เรือคอนเทนเนอร์จำนวน 50 ลำมีกำหนดเทียบท่าในเดือนพฤศจิกายน

การท่าเรือเมียนมาระบุว่า เรือคอนเทนเนอร์ทั้งหมด 50 ลำ มีกำหนดจะมาถึงในเดือนพฤศจิกายนที่ท่าเรือย่างกุ้ง ในปีนี้ท่าเรือย่างกุ้งรองรับเรือคอนเทนเนอร์ไปแล้วทั้งหมด 620 ลำ โดยมีเรือคอนเทนเนอร์ที่เดินทางมาถึงท่าเรือย่างกุ้ง 52 ลำ ในเดือนมกราคม 51 ลำ ในเดือนกุมภาพันธ์ 55 ลำ ในเดือนมีนาคม 50 ลำ ในเดือนเมษายน 56 ลำ ในเดือนพฤษภาคม 57 ลำ ในเดือนมิถุนายน 53 ลำ ในเดือนกรกฎาคม 54 ลำ ในเดือนสิงหาคม 53 ลำ ในเดือนกันยายน และ 49 ลำ ในเดือนตุลาคม ซึ่งการค้าทางทะเลถือเป็นร้อยละ 75 ของการค้าต่างประเทศของเมียนมา ทั้งนี้ ตามคำแถลงของการท่าเรือเมียนมาเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2565 หลังจากพบช่องทางเดินเรือใหม่ (Kings Bank Channel) ที่เข้าถึงแม่น้ำย่างกุ้งตอนใน และมีการเร่งดำเนินงานขยายร่องน้ำ ทำให้ท่าเรือสามารถรองรับเรือขนาดใหญ่ได้แล้ว โดยมีเรือคอนเทนเนอร์ (LOA 185.99 เมตร, Beam 35.25 เมตร, 29,232 GRT และ 2,698 TEU) SITC Shipping Line จากฮ่องกงเข้าเทียบท่าที่ท่าเทียบเรือ Asia World Port เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ซี่งนับเป็นเรือที่ใหญ่ที่สุดที่ท่าเรือ (Asia World Port Terminal : AWPT) รองรับ โดยก่อนหน้านี้ เรือขนาดใหญ่ประสบปัญหาไม่สามารถแล่นในแม่น้ำย่างกุ้งได้ ทำให้ร่องน้ำถูกขยายออกไปไกลถึง 10 เมตร เพื่อให้เรือเดินสมุทรขนาดใหญ่สามารถเข้าสู่ท่าเรือทีละวาได้

อย่างไรก็ดี ชายฝั่งของเมียนมามีความยาว 2,228 กิโลเมตร (1,260 ไมล์ทะเล) รวมถึงแนวชายฝั่งยะไข่ (713 กิโลเมตร) พื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำ (437 กิโลเมตร) และแนวชายฝั่งตะนาวศรี (1,078 กิโลเมตร) ซึ่งทอดยาวจากชายแดนบังกลาเทศตอนเหนือไปจนถึงพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีท่าเรือตามแนวชายฝั่งทั้งหมด 10 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือย่างกุ้ง ท่าเรือน้ำลึกทีละวา ท่าเรือน้ำลึกเจ้าผิวก์ ท่าเรือซิตตเว ท่าเรือตานต่วย ท่าเรือปะเตง ท่าเรือมะละแหม่ง ท่าเรือน้ำลึกทวาย ท่าเรือเมก และท่าเรือก้อตาว (เกาะสอง) อย่างไรก็ตาม ท่าเรือย่างกุ้ง รวมทั้งท่าเทียบเรือน้ำลึกทีละวาเป็นท่าเรือระหว่างประเทศเพียงแห่งเดียว และท่าเรือที่เหลือใน 8 เมือง ถูกกำหนดให้เป็นท่าเรือภายในประเทศเท่านั้น

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/fifty-container-vessels-scheduled-to-call-in-november/#article-title

กระทรวงพาณิชย์เมียนมา ผ่อนปรนกฎระเบียบ ใบอนุญาตนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าสำหรับนักเดินเรือ

ตามประกาศที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2566 กระทรวงพาณิชย์ของเมียนมา ประกาศลดการเก็บรายได้เงินโอนระหว่างประเทศขาเข้าของผู้เดินเรือเป็น 50,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี จากเดิมกว่า 200,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี เพื่ออนุญาตให้นำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า (EV) จากคำแถลงที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม ที่ผ่านมา หากพลเมืองเมียนมารวมถึงนักเดินเรือที่มีการโอนเงินค่าจ้างต่างประเทศไปยังธนาคารท้องถิ่นในประเทศ พวกเขาจะได้รับสิทธิในการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าหนึ่งคัน ซึ่งมีมูลค่าเท่ากับร้อยละ 5 ของเงินโอนเข้าประเทศที่มีมูลค่ามากกว่า 200,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ยกเว้นผู้ที่ได้รับเงินเดือนประจำจากต่างประเทศ ซึ่งบางรายได้รับอนุญาตให้นำเข้ายานพาหนะไฟฟ้าหรือรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า เทียบเท่ากับร้อยละ 5 หากส่งเงินเข้าประเทศมูลค่า 50,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและส่งเสริมกิจกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ใบอนุญาตนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าหรือรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าจึงได้รับการอนุญาตเป็นกรณีพิเศษให้สำหรับผู้ที่มีการโอนเงินเดือนต่างประเทศเข้ามาในประเทศ หรือพลเมืองเมียนมาที่ได้รับค่าจ้างประจำจากต่างประเทศ อย่างไรก็ดี ในกรณีที่การโอนเงินเข้าประเทศของแต่ละบุคคลไม่ถึงเกณฑ์รายได้ที่กำหนด ก็สามารถใช้สิทธิขออนุญาตนำเข้ายานยนต์ไฟฟ้าร่วมกันได้ โดยการดำเนินการขอใบอนุญาตนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าดังกล่าวมีผลตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/moc-eases-import-rule-of-ev-permit-for-seafarers/

บริษัท “Long Grain” ขยายกำลังการผลิตข้าวสารในกัมพูชา

บริษัท ลองเกรน จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายข้าวสารชนิดพิเศษในกัมพูชาเปิดตัวโรงสีแห่งใหม่ โดยคาดว่าภายในปี 2040 จะเพิ่มกำลังการผลิตจาก 33,000 ตัน เป็น 200,000 ตันต่อปี รวมถึงวางแผนที่จะขยายการผลิต สู่ผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น น้ำนมข้าว เค้กข้าว เหล้าธัญพืช และน้ำมันรำข้าว ซึ่งบริษัทดังกล่าวตั้งอยู่ในจังหวัดกัมปงสปือ บนพื้นที่ 68,809 ตารางเมตร ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมตั้งแต่การสีไปจนถึงการจัดจำหน่ายเพื่อให้มั่นใจในคุณภาพ ด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า 9 ล้านดอลลาร์ สำหรับสายการผลิตข้าวสาร โดยบริษัทตั้งเป้าดันประเทศกัมพูชาให้กลายเป็นผู้เล่นสำคัญในอุตสาหกรรมข้าวระดับโลก ขณะที่ปัจจุบันกัมพูชาเพาะปลูกข้าวคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 70 ของพื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตร และคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 50 ของปริมาณผลผลิตทางการเกษตรของกัมพูชา ด้านกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) ได้ประมาณการณ์การผลิตข้าวของกัมพูชาไว้อยู่ที่ 10.2 ล้านตันต่อปี สำหรับในช่วงปี 2023-2024 โดยคาดว่าจะมีการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศกว่า 1.91 ล้านตัน สำหรับการประมาณการณ์การผลิตข้าวทั่วโลกอาจจะสูงถึง 520.9 ล้านตัน ภายในปี 2023-2024 ด้วยแนวโน้มดังกล่าวส่งผลทำให้บริษัทเห็นถึงโอกาสในการพัฒนาภาคธุรกิจให้ก้าวทันต่อสถานการณ์ตลาดโลก

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501382174/cambodias-long-grain-co-unveils-rice-mill/

9 เดือนแรกของปี เขตเศรษฐกิจพิเศษ SSEZ ส่งออกสินค้าแตะ 2.5 พันล้านดอลลาร์

คาดปี 2023 เขตเศรษฐกิจพิเศษสีหนุวิลล์ (SSEZ) เติบโตต่อเนื่อง สะท้อนจากสัดส่วนการส่งออกผ่านเขตเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าวที่คิดเป็นกว่าร้อยละ 7.13 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของกัมพูชา โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ มูลค่าการส่งออกผ่าน SSEZ อยู่ที่ 2.5 พันล้านดอลลาร์ ขยายตัวเล็กน้อยร้อยละ 0.88 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนสำคัญจากโครงการ Belt and Road Initiative (BRI) โดยในช่วงสิบปีที่ผ่านมา BRI สร้างโอกาสการพัฒนามากมายให้กับ SSEZ ผ่านสิทธิประโยชน์ต่างๆ รวมถึงการมีส่วนร่วมในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน การส่งเสริมการผลิต และเพิ่มผลผลิตทางอุตสาหกรรม อีกทั้งยังสร้างโอกาสการจ้างงานให้กับคนในท้องถิ่นเป็นจำนวนมาก สำหรับ SSEZ มีองค์กรหรือบริษัทภายในเขตกว่า 175 แห่ง ในปัจจุบันครอบคลุมทั้งการผลิตฮาร์ดแวร์ไปจนถึงเสื้อผ้า วัสดุก่อสร้าง และวัสดุไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501381926/ssez-conducts-2-5b-trade-in-nine-months/

‘GDP เวียดนาม’ ปี 67 โต 6.5% เหตุส่งออกฟื้นตัว

วินาแคปปิตอล กรุ๊ป (VinaCapital Group) บริษัทจัดการกองทุนเวียดนาม คาดการณ์ว่าการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของเวียดนามในปี 2567 จะขยายตัว 6.5% ในปีหน้า โดยได้แรงหนุนมาจากการฟื้นตัวของภาคการส่งออก และได้ตั้งข้อสังเกตว่าแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนามเป็นไปในเชิงบวก จากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมที่เป็นแรงผลักดันการเติบโตเศรษฐกิจเวียดนามในปีหน้า

ทั้งนี้ สินค้าคงคลังที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 20% ในช่วงปลายปีที่แล้ว สาเหตุสำคัญมาจากธุรกิจต่างๆ สั่งซื้อมากจนเกินไปในช่วงห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงัก เนื่องจากโควิด-19 ในปี 2564 และความคาดหวังว่ามีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอย่างมาก หลังวิกฤตโควิด แต่ว่าไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้

ด้วยเหตุนี้ บริษัทสหรัฐฯ จึงต้องจัดการกับสินค้าคงคลังส่วนเกินตลอดทั้งปีนี้ อย่างไรก็ตาม ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจบ่งชี้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวกำลังสิ้นสุดลงแล้ว แสดงให้เห็นว่ายอดคำสั่งซื้อและผลผลิตในเวียดนามจะกลับมาฟื้นตัว

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnams-gdp-growth-to-rebound-to-65-in-2024-vinacapital/270154.vnp

‘เวียดนาม-ไทย’ ตั้งเป้ามูลค่าการค้า 25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

นายฟาม มินห์ จิญ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม และนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หารือร่วมกันในการส่งเสริมการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะการเชื่อมโยงเครือข่ายภายใต้ห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการเชื่อมโยงไปยังภาคอุตสาหกรรม ท้องถิ่น ธุรกิจและอื่นๆ เป็นต้น

ทั้งนี้ นายปานปรีย์ กล่าวว่าธุรกิจไทยมีความเชื่อมั่นในศักยภาพของสภาพแวดล้อมการลงทุนในเวียดนาม และหวังว่าจะขยายกิจการให้เติบโตขึ้น ในขณะเดียวกัน นายกฯเวียดนาม เสนอให้รัฐบาลไทยส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับชุมชนชาวเวียดนามในไทย และรู้สึกยินดีกับเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นระหว่างทั้งสองประเทศ

นอกจากนี้ เวียดนามและไทย ได้ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการค้า 25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขจัดอุปสรรคทางการค้าและอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าระหว่างทั้งสองประเทศ

ที่มา : https://www.nationthailand.com/world/asean/40032235

สปป.ลาว หารือร่วมเวียดนาม หลังเข้าร่วมประชุม GCC ที่ซาอุดีอาระเบีย

สอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรีแห่ง สปป.ลาว หารือทวิภาคีร่วมกับ ฝั่ม มิญ จิ๊ญ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ในวาระเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนกับคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (GCC Summit) ที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย โดยทั้งสองฝ่ายให้คำมั่นที่จะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด เพื่อรักษาและเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างลาวและเวียดนาม ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องที่จะผลักดันการดำเนินการตามความตกลงความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์เวียดนาม-ลาวในช่วงปี 2564-2573 ข้อตกลงความร่วมมือทวิภาคีลาวและเวียดนาม ในช่วงปี 2564-2566 และการลงนามข้อตกลงและแผนในด้านต่างๆ อีกทั้งได้ตกลงร่วมกันที่จะมุ่งเน้นการขจัดอุปสรรคสำหรับโครงการความร่วมมือที่สำคัญ เช่น การพัฒนาท่าเรือหวุงอังหมายเลข 1, 2 และ 3 รวมถึงโครงการที่เชื่อมต่อการจราจรทางถนนและทางรถไฟในทิศทางตะวันออก-ตะวันตก เป็นต้น

ที่มา : https://kpl.gov.la/EN/detail.aspx?id=77599

UMFCCI และรัฐบาลฉงชิ่ง จับตาดูระเบียงการค้าเชื่อมทางบกและทางทะเลระหว่างประเทศสายใหม่

ดร. วิน ซี ทู รองประธาน สภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งสหภาพเมียนมา (UMFCCI) และนาย Zhao Yin ผู้อำนวยการสำนักงานการต่างประเทศ นครฉงชิ่ง ประเทศจีน หารือประเด็นด้านการลงทุนและความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างเมียนมาร์ และจีน (ฉงชิ่ง) และความเป็นไปได้ในการดำเนินกิจกรรมการค้าบนระเบียงการค้าเชื่อมทางบกและทางทะเลระหว่างประเทศสายใหม่ ในวันที่ 24 ตุลาคม ณ ห้องโถงของ UMFCCI โดยระเบียงการค้าเชื่อมทางบกและทางทะเลระหว่างประเทศสายใหม่เป็นเส้นทางการค้าและโลจิสติกส์ที่สำคัญที่เชื่อมโยงจีน (ฉงชิ่ง) และอาเซียน โดยส่งเสริมการขนส่ง การค้า และการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคเหล่านั้น ที่ประชุมเน้นย้ำความร่วมมือกับเมียนมาในการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการขนส่งตามแนวระเบียงการค้าดังกล่าว อย่างไรก็ดี ทั้งสองฝ่ายได้มีการพูดคุยถึงรายละเอียดเกี่ยวกับความร่วมมือสำหรับกิจกรรมการพัฒนาบนระเบียงการค้า การผลิต การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล และการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/umfcci-chongqing-govt-eye-trade-boost-on-new-land-sea-trade-corridor/

การส่งเสริมการค้า และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ รัสเซีย-เมียนมา

สภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งสหภาพเมียนมา (UMFCCI) ระบุว่า ได้รับการส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าและเศรษฐกิจจะระหว่างเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก แห่งสหพันธรัฐรัสเซีย และเมียนมา ในภาคส่วนสินค้าประเภท ข้าวและถั่วพัลส์ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ เฟอร์นิเจอร์ และเสื้อผ้าสำเร็จรูป โดยประธานคณะกรรมการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของรัฐบาลเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย นาย Grigoriev Evgeny Dmitrievich และสมาชิกได้พบกับนักธุรกิจชาวเมียนมารจากภาคส่วนต่างๆที่สำนักงาน UMFCCI โดย Grigoriev Evgeny Dmitrievich กล่าวว่า ปัจจุบัน ข้าว ถั่ว ข้าวโพด งา เฟอร์นิเจอร์ และการประมงเป็นธุรกิจที่ทำกำไรให้กับเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก มีสิทธิพิเศษสำหรับทั้งสองประเทศ รวมทั้ง ผู้ส่งออกจากภาคส่วนเหล่านี้ได้หารือถึงความยากลำบากที่พบในการส่งออกสินค้าไปยังรัสเซีย ทั้งในเรื่องของระบบการชำระเงินสำหรับการส่งออกโดยตรงไปยังรัสเซีย และเงื่อนไขสำหรับโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าของรัสเซียที่จะเข้ามาลงทุนในเมียนมาร์ อย่างไรก็ตาม คณะผู้แทนรัสเซียยังได้เชิญนักธุรกิจชาวเมียนมาร์มาลงทุน ที่เมืองท่าครอนชตัดท์ ซึ่งมีเทคโนโลยีล่าสุดในการส่งออกและนำเข้าสินค้าทางทะเล การตรวจสอบสินค้านำเข้าและการคืนสินค้า ทำให้ประหยัดเวลา มีความราบรื่นของเส้นทางการขนส่ง และเทคโนโลยีล่าสุดในการขนถ่ายสินค้า

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/russia-myanmar-trade-and-economic-cooperation-to-be-promoted/

‘เวียดนาม’ ส่งออกกาแฟ 1.7 ล้านตัน ปี 66

กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทเวียดนาม เปิดเผยว่าการส่งออกกาแฟของเวียดนามในปีนี้ อยู่ที่ 1.7 ล้านตัน มูลค่า 4.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 152 ล้านบาท ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์ หลังจากทำสถิติส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีที่แล้ว

ทั้งนี้ Pham Quang Anh ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลการแลกเปลี่ยนการค้าเวียดนาม เปิดเผยว่าการส่งออกกาแฟของเวียดนามมีแนวโน้มที่จะทำสถิติส่งออกสูงสุดในปีนี้ เนื่องจากราคาในประเทศและราคาโลกปรับตัวพุ่งสูงสุดในรอบ 15 ปี เหตุจากการขาดแคลนผลผลิต ปริมาณกาแฟสำรองที่ต่ำและความต้องการกาแฟทั่วโลกที่แข็งแกร่ง

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญมองว่าอุตสาหกรรมกาแฟจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องคุณภาพ เพื่อยกระดับมูลค่าเพิ่มและการส่งออกที่ยั่งยืน

ที่มา : https://thailand.postsen.com/world/200821/Vietnam-expects-%E2%80%98coffee%E2%80%99-exports-to-reach-17-million-tons-in-2023.html