้าเพิ่มการส่งออกข้าวไปญี่ปุ่น

เวียดนามและไทย เป็นหนึ่งในผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก และคาดว่าจะส่งออกข้าวไปยังญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้น โดยทางรัฐบาลไทย นำโดยนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่ารัฐบาลต้องการที่จะเจาะตลาดที่ข้าวไทยสามารถขายได้ในราคาสูงและเพิ่มการส่งออกข้าวได้ โดยเฉพาะตลาดข้าวในญี่ปุ่น ในขณะที่สมาคมอุตสาหกรรมข้าวเวียดนาม (VIETRISA) เปิดเผยว่าเวียดนามเดินหน้าส่งออกข้าวแบรนด์ใหม่ ภายใต้ข้าวคาร์บอนต่ำ ปริมาณราว 500 ตัน โดยชูจุดเด่น คือ สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระหว่างการเจริญเติบโตได้

อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นจำเป็นที่จะต้องประเมินช่องว่างระหว่างราคานำเข้าข้าวและราคาข้าวที่ปลูกในประเทศ ซึ่งอาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อเกษตรกรในประเทศ และมีโอกาสที่จะเกิดการโต้เถียงกันได้จากเหตุการณ์ข้างต้น

ที่มา : https://www.nationthailand.com/blogs/news/40051487

‘เวียดนาม’ เร่งปราบปรามสินค้าปลอม ขณะที่สหรัฐฯ เตรียมเก็บภาษีนำเข้า

นับตั้งแต่สหรัฐฯ กล่าวหาว่าเวียดนามเป็นศูนย์กลางของสินค้าปลอม ทางรัฐบาลเวียดนามก็เริ่มเดินหน้าเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อให้ยกเลิกการขึ้นภาษีนำเข้า 46% และพร้อมที่จะปราบปรามสินค้าปลอม ซึ่งการมุ่งมั่นของรัฐบาลนั้นเป็นส่วนหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงการตอบสนองต่อข้อกังวลของสหรัฐฯ ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ร้านค้าและแผงขายของในกรุงฮานอยปิดตัวลงจำนวนมาก และจากการให้สัมภาษณ์ผู้ประกอบการแห่งหนึ่ง กล่าวว่าสินค้าปลอมของร้าน เช่น Nike, Lacoste และ North Face เกือบทั้งหมดที่ขายในร้าน สินค้าส่วนใหญ่มาจากประเทศจีน แต่ติดป้ายสินค้าว่าผลิตในเวียดนาม (Made in Vietnam) เพื่อให้ดูเหมือนสินค้าแท้ และยืนยันว่าลูกค้าส่วนใหญ่ไม่สามารถซื้อของแท้ได้ โดยทางกระทรวงพาณิชย์ สั่งให้ทางการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควบคุมแหล่งกำเนิดสินค้าให้มีความเข็มงวดมากขึ้น

ที่มา : https://www.thedailystar.net/business/news/made-vietnam-hanoi-cracks-down-fake-goods-us-tariffs-loom-3920571