ปักกิ่งทุ่มทุนพัฒนาเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงเชื่อม กัมพูชา ไทย สปป.ลาว และจีน

ปักกิ่งจะมอบเงินทุนสนับสนุน 300 ล้านหยวน หรือเท่ากับ 41.34 ล้านดอลลาร์ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมระหว่าง กัมพูชา ไทย สปป.ลาว และจีน กล่าวโดย Wang Yi รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศจีนระหว่างการประชุมร่วมกับรัฐมนตรีกระทรวงโยธาธิการและขนส่งกัมพูชา Sun Chanthol ณ กรุงพนมเปญ ภายใต้กรอบของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลกัมพูชา-จีน ซึ่งมีนาย Hor Namhong เป็นประธาน และมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลเข้าร่วม ซึ่งโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าว ได้แก่ ทางด่วนพนมเปญ-สีหนุวิลล์, ทางด่วนพนมเปญ-บาเวต, ทางด่วนพนมเปญ-เสียมราฐ, โครงการรถไฟกัมพูชา และโครงการคลอง Funan Techo ที่กำลังดำเนินการโดยได้รับการสนับสนุนจากประธานาธิบดี Xi Jinping ของจีน โดยประธานฯ ได้ชี้ให้เห็นว่าจีนได้มีส่วนช่วยในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของกัมพูชา รวมถึงการสร้างถนนยาวกว่า 3,000 กิโลเมตร และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งและปรับปรุงคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนในประเทศกัมพูชา ผ่านการสนับสนุนจากจีน ธนาคารโลก และธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB)

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501342655/beijing-commits-300-million-yuan-to-develop-high-speed-rail-network/

‘ฮุน มาเนต’ หารือ ‘หวัง อี้’ ย้ำคำมั่นส่งเสริมสัมพันธ์ 2 ชาติ

พลเอกฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของกัมพูชา ได้พบปะหารือกับนายหวัง อี้ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกลางด้านการต่างประเทศและรัฐมนตรีต่างประเทศจีน ซึ่งอยู่ระหว่างเดินสายเยือนหลายชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่กรุงพนมเปญ เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม ทั้งนี้ นายหวังเดินทางถึงกัมพูชาในวันที่ 12 สิงหาคม และถือเป็นผู้แทนต่างชาติคนแรกที่เดินทางเยือนกัมพูชา หลังพลเอกฮุน มาเนต ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี กัมพูชาภายใต้การนำของสมเด็จฯฮุน เซน เป็นหนึ่งในพันธมิตรที่แข็งแกร่งที่สุดของจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดระยะเวลาเกือบ 40 ปีที่ผ่านมา และได้รับเงินลงทุนจำนวนมหาศาลจากจีน

ที่มา : https://www.matichon.co.th/foreign/news_4128060

‘ธุรกิจจีน’ รุกตั้งโรงงานอลูมิเนียมในจังหวัดเหงะอาน ลงทุน 165 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

บริษัทสัญชาติจีน ‘อินโนเวชั่น พรีซิชั่น เวียดนาม จำกัด’ ประกาศตั้งโรงงานอลูมิเนียมด้วยเงินลงทุน 165 ล้านดอลลาร์สหรัฐในจังหวัดเหงะอาน (Nghe An) ภาคเหนือของประเทศเวียดนาม โดยโรงงานดังกล่าวคลอบคลุมพื้นที่ 17,800 ตารางเมตร ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม VSIP ที่จังหวัดจังหวัดเหงะอาน และมีกำลังการผลิตอลูมิเนียม 1 แสนตันต่อปี ทั้งนี้ โรงงานแห่งนี้จะเริ่มดำเนินการในเดือน ต.ค. ปี 2567 และสร้างแรงงานจำนวน 1,500 คน นอกจากนี้ จังหวัดเหงะอาน ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) เกินกว่า 890 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ ส่งผลให้จังหวัดนี้เป็น 1 ใน 8 จังหวัดชั้นนำที่ดึงดูดเงินลงทุน FDI สูงที่สุดทั่วประเทศ

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/chinese-firm-to-build-us165-million-aluminum-factory-in-nghe-an/

‘จีน’ ผู้นำเข้าสินค้าเกษตรรายใหญ่ของเวียดนาม

กระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทเวียดนาม (MARD) เปิดเผยว่าการส่งออกสินค้าเกษตร ป่าไม้และประมงของเวียดนาม มีมูลค่า 24.59 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในชวงครึ่งแรกของปีนี้ ลดลง 11.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยประเทศจีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น เป็นตลาดส่งออกรายใหญ่ที่สุดของผลผลิตทางการเกษตรเวียดนาม ทั้งนี้ การส่งออกของเวียดนามไปยังตลาดสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ลดลง 32.9% และ 5.3% คิดเป็นสัดส่วนของการส่งออกสินค้าเกษตร อยู่ที่ 20.2% และ 7.7% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งประเทศ ตามลำดับ

ในขณะที่การส่งออกไปยังตลาดจีน เพิ่มขึ้น 7.7% และคิดเป็นสัดส่วนราว 21% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งประเทศ นอกจากนี้ จีนยังคงเป็นผู้นำเข้าเพียงรายเดียวของเวียดนามที่มีอัตราการขยายตัวที่เป็นบวกในตลาดส่งออกสำคัญ

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/china-becomes-top-buyer-of-vietnam-s-farm-produce-2167911.html

กัมพูชาสร้าง QR Code ชำระเงิน “Bakong-UPI” หวังดึงดูดนักท่องเที่ยวจีน

กัมพูชาหวังใช้ KHQR ระหว่างเครือข่ายของ Bakong และเครือข่าย QR Code ของ UnionPay International (UPI) ในการช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวจีนมายังกัมพูชามากขึ้น ภายใต้ความร่วมมือระหว่างธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) และ UnionPay International (UPI) ที่ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) เกี่ยวกับความร่วมมือในการชำระเงินด้วยระบบคิวอาร์โค้ดข้ามพรมแดน ภายใต้ความร่วมมือนี้ นักท่องเที่ยวชาวจีนสามารถชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดในกัมพูชาผ่าน KHQR และชาวกัมพูชาสามารถชำระเงินในรูปแบบเดียวกันในประเทศจีนได้สร้างความสะดวกเป็นอย่างมากในการชำระเงิน โดยทางการกัมพูชาตั้งเป้าดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวจีน 1 ล้านคนในปี 2023 เพิ่มขึ้นจาก 106,875 คนในปี 2022 ตามรายงานของกระทรวงการท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะมาเยือนยังกัมพูชาในปีนี้ราว 5 ล้านคน สำหรับการเปิดให้ทำธุรกรรมการชำระเงินด้วย QR Code ข้ามพรมแดนผ่าน KHQR ระหว่างกัมพูชาและจีนมีกำหนดเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปลายปี 2023 ขณะที่ในปัจจุบันเริ่มมีการใช้แล้วระหว่างไทย รวมถึงพร้อมที่จะขยายการดำเนินงานของระบบการชำระเงินบน Bakong blockchain ไปยังเวียดนาม สปป.ลาว เมียนมาร์ จีน และอินเดีย

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501325944/bakong-upi-cross-border-qr-code-payment-cooperation-to-attract-more-chinese-tourists/

รมว.ท่องเที่ยว สปป.ลาว วางแผนรับนักท่องเที่ยวจีน

รัฐบาล สปป.ลาว เร่งจัดกิจกรรมดึงดูดนักท่องเที่ยว รวมถึงเร่งปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการมาเยือนของนักท่องเที่ยวชาวจีนจำนวนมากระหว่างปี 2023-2025 โดยนักท่องเที่ยวจีนถือเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้มาเยือน สปป.ลาว กลุ่มสำคัญ นับตั้งแต่รัฐบาลจีนอนุญาตการเดินทางออกนอกประเทศในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา อีกทั้งปัจจุบันรัฐบาล จีน-สปป.ลาว ได้เปิดให้บริการเส้นทางรถไฟสายใหม่ เพื่อเอื่อต่อการเดินทางและการขนส่ง ร่วมกับการปรับปรุงการเชื่อมต่อถนนระหว่างสถานีรถไฟ สถานที่ท่องเที่ยว และถนนสายหลัก ขณะที่รัฐบาลยังคงให้ความสำคัญกับสายการบินที่ต้องการกำหนดเที่ยวบินระหว่าง สปป.ลาวและจีน เป็นสำคัญ ตามรายงานของกระทรวงสารสนเทศ วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว โดยในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ชาวจีนมากกว่าหนึ่งล้านคนเดินทางมาเยือน สปป.ลาว คิดเป็นประมาณร้อยละ 20 ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Tourism136.php

บริษัทสัญชาติจีนเข้าลงทุนยังกัมพูชากินสัดส่วนเกือบ 65%

สภาเพื่อการพัฒนาแห่งกัมพูชา (CDC) ได้ประกาศอนุมัติโครงการลงทุนใหม่ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ 113 โครงการ ด้วยทุนจดทะเบียนรวมกันประมาณ 1.1 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเกือบร้อยละ 65 มาจากนักลงทุนสัญชาติจีน ขณะที่มาจากนักลงทุนท้องถิ่นประมาณร้อยละ 20 ของทุนจดทะเบียนในช่วงแรกของปี ตามมาด้วยเวียดนามร้อยละ 6.64, เซเชลส์ร้อยละ 3.31, ไทยร้อยละ 1.77, สาธารณรัฐเกาหลีร้อยละ 1.70, ซามัวร้อยละ 0.60, สหรัฐอเมริการ้อยละ 0.49, สิงคโปร์ร้อยละ 0.18 และสวีเดนร้อยละ 0.07 โดยคาดว่าจะก่อให้เกิดการจ้างงานคนในท้องถิ่นกว่า 122,000 ตำแหน่ง ซึ่งโครงการส่วนใหญ่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมคิดกว่า 102 โครงการ รองลงมาคือภาคอุตสาหกรรมการเกษตร 7 โครงการ ภาคการท่องเที่ยว 3 โครงการ และ โครงสร้างพื้นฐาน 1 โครงการ ด้าน Ky Sereyvath นักเศรษฐศาสตร์ของ Royal Academy of Cambodia (RAC) กล่าวว่าปัจจัยสำคัญที่สร้างแรงดึงดูดการลงทุนของกัมพูชา ได้แก่ ข้อตกลงการค้าระดับทวิภาคีและระดับภูมิภาค ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงล่าสุดในกรอบการลงทุนทางกฎหมาย

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501324792/china-strengthens-investment-in-cambodia-with-nearly-65-percent-share/

ค้าชายแดน ‘เมียนมา-จีน’ ไตรมาสแรก พุ่งทะลุ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ตามข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่ามูลค่าการค้าชายแดนเมียนมาและจีน อยู่ที่ราว 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปีงบประมาณ 2566-2567 ตัวเลขของการค้าชายแดนข้างต้น เพิ่มขึ้นจาก 607.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แสดงให้เห็นว่ามูลค่าการค้าชายแดนเพิ่มขึ้นอย่างมาก ประมาณ 388.14 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีงบประมาณ ทั้งนี้ เมียนมาทำการค้าชายแดนกับจีนผ่านด่านชายแดนมูเซะ (Muse), ชีงชเวห่อ, กัมปะติ และ เชียงตุง เป็นต้น โดยเฉพาะด่านชายแดนเมืองมูเซะ เป็นด่านชายแดนสำคัญของเมียนมาที่ทำรายได้จากการค้าชายแดนสูงที่สุด ด้วยมูลค่า 657.97 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ เมียนมาทำการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ไทย จีน บังกลาเทศและอินเดีย สินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นประเภทเกษตรกรรม ปศุสัตว์และป่าไม้ ในขณะที่สินค้านำเข้าหลักของเมียนมาจะเป็นสินค้าประเภทวัตถุดิบและสินค้าอุปโภคบริโภค

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-china-border-trade-bags-nearly-us1-billion-in-q1/#article-title

‘จีน’ เลือก ‘ไทย’ ตั้งโรงงานแบตรถยนต์ไฟฟ้า แห่งแรกในอาเซียน

สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า เอสวีโอแอลที (SVOLT) ผู้ผลิตแบตเตอรีของจีน จัดพิธีวางศิลาฤกษ์โรงงานแบตเตอรีโมดูลแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ จังหวัดชลบุรี เมื่อวันพุธ (5 ก.ค.) ด้วยเป้าหมายเข้าถึงตลาดยานยนต์ไฟฟ้าที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วของภูมิภาค

ทั้งนี้ รายงานระบุว่า เอสวีโอแอลทีเข้าสู่ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อสอดคล้องกับกระแสบริษัทยานยนต์ไฟฟ้าของจีน เช่น จีดับเบิลยูเอ็ม (GWM) เอสเอไอซี (SAIC) และบีวายดี (BYD) ที่เข้าตั้งโรงงานผลิตในท้องถิ่นในไทย ขณะตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง

อีกทั้ง หยางหงซิน ประธานและซีอีโอของเอสวีโอแอลที เน้นย้ำบทบาทนำร่องของไทยในฐานะศูนย์กลางระดับภูมิภาคด้านการผลิตและส่งออกยานยนต์ ทำให้เอสวีโอแอลทีมีโอกาสยอดเยี่ยมในการขยับขยายในต่างประเทศและการเติบโตทางธุรกิจ

ที่มา : https://ch3plus.com/news/economy/ch3onlinenews/356955

จีนยังคงเป็นตลาดส่งออกสำคัญของกัมพูชา

หลังจากการลงนามในข้อตกลงกัมพูชา-จีน (CCFTA) เมื่อเดือนตุลาคม 2020 และเริ่มมีผลบังคับใช้นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2022 ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อขยายความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างจีน และเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลก โดยปริมาณการค้าของกัมพูชาเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าระหว่างปี 2017-2021 เพิ่มขึ้นจากมูลค่า 25.44 พันล้านดอลลาร์ เป็น 48.01 พันล้านดอลลาร์ สำหรับศักยภาพในการส่งออกของกัมพูชาไปยังตลาดในภูมิภาคยังมีจำกัด ซึ่งยังคงต้องบูรณาการอย่างต่อเนื่องในส่วนของห่วงโซ่คุณค่าระดับภูมิภาค ถึงอย่างไร แม้กัมพูชาจะได้รับความท้าทายจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่จีนและกัมพูชาก็ยังสามารถบรรลุเป้าหมายด้านปริมาณการค้าทวิภาคีได้เกินเป้าหมายที่ 1.11 หมื่นล้านดอลลาร์ ในปี 2021 ซึ่งบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 1 หมื่นล้านดอลลาร์ สำหรับในปี 2022 จีนก็ยังคงเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของกัมพูชา โดยคิดเป็นมูลค่าการส่งออกรวมของกัมพูชาไปยังจีน 1.24 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นร้อยละ 5.5 ของการส่งออกทั้งหมดของกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501320543/china-remains-the-largest-export-market-for-cambodia/