รมว.ต่างประเทศลาว-เวียดนามหารือความสัมพันธ์ทวิภาคี

สปป.ลาวและเวียดนามได้ตกลงที่จะส่งเสริมความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ระหว่างการเจรจารัฐมนตรีต่างประเทศของทั้งสองประเทศที่จัดขึ้นที่เวียงจันทน์ รัฐมนตรีตกลงที่จะทำงานร่วมกันเพื่อติดตามและแก้ไขปัญหาใด ๆ ที่ขัดขวางความสัมพันธ์ทวิภาคีและให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ฉันมิตรและความร่วมมือที่ครอบคลุมระหว่างลาวและเวียดนามในทุกมิติ รัฐมนตรีเห็นพ้องที่จะกระชับความร่วมมือในด้านการเมือง การป้องกันประเทศ และความมั่นคง ตลอดจนการต่างประเทศ โดยสร้างเงื่อนไขพื้นฐานสำหรับความต่อเนื่องและการเสริมสร้างความสัมพันธ์พิเศษระหว่างสองประเทศ เพื่อส่งเสริมและอำนวยความสะดวกความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน และการขนส่ง ตลอดจนการเยือนซึ่งกันและกัน การค้าในรูปแบบทวิภาคีระหว่างสปป.ลาวและเวียดนามมีมูลค่า 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2564 เพิ่มขึ้นเกือบ 30% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว อีกทั้งเวียดนามเป็นนักลงทุนต่างชาติชั้นนำในสปป.ลาว ได้ลงทุนในโครงการ 426 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 4.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Lao81.php

กัมพูชาขาดแคลนห้องเย็น กระทบภาคการส่งออกสินค้าเกษตร

กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง กล่าวว่า ปัญหาการขาดแคลนห้องเย็นสำหรับขนส่งสินค้าเกษตรของกัมพูชา และมาตรการที่เข้มงวดของประเทศผู้นำเข้ารายสำคัญในช่วงโควิด-19 ที่ได้กำหนดข้อจำกัด ด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ทำให้เกิดการหยุดชะงักในการส่งออกสินค้าเกษตรของกัมพูชา ซึ่งจากการเจรจากับผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่หลายราย การส่งออกที่ลดลงเนื่องมาจากปัจจัยหลายประการ รวมถึงการขาดห้องเย็นสำหรับสินค้าเกษตร ที่ส่งผลทำให้ราคาขนส่งสูงขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับช่วงก่อน วิกฤตโควิด-19 โดยในขณะนี้ค่าขนส่งสูงขึ้นกว่า 3 เท่า ด้าน Sin Chanthy ประธานสมาคมโลจิสติกส์กัมพูชากล่าวว่าราคาปกติของการขนส่งไปยังจีนอยู่ที่ 2,500 ดอลลาร์ แต่ในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 8,000 ดอลลาร์ ในปัจจุบัน ในขณะที่ค่าขนส่งไปยังสหรัฐฯ และยุโรปเพิ่มขึ้นจาก 4,000 ดอลลาร์ เป็นเกือบ 20,000 ดอลลาร์ เป็นต้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501065109/cold-storage-shortage-covid-19-hurt-agriculture-exports/

ปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ ณ ท่าเรือสีหนุวิลล์เพิ่มขึ้น 16% ในปีก่อน

ขณะที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังเริ่มฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานที่เกิดจากการระบาดของโควิด-19 แต่ท่าเรือสีหนุวิลล์กัมพูชากลับมีการเพิ่มขึ้นของปริมาณการขนส่งยังท่าเรือ ตามรายงานสถิติการขนส่งสินค้า ซึ่งได้รายงานถึงจำนวนตู้คอนเทนเนอร์ที่มีการผ่านท่าเรือจำนวน 18,182 หน่วย (TEUs) ในไตรมาสแรกของปี 2022 เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 16.32 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2021 โดยท่าเรือนี้ทำหน้าที่เป็นจุดผ่านแดนและจุดขนส่งสินค้าไปยังประเทศต่างๆ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ เป็นส่วนสำคัญ ซึ่งรัฐบาลมีแผนที่จะพัฒนาท่าเรือต่อไป เพื่อที่จะขยายการรองรับตู้คอนเทนเนอร์ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501065618/container-traffic-in-sihanoukville-autonomous-port-up-by-more-the-16-percent/

‘นครโฮจิมินห์’ เผย 4 เดือนปี 65 เม็ดเงิน FDI ทะลุ 1.28 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ตามรายงานกรมวางแผนและการลงทุนของเมือง เปิดเผยว่าในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2565 เมืองโฮจิมินห์ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เป็นมูลค่า 1.28 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 12.18% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งจากจำนวนเงินทุนทั้งหมด ประมาณ 186.25 ล้านเหรียญสหรัฐเข้าไปอยู่ในโครงการลงทุนใหม่ จำนวน 181 โครงการ เพิ่มขึ้น 81% ในแง่ของจำนวนโครงการ แต่ลดลง 48.28% ในแง่ของมูลค่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ในขณะที่ การปรับเพิ่มเงินทุน ประมาณ 640.42 ล้านเหรียญสหรัฐ จำนวน 44 โครงการในปัจจุบัน ทั้งนี้ เงินทุนจากต่างชาติส่วนใหญ่ 51.48% ไหลไปยังกิจการสื่อสารและโทรคมนาคม รองลงมา 23.25% กิจการขายส่งและขายปลีกยานยนต์ และ 11.84% การเงิน การธนาคารและการประกันภัย อีกทั้ง สิงคโปร์เป็นนักลงทุนต่างชาติใหญ่ที่สุดในเมืองโฮจิมินห์ คิดเป็นสัดส่วน 51.95% ของเงินทุนทั้งหมด รองลงมาญี่ปุ่นและเกาหลีใต้

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/over-128-billion-usd-in-fdi-channeled-into-hcm-city-in-4-months/227661.vnp

งบประมาณย่อย 64-65 เมียนมาได้เปรียบดุลการค้า 321 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

การค้าระหว่างประเทศของเมียนมาของปีงบประมาณย่อย 2564-2565 (ตุ.ค. 2564 ถึงมี.ค. 2565) มีมูลค่า 16.234 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 8.279 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการนำเข้ามูลค่า 7.955 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เกินดุลการค้ามูลค่า 324 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 263 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีงบประมาณ 2563-2564 สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ข้าว ข้าวหัก ข้าวโพด ถั่วและเมล็ดพืช ผลิตภัณฑ์ประมง ปศุสัตว์ และเครื่องนุ่งห่มสำเร็จรูป โดยมูลค่าการส่งออกทางทะเลเพิ่มขึ้นกว่า 1,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และเมื่อรวมกับการค้าชายแดนพบว่าเพิ่มขึ้นถึง 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ ในช่วงงบประมาณมาณย่อย 2564-2565 เมียนมาได้ตั้งเป้าการส่งออกไว้ที่ 8.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่กลับเพิ่มขึ้นถึง 101% และการนำเข้าที่ได้ตั้งเป้าไว้ 8.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 90% ดังนั้นมูลค่าการค้ารวมจึงพุ่งสูงถึง 95 % จากเป้าที่ได้ตั้งไว้ 17 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/e-paper/

เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ เติบโตในการพัฒนา โครงการลงทุน

เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ (GTSEZ) กำลังเติบโตจากโครงการพัฒนาและการลงทุน โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ การเกษตร ปศุสัตว์ โรงแรม การท่องเที่ยว ย่านที่อยู่อาศัย สถานบันเทิงและขณะนี้บริษัทกว่า 500 แห่งกำลังเข้ามาลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำได้รับการพัฒนาภายใต้การดูแลของกลุ่มดอกงิ้วคำ ซึ่งได้รับสัมปทานบนที่ดิน 10,000 เฮกตาร์ โดย 3,000 เฮกตาร์เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ และ 7,000 เฮกตาร์เป็นพื้นที่คุ้มครอง เป้าหมายการพัฒนาของ GTSEZ มีสามประการ ขั้นตอนแรกคือการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ขั้นตอนที่สองคือการดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาในพื้นที่ และขั้นตอนที่สามคือการสร้างร้านค้า ร้านอาหาร และสถานบันเทิง ตลอดจนสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่นในการผลิตทางการเกษตร ภายใต้สัปทานสัญญาเช่าที่ดิน 99 ปี กลุ่มดอกงิ้วคำผู้ถือครองสัปทานดังกล่าวเห็นพ้องกันว่าจะพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ (GTSEZ) ให้เป็นศูนย์กลางเมืองและศูนย์กลางการท่องเที่ยวแห่งใหม่มาพร้อมกับโครงการลงทุน เช่น โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ การเกษตร ปศุสัตว์ โรงแรม และย่านที่อยู่อาศัย พร้อมปกป้องสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมกิจกรรมการค้าตามแนวชายแดนของลาว ไทย เมียนมาร์ และจีน

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Golden80.php

เวียดนาม-กัมพูชา-สปป.ลาว ขอความร่วมมือกระตุ้นการท่องเที่ยวระหว่างกัน

หน่วยงานด้านการท่องเที่ยวของกลุ่มประเทศพื้นที่สามเหลี่ยม (กัมพูชา–สปป.ลาว–เวียดนาม) ได้ตั้งเป้าที่จะให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวจำนวน 3.3 ล้านคน ภายในปี 2025 ด้านผู้อำนวยการทั่วไปของสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งชาติเวียดนาม (VNAT) Nguyen Trung Khanh กล่าวว่าเป้าหมายของแผนคือการดึงดูดผู้เยี่ยมชมพื้นที่สามเหลี่ยม 3.3 ล้านคน ภายในปี 2025 โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 14 ต่อปี ซึ่งจะเพิ่มจำนวนขึ้นเป็นสองเท่าภายในปี 2030 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก โครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยว และทรัพยากรบุคคลที่มีคุณสมบัติ โดยเวียดนามจะทำหน้าที่เป็นประธานในภารกิจหลัก 5 ประการ ได้แก่ ส่งเสริมการเปิดเส้นทางบินระหว่างประเทศสู่พื้นที่ เชื่อมโยงธุรกิจและสมาคมในภูมิภาคให้มีส่วนร่วมอย่างลึกซึ้งในห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก เชื่อมโยงกลุ่มนักท่องเที่ยวและรีสอร์ท เปิดตัวกิจกรรมการท่องเที่ยวในภูมิภาค และจัดเวทีส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคประจำปี นอกจากนี้ ประเทศจะประสานงานกับ สปป.ลาว และกัมพูชา เพื่อดำเนินการส่งเสริมการท่องเที่ยว 10 อีเว้นท์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501064559/vietnam-provinces-seek-tourism-cooperation-with-four-provinces-cambodia/

กัมพูชามองหาผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากสหรัฐฯ

กระทรวงโยธาธิการและการขนส่งกัมพูชาวางแผนสนับสนุนให้ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของสหรัฐฯ เข้ามาเปิดโชว์รูมในกัมพูชา ในขณะที่รัฐบาลกำลังเร่งผลักดันให้ใช้รถยนต์ EV เพิ่มมากขึ้น ด้าน Sun Chanthol รัฐมนตรีฯ ได้ขอให้ Patrick Murphy เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำกัมพูชา ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนผู้ผลิตรถยนต์ของสหรัฐฯ ที่ผลิตรถยนต์ EV เข้ามาลงทุนและขยายธุรกิจยังกัมพูชา โดยปัจจุบันกัมพูชามีการใช้รถยนต์ EV เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในช่วงสามเดือนแรกของปีนี้ มีการลงทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว 47 คัน เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 700 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ได้มีการจะทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าไว้ที่ 7 คัน ในขณะที่สถานีชาร์จ EV มีไม่กี่แห่งที่ได้ให้บริการ ในเขตพื้นที่พนมเปญและตามจังหวัดหลัก ซึ่งในไตรมาสแรกของปีนี้ การค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและสหรัฐฯ มีมูลค่า 2,226 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 41.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิต

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501064355/cambodia-seeks-us-electric-vehicle-producers-entry/

ไทยทำมินิเอฟทีเอไทย-กานซู่ หวังดันยอดการค้าเพิ่มกว่าพันล้านบาทในปี 65

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกับกรมพาณิชย์ มณฑลกานซู่ สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยนายเริ่น เจิ้นเห้อ ผู้ว่าการมณฑลกานซู่ ว่าการลงนามใน MOU ครั้งนี้ เป็น มินิเอฟทีเอ (Mini FTA) ฉบับที่ 2 ที่ไทยได้มีการลงนามกับมณฑลในจีน และถือเป็นฉบับที่ 4 ที่ได้ลงนามกับคู่ค้า โดยได้ตั้งเป้าที่จะร่วมมือขับเคลื่อนกิจกรรมทางการค้าระหว่างไทย-กานซู่ และเพิ่มยอดการค้าในปี 2565 เป็น 1,265 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 จากปี 2564 ที่มีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 1,092 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 28 โดยมณฑลกานซู่มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงความร่วมมือในด้านการค้าและการลงทุน ทั้งจากไทยและอาเซียนสู่จีน ไปจนถึงเอเชียกลางและยุโรปตะวันออก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการค้าทางบกที่สำคัญสายหนึ่งของโลกมาตั้งแต่อดีตกาล หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “เส้นทางสายไหม”

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/business/1001355

นายกฯ พอใจส่งออกมะม่วงไทยอันดับ 2 ในอาเซียน

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พอใจมูลค่าการส่งออกมะม่วงสดของไทย ซึ่งปัจจุบันขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 15% ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2565 โดยไทยถือเป็นผู้ส่งออกมะม่วงเป็นอันดับที่ 2 ในอาเซียน และเป็นอันดับ 7 ของโลก สะท้อนความนิยมของผลไม้ไทยซึ่งมีศักยภาพในตลาดโลก พร้อมสนับสนุนการขยายช่องทางทางการค้าเพิ่มเติมผ่านการเจรจาการค้าเสรี และข้อตกลงทางการค้าเสรี FTA นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ พิจารณาขยายช่องทางการค้าและส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มเติมในประเทศคู่เจรจา FTA รวมทั้งให้การสนับสนุน ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยพัฒนาเพิ่มเติมรูปแบบ ช่องทางของสินค้าในการส่งออก ทั้งในด้านการออกแบบ การแปรรูปสินค้าเพื่อให้สามารถเพิ่มมูลค่า

ที่มา : https://tna.mcot.net/politics-930848