ค่าจ้างขั้นต่ำใน สปป.ลาว ไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพ ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมามากขึ้น

ค่าแรงขั้นต่ำใน สปป.ลาวปัจจุบันอยู่ที่ 1.6 ล้าน กีบ หรือประมาณ 75 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากอัตราก่อนหน้าที่มีค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 1.3 ล้านกีบ หรือประมาณ 61 ดอลลาร์สหรัฐ โดยแรงงานบางส่วนได้สะท้อนว่าไม่สมดุลกับค่าครองชีพ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเตอร์เน็ต ค่าน้ำมันและค่าอาหาร รวมๆ กันต้องใช้เงินกว่า 3 ล้านกีบ ทำให้ค่าจ้างที่ได้ไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพ นอกจากนี้ ค่าแรงขั้นต่ำ สปป.ลาว ยังมีระดับท้ายๆ ของประเทศในอาเซียน ทำให้เกิดการไหลออกของจำนวนแรงงาน จนทำให้แรงงานในประเทศมีไม่เพียงพอ นอกจากนี้ ค่าแรงขั้นต่ำที่ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย ยังทำให้จำนวนนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่เรียนจบมีจำนวนลดลง ซึ่งจะส่งผลในระยะยาวต่อการพัฒนาประเทศ

ที่มา : https://laotiantimes.com/2024/05/17/inadequate-minimum-wage-deepens-economic-woes-in-laos-fueling-labor-shortages-school-dropouts/

‘อีคอมเมิร์ซ’ ดันโอกาสสินค้าเวียดนามสู่ตลาดโลก

จากการประชุมอีคอมเมิร์ซและเศรษฐกิจดิจิทัล จัดขึ้นโดยกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า และ Amazon Global Selling Vietnam เมื่อวันที่ 22 พ.ย. พบว่าอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน มีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยมีมูลค่า 7.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2568 และผลักดันรายได้ให้กับองค์กรและโซลูชั่นทางธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะที่รายได้จากอีคอมเมิร์ซค้าปลีก เติบโตเฉลี่ย 20% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และเวียดนามอยู่ใน 10 ประเทศชั้นนำที่มีอัตราการเติบโตทางด้านอีคอมเมิร์ซ

ทั้งนี้ สำนักงานอีคอมเมิร์ซและเศรษฐกิจดิจิทัลของเวียดนาม เร่งดำเนินมาตรการในการพัฒนาตลาดอีคอมเมิร์ซและสร้างความเชื่อมั่นของลูกค้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาอีคอมเมิร์ซระดับชาติ ปี 2564-2568

นอกจากนี้ สำนักงานยังร่วมมือกับสำนักงานอุตสาหกรรมและการค้าประจำจังหวัดต่างๆ เพื่อที่จะส่งเสริมการเชื่อมโยงอีคอมเมิร์ซระดับภูมิภาคและท้องถิ่น

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/e-commerce-helps-vietnamese-goods-go-global-conference-post287404.vnp

‘เวียดนาม’ นำเข้าโทรศัพท์และชิ้นส่วน ไตรมาส 1/67 เกินกว่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ

กรมศุลกากรเวียดนาม เปิดเผยว่ายอดการนำเข้าโทรศัพท์และชิ้นส่วนในไตรมาสแรกของปีนี้ มีมูลค่ามากกว่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 22.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และเป็นสินค้านำเข้าสำคัญ อันดับที่ 5 ของสินค้านำเข้าของเวียดนาม โดยแหล่งนำเข้ารายใหญ่ของเวียดนาม ได้แก่ จีน เกาหลีใต้และฮ่องกง

ทั้งนี้ เวียดนามนำเข้าโทรศัพท์และชิ้นส่วนจากประเทศจีนมากที่สุด คิดเป็นมูลค่าการนำเข้าเกินกว่า 2.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด 25% เมื่อเทียบกับปีก่อน รองลงมาเกาหลีใต้และฮ่องกง ในขณะเดียวกัน เวียดนามส่งออกโทรศัพท์และชิ้นส่วน อยู่ที่ 18.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับปีก่อน และนับเป็นสินค้าส่งออกสำคัญ อันดับที่ 2 ของสินค้าส่งออกเวียดนาม

นอกจากนี้ บริษัทวิจัยการตลาดชั้นนำระดับโลก “Statista” รายงานว่าตลาดสมาร์ทโฟนเวียดนาม จะมีมูลค่าอยู่ที่ 4 พันล้านเหรียญสหรัฐ และมีอัตราการเติบโต 1.45% ต่อปี ตั้งแต่ปี 2567-2571

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1656013/vn-imports-over-us-3-billion-in-mobile-phones-and-components-in-q1.html

กระทรวงสิ่งแวดล้อมร่วมมือกับกระทรวงแรงงาน ลดการใช้พลาสติกในโรงงานกัมพูชา

Heng Sour รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและฝึกอบรมวิชาชีพ และ Eang Sophalleth รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม ลงนามในบันทึกความตกลง (MOU) เรื่อง “การรณรงค์ลดการใช้พลาสติกในสถานประกอบการ” ในช่วงวันที่ 20 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยทั้งสองฝ่ายยินดีและพร้อมที่จะช่วยกันผลักดันนโยบายดังกล่าว เพื่อส่งเสริมการลดการใช้พลาสติกในสถานประกอบการ ซึ่งทั้งสองกระทรวงเคยทำงานร่วมกันผ่านกลไกการตรวจสอบโรงงานเพื่อให้แน่ใจว่าสภาพแวดล้อมในสถานประกอบการเหมาะสมต่อการดำเนินงานของแรงงานในสายการผลิต สำหรับการลงนามในครั้งนี้แสดงถึงความร่วมมืออย่างเป็นทางการของทั้งสองกระทรวง ในการส่งเสริมการเติบโต ประสิทธิภาพ และผลผลิต ในทางกลับกันเจตนารมณ์ของบันทึกความตกลงจะส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการลดผลกระทบของขยะพลาสติกที่ถูกนำมาใช้ในสังคม

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/1492077/ministry-of-environment-cooperates-with-the-ministry-of-labour-to-reduce-the-use-of-plastic-in-factories/

สินเชื่อภาคเกษตรกรรมของกัมพูชาลดลงเหลือ 31% จาก 36% ใน 5 ปีก่อน

โครงสร้างสัดส่วนสินเชื่อภาคการเกษตรลดลงจากร้อยละ 35.8 มาอยู่ที่ร้อยละ 31 สำหรับในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ตามข้อมูลจากธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) โดยภาคการเกษตรยังคงเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจกัมพูชาสำหรับในปี 2023 สำหรับโครงสร้างเศรษฐกิจกัมพูชาเปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อยสะท้อนจากข้อมูลของกระทรวงเกษตรกรรม ป่าไม้ และประมง ที่ได้กล่าวรายงานว่า ภาคการเกษตรมีส่วนสำคัญต่อการผลักดันการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) แต่ด้วยขนาดของเศรษฐกิจที่มีการขยายตัว รวมถึงโครงสร้างอุตสาหกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลทำให้สัดส่วนอุตสาหกรรมการเกษตรในปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 22 ของ GDP ประเทศ แม้ในปี 2013 จะมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 36 ของ GDP ก็ตาม สำหรับอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น สิ่งทอ การท่องเที่ยว และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และ MSMEs ในด้านการผลิต ชิ้นส่วนรถยนต์ เฟอร์นิเจอร์ พลาสติก ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ก็เริ่มมีบทบาทสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501490959/agricultural-loans-fall-to-31-from-36-in-5-years/

‘เวียดนาม’ คาดตลาดสมาร์ทโฟน แตะ 4 ล้านเหรียญสหรัฐ

กรมศุลกากรเวียดนาม เปิดเผยข้อมูลตัวเลขการค้าเบื้องต้น พบว่ายอดการนำเข้าโทรศัพท์และชิ้นส่วนในเดือน เม.ย. อยู่ที่ 789.72 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 1% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ส่งผลให้การนำเข้าในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ มูลค่ามากกว่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 22.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ทั้งนี้ ตลาดนำเข้าหลักของสินค้าโทรศัพท์และชิ้นส่วนของเวียดนาม ได้แก่ จีน เกาหลีใต้และฮ่องกง ในขณะที่การส่งออกโทรศัพท์และชิ้นส่วนของเวียดนามในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ อยู่ที่ 18.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งโทรศัพท์และชิ้นส่วนเป็นสินค้าส่งออกหลักอันดับ 2 ของสินค้าส่งออกทั้งหมดของเวียดนาม รองจากคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เสริม

อีกทั้ง เวียดนามกลายมาเป็นผู้ส่งออกสมาร์ทโฟนรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก รองจากจีน ตั้งแต่ปี 2565 คิดเป็นสัดส่วน 12% ของส่วนแบ่งตลาดโลก และจากตัวเลขการคาดการณ์ของ Statista ได้คาดการณ์ว่าตลาดสมาร์ทโฟนของเวียดนาม จะมูลค่าสูงถึง 4 พันล้านเหรียญสหรัฐในปีนี้ มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 1.45% ตั้งแต่ปี 2567-2571

ที่มา : https://en.vneconomy.vn/trade-turnover-from-phones-and-components-increases-in-4m.htm

‘รัฐบาลเวียดนาม’ เร่งดำเนินแก้ปัญหาฉ้อโกงซื้อขายออนไลน์

จากข้อมูลสถิติของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า รายงานว่าอีคอมเมิร์ซยังคงเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญในการผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจดิจิทัลของเวียดนาม มีมูลค่าสูงถึง 20.5 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2566 เพิ่มขึ้น 25% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในขณะที่รายงานค้าปลีกออนไลน์ในปี 2566 และแนวโน้มในปี 2567 พบว่าแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ทำรายได้จากธุรกิจกับผู้บริโภค (B2C) สูงถึงราว 500 ล้านล้านด่อง หรือประมาณ 19.64 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2566 และคาดว่ามูลค่าจะสูงถึงราว 650 ล้านล้านด่องในปีนี้

อย่างไรก็ดี ผู้ไม่ประสงค์ดีจำนวนมากใช้ประโยชน์จากความไว้วางใจของผู้บริโภคและใช้ช่องโหว่ทางนโยบายการขายสินค้าคุณภาพต่ำ โดยปลอมแปลงเครื่องหมายการค้าของแบรนด์ที่มีชื่อเสียง ด้วยเหตุนี้ ทางหน่วยงานของภาครัฐฯ จึงมักได้รับรายงานว่ามีสินค้าลอกเลียนแบบบนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ และเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาครั้งนี้ จำเป็นที่จะต้องมีทรัพยากร โดยเฉพาะเครื่องมือ วิธีการและบทลงโทษที่เหมาะสม

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/e-commerce-frauds-require-utmost-in-attention-from-regulators-2282406.html

ธนาคารแห่งชาติกัมพูชาทบทวนมาตรการควบคุมราคาบ้าน

ธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) กำลังทบทวนมาตรการควบคุมราคาบ้านที่มีการคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อของกัมพูชาจะต่ำที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปีนี้ ด้านดัชนีราคาบ้านพักและที่อยู่อาศัย (RPPI) ซึ่งเริ่มเปิดตัวในกลางปี 2022 เพื่อวัดราคาบ้านโดยรวมทั่วประเทศเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 9 ภายในปี 2022 เมื่อเทียบกับปี 2020 โดย NBC กำลังติดตามราคาบ้านอย่างใกล้ชิด และอาจใช้มาตรการเพิ่มเติมเพื่อควบคุมราคาหากจำเป็น ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นตัววัดเงินเฟ้อของกัมพูชาอยู่ที่ร้อยละ 2.1 ในปี 2022 และคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 2.0 ภายในปีนี้ สำหรับมาตรการควบคุมราคาบ้านอาจส่งผลกระทบต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ของกัมพูชา รวมถึงผู้ซื้อบ้านอาจต้องเผชิญกับอุปสรรคในการเข้าถึงสินเชื่อที่อยู่อาศัยอันเนื่องจากมาตรการและราคาบ้านที่อาจชะลอตัวลงหรือลดลงในอนาคต

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501490347/the-national-bank-of-cambodia-reviews-measures-of-housing-prices/

กัมพูชาเสนอจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะ สำหรับบริษัทเกาหลีใต้เพื่อกระตุ้นการลงทุน

กัมพูชาเสนอจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะสำหรับบริษัทเกาหลีใต้หวังดึงดูดการลงทุน ซึ่งเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้จะได้รับการออกแบบมาโดยเฉพาะเพื่อตอบสนองความต้องการของบริษัทเกาหลีใต้ ที่สนใจเข้ามาลงทุนและดำเนินธุรกิจภายในกัมพูชาด้วยการปรับปรุงสภาพแวดล้อมด้านการลงทุนใหม่ ให้สอดรับกับความต้องการของภาคการลงทุน โดยเศรษฐกิจของกัมพูชาในปัจจุบันเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีมากกว่าร้อยละ 7 สำหรับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเศรษฐกิจกัมพูชาเริ่มฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ขณะที่กัมพูชามีความพยายามเป็นอย่างมากที่จะเชื่อมนักลงทุนเข้ามายังกัมพูชามากขึ้น ผ่านเครือข่ายความตกลงการค้าเสรีระดับภูมิภาคและทวิภาคี (FTA) รวมถึงเขตการค้าเสรีอาเซียน อาเซียนบวกหนึ่ง, RCEP, กัมพูชา-จีน FTA, กัมพูชา-เกาหลีใต้ FTA และกัมพูชา-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ FTA

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501490362/cambodia-proposes-exclusive-special-economic-zone-for-korean-firms-to-boost-investment/

“ไทย-ภูฏาน” ถก FTA รอบแรก ตั้งคณะทำงานด้านการค้าสินค้า ไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดประชุม รอบ 2 ส.ค.นี้

โชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า หลังจากที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นภินทร ศรีสรรพางค์) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พาณิชย์ และการจ้างงานภูฏาน (นำเยล ดอร์จิ) ได้ร่วมประกาศเปิดการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยกับภูฏาน ในช่วงการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า ไทย-ภูฏาน (JTC) ครั้งที่ 5 คณะเจรจาของไทยและภูฏานจึงได้ประชุมเจรจาจัดทำ FTA ไทย-ภูฏาน รอบแรก เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ผ่านมา ณ ประเทศภูฏาน โดยมีตนเป็นหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายไทย และ โซแนม เชอริง ดอร์จิ ผู้อำนวยการกรมการค้า เป็นหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายภูฏาน สำหรับการหารือระหว่าง นภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กับ เชริง ท็อปเกย์ นายกรัฐมนตรีภูฏาน เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2567นายกรัฐมนตรีภูฏานขอให้พิจารณาเร่งรัดสรุปผลการเจรจาโดยเร็วที่สุด ซึ่งทั้งสองฝ่ายเชื่อมั่นว่า FTA ไทย-ภูฏาน จะเป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจและประชาชนของทั้งสองประเทศ โดยผู้บริโภคภูฏานมีความนิยม รวมทั้งยอมรับคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าและบริการของไทยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

ที่มา : https://moneylifenews.com/en/articles/294591-gov