7 เดือนแรกของปี ทางการกัมพูชาอนุมัติโครงการก่อสร้างมูลค่ากว่า 3 พันล้านดอลลาร์

กระทรวงการจัดการที่ดิน การวางผังเมือง และการก่อสร้าง ได้ออกใบอนุญาตสำหรับโครงการก่อสร้างรวมกว่า 2,036 โครงการสำหรับในช่วงเดือนมกราคมถึงกรกฎาคมปีนี้ ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 8 ล้านตารางเมตร ซึ่งรายงานของกระทรวงระบุว่า โครงการก่อสร้างที่จดทะเบียนดังกล่าวคาดว่าจะมีมูลค่ารวมถึงประมาณ 2.97 พันล้านดอลลาร์ โดยจากข้อมูลปัจจุบันกัมพูชามีโครงการก่อสร้างกว่า 63,903 โครงการ ครอบคลุมพื้นที่ 181 ล้านตารางเมตร ด้วยเม็ดเงินลงทุน 72.37 พันล้านดอลลาร์ สำหรับภาคการก่อสร้างในกัมพูชากำลังอยู่ในระหว่างการฟื้นตัวหลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งในปัจจุบันภาคดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งภาคการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ถือเป็นหนึ่งในสี่เสาหลักที่สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชา ด้านธนาคารกลางกัมพูชาได้กล่าวเสริมว่าการนำเข้าวัสดุก่อสร้างและอุปกรณ์ในช่วงเดียวกันเริ่มเห็นการกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนให้เห็นว่าภาคดังกล่าวกำลังกลับมาขยายตัว

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501364597/construction-projects-worth-3b-approved-in-7-months/

CDC อนุมัติโครงการลงทุนแห่งใหม่ในจังหวัดสีหนุวิลล์

คณะกรรมการเขตเศรษฐกิจพิเศษกัมพูชา (CSEZB) หน่วยงานของสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) ได้อนุมัติการออกใบรับรองการจดทะเบียนสำหรับโครงการลงทุนใหม่ 8 โครงการ มูลค่ารวม 64.3 ล้านดอลลาร์ ซึ่งในบรรดาโครงการลงทุนใหม่อย่าง บริษัท Huale Steel (Cambodia) Co., Ltd. ได้ยื่นขอเสนอโครงการลงทุนมูลค่ากว่า 40 ล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างโรงงานผลิตเหล็กทุกชนิด ในเขตเศรษฐกิจพิเศษท่าเรือสีหนุวิลล์ (SPSEZ) พร้อมจ้างงานกว่า 523 คน ทำนองเดียวกัน บริษัท Wangmao (Cambodia) Homeware Co., Ltd. วางแผนจัดตั้งโรงงานผลิตเครื่องใช้ภายในบ้าน ด้วยเงินลงทุนมูลค่า 6.2 ล้านดอลลาร์ โดยคาดว่าจะสร้างการจ้างงานถึง 1,369 ตำแหน่ง ตามมาด้วย บริษัท Cambodian Luheng Food Co., Ltd. ในการจัดตั้งโรงงานอาหารสัตว์ มูลค่าการลงทุน 3 ล้านดอลลาร์ ใกล้กันกับ บริษัท Ultimate Motion Co., Ltd. ที่มีการวางแผนลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ มูลค่าการลงทุน 3 ล้านดอลลาร์ สำหรับ บริษัท Jushi (Cambodia) Co., Ltd. วางแผนที่จะสร้างโรงงานผลิตเม็ดพลาสติก สายไฟ และสายเคเบิล ด้วยทุนจดทะเบียน 5 ล้านดอลลาร์ ตามมาด้วยโครงการลงทุนของ บริษัท Starblaze (Cambodia) Plastic & Metal Co., Ltd. มูลค่าการลงทุน 3.6 ล้านดอลลาร์ ตามมาด้วย บริษัท Wanan Gas Control (Cambodia) Co., Ltd. คาดว่าจะลงทุน 2 ล้านดอลลาร์ และ บริษัท He Dui Optoelectronics Co., Ltd. วางแผนที่จะลงทุน 1.5 ล้านดอลลาร์ ตามลำดับ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501364491/cdc-approves-40m-steel-factory-project-in-sihanoukville/

ธุรกิจเวียดนาม-ไทย จับมือส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้า

การประชุมเพื่อส่งเสริมกิจกรรมการค้าระหว่างผู้ประกอบการเวียดนามและผู้ประกอบการไทยที่อยู่ในจังหวัดขอนแก่นและอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 18-20 ก.ย. งานส่งเสริมในครั้งนี้จัดขึ้นโดยสถานกงสุลใหญ่เวียดนามประจำจังหวัดขอนแก่น และศูนย์ส่งเสริมการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว ประจำจังหวัดกว่างจิ ทั้งนี้ นายจู ดึก สุง กงสุลใหญ่ของเวียดนาม เน้นย้ำว่าสินค้าเวียดนามยังคงมีศักยภาพที่สามารถเจาะตลาดไทยได้ เนื่องจากประเทศไทยเป็นชุมชนขนาดใหญ่ของชาวเวียดนามที่อยู่ในต่างประเทศ ซึ่งหลายคนเป็นเจ้าของซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านค้าส่งค้าปลีก ขณะที่นายสุเทพ มณีโชติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่าภาคธุรกิจเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดขอนแก่น และอยู่ในอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ ได้แก่ พลังงานหมุนเวียน เชื้อเพลิงชีวภาพและพลังงานแสงอาทิตย์

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/local-firms-seek-to-boost-trade-ties-with-thai-businesses-post1047324.vov

‘ADB’ ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจเวียดนามปีนี้เหลือ 5.8% และปี 67 โต 6%

จากรายงานการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย ฉบับเดือน ก.ย. ของธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ระบุว่าได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจของเวียดนามในปี 2566 ลงมาอยู่ที่ 5.8% และ 6% ในปีหน้า ซึ่งจากการคาดการณ์เศรษฐกิจของเวียดนามในปีนี้ พบว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงสุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองลงมาฟิลิปปินส์ 5.7% และกัมพูชา 5.3% ทั้งนี้ เงินเฟ้อของเวียดนามปรับตัวลดลงเหลือ 3.8% ในปีนี้ และ 4% ในปีหน้า โดยตัวเลขอัตราเงินเฟ้อดังกล่าวอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (4.2%)

ที่มา : https://theinvestor.vn/adb-revises-down-vietnams-gdp-growth-forecast-to-58-in-2023-6-in-2024-d6697.html

‘เมียนมา’ ส่งออกข้าวโพดจากรัฐฉานไปยังจีน เดือน ต.ค. กว่า 6 หมื่นตัน

สมาคมอุตสาหกรรมข้าวโพดแห่งเมียนมา (MCIA) ระบุว่าเมียนมาจะส่งออกข้าวโพดที่มาจากรัฐฉาน (Shan state) ไปยังตลาดจีนในเดือน ต.ค. อยู่ที่ 60,000 ตัน ผ่านการค้าข้ามพรมแดน ภายใต้โครงการเพาะปลูกฝิ่นทดแทนของรัฐบาลจีน ทั้งนี้ การค้าข้าวโพดระหว่างเมียนมาและจีนที่เป็นไปตามกฎหมาย เริ่มขึ้นเมื่อปี 2565 มีบริษัทเมียนมาจำนวนกว่า 112 แห่งที่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกต่างประเทศ นอกจากนี้ นายอู มิน เค็ง ประธานสมาคมอุตสาหกรรมข้าวโพดแห่งเมียนมา กล่าวว่าข้าวโพดมากกว่า 2 ล้านตัน จะส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าในฤดูเพาะปลูกข้าวโพด ปี 2566

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-to-export-60000-tonnes-of-corn-from-shan-state-to-china-in-oct/#article-title

บริษัททางรถไฟ สปป.ลาว-จีน จัดซื้อขบวนรถไฟเพิ่ม หวังส่งเสริมการเดินทาง

บริษัท รถไฟ สปป.ลาว-จีน ได้ทำการซื้อขบวนรถไฟอีเอ็มยู (EMU) ใหม่ ซึ่งจะจัดส่งในวันนี้ เพื่อรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการเป็นประธานอาเซียนประจำปี 2024 กล่าวโดย Anongdeth Phetkayson รองผู้อำนวยการ บริษัท รถไฟ สปป.ลาว-จีน จำกัด สำหรับปัจจุบันบริษัทให้บริการรถไฟโดยสารรวม 5 ขบวนต่อวัน โดย 4 ขบวนเป็นรถไฟในรูปแบบ EMU และ 1 ขบวนเป็นรถไฟธรรมดา ด้าน China Radio International ในเวียงจันทน์ ได้รายงานเสริมว่าปัจจุบันได้ให้บริการผู้โดยสารทั้งชาว สปป.ลาว-จีน แล้วกว่า 3.1 ล้านคน นับตั้งแต่เปิดให้บริการในวันที่ 3 ธ.ค. 2021 ซึ่งมีปริมาณผู้โดยสารเฉลี่ย 4,889 ต่อวัน โดยปริมาณสูงสุดที่ถูกบันทึกไว้อยู่ที่ 10,197 ต่อวัน สำหรับปี 2023 จนถึงขณะนี้ มีผู้โดยสารเดินทางด้วยรถไฟ สปป.ลาว-จีน แล้วกว่า 1.75 ล้านคน เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 103.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ เส้รทางรถไฟยังเป็นทางเลือกด้านการขนส่งที่มีประสิทธิภาพสำหรับการขนส่งสินค้า โดยมีการขนส่งสินค้าปริมาณมากกว่า 5.38 ล้านตัน นับตั้งแต่เริ่มดำเนินการ

ที่มา : https://laotiantimes.com/2023/09/21/laos-china-railway-purchases-new-train-to-boost-passenger-travel/

8 เดือนแรกของปี กัมพูชาส่งออกไปยังอินเดียขยายตัว 39%

กรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) รายงานสถานการณ์การส่งออกของกัมพูชาไปยังอินเดียในช่วง ม.ค.-ส.ค. ขยายตัวกว่าร้อยละ 38.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีมูลค่ารวมกว่า 161.35 ล้านดอลลาร์ โดยปัจจุบันอินเดียถือเป็นประเทศจุดหมายปลายทางสำคัญของกัมพูชาในการส่งออก ซึ่งมูลค่าการส่งออกสินค้าไปยังอินเดียคิดเป็นร้อยละ 1 ของการส่งออกทั้งหมดของกัมพูชา ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดสำคัญอย่างจีนก็เห็นถึงการเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 16.8 ไปยังเวียดนามขยายตัวร้อยละ 26.1 แต่การส่งออกไปยังสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ยังคงมีส่วนแบ่งการส่งออกที่ใหญ่ที่สุดที่ร้อยละ 38.9 ของการส่งออกทั้งหมดของกัมพูชา รองลงมาคือเวียดนามและจีน ที่ร้อยละ 11.8 และร้อยละ 6 ตามลำดับ สำหรับการนำเข้าของกัมพูชาจากอินเดียปรับตัวลดลงร้อยละ 15.1 ที่มูลค่า 145.56 ล้านดอลลาร์ ทำให้กัมพูชาเกินดุลการค้ากับอินเดียกว่า 15.78 ล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501363964/cambodias-exports-to-india-rise-by-39-percent-in-jan-aug/

ADB ปรับ GDP กัมพูชาลดลงเหลือ 5.3%

ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ได้ปรับการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจหรือผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของกัมพูชาลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 5.3 โดยได้นำเสนอไว้ในรายงานแนวโน้มการพัฒนาเอเชีย (ADO) ประจำเดือนกันยายน 2023 จากการคาดการณ์ GDP ไว้ที่ร้อยละ 5.5 ในเดือนเมษายน สำหรับรายงานประจำเดือน ก.ย. ชี้ให้เห็นว่าการส่งออกในช่วงครึ่งปีแรกอย่าง เสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าเพื่อการเดินทางของกัมพูชาหดตัวลงกว่าร้อยละ 18.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่การลดลงดังกล่าวได้รับการชดเชยบางส่วนด้วยการส่งออกสินค้ากลุ่มอื่นๆ ที่นอกเหนือจากเสื้อผ้า โดยเฉพาะชิ้นส่วนยานยนต์ แผงโซลาร์เซลล์ และเฟอร์นิเจอร์ มีการขยายตัวกว่าร้อยละ 22.9 ด้านการนำเข้าสินค้าลดลงร้อยละ 22.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งการนำเข้าสิ่งทอลดลงร้อยละ 17.9 เชื้อเพลิงลดลงร้อยละ 10 และยานพาหนะลดลงร้อยละ 26.9 ด้านทุนสำรองระหว่างประเทศขั้นต้นเพิ่มขึ้นเป็น 18.4 พันล้านดอลลาร์ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2023 จาก 17.8 พันล้านดอลลาร์ ณ สิ้นปี 2022 สำหรับความเสี่ยงมีแนวโน้มไปในทิศทางลบ เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง และการไหลเข้าของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่ชะลอลง รวมถึงภาวะการเงินโลกที่ตึงตัวเป็นเวลานาน ราคาพลังงานที่สูงขึ้น ไปจนถึงความกังวลเกี่ยวกับหนี้ภาคเอกชนที่สูงและเสถียรภาพทางการเงินในประเทศที่ต่ำ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501363962/adb-revised-down-cambodias-gdp-to-5-3-percent-for-2023/

ตลท.หนุนตลาดทุนไทยเติบโตยั่งยืน เชื่อมนักลงทุน-บลจ.เข้าถึงข้อมูล ESG

นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการหัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร และหัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวในการสัมมนา “OSP Sustainability Dialogue : Mission to Carbon Neutral” ถึงแนวทางการพัฒนาความยั่งยืนในตลาดทุนไทย เผยว่าความยั่งยืนเป็นเรื่องใหม่ และเป็นเทรนด์ใหญ่ในระดับโลก และเมื่อประเทศไทยเป็นหนึ่งในโกลบอลซัพพลายเชน ดังนั้นจะต้องมีมาตรฐานที่สอดคล้องกับมาตรฐานของโลก โดย ตลท.มีเป้าหมายพัฒนายุทธศาสตร์ด้าน ESG 5 ด้าน ได้แก่ 1.sustainable business พัฒนาการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนทั้งในเชิงกว้างและเชิงลึก 2.Sustainable investment ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนอย่างยั่งยืน และพัฒนาสินค้า และบริการที่เกี่ยวข้อง 3.ESG infrastructure พัฒนาเครื่องมือ และยกระดับการเปิดเผยข้อมูล ESG เพื่อการตัดสินใจลงทุน 4.ESG Education พัฒนาความรู้ และสร้างบุคลากรด้านความยั่งยืนให้ตลาดทุน SET’s internal 5.Development พัฒนาความยั่งยืนของกลุ่มตลาดหลักทรัพย์ให้มีประสิทธิภาพ ตลท.จึงมีหน้าที่ในการเชื่อมโยงนักลงทุน และบริษัทจดทะเบียนให้สามารถเข้าถึงข้อมูลด้าน ESG และเปลี่ยนพฤติกรรมไปสู่การลงทุนอย่างยั่งยืนที่สามารถพิสูจน์ให้นักลงทุนเห็นได้ว่า การลงทุนในกลุ่มความยั่งยืนมีคุณค่าที่แท้จริง ตลท.จึงมีหน้าที่นำเสนอข้อมูลด้าน ESG ที่มีความเป็นปัจจุบัน และน่าเชื่อถือ ทำให้มีการพัฒนา “ESG Data platform” ในการเปิดเผยข้อมูลผ่าน SETSMART เพื่อสนับสนุนการเปิดเผยข้อมูล และเชื่อมต่อไปยังนักลงทุน เรตติ้งเอเจนซี ให้ง่ายต่อการเข้าถึง สะดวก และสามารถนำไปใช้ในการประมวลผลต่อได้ทันที ขณะนี้มี บจ. 658 บริษัท หรือคิดเป็น 74% ได้อนุมัติเผยแพร่ข้อมูลผ่าน ESG Data Platform และมี บจ. อีก 343 บริษัทคิดเป็น 39% มีการเผยแพร่ข้อมูล Greenhouse Gas (GHG) โดยได้รับการทวนสอบแล้ว 185 บริษัท รวมทั้งการลงทุนอย่างยั่งยืนกำลังกลายเป็นกระแสหลักในการลงทุนในตลาดทุนโลก และตลาดทุนไทย สะท้อนจากกองทุนยั่งยืนหรือกองทุน ESG ที่เติบโตเพิ่มขึ้น 220% ในปี 2566 จาก 82 กองทุน เป็นมูลค่า 4.7 หมื่นล้านบาท จากปี 2560 ที่มีเพียง 20 กองทุน

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/finance/investment/1089775

‘แคนาดา’ ตลาดศักยภาพของข้าวเวียดนาม

หน่วยกิจการพรมแดนแคนาดา (CBSA) รายงานว่าภายหลังจากข้อตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ทีมีผลบังคับใช้แล้ว ส่งผลให้การส่งออกข้าวของเวียดนามไปยังตลาดเหล่านี้เพิ่มขึ้น 60% หรือเกือบ 9.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2561-2565 และช่วยให้เวียดนามอยู่ในอันดับที่ 5 ของกลุ่มผู้ส่งออกข้าวไปยังตลาดแถบอเมริกาเหนือ ทั้งนี้ คุณ Dinh Trung Dung ผู้อำนวยการของบริษัท Vietnam CanadaTrading Ltd กล่าวว่าแคนาดานับเป็นตลาดบริโภคข้าวขนาดใหญ่ โดยมีความต้องการประมาณ 5 แสนตันต่อปี อย่างไรก็ดี ตลาดแห่งนี้มีข้อกำหนดที่เข้มงวดในเรื่องคุณภาพของสินค้า

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1593988/canada-a-potential-market-for-viet-nam-s-rice-insiders.html