ADB, CP Bank ปล่อยเงินกู้ 10 ล้านดอลลาร์ หนุน MSMEs กัมพูชา

ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ลงนามในสัญญาเงินกู้กับ Cambodia Post Bank (CP Bank) มูลค่า 10 ล้านดอลลาร์ เพื่อสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก และขนาดกลาง (MSMEs) ในกัมพูชา และเสริมสร้างการฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิด-19 โดยในกัมพูชา MSMEs คิดเป็นร้อยละ 99.8 ขององค์กรธุรกิจและนิติบุคคลทั้งหมด ซึ่งสร้างการจ้างงานให้กับคนท้องถิ่นมากกว่าร้อยละ 72 ตามข้อมูลของ ADB โดยธุรกิจกลุ่ม MSMEs ถือเป็นเสาหลักของเศรษฐกิจกัมพูชา คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 50 ของการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในขณะที่ปัจจุบันการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ MSMEs ของกัมพูชานั้นมีอยู่อย่างจำกัด โดยมีเพียงประมาณร้อยละ 20 ของวิสาหกิจทั้งหมด ที่สามารถเข้าถึงเงินทุนหรือการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501235452/adb-cp-bank-in-10-million-loan-pact-for-aiding-msmes/

นายกฯ ปลื้ม RCEP บังคับใช้ครบ 1 ปี ช่วยการค้าไทยกับประเทศสมาชิก ขยายตัวกว่า 7%

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พอใจผลรายงานความตกลง RCEP ซึ่งทำให้การค้าไทยกับประเทศสมาชิกขยายตัวร้อยละ 7.11 มูลค่าการค้ารวม 10 ล้านล้านบาท จากผลบังคับใช้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) ซึ่งได้มีผลบังคับใช้ครบ 1 ปี กับประเทศสมาชิก RCEP อาทิ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดยแบ่งเป็นการส่งออกจากไทยไปประเทศสมาชิก RCEP มูลค่า 1.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (4.8 ล้านล้านบาท) โดยประเทศอาเซียน คือ อินโดนีเซีย กัมพูชา และสิงคโปร์ เป็นตลาดส่งออกอันดับต้น รองลงมาเป็น เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย และการนำเข้าจากประเทศสมาชิก RCEP มูลค่า 1.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (5.7 ล้านล้านบาท) ขณะที่ไทยนำเข้าสินค้าจากบรูไนดารุสซาลาม ออสเตรเลีย และเมียนมา เป็นอันดับต้น

ที่มา : https://mgronline.com/politics/detail/9660000012777

“ศก.เวียดนาม” กลับสู่ภาวะปกติในปี 2566

นาย Michael Kokalari หัวหน้าบรรดาผู้เชี่ยวชาญของกองทุนลงทุน “VinaCapital” กล่าวว่าเศรษฐกิจกำลังกลับมาสู่เส้นทางการเติบโตในระยะยาว ประกอบกับการเปิดประเทศของเวียดนาม หลังโควิด-19 สิ้นสุดลงแล้ว อีกทั้งยังมองว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากที่ขยายตัว 8% ในปีที่แล้ว ลดลงมาอยู่ที่ 6% ในปีนี้ โดยได้รับแรงกดดันจากอุปสงค์ที่ชะลอตัวตามสินค้าที่ทำมาจากเวียดนาม (Made in Vietnam) จากผู้บริโภคในสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป แต่ก็ได้รับแรงหนุนจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาใหม่อย่างต่อเนื่องในเวียดนาม โดยเฉพาะเมื่อเร็วๆนี้ จีนกลับมาเปิดประเทศ และการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnams-economy-to-normalise-this-year-vinacapital-post1000426.vov

“ตลาดแรงงานเวียดนาม” ฟื้นตัว

สำนักงานจัดหางานจังหวัดฮานอยร่วมมือกับศูนย์จัดหางานใน 6 จังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ บั๊กซาง (Bac Giang), บั๊กนิญ (Bac Ninh), ท้ายเงวียน (Thai Nguyen), ฮึงเอียน (Hung Yen), บั๊กกั่น (Bac Kan) และหลั่งเซิน (Lang Son) ทั้งนี้ เมืองฮานอยวางแผนที่จะจัดตลาดนัดแรงงาน จำนวน 55 แห่ง และให้ความช่วยเหลือแก่ผู้หางาน 100,000 – 120,000 คน ในไตรมาสแรกของปีนี้ และในปี 2565 เมืองฮานอยช่วยให้ผู้คนหางานได้ จำนวนทั้งสิ้น 203,000 คน ซึ่งเกินกว่าที่ตั้งเป้าไว้ทั้งปี 26.9% อย่างไรก็ตามตลาดแรงงานขึ้นอยู่กับสภาวะเศรษฐกิจโลก และจากข้อมูลของศูนย์พยากรณ์ความต้องการกำลังคนและข้อมูลตลาดแรงงาน ระบุว่าความต้องการแรงงานใหม่ในเมืองโฮจิมินห์ จำนวนประมาณ 280,000 – 320,000 คน ในปีนี้ นอกจากนี้ เมื่อปี 2565 แรงงานส่วนใหญ่ต้องรับมือกับชั่วโมงการทำงานที่ลดลงหรือการเลิกจ้าง เนื่องจากเผชิญกับการขาดคำสั่งซื้อใหม่

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/labor-market-bounces-back-2/

ราคาถั่วลิสงในเมียนมา กลับมาพุ่งสูงขึ้นถึง 7,200 จัตต่อ viss

ศูนย์สินค้าค้าส่งมัณฑะเลย์ เผย  ราคาถั่วลิสง ณ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566 พุ่งขึ้นเป็น 7,200 จัตต่อ viss  (1 viss เท่ากับ 1.6 กิโลกรัม) จากความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นของต่างประเทศ ซึ่งในปลายเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา ตลาดถั่วลิสงในประเทศซบเซาลงอย่างหนัก เนื่องจากโรงงานสกัดน้ำมันพืชและผู้ซื้อจากต่างประเทศลดความต้องการลงอย่างมาก ส่งผลให้ราคาดิ่งลงเหลือ 4,700-5,750 จัตต่อ viss  แต่ ณ ปัจจุบัน ถั่วลิสงจากภูมิภาคต่างๆ  ของเมียนมาที่ถูกนำส่งเข้าสู่คลังสินค้าในมัณฑะเลย์ เริ่มเป็นที่ต้องการจากผู้ค้าชาวจีนและผู้ผลิตน้ำมันพืชในท้องถิ่นที่คอยรับซื้ออยู่เป็นจำนวนมากส่งผลให้ราคาถีบตัวสูงขึ้นเป็น 5,950 -7,200 จัตต่อ viss  ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2565-2566 ตั้งแต่เดือนเมษายน 2565 จนถึงปัจจุบัน เมียนมาส่งออกถั่วลิสงผ่านชายแดนไปแล้วกว่า 17,000 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 19.998 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/peanut-price-regains-to-k7200-per-viss-in-domestic-market/

กองทุนการเกษตรลุยส่งเสริมโภชนาการด้านอาหารใน สปป.ลาว

กองทุนระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาการเกษตร (IFAD) มอบเงิน 48.30 ล้านดอลลาร์ นับตั้งแต่ปี 2022-2029 เพื่อปรับปรุงความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการใน สปป.ลาว โดยหวังว่าจะเพิ่มความยืดหยุ่น รวมถึงเพิ่มรายได้ของเกษตรกรรายย่อย ซึ่งการสนับสนุนในครั้งนี้ถือเป็นโครงการระยะที่ 2 ในการสนับสนุนความมั่นคงด้านอาหารให้กับ สปป.ลาว นอกจากนี้ IFAD ยังร่วมสนับสนุนโครงการอีก 2 โครงการ ใน สปป.ลาว ภายใต้โครงการ Partnerships for Irrigation and Commercialization of Smallholder Agriculture ด้วยมูลค่ารวม 30 ล้านดอลลาร์ ระหว่างปี 2019-2025 โดยมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาการเกษตรอย่างเข้มข้น การพัฒนาห่วงโซ่คุณค่า และการปรับปรุงแนวทางปฏิบัติด้านโภชนาการ ซึ่งในอดีต IFAD ได้ให้การสนับสนุน 17 แผนงานและโครงการต่างๆ ใน สปป.ลาว รวมมูลค่า 509.07 ล้านดอลลาร์ (โดย IFAD บริจาค 164.81 ล้านดอลลาร์) ให้ประโยชน์ทางตรงแก่ครอบครัวในชนบทของ สปป.ลาว ประมาณ 330,000 ครัวเรือน

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten27_Agriculture_y23.php

เวียดนามทุ่ม 1 พันล้านดอลลาร์ นำเข้าเม็ดมะม่วงหิมพานต์จากกัมพูชา

กัมพูชาส่งออกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ดิบรวม 670,000 ตัน มูลค่า 1.07 พันล้านดอลลาร์ ไปยังตลาดต่างประเทศในปีที่แล้ว ซึ่งร้อยละ 98.5 ของการส่งออกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ดิบส่งออกไปยังเวียดนาม โดยเม็ดมะม่วงหิมพานต์ดิบของกัมพูชาถือเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกสำคัญไปยังเวียดนาม ตามรายงานของสมาคมเม็ดมะม่วงหิมพานต์เวียดนาม (Vinacas) ในปีที่แล้ว ซึ่งเวียดนามนำเข้าเม็ดมะม่วงหิมพานต์ดิบประมาณ 1.9 ล้านตัน โดยมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 1,400 ดอลลาร์ต่อตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 2.66 พันล้านดอลลาร์ในการนำเข้าวัตถุดิบ ซึ่งเวียดนามยังคงเป็นผู้นำเข้าเม็ดมะม่วงหิมพานต์ดิบชั้นนำของโลก ขณะที่ปัจจุบันเวียดนามมีพื้นที่เพาะปลูกมะม่วงหิมพานต์เพียง 300,000 เฮกตาร์ ซึ่งตอบสนองต่อความต้องการได้เพียงร้อยละ 30 ของความต้องการทั้งหมด

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501234910/vietnam-spends-1-billion-importing-cashew-nuts-from-cambodia/

ญี่ปุ่นหนุนนักลงทุนเข้ามายังกัมพูชาเพิ่มขึ้น

สมาคมญี่ปุ่น-กัมพูชา (JCA) มุ่งมั่นที่จะผลักดันนักลงทุนชาวญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนยังกัมพูชามากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งคำมั่นสัญญาดังกล่าว กล่าวโดย Takahashi Fumiaki ประธาน JCA ระหว่างประชุมกับ Ith Samheng รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกัมพูชา ณ กรุงพนมเปญ โดยนักลงทุนชาวญี่ปุ่นในปัจจุบันได้เข้ามาลงทุนยังภาคส่วนต่าง ๆ ในกัมพูชา ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสใหม่ ๆ สำหรับชาวกัมพูชา รวมถึงการถ่ายทอดความรู้ด้านเทคนิค โดยทางการกัมพูชาได้ร้องขอให้ทางการญี่ปุ่นเข้ามาฝึกอบรมให้กับพนักงานชาวกัมพูชาเพื่อผลักดันให้เกิดการจ้างงานไปยังญี่ปุ่นให้ถึงประมาณ 50,000 คน ในขณะที่ปัจจุบันมีชาวกัมพูชาเข้าไปทำงานยังกัมพูชาเพียง 20,000 คน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501234945/japan-to-encourage-more-investors-to-cambodia/

คาดส่งออกไตรมาส 1 ติดลบ 3-5%

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก กล่าวว่า คาดภาวะการส่งออกของไทยในไตรมาส 1/2566 อาจเติบโตน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยคาดว่าจะติดลบ 3-5% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว แม้การส่งออกในเดือน ม.ค. 2566 จะขยายตัวได้ดีกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อนก็ตาม แต่ทั้งปียังมั่นใจว่าการส่งออกจะขยายตัวได้ 1-2% สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญ ได้แก่ 1.ปริมาณสินค้าคงคลังของคู่ค้ายังคงทรงตัวในระดับสูง ส่งผลให้คู่ค้าชะลอคำสั่งซื้อสินค้า 2.ต้นทุนการผลิตยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าที่ปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการ และจำเป็นต้องส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปยังผู้บริโภค (Consumer) และ 3. สถานการณ์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ผู้ส่งออกสูญเสียความสามารถในการแข่งขันทางด้านราคาต่อประเทศคู่ค้าและคู่แข่งที่มีค่าเงินอ่อนกว่าไทย 4. ราคาพลังงานในตลาดโลกยังคงมีความผันผวนตามสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ คาดราคาจะอยู่ที่ระดับ 80-90 ดอลลาร์/บาร์เรล ทั้งนี้ มองว่า แม้จะมีปัจจัยลบหลายเรื่อง แต่เชื่อว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจีนจะเป็นปัจจัยบวกที่ส่งผลดีกับภาคการส่งออกได้มากกว่า

ที่มา : https://www.thaipost.net/economy-news/318850/

เงินเฟ้อ ‘สปป.ลาว’ สูงทุบสถิติ ทะลุ 40.3% ในเดือนม.ค

สำนักงานสถิติของสปป.ลาวเปิดเผยว่าอัตราเงินเฟ้อในเดือนม.ค. พุ่งขึ้น 40.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สูงสุดในรอบ 23 ปี และสิ่งนี่อาจเป็นภาวะเงินเฟ้อที่เลวร้ายที่สุดที่สปป.ลาวประสบกับวิกฤตทางการเงินในเอเชีย ปี 2540-2541 ในขณะเดียวกันการอ่อนค่าของเงินกีบเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงค่าเงินบาทไทยและราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อในสปป.ลาวเพิ่มขึ้น และยังทำให้ต้องใช้เงินจำนวนมากในการนำเข้าสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้าน อย่างไรก็ดี รัฐบาลพยายามควบคุมต้นทุนสินค้าและบริการที่ปรับตัวสูงขึ้น แต่ราคาสินค้าและบริการไม่มีแนวโน้มว่าจะลดลง

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten26_January_y23.php