มูลค่าการค้าระหว่างกัมพูชากับกลุ่มประเทศ RCEP เพิ่มขึ้น 11% ในช่วง 9 เดือน

กระทรวงพาณิชย์กัมพูชารายงานว่ามูลค่าการค้าของกัมพูชากับกลุ่มประเทศความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) มีมูลค่าแตะ 24,000 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2022 เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 11 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยคิดเป็นการส่งออกของกัมพูชาไปยังกลุ่มประเทศสมาชิก RCEP มูลค่า 4.7 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 ในขณะที่การนำเข้าของกัมพูชาจากกลุ่มประเทศสมาชิก RCEP มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 19.3 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 ซึ่งประเทศคู่ค้ารายสำคัญ 5 อันดับแรกของกัมพูชาในกลุ่มประเทศสมาชิก RCEP ได้แก่ จีน เวียดนาม, ไทย, สิงคโปร์ และญี่ปุ่น ด้านปลัดกระทรวงพาณิชย์และโฆษกรัฐบาล Penn Sovicheat กล่าวว่า RCEP ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในกัมพูชาและในภูมิภาค

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501179149/cambodias-trade-with-rcep-countries-up-11-pct-in-9-months-ministry/

“เด็กรุ่นใหม่เวียดนาม” ไลฟ์สดขายของ สร้างรายได้มหาศาล

นีลเส็นไอคิว (Nielsen IQ) เผยข้อมูลจากรายงานพบว่าเทรนด์การจับจ่ายซื้อของผ่านการรับชมคอนเทนต์ กำลังเติบโตสูงขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก แสดงให้เห็นจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่อยู่ในกลุ่ม ‘Omni Shopper’ นิยมซื้อของออนไลน์และมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นในประเทศเอเชีย การซื้อของแบบ ‘Omni Shopping’ สูงถึง 79% เนื่องจากผู้บริโภคมีความคุ้นเคยในการซื้อของออนไลน์ ทั้งนี้ ผู้บริโภคเวียดนามที่อยู่ในกลุ่มดังกล่าว มีสัดส่วนราว 57% ของกลุ่มผู้บริโภคทั้งหมด โดยตามข้อมูลสถิติชี้ให้เห็นว่าการซื้อของออนไลน์ได้รับความนิยมและเติบโตอย่างรวดเร็ว มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซในปี 2564 สูงถึง 13 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ สมาคมอีคอมเมิร์ซเวียดนาม (VECOM) เปิดเผยว่าผู้คนที่ทำอาชีพนักสร้างคอนเทนต์ในเวียดนาม มีจำนวนประมาณ 200,000 ราย และราว 1,000 รายที่สามารถทำรายได้เกินกว่า 5,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน หลายคนยังมีรายได้หลายร้อยล้านดองต่อเดือน

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnamese-youth-earn-big-from-live-shopping-post981246.vov

“เวียดนาม” เผยอัตราว่างงาน 2.3%

นาย Dao Ngoc Dung รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเวียดนาม ทุพพลภาพ และสวัสดิการสังคมเวียดนาม เปิดเผยว่าผู้มีงานทำมีจำนวนทั้งสิ้น 51.9 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 68.7% อยู่ในกลุ่มวัยทำงาน ไม่นับแรงงานนอกระบบ ในขณะที่อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำที่ 2.3% โดยเศรษฐกิจเวียดนามฟื้นตัวได้เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้การว่างงานในประเทศจึงอยู่ในระดับต่ำ แรงงานชาวเวียดนามในปัจจุบันมีส่วนสำคัญต่อธุรกิจต่างชาติ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเชื้อเพลิง ​วิศวกรรมแมคคาทรอนิกส์และโทรคมนาคม อย่างไรก็ตาม มีข้อที่น่าสังเกตว่าตลาดแรงงานในประเทศยังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญระดับสูงและแรงงานจำนวนมากที่ไม่ได้ทำสัญญาจ้างงาน ทั้งนี้ หน่วยงานรัฐฯ ที่เกี่ยวข้องได้จัดทำแบบจำลองของโครงการฝึกอบรมทักษะที่มีอยู่ในประเทศพัฒนาแล้ว ได้แก่ เยอรมนี ญี่ปุ่นและออสเตรเลีย เพื่อยกระดับศักยภาพทั้งด้านการศึกษาและทักษะการทำงาน

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnams-unemployment-rate-reported-at-2-3/

เดือนต.ค. 65 ส่งออกข้าวเมียนมา พุ่งขึ้น 20.58% เมื่อเทียบกับปีก่อน

สหพันธ์ข้าวเมียนมา (MRF) เปิดเผยว่า เดือนตุลาคม 2565 เมียนมาส่งออกข้าวกว่า 136,205 ตัน เพิ่มขึ้น 20.58 เปอร์เซ็นต์จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว จีนยังคงเป็นนำเข้าข้าวรายใหญ่ที่สุดของเมียนมา คือมียอดการนำเข้าถึง 51,086 ตันหรือร้อยละ 37.5 ของยอดทั้งหมดของประเทศ โดยในปีงบประมาณ 2565-2566 ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน ที่ผ่านมา เมียนมาส่งออกข้าวไปยังจีน ญี่ปุ่น ประเทศในสหภาพยุโรป อินโดนีเซีย บังคลาเทศ มาเลเซีย ศรีลังกา ประเทศในแอฟริกา และประเทศในตะวันออกกลาง ทั้งนี้ ในด้านเกษตรกรรม เมียนมาปลูกข้าวปลูกมากที่สุด รองลงมาคือถั่ว และถั่วพัลส์

ที่มา: https://english.news.cn/asiapacific/20221102/9de5ba59f4694ae79754c6e16980c946/c.html

สปป.ลาว-เกาหลีใต้ ตกลงเริ่มโครงการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ

สปป.ลาว และเกาหลีใต้ตกลงที่จะเริ่มโครงการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งมีมูลค่าโครงการกว่า 20 ล้านดอลลาร์ โดยมีเป้าหมายที่จะผลิตก๊าซชีวภาพ 500,000 ลิตรต่อวัน หรือเท่ากับ 12.5 ล้านลิตรต่อเดือน ในระยะแรกจะเน้นไปที่น้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเฮลิคอปเตอร์ที่เป็นเชื้อเพลิงทางเลือกระดับพรีเมียม และตามด้วยเชื้อเพลิงทางเลือกอื่นๆ ซึ่งในการลงนามนำโดย Mr. Sysangkhom Khotnhotha ประธานกรรมการผู้จัดการบริษัทเชื้อเพลิงแห่งรัฐของ สปป.ลาว ร่วมกับ CEO ของ GAIA Petro Co., Ltd. และหน่วยงานอื่นๆที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยโครงการดังกล่าวจะตั้งอยู่ในเขตหมู่บ้าน Dongphosy อำเภอ Hadxaifong ในเวียงจันทน์ประเทศ สปป.ลาว ซึ่ง บริษัท GAIA Petro Co., Ltd. ถือหุ้นร้อยละ 55 , บริษัท เชื้อเพลิงแห่งรัฐ สปป.ลาว ร้อยละ 22.5 และอีกร้อยละ 22.5 ถือครองโดยนักลงทุนในท้องถิ่น

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten213_Laosonly.php

สิงคโปร์แซงหน้าจีน ด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในกัมพูชา

ในปี 2021 สิงคโปร์ได้เข้ามาแทนที่จีนในฐานะประเทศผู้ลงทุนรายสำคัญของกัมพูชา ด้วย 6 โครงการลงทุนขนาดใหญ่ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 40 ของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ซึ่งประเทศจีนครองตำแหน่งผู้ลงทุนรายสำคัญในปี 2019 และ 2020 ตกลงมาเป็นอันดับ 2 ร่วมกับสหรัฐฯ ตามรายงานของ Investment Monitor ในเรื่อง “Cambodia punches above its weight in attracting FDI” โดยกัมพูชาถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่ดึงดูดนักลงทุนอันดับ 3 ในกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิก รองจากสิงคโปร์และนิวซีแลนด์ อ้างอิงจากฐานข้อมูลโครงการการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของ GlobalData ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าว การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในกัมพูชาพุ่งสูงสุดในปี 2019 ด้วยโครงการลงทุนกว่า 43 โครงการ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 15.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2018 หรือคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 3.7 พันล้านดอลลาร์ ที่เคยได้รายงานไว้ใน World Investment Report 2020

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501178069/singapore-replaces-china-as-cambodias-top-fdi-source/

นายกฯ ฮุนเซน กล่าวถึงการเปิดประเทศก่อนกำหนด ทำให้ประเทศกลับมาเติบโตอีกครั้ง

นายกรัฐมนตรีฮุนเซน กล่าวในระหว่างพิธีสำเร็จการศึกษาของ Royal University of Law and Economics ว่าการที่รัฐบาลกัมพูชาตัดสินใจเปิดประเทศไปเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2021 ที่ผ่านมา เนื่องจากสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ไว้ได้ ส่งผลทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศกลับมาเติบโตอีกครั้ง โดยในปีนี้ทางการคาดว่าเศรษฐกิจกัมพูชาจะขยายตัวร้อยละ 5.4 และจะขยายตัวถึงร้อยละ 6.6 ในปี 2023 จากอุปสงค์ภายนอกและกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศที่กลับมาสู่ภาวะปกติ ด้าน Lim Heng รองประธานหอการค้ากัมพูชา กล่าวเสริมว่า การฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมภายในประเทศ เป็นผลมาจากการควบคุมโรคระบาดที่ประสบความสำเร็จภายใต้การรณรงค์ฉีดวัคซีนของรัฐบาล รวมถึงทางการยังได้ออกกฎหมายเพื่อการลงทุนฉบับใหม่ อีกทั้งกัมพูชายังได้ทำการลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีกับจีนและเกาหลีใต้ และหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) จะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาในระยะถัดไป

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501178071/pm-says-early-reopening-put-country-back-on-growth-trajectory/

“ทิพานัน” ชี้อุตสาหกรรมส่งออกขยายตัว ดันดัชนีเอ็มพีไอเดือน ก.ย. ทะลุถึง 3.36% ใกล้เคียงปี 62 ชี้สัญญาณดีภาคอุตสาหกรรมกลับมาเติบโต-แข็งแกร่ง

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รายงานดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) เดือนกันยายน 2565 ขยายตัว 3.36% ขณะที่ไตรมาส 3 (กรกฎาคม-กันยายน) ขยายตัว 8.06% ส่งผลให้ 9 เดือนแรกของปี 2565 เอ็มพีไอขยายตัว 2.83% โดยพบว่าการขยายตัวของเดือนกันยายน ใกล้เคียงกับปี 2562 ก่อนที่จะเกิดสถานการณ์วิกฤติการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเกิดจากปัจจัยที่ตลาดส่งออกขยายตัวได้ดี ทั้งในสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรปและอาเซียน ภาคท่องเที่ยวขยาย ส่งผลต่อสินค้าเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ที่สำคัญคือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เช่น เราเที่ยวด้วยกัน ช็อปดีมีคืนและคนละครึ่ง

ที่มา : https://mgronline.com/politics/detail/9650000104982

สศอ.ชี้อุตสาหกรรมไทยกลับมาฟื้นตัวใกล้ปีก่อนเกิดโควิดแล้ว

นางวรวรรณ ชิตอรุณ รักษาราชการผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) เดือนก.ย. ขยายตัว 3.36% ส่วนภาพรวมไตรมาส 3/2565 (ก.ค.-ก.ย.2565) ขยายตัว 8.06% ส่งผลให้ 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.2565) ขยายตัว 2.83% ทำให้ทั้งปีเชื่อว่า เอ็มพีไอจะสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1.5-2.5% ซึ่งเดือนพ.ย.จะปรับตัวเลขอีกครั้ง และเชื่อว่าปี 2566 จะสูงกว่าปีนี้แน่นอน เนื่องจากตลาดส่งออกหลัก ทั้งสหรัฐ อาเซียน และสหภาพยุโรป (อียู) ยังขยายตัวได้ ภาคการท่องเที่ยว ขยายตัวดี ส่งผลต่อสินค้าที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวขยายตัวดีเช่นกัน รวมถึงกิจกรรมกระตุ้นทางเศรษฐกิจของภาครัฐ

ที่มา : https://www.thaipost.net/economy-news/253726/

“เศรษฐกิจดิจิทัล” เวียดนามโตเร็วสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ตามข้อมูลจาก กูเกิล (Google) ร่วมกับ เทมาเส็ก (Temasek) และ เบน แอนด์ คอมพานี (Bain & Company) เปิดเผยว่าเศรษฐกิจดิจิทัลของเวียดนามจะเติบโตเร็วที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยคาดว่ามูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลของเวียดนามแตะ 23 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ เพิ่มขึ้น 28% แรงผลักดันที่ทำให้เศรษฐกิจดิจิทัลของเวียดนามเติบโตสูงขึ้นมาจาก ‘อีคอมเมิร์ซ’ ที่มีอัตราการขยายตัว 26% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

ทั้งนี้ เวียดนามเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่กลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งจากการสำรวจพบว่าผู้บริโภคดิจิทัลส่วนใหญ่ราว 90% ต้องการใช้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในอีก 12 เดือนข้างหน้า โดยให้ความสำคัญกับการบริการจัดส่งอาหาร (60%) และการส่งของออนไลน์ (54%)

นอกจากนี้ ตามรายงานยังระบุว่าผู้บริโภคมีนิสัยในการซื้อของผ่านช่องทางออนไลน์ และ 8 ใน 10 คนยังคงซื้อของออนไลน์อย่างต่อเนื่อง เพราะว่ามีความสะดวก

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-has-highest-digital-economy-growth-in-southeast-asia-2075889.html