เกาหลีใต้ มอบเงินให้แก่ สปป.ลาว ในการพัฒนาชนบททางตอนใต้

เกาหลีใต้มอบเงินทุนสนับสนุน สปป.ลาว รวมมูลค่าประมาณ 9.4 ล้านดอลลาร์ เพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อม ความเป็นอยู่ของประชาชนในเขตชนบท 3 จังหวัด ทางตอนใต้ของ สปป.ลาว โดยมีเป้าหมายเพื่อลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างประชากรในชนบทและในเมือง ซึ่งโครงการนี้กำหนดเป้าหมายในหมู่บ้านนำร่องที่ได้รับการคัดเลือก 20 แห่ง ผ่านโครงการย่อย 5 โครงการ ที่มุ่งพัฒนาให้รายได้ของเกษตรกรเพิ่มสูงขึ้น และโครงการย่อยอีก 6 โครงการ เพื่อปรับปรุงมาตรฐานการครองชีพในหมู่บ้านเป้าหมาย เช่น ถนนหนทาง ระบบชลประทาน ระบบน้ำประปา เป็นสำคัญ โดยเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของสาธารณรัฐเกาหลี (KOICA) และกระทรวงเกษตรและป่าไม้ ได้จัดพิธีเปิดโครงการอย่างเป็นทางการที่อำเภอปากซอง ในจังหวัดจำปาสัก

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten101_Korea_to_y23.php

กัมพูชาคาดญี่ปุ่นจะเป็นพันธมิตรหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล

ญี่ปุ่นยังคงเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนกัมพูชาสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคต กล่าวโดย Chea Serey รองผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติกัมพูชา ในระหว่างการให้สัมภาษณ์กับสื่อญี่ปุ่น ซึ่งความร่วมมือของญี่ปุ่นมีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีของกัมพูชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมฟินเทค และอุตสาหกรรมการเกษตรอย่าง AgriTech ที่ยังคงมีโอกาสเติบโตจากการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบันบริษัท Soramitsu จากทางญี่ปุ่น ได้ร่วมพัฒนาสกุลเงิน “Bakong” ในการให้หบริการชำระเงินดิจิทัลที่ริเริ่มโดยธนาคารแห่งชาติกัมพูชา เพื่อช่วยให้การทำธุรกรรมระหว่างธนาคารง่ายขึ้น และถือเป็นการลดการใช้เงินสด นอกเหนือจาก Soramitsu แล้ว บริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งรวมถึง Nippon Express ซึ่งเป็นบริษัทด้านขนส่งและโลจิสติกส์, Oji Group บริษัทบรรจุภัณฑ์ และ บริษัทต่างๆ ยังได้ดำเนินกิจการในกัมพูชาและมีความพร้อมในการให้ความร่วมมือกับทางการในการพัฒนาเศรษฐกิจของกัมพูชาให้เข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างเต็มรูปแบบ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501298087/japan-key-partner-in-digital-economy-drive/

อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มกัมพูชาจ้างงานมูลค่าแตะ 3 พันล้านดอลลาร์

นายกรัฐมนตรีฮุน เซน กล่าวเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (27 พ.ค.) ถึงอุตสาหกรรมการตัดเย็บเสื้อผ้าภายในประเทศที่มีการจ้างงานภายในประเทศมากกว่า 3 พันล้านดอลลาร์ต่อปี ซึ่งนายกฯ ได้กล่าวไว้ในระหว่างการปราศรัยกับคนงานกว่า 19,000 คน จาก 81 โรงงาน ที่ดำเนินงานใน Royal Group Phnom Penh Special Economic Zone (Phnom Penh SEZ) โดยปัจจุบันมีโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้ากว่า 1,326 แห่ง ในกัมพูชา มีการว่าจ้างคนงานประมาณ 8.4 แสนคน ด้านการจ่ายค่าจ้างเฉลี่ยอยู่ที่ 6.6 ดอลลาร์ต่อวัน หรือตกอยู่ที่ 200 ดอลลาร์ต่อเดือน ซึ่งค่าจ้างดังกล่าวสูงกว่าเส้นรายได้ความยากจนที่ทั่วโลกกำหนดไว้ที่ 4.7 ดอลลาร์ต่อวัน ขณะที่การส่งออกสินค้ากลุ่มเครื่องนุ่งห่มไปยังตลาดต่างประเทศในช่วง 4 เดือนแรกของปีมีมูลค่ารวมประมาณ 7.34 พันล้านดอลลาร์ ด้าน Ith Samheng รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและการฝึกอาชีพ กล่าวว่า ตลาดแรงงานของกัมพูชายังคงแข็งแกร่งเนื่องจากอัตราการจ้างงานสูงถึงร้อยละ 99.3 ของแรงงานทั้งหมด ที่จำนวน 10.8 ล้านคน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501298082/garment-annual-turnover-3b-workers-income-above-poverty-line/

ผวจ.ตราด พัฒนาเศรษฐกิจหลายด้าน เพิ่มศักยภาพการค้าชายแดนกัมพูชา

นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด เปิดเผยว่า จังหวัดตราดเป็นจังหวัดสุดท้ายของภาคตะวันออกและเป็นจังหวัดเล็กๆ แต่เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพสูงทางด้านภูมิศาสตร์ เพราะมีพื้นที่ติดชายแดนไทย-กัมพูชาทั้ง 3 จังหวัดสำคัญของกัมพูชา คือด้าน อ.บ่อไร่ ติดกับ อ.สำรูด จ.พระตะบอง ที่ปัจจุบันมีจุดผ่อนปรนการค้าเพื่อไปมาหาสู่และค้าขายสินค้าระหว่างกัน,ด้าน อ.เมือง ติดกับ อ.เวียงเวล จ.โพธิสัตว์ ที่ยังเป็นช่องทางธรรมชาติ แต่กำลังมีความพยายามยกระดับให้เป็นจุดผ่านแดนถาวร และ อ.คลองใหญ่ จ.ตราด ติดกับ อ.มณฑลเสมา จ.เกาะกง ที่ปัจจุบันเป็นจุดผ่านแดนถาวร ซึ่งมีการค้าขายระหว่างกันมีมูลค่ากว่า 3.8 หมื่นล้านบาทต่อปี และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในขณะเดียวกันจังหวัดตราด ยังมีแหล่งท่องเที่ยวทั้งชายทะเล และมีเกาะกว่า 52 เกาะ ซึ่งปัจจุบันมี 3-4 เกาะที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับนานาชาติ ที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวกว่า 2 ล้านคน และมีรายได้จากธุรกิจท่องเที่ยวเกิน 2 หมื่นล้านบาทต่อปี

ที่มา : https://www.naewna.com/local/733732

‘เวียดนาม’ เผย 5 เดือนแรกของปี 66 ดึงดูดเม็ดเงินทุน FDI แตะ 10.86 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำนักงานส่งเสริมการลงทุนต่างประเทศ (FIA) เปิดเผยข้อมูลเงินลงทุนต่างชาติที่ไหลเข้ามายังเวียดนามตั้งแต่ต้นเดือนจนถึงวันที่ 20 พ.ค.66 รวมถึงการลงทุนใหม่ การปรับเพิ่มเงินลงทุนและการซื้อหุ้นของนักลงทุนต่างชาติ พบว่ามีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้นราว 10.86 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 7.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่เพิ่มขึ้น 10.6 จุดเมื่อเทียบกับตัวเลขในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้

ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปยังคงเป็นแหล่งดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศมากที่สุดของเวียดนาม ด้วยมูลค่ามากกว่า 6.64 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาภาคการเงินธนาคาร อสังหาริมทรัพย์และวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี ในขณะที่สิงคโปร์เป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดในเวียดนาม ลงทุนไปกว่า 2.53 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามมาด้วยญี่ปุ่นและจีน อีกทั้ง ฮานอย (Hanoi) เป็นเมืองที่ได้รับเงินลงทุนจากต่างประเทศมากที่สุด มีมูลค่ากว่า 1.87 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 17.2% ของเงินลงทุนรวม

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1544340/viet-nam-s-five-month-fdi-reached-nearly-us-10-86-billion.html

‘ผู้ส่งออกทุเรียนไทย’ เผชิญกับภัยคุกคามจากเวียดนาม ฟิลิปปินส์ในตลาดจีน

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดว่าเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนไทย จำเป็นต้องรักษาคุณภาพของผลไม้ให้อยู่ในระดับสูง เนื่องจากเผชิญกับภัยคุกคามจากคู่แข่งสำคัญ ได้แก่ เวียดนามและฟิลิปปินส์ในตลาดจีน ในขณะที่จากรายงานของสำนักส่งเสริมการค้า ณ นครหนานหนิง ระบุว่าราคาขายส่งทุเรียนในตลาดจีนปรับตัวลดลงในช่วงต้นเดือน พ.ค. สาเหตุสำคัญมาจากผลผลิตผลไม้ที่เพิ่มขึ้น หลังจากผู้ค้าส่งจีนมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นจากเวียดนามและฟิลิปปินส์ ทั้งนี้ ราคาทุเรียนหมอนทองของไทยในเดือน พ.ค. ลดลงเหลือราว 36-48 หยวน หรือประมาณ 177-266 บาทต่อกิโลกรัม ขณะเดียวกันราคาทุเรียนหมอนทองจากเวียดนาม อยู่ที่ประมาณ 32-41 หยวนต่อกิโลกรัม ตามมาด้วยราคาทุเรียนพันธุ์ปูยัตจากฟิลิปปินส์ อยู่ที่ 37-45 หยวนต่อกิโลกรัม

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1541981/viet-nam-will-continue-to-be-prime-destination-for-fdi-vinacapital.html

‘อาเซียน’ ส่งสิ่งของช่วยเหลือเมียนมา บรรเทาทุกข์เหยื่อจากพายุไซโคลนโมคา

สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) นำส่งมอบสิ่งของบรรเทาทุกข์เมื่อเกิดภัยพิบัติฉุกเฉินของอาเซียน (DELSA) ได้อนุมัติวงเงินช่วยเหลือแก่เมียนมา 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากพายุไซโคลน ‘โมคา’ ทั้งนี้ จากการประเมินผลกระทบเบื้องต้นจากเหตุการณ์ดังกล่าว พบว่ามีความเสียหายอย่างรุนแรงต่อโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกของสาธารณะ รวมถึงมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 145 คน บาดเจ็บไปกว่า 131 คน และผู้คน 912,000 คน ต้องอพยพไปยังสถานที่ปลอดภัย ทั้งนี้ นายเกา กิม ฮวน เลขาธิการอาเซียน แสดงความเสียใจต่อชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ตลอดจนพร้อมที่จะทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของอาเซียน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501297944/asean-delivers-relief-supplies-to-myanmar-to-help-victims-of-cyclone-mocha/

Lao Agro Tech ลงนามในข้อตกลงพัฒนาสวนอุตสาหกรรมในสาละวัน

รัฐบาล สปป.ลาว ได้อนุมัติให้ บริษัท Lao Agro Tech จำกัด (มหาชน) ดำเนินโครงการพัฒนาสวนอุตสาหกรรมในอำเภอ Ta-oy และ Samuay ในจังหวัดสาละวัน โดยข้อตกลงอนุญาตให้บริษัทได้รับสัมปทานบนที่ดินในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งได้รับการลงนามเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ณ กระทรวงการวางแผนและการลงทุน นำโดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการวางแผนและการลงทุน Dr.Sthabandith Insisienmay ร่วมกับประธานบริหาร บริษัท Lao Agro Tech จำกัด (มหาชน) ซึ่งทั้งสองฝ่ายตั้งเป้ามุ่งพัฒนาเศรษฐกิจของ สปป.ลาว และส่งเสริมการพัฒนาด้านการเกษตรและป่าไม้ เพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมใน สปป.ลาว ในการผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ด้าน บริษัท Lao Agro Tech ปัจจุบันได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ สปป.ลาว มีความเชี่ยวชาญด้านการเกษตรและการผลิต โดยมีนโยบายในการช่วยผลักดันให้ใช้ผลผลิตทางการเกษตรเป็นแหล่งพลังงานทดแทนป้อนให้กับโรงงานไบโอดีเซล ซึ่งบริษัทยังมุ่งเน้นการเพิ่มการจ้างงานให้กับเกษตรกรและสร้างรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่นผ่านการเชื่อมโยงทางธุรกิจ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten101_Lao_Agro_y23.php

กัมพูชา-สหราชอาณาจักร ลงนาม MoU บนข้อตกลงการค้าและการลงทุนระหว่างกัน

กระทรวงพาณิชย์กัมพูชา ร่วมกับกระทรวงการค้าระหว่างประเทศแห่งสหราชอาณาจักรได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) ในการจัดตั้ง Joint Trade and Investment Forum (JTIF) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางการค้าระหว่างทั้งสองประเทศ รวมถึงส่งเสริมการส่งออกสินค้าของกัมพูชาไปยังตลาดสหราชอาณาจักร โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม และจะเป็นการเพิ่มปริมาณการนำเข้า การลงทุนของอังกฤษไปยังกัมพูชามากขึ้น ซึ่งการลงนามดังกล่าวนำโดย Pan Sorasak รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับ Dominic Williams เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำกัมพูชา เมื่อวันที่ 26 พ.ค. ที่ผ่านมา ณ กระทรวงพาณิชย์ จากข้อมูลของกรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชา สหราชอาณาจักรถือเป็นหนึ่งในคู่ค้ารายใหญ่ของกัมพูชา โดยมีปริมาณการค้าระหว่างสองประเทศในปี 2022 สูงถึง 977.43 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 24.42 เมื่อเทียบกับปีก่อน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501297887/cambodia-uk-sign-trade-and-investment-mou/

ม.ค.-เม.ย. กัมพูชาส่งออกแตะ 7.23 พันล้านดอลลาร์

ในช่วงเดือน มกราคม-เมษายน 2023 กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังตลาดต่างประเทศมูลค่าแตะ 7.23 พันล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 4.9 จากมูลค่า 7.6 พันล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นำโดยเสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าสำหรับการเดินทาง รวมถึงผลิตผลทางการเกษตรเป็นสินค้าหลักสำหรับการส่งออกของกัมพูชา รายงานโดยนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ด้านกรมศุลกากรและสรรพสามิต ได้รายงานเสริมว่า ปลายทางการส่งออก 5 อันดับแรกของกัมพูชา ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เวียดนาม สิงคโปร์ จีน และญี่ปุ่น เป็นสำคัญ ในขณะเดียวกัน กัมพูชาทำการนำเข้ารวม 7.92 พันล้านดอลลาร์ ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ลดลงร้อยละ 21 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ น้ำมันและก๊าซ วัตถุดิบสำหรับเครื่องนุ่งห่ม รองเท้า และสินค้าเดินทาง ยานพาหนะ เครื่องจักร เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501297920/cambodia-exports-products-worth-7-23-billion-in-january-april-as-deficit-widens/