EXIM Bank ร่วม CCC ผลักดันการค้าการลงทุนระหว่าง ไทย-กัมพูชา

ความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและกัมพูชา คาดว่าจะได้รับการส่งเสริมอย่างมีนัยสำคัญ หลังจากการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง EXIM BANK และหอการค้ากัมพูชา (CCC) เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา นำโดย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของไทย ร่วมกับ ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา ซึ่งวัตถุประสงค์หลักของบันทึกความเข้าใจคือการอำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและการปรึกษาหารือระหว่าง EXIM BANK และ CCC ในด้านต่างๆ เช่น เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การพัฒนาอุตสาหกรรม และกิจกรรมอื่นๆ ที่มีส่วนสนับสนุนการพัฒนาของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยไทยถือเป็นคู่ค้าสำคัญของกัมพูชา ควบคู่ไปกับจีน สหรัฐฯ และเวียดนาม สำหรับในปี 2022 โดยปริมาณการค้าระหว่างไทย-กัมพูชา ทะลุ 8 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็นการส่งออกของไทยไปยังกัมพูชามูลค่า 6.4 พันล้านดอลลาร์ ในขณะที่การนำเข้าจากกัมพูชามีมูลค่ารวม 1.6 พันล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501437767/partnership-between-exim-thailand-and-ccc-to-drive-thai-cambodian-trade-and-investment/

‘แคนาดา’ เปิดประตูสู่ธุรกิจเวียดนามในตลาดโลก

แคนาดาเป็นตลาดที่มีศักยภาพและพร้อมที่จะผลักดันธุรกิจเวียดนามในการขยายสู่ตลาดต่างประเทศ ทั้งการเติบโตของด้านเทคโนโลยี การเงิน กลุ่มลูกค้าและเครือข่ายโลจิสติกส์ในสหรัฐอเมริกา ในขณะเดียวกันจากข้อได้เปรียบของข้อตกลงการค้าเสรีและคุณภาพแรงงาน ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งข้ามเอเชีย ทำให้เวียดนามสามารถเชื่อมโยงกับธุรกิจแคนาดากับตลาดเอเชียได้ ทั้งนี้ ในปัจจุบัน เวียดนามเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของแคนาดาในกลุ่มประเทศอาเซียน และเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่อันดับ 7 ของตลาด รองจากสหรัฐฯ และจีน เป็นต้น

นอกจากนี้ นาง Tran Thu Quynh ที่ปรึกษาเชิงพาณิชย์ของสถานทูตเวียดนามประจำประเทศแคนาดา กล่าวว่าแคนาดามีจุดแข็งที่สำคัญในด้านการพัฒนาเครื่องจักรที่มีคุณภาพสูง เทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคม ชีวการแพทย์ และวัตถุดิบที่นำเข้าจากเวียดนาม อาทิ แร่ธาตุ พลาสติก ไม้ น้ำมัน ธัญพืชและปุ๋ย เป็นต้น

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1650430/canada-a-gateway-for-vietnamese-businesses-going-global.html

‘เวียดนาม’ คาดเม็ดเงินทุนไหลเข้า FDI เติบโตต่อเนื่องปี 2567

สำนักงานการลงทุนต่างประเทศ เปิดเผยข้อมูล ณ วันที่ 20 ม.ค. พบว่าเวียดนามดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มากกว่า 2.36 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 40.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และมีโครงการใหม่ที่ได้รับการจดทะเบียนสูงถึง 190 โครงการ คิดเป็นเงินทุนจดทะเบียนรวมมากกว่า 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 24.2% และ 66.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี

ทั้งนี้ นาย Michael Kokalari ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาคและการวิจัยตลาดของ VinaCapital ประเมินว่าในปี 2567 เวียดนามยังคงได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติและยังคงสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะบริษัทญี่ปุ่นที่เห็นโอกาสในการร่วมมือกับหน่วยงานในประเทศ อาทิ การลงทุนในภาคอสังหาฯ การผลิตและการค้าปลีก ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (BCI) ของหอการค้ายุโรป เปิดเผยผลการสำรวจ ชี้ให้เห็นว่าธุรกิจ 31% มองว่าเวียดนามเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางการลงทุนระดับโลก

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnams-fdi-forecast-to-remain-strong-through-2024/279260.vnp

สปป.ลาว-ลักเซมเบิร์ก เสริมสร้างความร่วมมือในหลายมิติ

รัฐบาล สปป.ลาว และลักเซมเบิร์ก ย้ำความสัมพันธ์ในการเสริมสร้างความร่วมมือในด้านมิติที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ เช่น สุขภาพและโภชนาการ การพัฒนาท้องถิ่น การพัฒนาทักษะและการจ้างงาน หลักธรรมาภิบาล การเข้าถึงความยุติธรรม และหลักนิติธรรม โดยทั้งสองประเทศร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการหุ้นส่วนทวิภาคี ครั้งที่ 15 ที่เวียงจันทน์ การประชุมดังกล่าวมีรัฐมนตรีกระทรวงการวางแผนและการลงทุนของ สปป.ลาว นายคำเจน วงศ์โพซี เป็นประธานในการประชุม และ Xavier Bettel รองนายกรัฐมนตรีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและการค้าต่างประเทศของลักเซมเบิร์ก คณะผู้แทนทั้งสองประเทศได้ทบทวนความคืบหน้าของการดำเนินโครงการภายใต้โครงการความร่วมมือฉบับที่ 5 ซึ่งดำเนินการตั้งแต่ปี 2566-2570 ซึ่งครอบคลุมความร่วมมือระดับทวิภาคี พหุภาคี และภาคประชาสังคมของทั้งสองประเทศ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_30_LaosLuxembourg_y24.php

การจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าประเภทต่างๆ จำนวน 5,308 คัน

ข้อมูลจากกรมบริหารการขนส่งทางถนนระบุว่า มีการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าประเภทต่างๆ รวม 5,308 คันตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 ถึงมกราคม 2567 ประกอบด้วยรถยนต์นั่งส่วนบุคคล EV 2,217 คัน รถบรรทุกขนาดเล็ก EV 11 คัน จักรยาน EV 2,836 คัน รถสามล้อ EV 244 คัน ได้รับการจดทะเบียนกับกรมแล้ว มีรถยนต์ EV หลายประเภท ซึ่งราคาอยู่ระหว่าง 80 ล้านจ๊าดถึง 200 ล้านจ๊าด โดยข่าวประชาสัมพันธ์ดังกล่าวระบุอีกว่าบริษัท 81 แห่ง ได้รับอนุญาตให้นำเข้าและขายรถยนต์ EV รวมทั้งมีการเปิดโชว์รูมแบรนด์รถยนต์ EV ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ โดยที่ใบอนุญาตนำเข้าจะออกให้กับบริษัทที่ตรงตามข้อกำหนดเท่านั้น อย่างไรก็ดี เพื่อที่จะพัฒนาภาคยานยนต์ EV คณะกรรมการกำกับดูแลแห่งชาติเพื่อการพัฒนายานพาหนะไฟฟ้าและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องได้กำหนดอัตราภาษีสำหรับยานพาหนะไฟฟ้าเป็นศูนย์เปอร์เซ็นต์ และยังได้เชิญนักลงทุนในท้องถิ่นให้ลงทุนด้วย

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/different-types-of-5308-electric-vehicles-registered/#article-title

มีการลงทุน 93 โครงการเข้าสู่รัฐมอญใน 3 ปี

U Tin Tun Aung หัวหน้าคณะกรรมการการลงทุนและการบริหารบริษัทของรัฐมอญ กล่าวว่า มีการลงทุนจากต่างประเทศและในประเทศทั้งหมด 93 โครงการที่เข้ามาและดำเนินการในรัฐมอญ โดยมีธุรกิจทั้งหมด 56 โครงการที่เป็นของชาวเมียนมา คิดเป็นมูลค่า 934,758.248 ล้านจ๊าด และ การลงทุนจากต่างประเทศ 37 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 5,136.396 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งกำลังดำเนินการในรัฐมอญ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2021-22 ถึงปีงบประมาณ 2023-24 ซึ่งมีการจ้างงานเกิดขึ้นกว่า 4,487 คน อย่างไรก็ตาม การประชุมคณะกรรมการการลงทุนของรัฐมอญ ครั้งที่ 1/2567 ได้ไฟเขียวให้การผลิตรถจักรยานยนต์ที่บริษัท Min Oo Motor Myanmar Co. Ltd จะดำเนินการด้วยการลงทุนระดับชาติของเมียนมาอย่างเต็มรูปแบบ และการขยายขั้นตอนการพัฒนาของธุรกิจ การอัพเกรด การผลิต และการส่งออกยางที่ จะดำเนินการโดยบริษัท M Rubber Co Ltd พร้อมการลงทุนระดับชาติเต็มรูปแบบ ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา นอกจากนี้ คณะกรรมการการลงทุนของรัฐมอญได้อนุญาตให้การลงทุนในเมียนมาและต่างประเทศสร้างโอกาสในการทำงานภายในรัฐมอญตามกฎหมายและข้อบังคับ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/93-investments-logged-in-mon-state-within-three-years/#article-title

2023 มูลค่าการค้ารวมระหว่าง กัมพูชา-RCEP เกือบแตะ 3 หมื่นล้านดอลลาร์

การค้าระหว่างกัมพูชาและอีก 14 ประเทศ ในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) มีมูลค่าเกือบ 3 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว โดยคิดเป็นการส่งออกของกัมพูชาไปยังกลุ่มประเทศดังกล่าวที่มูลค่ารวม 8.172 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 28  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่ารวมอยู่ที่ 2.129 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งลดลงกว่าร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน ตามข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ของประเทศ โดยหลังจากการลงนามในข้อตกลงดังกล่าวส่งผลให้มูลค่าการส่งออกของกัมพูชาไปยังกลุ่มสมาชิค RCEP เพิ่มขึ้นอย่างมาก เช่น อินโดนีเซียจากการเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับที่ 12 ของกัมพูชาในช่วงก่อนหน้านี้ ปรับมาเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับที่ 6 ของปีที่แล้ว โดยมีปริมาณการค้าทวิภาคีเกือบ 1.1 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบรายปีก่อนเกือบร้อยละ 15 คิดเป็นการส่งออกของกัมพูชามูลค่า 92.74 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 151.7

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501437300/cambodia-rcep-members-trade-hits-nearly-30-bn-in-2023/

2023 วิสาหกิจกัมพูชากว่า 5 หมื่นแห่ง เข้าจดทะเบียนกับกระทรวงแรงงาน

ปี 2023 วิสาหกิจกัมพูชากว่า 49,075 แห่ง เข้าจดทะเบียนกับกระทรวงแรงงานและการฝึกอาชีพ สะท้อนถึงการจ้างงานภายในประเทศมากกว่า 1.7 ล้านตำแหน่งในระบบ กล่าวโดย Hun Manet นายกรัฐมนตรีกัมพูชาถึงตัวเลขดังกล่าวขณะเป็นประธานในพิธีปิดการประชุมประจำปีของกระทรวงแรงงานและการฝึกอบรมวิชาชีพ ซึ่งจัดขึ้น ณ กรุงพนมเปญ เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ โดยปัจจุบันวิสาหกิจในกัมพูชาจ่ายค่าจ้างรายปีรวมกว่า 5.18 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งในจำนวนนี้จะสูงขึ้นหากรวมรายได้จากแรงงานนอกระบบและการส่งเงินกลับของแรงงานกัมพูชาในต่างประเทศอีกประมาณกว่า 2.9 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2023 โดยนายกรัฐมนตรียังได้ขอให้กระทรวงและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง ปรับปรุงสภาพการทำงานและเพิ่มการฝึกอบรมสายอาชีพสำหรับคนงานและลูกจ้าง พร้อมทั้งสนับสนุนให้ธุรกิจนอกระบบลงทะเบียนในระบบมากขึ้น เพื่อรับสิทธิพิเศษและความช่วยเหลือตามความเหมาะสม

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501437274/registered-economic-enterprises-reach-nearly-50000-employing-some-1-7-million-people/

โฆษกรัฐบาลเผย รัฐบาลส่งเสริมการใช้สิทธิภายใต้ FTA ส่งออก มกราคม-พฤศจิกายน 2566 รวม 75,842.65 ล้านดอลลาร์

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ภาพรวมการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าสำหรับการส่งออกภายใต้ FTA ช่วงเดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา พบว่ามีมูลค่าส่งออกสินค้ารวม 75,842.65 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นร้อยละ 82.66 ของการส่งออกสินค้าที่ไทยได้รับสิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA โดยไทยได้ใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) สูงสุดเป็นอันดับ 1 คิดเป็นมูลค่า 27,584.19 ล้านดอลลาร์ โดยสินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ยานยนต์สำหรับขนส่งของที่น้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 5 ตัน น้ำตาลจากอ้อย น้ำมันปิโตรเลียมและน้ำมันจากแร่บิทูมินัส รถยนต์สำหรับขนส่งบุคคล และเครื่องจักรอัตโนมัติ สำหรับการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าสำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรีของไทย มากเป็นอันดับที่ 2 ได้แก่ ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) ไทยได้ใช้สิทธิประโยชน์ คิดเป็นมูลค่า 22,059.90 ล้านดอลลาร์ โดยเน้นเป็นสินค้าจำพวกทุเรียนสด ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ มันสำปะหลัง สตาร์ชทำจากมันสำปะหลัง และโพลิเมอร์ของเอทิลีน นอกจากการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าสำหรับการส่งออกภายใต้ FTA ข้างต้น ยังมีการใช้สิทธิประโยชน์ในความตกลงฉบับอื่น ๆ เช่น การใช้ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) คิดเป็นมูลค่า 6,344.09 ล้านดอลลาร์ ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) คิดเป็นมูลค่า 5,802.56 ล้านดอลลาร์ ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย (AIFTA) คิดเป็นมูลค่า 4,987.16 ล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/78761

‘เวียดนาม’ เผย ม.ค. ยอดส่งออกกาแฟ พุ่ง 2 เท่า

กระทรวงเกษตรและพัฒนาขนบท เปิดเผยว่าเวียดนามส่งออกกาแฟไปยังต่างประเทศในเดือน ม.ค. อยู่ที่ 230,000 ตัน ทำรายได้ราว 623 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 61.6% และ 100.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ในขณะที่ราคากาแฟเฉลี่ยของภาคกลางปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ราคาอยู่ที่ประมาณ 78,200-79,400 ดองต่อกิโลกรัม และคาดว่าทิศทางของราคากาแฟจะสูงขึ้นทะลุ 80,000 ดองต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้ราคากาแฟเพิ่มขึ้นมาจากผู้ค้าซื้อกาแฟมีความต้องการสูง ก่อนที่จะถึงเทศกาลตรุษเต็ด (Tet) ของเวียดนาม ในขณะเดียวกัน ผู้ส่งออกมองว่าจะขาดแคลนผลผลิตเหมือนกับปีที่แล้ว จึงมีความต้องการซื้อมากขึ้น

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1650432/viet-nam-s-coffee-export-value-doubles-in-january.html