สรท.คาดส่งออกไทย ปี 2566 ขยายตัว 3% ไร้แรงหนุน

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สรท. คาดการณ์การส่งออกรวมปี 2565 ขยายตัวที่ 7-8% หรือมีมูลค่า 290,000-293,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ การส่งออกปี 2566 ขยายตัวที่ 2-3% หรือมีมูลค่า 300,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ปัจจัยบวกที่จะสนับสนุนให้การส่งออกขยายตัวได้ คือ จีนผ่อนคลายโควิด-19 สินค่าการส่งออกที่ยังเติบโต การส่งออกอาหาร สินค้าเกษตร เป็นต้น

ที่มา : https://www.prachachat.net/economy/news-1140385

‘แบงก์ชาติเวียดนาม’ ประกาศเพิ่มวงเงินขยายตัวของสินเชื่อ

เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2565 ธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) ประกาศเพิ่มเพดานการขยายตัวของสินเชื่อในปีนี้ขึ้นอีก 1.5-2% ด้วยแรงกดดันเงินเฟ้อของเวียดนาม ก่อนหน้านี้ทางธนาคารกลางจะไม่จำกัดการเติบโตของสินเชื่อไว้ที่ 14% และในช่วงที่ผ่านมา ธนาคารกลางได้ให้โควต้าสำหรับธนาคารบางแห่ง โดยการตัดสินใจในครั้งนี้ของธนาคารกลางที่ทำการปรับเพิ่มเพดานการขยายตัวของสินเชื่อ เนื่องจากปัจจัยภายนอกกระทบต่อเศรษฐกิจลดลง ในขณะที่สภาพคล่องของระบบธนาคารมีทิศทางที่ดีขึ้น

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/central-bank-revises-up-credit-growth-limit/

‘LG’ วางเป้าทุ่มเงิน 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในเวียดนาม

Kwon Bong-Seok ซีอีโอของบริษัท LG Electronics เปิดเผยว่าบริษัทได้วางแผนที่จะอัดฉีดเงินเพิ่มไปยังโครงการของกิจการ อยู่ที่ราว 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในเร็วๆนี้ บริษัทได้เริ่มที่จะลงทุนในเวียดนามเมื่อปี 2538 และจนถึงปัจจุบัน เงินทุนของกิจการที่ขยายการดำเนินธุรกิจ อยู่ที่ 5.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐไปยังอุตสาหกรรมต่างๆ ได้แก่ กล้อง อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ในครัวเรือนและชิ้นส่วนยานยนต์ โดยปัจจุบันบริษัทมีพนักงานชาวเวียดนามประมาณ 27,000 คนที่ทำงานในโรงงานของบริษัท นอกจากนี้ นายเหงียนซวนฟุก ประธานาธิบดีเวียดนาม กล่าวชื่นชมกับการลงทุนของบริษัทในเวียดนาม และหวังว่าบริษัทจะขยายการลงทุนในเวียดนามอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะชิ้นส่วนยานยนต์และโทรศัพท์มือถือ ในขณะเดียวกันให้มีการส่งเสริมความร่วมมือในด้านเทคโนโลยีและการฝึกอบรมหลักสูตรการพัฒนาซอฟต์แวร์

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/lg-plans-to-pour-further-us4-billion-into-vietnam-post988692.vov

8 เดือนแรกของปี 65 ค้าชายแดนเมียวดีของเมียนมามีมูลค่ารวม 1.456 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

กระทรวงพาณิชย์เมียนมา เผย มูลค่าการค้าชายแดนเมียวดีระหว่างวันที่ 1 เมษายน ถึง 25 พฤศจิกายน 2565 แตะ 1.456 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงอย่างมากถึง 148.545 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว เพราะการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าและความไม่แน่นอนทางการเมืองในพื้นที่ชายแดนส่งผลให้การส่งออกไปไทยลดลงอย่างมาก โดยสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ สินค้าเกษตร (พริก หัวหอม ผงข้าว ขมิ้น ดอกลิลลี่แห้ง เมล็ดกาแฟ ถั่วเขียว ยาง อบเชย เปลือกถั่วแมคคาเดเมีย ลูกพลัม  และถั่วลิสง) สินค้าประมง (ปลากะตัก หอยกาบ ปลาตะลุมพุกฮิลซาปู กุ้ง และปลาอื่น ๆ) และสินค้าอุตสาหกรรมสำเร็จรูปประเภทตัดเย็บและบรรจุภัณฑ์ (เสื้อกันหนาวบุรุษ เสื้อเชิ้ตสตรี และเสื้อผ้าอื่น ๆ) ซึ่งความต้องการของไทยสำหรับของใช้และวัตถุดิบสำหรับปรุงอาหารในครัวเรือนจากเมียนมาเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากธุรกิจท่องเที่ยว ร้านอาหารและธุรกิจอาหาร เริ่มกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งหลังโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myawady-border-trade-totals-1-456-billion-in-about-eight-months/

เมียนมาส่งออกถั่วทะลุ 1 ล้านตันในช่วง 8 เดือนของปี 65

จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์เมียนมา  8 เดือนของปีงบประมาณ 2565-2566 (เดือนเมษายน-เดือนพฤษจิกายน 2565) เมียนมาส่งออกถั่วและถั่วพัลส์มากกว่า 1.05 ล้านตัน เป็นการส่งออกทางทะเล 897,499 ตันผ่านเส้นทางทะเล และทางบก153,311 ตัน จากข้อมูลของสมาคมพ่อค้าถั่ว ถั่วพัลส์ และงาของเมียนมา พบว่า การส่งออกถั่วและงาของประเทศนั้นสูงเป็นอันดับ 2 ของโลกและสูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยในปีงบประมาณ 2563-2564 เมียนมาส่งออกถั่วและถั่วพัลส์มากกว่า 249,245 ตัน มูลค่า 217 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งถั่วเป็นพืชที่มีการเพาะปลูกมากเป็นอันดับ 2 ของเมียนมา รองจากข้าว และคิดเป็นร้อยละ 33 ของผลผลิตทางการเกษตรทั้งหมดของประเทศ ทั้งนี้ตลาดส่งออกหลัก คือ จีน อินเดีย และประเทศในแถบยุโรป

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-brings-in-over-826-mln-from-pulses-exports-in-eight-months/

ปริมาณการค้าระหว่าง กัมพูชา-ไทย โต 29%

การค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและไทยเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 8,589 ล้านดอลลาร์ในช่วง 10 เดือนของปี เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 29 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยคิดเป็นการส่งออกของกัมพูชามูลค่า 959 ล้านดอลลาร์ไปยังไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 28 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะเดียวกันการนำเข้าสินค้าของกัมพูชาจากไทยคิดเป็นมูลค่า 7,630 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 29 ตามรายงานของกระทรวงพาณิชย์ไทย ซึ่งสินค้าส่งออกหลักของกัมพูชาไปยังไทย ได้แก่ สิ่งทอ สินค้าเกษตร อัญมณี และผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูป เป็นสำคัญ ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญจากไทย ได้แก่ ปลา เนื้อสัตว์ ผัก รถยนต์ ปุ๋ยอินทรีย์ อาหาร และวัสดุก่อสร้าง โดยในปีที่แล้วการค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและไทยมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 7.97 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.26 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501196940/cambodia-thailand-trade-surges-29/

กัมพูชาเล็งส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารไปยังสหรัฐฯ

สหรัฐอเมริกาถือเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดสำหรับการส่งออกของกัมพูชา โดยคิดเป็นร้อยละ 43 ของการส่งออกทั้งหมดของกัมพูชาในช่วงเดือนมกราคมถึงกรกฎาคมของปีนี้ ซึ่งในปี 2021 สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าจากกัมพูชามีมูลค่าสูงถึง 8.7 พันล้านดอลลาร์ สินค้าส่วนใหญ่จัดอยู่ในกลุ่มเครื่องแต่งกาย รองเท้า และสินค้าเพื่อการเดินทาง โดยปัจจุบันกัมพูชามีความพยายามเป็นอย่างมากในการผลักดันการส่งออกผลิตภัณฑ์กลุ่มอาหารเพื่อเป็นการกระตุ้นภาคการส่งออกของประเทศ ซึ่งคาดว่าในอนาคตการส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวจะเร่งขยายตัวอย่างรวดเร็วในระยะไม่กี่ปี ผ่านการสนับสนุนจากกระทรวงสำคัญๆ ของรัฐบาล ได้แก่ กระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง (MEF), กระทรวงเกษตร ประมง และป่าไม้ (MAFF), กระทรวงพาณิชย์ (MOC) สหรัฐอเมริกา, กรมวิชาการเกษตร สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำกัมพูชา, หอการค้าอเมริกันในกัมพูชา (AmCham) และวิสาหกิจเขมร

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501196186/cambodia-eyes-food-product-export-to-us/

นครวัดกัมพูชากลับมาครึกครื้นอีกครั้งในรอบ 11 เดือน

ทางการรายงานว่าอุทยานโบราณคดีอังกอร์ให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 225,191 คน ในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 9 ล้านดอลลาร์ จากการจำหน่ายตั๋วเข้าชมอุทยานฯ โดยในเดือนพฤศจิกายนเพียงเดือนเดียวมีนักท่องเที่ยวเดินทางมายังอุทยานฯ กว่า 55,842 คน สร้างรายได้ถึง 2.25 ล้านดอลลาร์ ซึ่งอุทยานโบราณคดีนครวัดตั้งอยู่ในจังหวัดเสียมราฐทางตะวันตกเฉียงเหนือ บนพื้นที่ 401 ตารางกิโลเมตร ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ในปี 1992 ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดอุทยานฯ ได้ให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมากถึง 2.2 ล้านคน ในปี 2019 สร้างรายได้กว่า 99 ล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501195645/life-returns-to-cambodias-famed-angkor-recording-over-225000-international-tourists-in-11-months/

สถานะธนาคารรัฐทั้งหมดยังแข็งแกร่ง

สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศหลายแห่ง ทั้งทริสเรทติ้ง, มูดีส์ อินเวสเตอร์ส และฟิทช์ เรทติ้งส์ ได้จัดอันดับความน่าเชื่อถือของสถาบันการเงิน ของรัฐหลายแห่ง ทั้งธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิม แบงก์) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยพบว่าแม้ต้องเผชิญวิกฤติโควิด-19 และเป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการช่วยเหลือประชาชน แต่สถานะธนาคารรัฐทั้งหมดยังแข็งแกร่ง และคงอันดับความน่าเชื่อถือไว้ที่ระดับสูง

ที่มา: https://www.thairath.co.th/business/finance/2570805

‘เวียดนาม’ มีศักยภาพการผลิตไฮโดรเจนสีเขียว

จากการประชุมเชิงปฏิบัติการที่เกี่ยวกับกรอบนโยบายพลังงานหมุนเวียนและความพร้อมการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวในเวียดนาม จัดโดยกระทรวงเศรษฐกิจและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMWK) และมี GIZ ป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการดำเนินงาน ผู้เชี่ยวชาญมองว่าเวียดนามมีอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนขนาดใหญ่และหลากหลาย พร้อมกับสามารถเข้าถึงผู้นำเข้ารายใหญ่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และยังมีศักยภาพด้านทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนที่แข็งแกร่งและความเสี่ยงทางการเมืองต่ำ ทั้งนี้ คุณ Ali Habib ที่ปรึกษาทางด้านระหว่างประเทศ กล่าวว่าเวียดนามอยู่ในตำแหน่งที่ดีในแง่ของการผลิต อย่างไรก็ตามในเรื่องของนโยบายและความร่วมมือเป็นส่วนสำคัญที่จะประสบความสำเร็จ

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1401361/viet-nam-is-well-positioned-for-gh2-production.html