อัตราเงินเฟ้อ สปป.ลาว มิถุนายน 67 แตะ 26.2% สูงที่สุดในรอบ 6 เดือน

อัตราเงินเฟ้อ สปป.ลาว เดือนมิถุนายน 67 เพิ่มขึ้นเป็น 26.2% จาก 25.8% ในเดือนก่อน นับเป็นอัตราสูงสุดในรอบ 6 เดือนของปีนี้ โดยราคาสินค้าในกลุ่มการดูแลสุขภาพและยารักษาโรคมีความผันผวนสูงอยู่ที่ 41.7% รองลงมาคือ ร้านอาหารและโรงแรมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 35.3% ที่อยู่อาศัย น้ำ ไฟฟ้า และเชื้อเพลิงเครื่องปรุงรสและอาหารปรับตัวเพิ่มขึ้น 32.5% นอกจากนี้ ยังมีสินค้าอื่นๆ ที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ เสื้อผ้าและรองเท้า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ อาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ปัจจัยที่ส่งผลต่อแรงกดดันด้านเงินเฟ้อใน สปป.ลาว เกิดจากค่าเงินกีบที่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินต่างประเทศหลัก เช่น ดอลลาร์สหรัฐ บาทไทย และหยวนจีน ส่งผลกระทบอย่างมากต่อราคาสินค้าและบริการนำเข้า รวมถึงความสามารถในการผลิตภายในประเทศที่อ่อนแอ ทำให้แนวโน้มเงินเฟ้อรุนแรงขึ้น เนื่องจาก สปป.ลาว ต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคและวัตถุดิบอย่างมาก ซึ่งเพิ่มผลกระทบของค่าเงินอ่อนค่าต่ออัตราเงินเฟ้อ นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 10% ได้ผลักดันราคาสินค้าโภคภัณฑ์ให้สูงขึ้นอีก

ที่มา : https://laotiantimes.com/2024/06/27/laos-june-inflation-hits-26-2-percent-highest-in-2024/

‘ข้าวเวียดนาม’ ยังคงครองผู้นำตลาดฟิลิปปินส์ แม้มีการเปลี่ยนนโยบาย

สำนักงานการค้าเวียดนาม ประจำประเทศฟิลิปปินส์ ระบุว่าสถานการณ์การค้าข้าวเวียดนาม-ฟิลิปปินส์ มีแนวโน้มที่จะอยู่ในระดับทรงตัวในอนาคตอันใกล้นี้ ในขณะที่สำนักงานอาหารแห่งชาติ (NFA) พิจารณาแก้ไขกฎเกณฑ์การนำเข้าข้าว ซึ่งคาดว่าไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวของเวียดนาม และการปรับโครงสร้างในครั้งนี้ อยู่ในระหว่างการดำเนินการ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้หน่วยงานเข้ามาแทรกแซงโดยตรงต่อตลาดข้าวและสร้างความมีเสถียรภาพของราคาข้าวในประเทศ

ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวราคาข้าวดังกล่าว สาเหตุสำคัญมาจากราคาข้าวที่ปรับตัวสูงขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้ออย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งมาตรการก่อนหน้านี้ของรัฐบาลได้รับการพิสูจน์แล้วว่าไม่สามารถควบคุมการขึ้นของราคาสินค้าได้

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาข้อมูลทางสถิติ แสดงให้เห็นว่าเวียดนามยังคงเป็นผู้นำตลาดข้าวของฟิลิปปินส์ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ และเวียดนามเป็นซัพพลายเออร์ข้าวรายใหญ่ที่สุดของฟิลิปปินส์ คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 72% ของการนำเข้าพืชผลทางการเกษตรทั้งหมด

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnamese-rice-continues-to-dominate-philippine-market-despite-policy-shifts-post288136.vnp

‘เวียดนาม’ เผยเงินเฟ้อ CPI ช่วง 5 เดือนแรกปี 67 เพิ่มขึ้น 1.24%

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน พ.ค.67 ปรับตัวขึ้น 0.05% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเพิ่มขึ้น 1.24% เมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค.66 และเพิ่มขึ้น 4.44% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (YoY) โดยเป็นผลมาจากการขาดแคลนเนื้อหมูที่เผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ในช่วงปลายปี 2566 รวมถึงค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดในช่วงที่ผ่านมา ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือน พ.ค.67 เพิ่มขึ้น 2.68% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และเมื่อพิจารณาอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ พบว่าเพิ่มขึ้น 2.78% เมื่อเทียบเป็นรายปี

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1656490/cpi-rises-by-1-24-in-the-first-five-months.html

‘เวียดนาม’ เผชิญกับแรงกดดันเงินเฟ้อสูงขึ้น

คุณ เหงียน ถิ เฮือง (Nguyen Thi Huong) หัวหน้าสำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม กล่าวว่าภาวะเงินเฟ้อยังคงอยู่ภายใต้การควบคุม ตั้งแต่เดือน ม.ค.-เม.ย. ถึงแม้ว่าจะได้รับแรงกดดันอย่างมากจากตลาดระหว่างประเทศและในประเทศ โดยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 3.93% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อยู่ใกล้กับเพดานที่ตั้งเป้าไว้ในปีนี้ที่ระดับ 4-4.5%

ในขณะเดียวกัน นายเหงียน บิช ลา (Nguyen Bich Lam) นักเศรษฐศาสตร์ มองว่าเศรษฐกิจเวียดนามได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกอย่างมาก รวมถึงการแข่งขันที่รุงแรงในตลาดต่างประเทศ และความตึงเครียดในทะเลแดง ซึ่งอาจเกิดการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานและเกิดความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลก

นอกจากนี้ อัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์สหรัฐต่อด่องเวียดนาม มีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นในอนาคตข้างหน้า เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐยังไม่มีแผนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย จากตัวเลขเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง สิ่งเหล่านี้จะถือว่าเป็นภาระต้นทุนในการนำเข้าและเงินเฟ้อในประเทศ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/mounting-inflationary-pressure-requires-governments-flexible-moves-post286015.vnp

‘เวียดนาม’ ชี้เสาหลักทางเศรษฐกิจ ส่งสัญญาณเชิงบวก

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าการผลิตของภาคอุตสาหกรรมยังคงมีทิศทางไปในเชิงบวกในปีนี้ จากตัวชี้วัดดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (IIP) ในช่วง 4 เดือนแรกที่มีการขยายตัว 6% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในขณะที่เงินลงทุนเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐฯ สูงถึง 20.1% ของงบประมาณประจำปี เพิ่มขึ้น 5.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาตัวเลขการค้าปลีกและการค้าระหว่างประเทศของเวียดนาม พบว่ามูลค่าการค้าปลีกและบริการ เพิ่มขึ้น 8.5% และการส่งออก เพิ่มขึ้น 15% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งจากตัวชี้วัดดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของเศรษฐกิจมีสัญญาณเชิงบวก

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจเวียดนามยังคงเผชิญกับความท้าทายจากความไม่มั่งคงของเศรษฐกิจโลก และภาวะเงินเฟ้อ ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรมุ่งส่งเสริมไปที่การบริโภคภายในประเทศ การยกระดับคุณภาพสินค้าและบริการ รวมถึงดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/key-economic-pillars-show-positive-growth-post285814.vnp

IMF คาดอัตราเงินเฟ้อกัมพูชาทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.3 ในปี 2024

IMF คาดอัตราเงินเฟ้อกัมพูชาจะยังคงทรงตัวในปีนี้ที่ร้อยละ 2.3 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 2.1 ในปี 2023 สอดคล้องกับภาคส่วนอื่นๆ ของประเทศในกลุ่มเอเชียและแปซิฟิก ตามรายงานของ IMF Regional Economic Outlook ในเดือนเมษายน 2024 จากข้อมูลของ IMF คาดว่าเศรษฐกิจกัมพูชาจะขยายตัวกว่าร้อยละ 6 ในปีนี้ และเติบโตสู่ร้อยละ 6.1 ในปี 2025 เป็นรองแค่เพียงฟิลิปปินส์ที่คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตร้อยละ 6.2 เมื่อเทียบกับประเทศในโซนเอเซีย ขณะที่ธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) ได้รายงานเสริมว่าในช่วงปี 2024 การเติบโตของกัมพูชาจะถูกขับเคลื่อนโดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะเติบโตร้อยละ 8.6 ในขณะที่ภาคบริการจะขยายตัวที่ร้อยละ 6.4 และภาคการเกษตรที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.3 สำหรับความท้าทายต่อเศรษฐกิจกัมพูชา ได้แก่ หนี้ภาคเอกชนที่มีอัตราเพิ่มสูงขึ้น การฟื้นตัวที่อ่อนแอจากภาคการก่อสร้าง ความต้องการอสังหาริมทรัพย์ที่ลดลง และจำนวนเที่ยวบินสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต่ำ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501483848/imf-says-cambodias-inflation-to-be-stable-at-2-3-percent-in-2024/

ธนาคารกลางเมียนมาดำเนินนโยบายการเงินเพื่อลดอัตราเงินเฟ้อ

ธนาคารกลางเมียนมา (CBM) ใช้นโยบายการเงินเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อและรักษาเสถียรภาพราคา ในวันที่ 3 พ.ค. ทั้งนี้ CBM กำลังวางนโยบายการเงินเพื่อให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ หลังจากวิเคราะห์การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ สถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยน อัตราส่วนสินเชื่อของธนาคารต่อ GDP อัตราส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP เป็นต้น นอกจากนี้ ในบรรดานโยบายการเงิน แทนที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ย กลับปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำ อัตราเงินสำรองของธนาคารเอกชนในสกุลเงินเมียนมาและการจ่ายดอกเบี้ยเงินสำรองส่วนเกินก็เช่นกัน ส่งผลให้ปัจจุบันเงินฝากธนาคารและสินเชื่อมีเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เพื่อควบคุมการเพิ่มขึ้นของสกุลเงินหมุนเวียนและลดอัตราเงินเฟ้อ อัตราส่วนสำรองขั้นต่ำจึงเพิ่มขึ้นเป็น 3.75 จากร้อยละ 3.5 ดอกเบี้ยสำรองส่วนเกินก็เพิ่มขึ้นเป็น 3.8 จากร้อยละ 3.6 ในเดือนพฤษภาคม 2567 การเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยสำรองส่วนเกินอาจสนับสนุนอัตราดอกเบี้ยรายปีสำหรับบัญชีเงินฝากออมทรัพย์และส่งผลให้ภาคเอกชนมีแหล่งเงินทุนมากขึ้น สามารถลดจำนวนเงินหมุนเวียนและลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อเมื่อธนาคารฝากเงินในบัญชี CBM ในปัจจุบันมากขึ้น

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/cbm-implements-monetary-policies-to-curb-inflation/

‘เวียดนาม’ คงรักษาอัตราเงินเฟ้อต่ำ ปี 67

จากการประชุมของรัฐบาลที่เมืองฮานอย โดยมีรองนายกรัฐมนตรี เล มินห์ ไค เป็นประธาน ทางกระทรวงการคลังกล่าวในที่ประชุมว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของเวียดนาม มีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นอยู่ที่ระดับ 0.26 -0.39% ในช่วงที่เหลือของปีนี้ เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบ 4.0-4.5% ในปี 2567 และยังได้กล่าวชี้ให้เห็นถึงภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงดิ้นร้นฟื้นตัวและความตึงเครียดทางภูมิศาสตร์โลก รวมถึงความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ พลังงานและทองคำ

นอกจากนี้ สำนักงานสถิติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าดัชนีราคาผู้บริโภคในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 0.31%YoY เดือน ม.ค. และ 1.04%YoY เดือน ก.พ. ขณะที่เดือน มี.ค. ลดลง 0.23% ทำให้ดัชนี CPI เฉลี่ยในไตรมาสแรกของปี เพิ่มขึ้น 3.77%YoY

อย่างไรก็ดี รองนายกรัฐมนตรี เล มินห์ ไค ได้สั่งให้กระทรวงและหน่วยงานของรัฐฯ ติดตามสถานการณ์ตลาดและเตรียมแนวทางแก้ไข เพื่อเข้าแทรกแซงเมื่อจำเป็นเพื่อรักษาระดับเงินเฟ้อ

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1654489/keeping-cpi-low-key-to-inflation-control-this-year.html

‘ธนาคารโลก’ คาด GDP เวียดนามปี 67 โต 5.5%

ธนาคารโลก (WB) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัว 5.5% ในปีนี้ และเศรษฐกิจจะค่อยๆ ขยายตัว 6% ในปี 2568 และ 6.5% ในปี 2569 จากการหนุนของอุปสงค์ต่างประเทศและการลงทุนของภาคเอกชนที่กลับมาฟื้นตัวดีขึ้น โดยเป็นการตั้งอยู่บนสมมติฐานว่าการส่งออกภาคอุตสาหกรรมฟื้นตัวในระดับปานกลางในปีนี้ ส่งผลให้เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4/66 ขยายตัว 8.5%YoY และเศรษฐกิจจะขยายตัวในไตรมาสแรกของปีนี้ 17.2%YoY

ทั้งนี้ ตัวเลขเงินเฟ้อคาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยจาก 3.2% ในปี 2566 ขึ้นมาอยู่ที่ 3.5% ในปีนี้ เนื่องมาจากต้นทุนทางด้านการศึกษาและค่าบริการด้านสุขภาพ

อย่างไรก็ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีความขัดแย้งทางการทหารในยูเครนและตะวันออกกลาง แต่ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์กลับจะทยอยลดลง ส่งผลให้ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) คาดว่าจะอยู่ที่ 3% ในปี 2568 และปี 2569 โดยได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และพลังงานที่มีเสถียรภาพ

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnams-gdp-to-grow-5-5-this-year-wb/

อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นส่งผลให้ราคาอาหารพุ่งสูงขึ้น

จากดัชนีราคาผู้บริโภคที่พุ่งสูงขึ้น ราคาอาหารเ เช่น Monhinga (ก๋วยเตี๋ยวปลาแบบดั้งเดิมพร้อมเครื่องเสริม) แป้งทอด ขนมปัง แป้งนาน และอื่นๆ มีราคาเพิ่มขึ้นอย่างน่าทึ่งในปีนี้ โดยราคาส่วนผสมที่สูง (ข้าวสาลี ไข่ ข้าว น้ำมัน และอื่นๆ) ในการทำอาหารเหล่านั้น กระตุ้นให้ผู้ขายต้องขึ้นราคาอาหารจากเดิมอย่างน้อย 300–500 จ๊าด ในทำนองเดียวกัน ราคาข้าวสาลีขยับขึ้นเป็น 155,000 จ๊าดต่อถุง จากเดิม 145,000 จ๊าดต่อถุง รวมทั้งราคาขายปลีกน้ำตาลก็เพิ่มขึ้นเป็น 4,300 จ๊าดต่อviss และราคาแป้งยังเพิ่มขึ้นเป็น 5,200-5,400 จ๊าดต่อviss จาก 4,800 จ๊าดต่อviss  อย่างไรก็ดี เนื่องจากราคาของชำในครัว ซึ่งรวมถึงข้าว ปลา เนื้อสัตว์ และผัก พุ่งสูงขึ้น ร้านแผงลอยริมถนนบางแห่งที่เสิร์ฟข้าวแกงพม่าก็ขึ้นราคาอาหารหนึ่งมื้อเป็น 3,000 จ๊าด ซึ่งส่งผลให้ภาคครัวเรือนมีภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้น

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/rising-inflation-sends-breakfast-costs-soaring/#article-title