นักลงทุนจีนจ่อลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิตยางรถยนต์มูลค่า 500 ล้านดอลลาร์ ในกัมพูชา

นักลงทุนจีนเข้าลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิตยางรถยนต์มูลค่า 500 ล้านดอลลาร์ โดยนับเป็นโรงงานผลิตยางรถยนต์แห่งที่ 4 ในกัมพูชา หลังจากสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) อนุมัติโครงการลงทุนดังกล่าว ด้านนายกฯ ฮุน มาเน็ต กล่าวเสริมว่าการมีโรงงานผลิตยางรถยนต์ภายในประเทศจะเป็นส่วนช่วยให้ภาคเกษตรกรรม อย่างในฝั่งของเกษตรกรผู้เพาะปลูกยางพาราในกัมพูชา ไม่จำเป็นต้องส่งออกยางไปยังตลาดต่างประเทศเนื่องจากนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตยางรถยนต์ภายในประเทศ รวมถึงนายกฯ ยังได้ขอให้สถาบันซึ่งเกี่ยวข้องกับภาคเอกชน และสมาคมยางกัมพูชา จัดทำกลไกประสานการแก้ไขปัญหาทางเทคนิคและปัญหาการเพาะปลูก เพื่อให้แน่ใจว่าห่วงโซ่อุปทานการผลิตยางรถยนต์ภายในประเทศกัมพูชาจะสมบูรณ์แบบ สำหรับในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ กัมพูชาส่งออกยางแห้งปริมาณกว่า 242,304 ตัน ส่วนใหญ่ส่งออกไปยังมาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ และจีน สร้างรายได้เข้าประเทศราว 320 ล้านดอลลาร์ ตามการรายงานของ General Directorate of Rubber (GDR) ปัจจุบันกัมพูชามีสวนยางพาราครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 404,578 เฮกตาร์ ซึ่งร้อยละ 78 ของพื้นที่พร้อมที่จะให้ผลผลิตน้ำยางดิบ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501392268/cambodia-to-get-500m-chinese-tyre-factory/

สนามบินเสียมราฐ-อังกอร์ ตั้งเป้าต้อนรับนักท่องเที่ยว 12 ล้านคน ภายในปี 2040

ท่าอากาศยานนานาชาติเสียมราฐ-อังกอร์ (SAI) ตั้งเป้าให้การต้อนรับนักท่องเที่ยว 12 ล้านคน ภายในปี 2040 โดยท่าอากาศยานดังกล่าวมีท่าเทียบเครื่องบินในปัจจุบัน 38 ท่าเทียบ สามารถรองรับผู้โดยสารได้ราว 7 ล้านคนต่อปี ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 12 ล้านคนในปี 2040 ขณะที่ปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศต่อปีอยู่ที่ 10,000 ตันต่อปี และจะเพิ่มขึ้นเป็น 26,000 ตันต่อปี หลังจากทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในสนามบินแล้วเสร็จ โดยสนามบิน SAI ตั้งอยู่ห่างจากสนามบินเสียมราฐประมาณ 35 ไมล์ ห่างจากนครวัดเพียง 10 นาที หากเดินทางด้วยรถยนต์ ซึ่งปัจจุบันมีสายการบิน 8 แห่ง ให้บริการเชื่อมการเดินทางมายังสนามบินดังกล่าว

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501392258/new-siem-reap-airport-eyes-12-million-flyers-by-2040/

‘เวียดนาม’ ตั้งเป้า GDP ปี 67 โต 6-6.5%

สมัชชาแห่งชาติเวียดนาม (NA) ได้ตั้งเป้าหมายการเติบโตผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของเวียดนาม อยู่ที่กรอบ 6-6.5% และรายได้ต่อหัวอยู่ที่ 4,700-4,7300 ดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2567 แต่ว่ารัฐบาลเวียดนามจำเป็นที่จะต้องดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อผลักดันให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว ทั้งนี้ นาย หวู ฮ่ง ทานห์ ประธานคณะกรรมการเศรษฐกิจของสมัชชาแห่งชาติ กล่าวระหว่างการประชุมว่าสมาชิกสภาผู้แทนมีความกังวลถึงเป้าหมายการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศที่ตั้งเป้า 6.0-6.5% ซึ่งอยู่ในระดับสูง และยังได้แนะนำให้ลดเป้าหมายที่ตั้งไว้ 5-6%

นอกจากนี้ Shanaka Peiris หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกของ IMF กล่าวว่าเวียดนามเผชิญกับความยากลำบากจากภาวะการส่งออก อสังหาริมทรัพย์ และการเงิน อย่างไรก็ดีเศรษฐกิจเวียดนามอยู่ในช่วงฟื้นตัวดีขึ้น

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1636547/2024-gdp-target-of-6-6-5-per-cent-feasible-experts.html

การค้าสปป.ลาว-รัสเซีย มองเห็นความหวังในการเติบโต แม้ปัจจุบันจะซบเซาลง

การค้าระหว่าง สปป.ลาว-รัสเซีย หดตัวลงอย่างเห็นได้ชัด นับตั้งแต่รัสเซียเริ่มทำสงครามกับยูเครนเมื่อต้นปี 2565 การชะลอตัวนี้ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทั่วโลก ตามรายงานของ Russia Briefing การค้าระหว่างทั้งสองประเทศในเดือนมกราคม 2566 มีมูลค่า 312,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 83.2% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว การนำเข้าจากรัสเซียไปยังลาวมีมูลค่าเพียง 118,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่การส่งออกไปยังรัสเซียมีมูลค่า 194,000 ดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 88% จากเดือนมกราคม 2565 อย่างไรก็ตาม รายงานการเปลี่ยนแปลงทางการค้าและการลงทุนประจำปี 2023/24 ได้ให้ข้อมูลเชิงบวกบางประการสำหรับการเพิ่มขึ้นของการค้าระหว่างลาวกับรัสเซีย เนื่องจากรถไฟลาว-จีน กลายเป็นความจริงในระดับภูมิภาคและการค้าขายระหว่างรัสเซียและจีนก็เติบโต จึงมีความเชื่อร่วมกันว่าการเข้าถึงตลาดรัสเซียและลาวจะราบรื่นยิ่งขึ้น คาดว่าจะประกาศแนวโน้มการค้าทวิภาคีระหว่างสองประเทศที่สูงขึ้น ทั้งนี้ ลาวนำเข้าสินค้าจากรัสเซียส่วนใหญ่ ได้แก่ ไม้ ผลิตภัณฑ์เยื่อกระดาษและกระดาษ อุปกรณ์เครื่องจักร ยานพาหนะ และผลิตภัณฑ์เคมี ในขณะที่สินค้าส่งออกส่วนใหญ่ ได้แก่ สิ่งทอ อาหาร และวัตถุดิบทางการเกษตร

ที่มา : https://laotiantimes.com/2023/11/15/laos-russia-bilateral-trade-sees-hope-for-growth-despite-current-dip/

สปป.ลาว วางแผนปราบปราม ‘บริษัท Crypto ที่ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนด’

รัฐบาล สปป.ลาว ประกาศแผนการที่จะดำเนินการอย่างเข้มงวดกับบริษัทคริปโตที่ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงที่เกี่ยวข้องกับการค้าสกุลเงินดิจิทัล การดำเนินการนี้จะถูกบังคับใช้กับบริษัท 15 แห่ง ที่ได้รับอนุญาตเริ่มต้นธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ครอบคลุมการขุดและการค้าสกุลเงินดิจิทัล ซึ่งสองแห่งในนั้นไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินธุรกิจและอีกหลายแห่งล่าช้าในการชำระค่าธรรมเนียมให้กับรัฐบาล โดยค่าธรรมเนียมคงค้างในปัจจุบันมีมูลค่ารวม 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รัฐบาลถือว่าการชำระเงินล่าช้าเกิดจากการเสื่อมราคาของมูลค่าสกุลเงินดิจิทัล เพื่อเป็นการตอบสนอง นายกรัฐมนตรี โสเนชัย สีพันโดน ได้ประกาศในระหว่างการประชุมสามัญสมัยสามัญครั้งที่ 6 ว่ารัฐบาลได้เลือกที่จะลดค่าธรรมเนียมคงค้างลง 50% ทั้งนี้ รัฐบาลได้กล่าวเตือนว่าจะระงับและปรับ รวมถึงเพิกถอนใบอนุญาตของบริษัทคริปโตที่ไม่ได้จ่ายค่าธรรมเนียม ตัวอย่างการลงโทษที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม Electricite du Laos (EDL) รัฐวิสาหกิจด้านพลังงานไฟฟ้าของรัฐบาลได้ประกาว่าจะไม่จ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับการขุดคริปโตในประเทศลาวอีกต่อไป สาเหตุหลักมาจากหนี้ที่เพิ่มขึ้นจากธุรกิจการขุดคริปโต

ที่มา : https://laotiantimes.com/2023/11/15/laos-plans-crackdown-on-non-compliant-crypto-firms/

ราคาหัวหอมลดลงตามการเปลี่ยนแปลงของตลาดโดยอาศัยอุปสงค์ในประเทศเพียงอย่างเดียว

ตลาดหัวหอมของเมียนมาร์ต้องพึ่งพาตลาดภายในประเทศเป็นอย่างมาก เนื่องจากไม่มีตลาดต่างประเทศในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน นอกจากนี้ ยังมีหัวหอมจากฤดูมรสุมที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดย่างกุ้งเพิ่มเติมอีกในเร็วๆ นี้ อย่างไรก็ดี สต็อกหัวหอมขนาดใหญ่ในบางภูมิภาคอาจทำให้ราคาหัวหอมปรับลดลงอีก ด้านผู้ค้าจากพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำกล่าวว่า ระหว่างวันที่ 6 ถึง 11 พฤศจิกายน ตลาดในย่างกุ้งมีอุปทานหัวหอมวันละกว่า 150,000 viss และเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน หัวหอมประมาณ 90,000 หัว ไหลเข้าสู่ตลาดย่างกุ้ง ทำให้ราคาหัวหอมฤดูร้อนจึงลดลงเหลือ 2,300-3,700 จ๊าดต่อหัว ขึ้นอยู่กับขนาดและพื้นที่การผลิต ราคาแสดงให้เห็นการลดลง 200-400 จ๊าดต่อviss เมื่อเทียบกับราคาของสัปดาห์ก่อน หากเทียบกับในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ราคาหัวหอมแตะระดับสูงสุดที่ 3,400-4,300 จ๊าดต่อviss

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/onion-prices-decrease-as-market-shifts-to-solely-rely-on-domestic-demand/

เส้นทางส่งออก พะโม-ลแวแจ สร้างความเสียหายให้กับการขนส่งแตงโมไปยังประเทศจีน

เส้นทางส่งออกแตงโมของเมียนมาร์ไปยังจีนได้เปลี่ยนมาใช้เส้นทางมัณฑะเลย์-รัฐฉาน (เหนือ) -เชียงตุง-เมืองลา ท่ามกลางปัญหาการค้าที่ชายแดนมูเซ ซึ่งการปิดชายแดนมูเซ ส่งผลให้ผู้ส่งออกแตงโมบางรายต้องย้ายไปยังเส้นทางพะโม-ลแวแจ อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ปี 2021 เกิดข้อจำกัดเกี่ยวกับโควิด-19 ทำให้การส่งออกแตงโมและแตงไทยของเมียนมาร์ไปยังจีนยากขึ้น เนื่องจากระเบียบศุลกากรจีนเข้มงวดมากขึ้น และมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายในจีน ทำให้เกิดความล่าช้าในการขนส่งและเกิดความเสียหายต่อคุณภาพแตงโม ในขณะที่จีนซึ่งถือเป็นตลาดหลักของเมียนมาร์ในการส่งออกแตงโมง จากรายงานเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีเพียงรถบรรทุกนับเป็นสัดส่วน 1 ใน 5 คันเท่านั้นที่ สามารถข้ามไปเพื่อส่งสินค้าได้ ส่งผลให้แตงโมถูกจำหน่ายหมดคลังทางฝั่งจีน ในขณะที่รถบรรทุกมากกว่า 500 คันเข้าคิวรอขนส่งในฝั่งเมียนมาร์ ทำให้ผู้ค้าของเมียนมาร์จำเป็นต้องคำนึงถึงเวลาในการจัดส่ง ราคา และความสามารถในการทำกำไร เนื่องจากแตงโมเป็นผลไม้ที่เน่าเสียง่าย ขณะเดียวกันก็พยายามสำรวจตลาดใหม่นอกเหนือจากประเทศจีน

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/bhamo-lweje-export-route-damages-watermelon-shipments-to-china/

ภาคการท่องเที่ยวอาเซียนผนึกกำลังภาคการขนส่ง ดันการเติบโตภาคนักท่องเที่ยว

การประชุมระหว่างคณะรัฐมนตรีการท่องเที่ยวอาเซียนและรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมของอาเซียน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ณ กรุงพนมเปญ นำโดย Sok Soken รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวกัมพูชา ได้มีฉันทามติในประเด็นเร่งด่วนร่วมกันในการสนับสนุนความร่วมมือของภาคการท่องเที่ยวและการขนส่งของอาเซียน ในการผลักดันให้ภาคการท่องเที่ยวอาเซียนกลับมาเติบโตอีกครั้งหลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด รวมถึงมีความพยายามที่จะเพิ่มการไหลเวียนด้านการเดินทางของนักท่องเที่ยวภายในกลุ่มประเทศอาเซียน สำหรับทางการกัมพูชาให้ความสำคัญกับการปรับใช้กลยุทธ์เพื่อขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยว ให้กลายมาเป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญ รวมถึงผลักดันให้ภาคสังคมเกิดการเติบโตด้วยการเพิ่มโอกาสการจ้างงานสร้างรายได้ โดยปัจจุบันนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มสำคัญมาจากสหภาพยุโรป ซึ่งมีปริมาณนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 80 และนักท่องเที่ยวจากกลุ่มชาติเอเชียเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 60 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2019 ก่อนเกิดการแพร่ระบาด สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 239.60 ล้านดอลลาร์ โดยมีอัตราการเติบโตต่อปี (CAGR 2023-2027) ที่เฉลี่ยร้อยละ 10.34 ซึ่งคาดว่ามูลค่าจะปรับเพิ่มขึ้นสู่ 355.20 ล้านดอลลาร์ ภายในปี 2027

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501391621/asean-tourism-joins-forces-with-transport-sector-to-boost-numbers/