กัมพูชาส่งออกข้าวสารไปยังอินโดนีเซียเป็นครั้งแรกหลังลงนาม MoU สำเร็จ

กัมพูชาส่งออกข้าวสารไปยังอินโดนีเซียเป็นครั้งแรก หลังก่อนหน้าได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) ณ เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยทางการกัมพูชาหวังที่จะขยายตลาดส่งออกข้าวสารไปยังต่างประเทศเพิ่มขึ้น ในกรณีนี้กัมพูชาส่งออกข้าวสารไปยังอินโดนีเซียประมาณ 3,500 ตัน สำหรับการขนส่งในครั้งแรก ซึ่งอินโดนีเซียตกลงที่จะนำเข้าข้าวสารจากกัมพูชาปริมาณรวมกว่า 125,000 ตัน ภายในปี 2023 สำหรับการส่งออกข้าวโดยภาพรวมของกัมพูชาในช่วง 9 เดือนแรกของปีอยู่ที่ 456,581 ตัน ไปยัง 57 ประเทศ สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 327.4 ล้านดอลลาร์ ตามการรายงานของสหพันธ์ข้าวกัมพูชา (CRF) โดยจีนและยุโรปยังคงเป็นตลาดสำคัญสำหรับภาคการส่งออกข้าวสารของกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501386510/cambodia-exports-milled-rice-to-indonesia-for-1st-time/

นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอใน EEC

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้การต้อนรับนายกรัฐมนตรีและคณะ ในโอกาสเยี่ยมชมนิคมอุตสาหกรรม WHA ซึ่งสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการที่ภาครัฐและเอกชนของไทยมีความตั้งใจในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมให้มีมาตรฐานระดับโลก เพื่อขยายโอกาสความร่วมมือการลงทุนกับเขตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ทั้งนี้ ประเทศไทยมีศักยภาพและความพร้อมที่จะก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมยุคใหม่ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก นอกเหนือจากการเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ครบวงจรชั้นนำของโลกในปัจจุบัน โดยถือเป็นช่วงเวลาที่ประจวบเหมาะกับการที่รัฐบาลได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติชุดใหม่ โดยมีมติเห็นชอบมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าระยะที่ 2 หรือ EV 3.5 ในช่วงระยะเวลา 4 ปี ตั้งแต่ปี 2567-2570 นับเป็นการกระตุ้นให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และเปิดโอกาสให้เกิดการลงทุนจากผู้ประกอบการรายใหม่จากทั่วโลก สอดคล้องนโยบายของรัฐบาลที่ได้ให้ความสำคัญในการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน นอกจากนี้ WHA ยังพร้อมสนับสนุนการพัฒนาในเขต EEC ควบคู่ไปกับการสร้างความเป็นไปได้ในการขยายโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและโลจิสติกส์ อย่างมีประสิทธิภาพทั่วประเทศ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงเส้นทางขนส่งทางทะเลฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ที่จะสร้างประโยชน์ด้านการลงทุนทั้งต่อ EEC และต่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ให้ยั่งยืน

ที่มา : https://www.mitihoon.com/2023/11/06/415503/

‘เศรษฐกิจเวียดนาม’ อาจโตไม่ถึง 6.5% ตามที่ตั้งเป้าไว้

นายฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ได้กล่าวปราศรัยในการประชุมของรัฐสภา เมื่อวันที่ 23 ต.ค.66 ว่าเวียดนามตั้งเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่า 5% ในปีนี้ ในขณะที่หน่วยงานภาครัฐให้คำมั่นว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวที่ 6.5%

ทั้งนี้ ในเดือน ก.ย. กระทรวงการวางแผนและการลงทุน (MPI) ได้เสนอสมมุติฐานของสถานการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ 3 กรณี และพบว่าในกรณีที่ดีที่สุด เพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวที่ 6% ในปี 2566 เวียดนามจำเป็นที่จะต้องให้เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ขยายตัว 10.6% ซึ่งนับเป็นอัตราการเติบโตสูงในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ดังนั้น หากเศรษฐกิจเวียดนามไม่สามารถบรรลุตามที่ตั้งเป้าไว้ที่ 6.5% ก็ไม่น่าแปลกใจ

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-s-economy-6-5-growth-rate-target-maybe-unattainable-2210345.html

‘สื่อนอก’ ชี้เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่เศรษฐกิจโตเร็วที่สุด

สำนักข่าวต่างประเทศเอเชีย ไทมส์ (Asia Times) ได้ตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับการประเมินทางด้านเศรษฐกิจในหัวข้อ ‘เสือเศรษฐกิจเวียดนาม’ ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 และความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ที่ทวีความรุนแรงสูงขึ้น

ทั้งนี้ จากบทความชี้ให้เห็นว่าอันดับการค้าของเวียดนามในตลาดสหรัฐฯ ได้ก้าวกระโดดจนแซงเกาหลีใต้ ขึ้นมาอยู่อันดับที่ 6 ในปีที่แล้ว ซึ่งการเพิ่มขึ้นในครั้งนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจเวียดนาม เนื่องจากสัดส่วนการส่งออกที่มีมูลค่ามากที่สุดไปยังตลาดสหรัฐฯ ไม่ใช่สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มอีกต่อไป แต่กลับกลายมาเป็นสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง รวมไปถึงเวียดนามส่งเสริมการสร้างแบรนด์เป็นของตัวเอง และบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลก อาทิเช่น ‘Apple’ ได้ย้ายฐานการผลิตออกจากจีนไปเวียดนาม และบริษัทอัมกอร์ เทคโนโลยี ของสหรัฐฯ ลงทุนก่อสร้างโรงงานเซมิคอนดักเตอร์ มูลค่า 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-among-fastest-growing-economies-asia-times-2210814.html

นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางทางอากาศพุ่งแตะ 880,000 คนใน 9 เดือน

U Aung Aye Han รองอธิบดีกรมโรงแรมและการท่องเที่ยวของเมียนมา กล่าวว่าตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงกันยายน 2566 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามายังเมียนมาทางอากาศมากกว่า 880,000 คน ทั้งนี้ การมาถึงของนักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่ผ่านทางเที่ยวบินในปีนี้ และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วในปี 2565 มีอัตราการเติบโตคิดเป็นเกือบ 5 เท่า ด้านนาย U Aung Aye Han กล่าวว่า การเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศเมียนมา เดินทางผ่านแดนเข้ามาโดยผ่านทั้งทางอากาศและทางทะเล ปัจจุบัน ในปี 2023 เริ่มเปิดให้มีการเดินทางทางอากาศและการเข้าชายแดนเป็นหลัก ซึ่งนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มาจากประเทศไทย เพื่อเตรียมพร้อมรับฤดูกาลท่องเที่ยวที่กำลังจะมาถึงนี้ และยังได้เชิญนักท่องเที่ยวชาวไทยและรัสเซียเข้าเยี่ยมชมประเทศด้วย อีกทั้งจำนวนประเทศปลอดวีซ่ากับเมียนมาในปัจจุบันมีถึง 24 ประเทศ ซึ่งคาดว่าจะมีคนมาเที่ยวเมียนมาเพิ่มขึ้นมากกว่าปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ในเมียนมา มีการระบุและจัดเตรียมจุดหมายปลายทาง 14 แห่ง สำหรับให้นักท่องเที่ยวต่างชาติสามารถเดินทางไปเยี่ยมชมได้ และมีโรงแรม โมเทล และเกสท์เฮาส์กว่า 2,000 แห่งเพื่อรองรับ นอกจากนี้ ยังมีไกด์นำเที่ยวที่ได้รับใบอนุญาตมากกว่า 2,000 ราย และบริษัทท่องเที่ยวกว่า 500 แห่งทั่วประเทศ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/foreign-tourist-arrivals-via-air-soar-to-880000-in-nine-months/#article-title

มูลค่าการค้าชายแดนเมียวดี มีมูลค่ารวม 74.643 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนตุลาคม

เมียนมารายงาน มูลค่าการค้าชายแดน ระหว่างวันที่ 1-27 ตุลาคม 2566 ผ่านชายแดนเมียวดีกับไทยมีมูลค่ารวม 74.643 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ประกอบด้วยการส่งออกมูลค่า 17.594 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการนำเข้ามูลค่า 57.049 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยสินค้าส่งออก ได้แก่ พริก กะหล่ำปลี หัวหอม ถั่วหมากแห้ง ถั่วดำ กรัมดำ มะยมแห้ง ปู กุ้ง ปลาสับ ปลาแอนโชวี่ ปลาฮิลซา และผลิตภัณฑ์ปลาอื่นๆ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่ผลิตแบบ CMP วัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารเป็นที่ต้องการมากในตลาดของประเทศไทย นอกจากนี้ยังมี อาหารสัตว์ จักรยาน เสื้อผ้า เครื่องเขียน ชิ้นส่วนรถยนต์ วัสดุก่อสร้าง เครื่องจักร ชิ้นส่วนจักรยาน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องสำอาง วัตถุดิบ CMP ยา รองเท้า ผลไม้ต่างๆ ของใช้ในครัวเรือน สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าอุตสาหกรรม เครื่องจักร และอุปกรณ์ที่ใช้ในการประมง เป็นต้น

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myawady-border-trade-value-totals-us74-643-mln-in-oct/

‘ประธานาธิบดีมองโกเลียเยือน สปป.ลาว’ กระชับสัมพันธ์สองประเทศ

นายคูเรลสุข อุคนนา ประธานาธิบดีมองโกเลีย พร้อมด้วยภริยา และคณะเจ้าหน้าที่ เดินทางถึงนครหลวงเวียงจันทน์ เพื่อเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมื่อเดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติวัตไต ประธานาธิบดีมองโกเลียและคณะฯ ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากรัฐมนตรีและหัวหน้าสำนักงานประธานาธิบดีแห่ง สปป.ลาว พร้อมกับเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งมองโกเลียประจำ สปป.ลาว  เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มของ สปป.ลาว ประจำมองโกเลีย นายเพ็งสะหวัน แก้วประเสริฐ และเจ้าหน้าที่อื่นๆ ทั้งนี้ ในระหว่างการเยือน สปป.ลาว ประธานาธิบดีมองโกเลีย และนายทองลุน สีสุลิด ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จะจัดการเจรจาอย่างเป็นทางการ และกำหนดให้เข้าพบประธานสมัชชาแห่งชาติของ สปป.ลาว นายไซสมพอน พรหมวิหาร และนายกรัฐมนตรี โสเนกชัย สีพันโดน เพื่อหารือเกี่ยวกับความสัมพันธ์และความร่วมมือทวิภาคี

ที่มา : https://montsame.mn/en/read/330592

สปป.ลาว มีแผนส่งเสริมการส่งออก ‘ผลิตภัณฑ์จากไม้’ ไปยังตลาดสหภาพยุโรป

กรมป่าไม้ของสปป.ลาว กำลังวางแผนที่จะส่งเสริมธุรกิจไม้แปรรูปเพื่อการส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรป (EU) และได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ไม้ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง โดยนำเสนอความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการทั้งด้านภาษีและไม่ใช่ภาษีสำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้ไปยังตลาดสหภาพยุโรป ทั้งคำสั่งและกฎระเบียบ ตลอดจนข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ไม้ที่มีศักยภาพสูงในด้านความต้องการและมูลค่า และครอบคลุมถึงขั้นตอนของสหภาพยุโรป เช่น ข้อกำหนดสำหรับการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ทำจากไม้ เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่กระจายของศัตรูพืช และการจัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ไม้แปรรูป เป็นต้น ทั้งนี้ ตามรายงานของสำนักข่าวใน สปป.ลาว กล่าวถึงความต้องการผลิตภัณฑ์ไม้จากสหภาพยุโรปที่มีมากขึ้น จะทำให้ลาวมีโอกาสสำหรับการขยายธุรกิจของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

ที่มา : https://scandasia.com/laos-plans-to-boost-wood-export-to-eu-markets/