เลือกตั้งดัน GDP ไทย

จากข้อมูลธนาคารโลก คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2566 จะเติบโตร้อยละ 3.6 ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิมที่มีการคาดการณ์ไว้เมื่อเดือนธันวาคม 2565 โดยเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นจากในปี 2565 ที่เติบโตร้อยละ 2.6 และคาดว่าในปี 2567 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.1 ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ  หรือ IMF  ยังคงคาดการณ์เศรษฐกิจประเทศไทยสำหรับปีนี้และปีหน้า โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 3.7% ในปีนี้ และ 3.6% ในปีหน้า เมื่อเทียบกับที่เคยคาดการณ์ไว้ในเดือนต.ค. แต่ลดคาดการณ์การขยายตัวเฉลี่ยสำหรับ 5 ประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งประกอบด้วยอินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์,  สิงคโปร์ และไทย

อย่างไรก็ตาม มีการจับตาปัจจัยเรื่องการเลือกตั้ง ที่จะช่วยดันเศรษฐกิจไทย โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจคาดว่าช่วงการจัดกิจกรรมหาเสียงเต็มรูปแบบของพรรคการเมืองทุกพรรคไปจนถึงวันเลือกตั้งจริง จะมีเม็ดเงินสะพัดทุกกิจกรรมลงในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศในระดับรากหญ้าไม่ต่ำกว่า 40,000-50,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสที่ 2 เติบโตไปพร้อมกับการท่องเที่ยว โดยดันจีดีพีไทยให้สูงขึ้นในช่วงไตรมาสดังกล่าว 1-1.5% และคาดว่าจะดันให้เศรษฐกิจไทยในช่วงตลอดปี 2566 มีอัตราการเติบโตเป็นบวก 3-4% ได้อย่างแน่นอน

ที่มา : https://siamrath.co.th/c/437831

จีนผุดโรงงานรถอีวีในอีอีซี กลุ่ม GAC AION พร้อมทุ่มลงทุนบะละฮึ่ม

คณะผู้บริหาร GAC AION นำโดยนายเสี่ยว หยง (Mr.Xiao Yong) รองประธาน GAC AION ได้นำเสนอภาพรวมสถานการณ์การผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศจีน ที่มีการเติบโตของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง รวมทั้งการแนะนำถึงการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของ GAC AION ที่ปัจจุบันมียอดขายเติบโตเป็น 1 ใน 3 อันดับของผู้ผลิต EV ในจีนและภาพรวมการลงทุนอื่นๆ ด้านนวัตกรรมอัจฉริยะ ระบบ Ai ระบบ Automation การพัฒนาด้านพลังงานสะอาดอย่างครบวงจร โดยเลขาธิการอีอีซีได้รับมอบหนังสือจากคณะ GAC AION ที่สนใจจะขยายฐานการลงทุนอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์อีวี มูลค่าการลงทุนขั้นต่ำ 6,400 ล้านบาท และส่วนประกอบที่เกี่ยวข้อง อาทิ การลงทุนโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในพื้นที่อีอีซี เป็นต้น ที่กำลังพิจารณาพื้นที่ก่อสร้างโรงงานรวมกว่า 1,000 ไร่ โดยอีอีซีและ GAC AION จะประสานความร่วมมือเพื่อขยายโอกาสการเข้าลงทุนของอุตสาหกรรมอีวีอย่างครบวงจร โดยเฉพาะการเตรียมการด้านสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ การพัฒนาทักษะบุคลากรรองรับเพื่อต่อยอดให้พื้นที่อีอีซีก้าวสู่ศูนย์กลางการผลิตอีวีแห่งภูมิภาคต่อไป ด้านนายจุฬา เลขาธิการอีอีซี กล่าวว่า การที่ GAC AION ตัดสินใจลงทุนในไทย อีอีซีจะช่วยส่งเสริมพื้นที่การลงทุน การสร้างงานพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน รวมถึงกฎระเบียบที่จะช่วยสนับสนุนด้านการลงทุน ไทยเป็นตลาดรถยนต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีแนวโน้มในการเจริญเติบโตดีที่สุดและรัฐบาลไทยได้ออกนโยบายสนับสนุนการผลิตและการขายรถยนต์ไฟฟ้าอีกด้วย

ที่มา : https://www.thairath.co.th/business/investment/2674061

FTA อาเซียน-จีน ไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพ ACFTA 10-12 เม.ย.นี้

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการกำกับการดำเนินงานตามความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) สมัยพิเศษ ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 10-12 เมษายนนี้ กรุงเทพฯ โดยจะเป็นการประชุมแบบพบกันครั้งแรก หลังจากประชุมผ่านระบบออนไลน์ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 เพื่อเร่งปรับปรุงความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) ซึ่งบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2548 ให้ทันสถานการณ์และรูปแบบการค้าที่เปลี่ยนแปลงไป โดยตั้งเป้าหาข้อสรุปและเจรจาให้เสร็จภายในปี 2567 การประชุมครั้งนี้ จะประกอบด้วยการประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้าเพื่อกำกับดูแลภาพรวมการเจรจา และการประชุมคณะทำงาน 5 คณะ ได้แก่ การค้าสินค้า การลงทุน เศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจดิจิทัล และการแข่งขันและการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งนี้ ไทยในฐานะผู้ประสานงานฝ่ายอาเซียนและเป็นตัวแทนของอาเซียน จะทำหน้าที่เป็นประธานร่วมการประชุมกับฝ่ายจีน โดยจะผลักดันให้การเจรจาคืบหน้ามากที่สุด เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการหาข้อสรุปให้ได้ภายในปี 2567 ตามที่ตั้งเป้าไว้ ซึ่งการปรับปรุง FTA อาเซียน-จีน จะช่วยขยายการค้าระหว่างสมาชิก และเสริมสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างกันให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

ที่มา : https://www.thansettakij.com/business/economy/561013

ส่งออกนมและผลิตภัณฑ์ไปตลาดคู่ FTA เดือนม.ค.66 เพิ่ม 8.4% ตลาดอาเซียนเบอร์ 1

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นมไปตลาดคู่ FTA เดือนม.ค.66 มีมูลค่ากว่า 49 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 8.4% ตลาดอาเซียนเบอร์ 1 เพิ่ม 8.6% มีสัดส่วน 86.5% ของการส่งออกนมและผลิตภัณฑ์ทั้งหมด ตลาดกัมพูชา ฟิลิปปินส์ และสปป.ลาว เติบโตได้ดี ส่วนสินค้ามาแรงนม UHT นมเปรี้ยวและโยเกิร์ต นมถั่วเหลืองที่มีนมผสม ระบุปัจจุบัน 14 ประเทศคู่ FTA ยกเลิกเก็บภาษีนมและผลิตภัณฑ์นมจากไทยแล้ว เหลือแค่ 4 ประเทศที่ยังเก็บอยู่

ที่มา : https://www.agrinewsthai.com/domestic-animal/61399

“พาณิชย์” เผยสถิติใช้สิทธิ FTA ส่งออกเดือน ม.ค. อาเซียนแชมป์ RCEP พุ่ง 1,039%

กรมการค้าต่างประเทศเผยสถิติการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลง FTA จำนวน 12 ฉบับ เดือน ม.ค. 66 มีมูลค่า 5,399.38 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 16.13% คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิ 71.79% อาเซียนนำโด่งใช้สิทธิสูงสุด ตามด้วยอาเซียน-จีน ไทย-ออสเตรเลีย ไทย-ญี่ปุ่น และอาเซียน-อินเดีย ส่วน RCEP ใช้สิทธิเพิ่ม 1,039%

ที่มา : https://mgronline.com/business/detail/9660000030822

‘Starlink’ เน็ตผ่านดาวเทียมของ Elon Musk มุ่งเปิดให้บริการในเวียดนาม

คณะผู้แทนจากธุรกิจสหรัฐฯ 52 แห่ง เดินทางมาเยือนเวียดนาม นำโดยสภาธุรกิจอาเซียน-สหรัฐฯ (US-ASEAN Business Council-USABC) วัตถุประสงค์ในการเดินทางในครั้งนี้ เพื่อแสวงหาความร่วมมือและโอกาสทางธุรกิจ และหนึ่งในธุรกิจสหรัฐฯ คือ สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) บริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในการให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม จรวดขนส่งและยานอวกาศที่ก่อตั้งโดยนายอีลอน มัสก์ โดยการประชุมนำโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของเวียดนาม กล่าวว่าบริษัท สเปซเอ็กซ์ มีความต้องการที่จะร่วมมือกับเวียดนาม และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (MIC) โดยเฉพาะการส่งเสริมความสามารถในการเชื่อมต่อดิจิทัลและอินเทอร์เน็ต ในขณะเดียวกัน ผู้แทนของบริษัท สเปซเอ็กซ์ ย้ำว่าทางบริษัทที่เป็นเจ้าของ ‘Starlink’ ซึ่งให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมความเร็วสูงที่ครอบคลุมทั่วโลก โดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกลและเป็นเกาะ โดยเคเบิลใยแก้วนำแสงแบบเดิมไม่สามารถเข้าถึงได้ อย่างไรก็ดี รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีดิจิทัล

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/elon-musk-s-starlink-wants-to-bring-satellite-internet-to-vietnam-2124748.html

ฮุนเซนคาดจีนยังคงเป็นตลาดสำคัญสำหรับกัมพูชาและอาเซียน

จีนยังคงเป็นตลาดสำคัญสำหรับภาคการค้า ของทั้งกัมพูชาและประเทศในกลุ่มสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) กล่าวโดยนายกรัฐมนตรีฮุนเซน ซึ่งปัจจุบันกัมพูชาได้จัดทำข้อตกลงการค้าเสรีกัมพูชา-จีน (CCFTA), เขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) และข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ส่งผลทำให้ภาคการค้าระหว่างประเทศได้รับประโยชน์จากการยกเลิกภาษี ในขณะที่ภาคการท่องเที่ยวคาดว่านักท่องเที่ยวจีนจะหลั่งไหลเข้ามายังกัมพูชาเป็นจำนวนมาก หลังจากจีนปรับนโยบายในการรับมือต่อโควิด-19 ให้เหมาะสม โดยการค้าของกัมพูชากับจีนในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2023 มีมูลค่าอยู่ที่ 1.7 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งลดลงมากกว่าร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ปริมาณการค้าในช่วงปี 2022 สูงถึง 14.5 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 19 เมื่อเทียบกับปี 2021 ซึ่งสินค้าส่งออกของกัมพูชาไปยังจีนส่วนใหญ่ ได้แก่ เสื้อผ้าและสินค้าเกษตร ขณะที่สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ ฝ้าย สิ่งทอ ฝ้าย โลหะ วัสดุก่อสร้าง เครื่องใช้และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501262376/prime-minister-hun-sen-says-china-huge-market-for-cambodia-other-asean-countries/

ไทยเร่งยกระดับความร่วมมืออาเซียน เพิ่ม FTA หนุนเศรษฐกิจฟื้น

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน (Senior Economic Officials Meeting: SEOM) ที่ผ่านมาณ เมืองเซอมารัง สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ที่ผ่านมาได้พิจารณาประเด็นสำคัญด้านเศรษฐกิจ รวมทั้งการเร่งติดตามความคืบหน้าในการเจรจายกระดับความตกลงการค้าเสรี (FTA)

ทั้งนี้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้รับทราบประเด็นเรื่องการประชุมดังกล่าว ซึ่งในปีนี้เน้นย้ำถึงประเด็น บทบาทอาเซียนที่มีความสำคัญในฐานะศูนย์กลางการเจริญเติบโต (ASEAN Matters: Epicentrum of Growth) พร้อมตั้งเป้าให้เศรษฐกิจอาเซียนเติบโตอย่างรวดเร็ว ครอบคลุม และยั่งยืน

นอกจากนี้ในที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน ยังได้เร่งผลักดันประเด็น การเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน การสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของ MSMEs การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล การพัฒนาที่ยั่งยืน การลดกำแพงภาษี ระหว่างภูมิภาค รวมถึงขยายความสัมพันธ์กับประเทศนอกภูมิภาค

ที่มา: https://www.thansettakij.com/business/economy/556633

‘กัมพูชา-สปป.ลาว’ กระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

จากการแถลงข่าวที่จัดขึ้นในนครเวียงจันทร์ สปป.ลาว สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา กล่าวชื่นชมถึงความคืบหน้าในการค้าระหว่างทั้งสองประเทศที่สร้างมูลค่าสูงถึง 210 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2565 เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 160 ล้านเหรียญสหรัฐ และได้หารือถึงความร่วมมือทวิภาคีในด้านต่างๆ อาทิเช่น พลังงาน ความร่วมมือทางชายแดน การเชื่อมโยงการท่องเที่ยวและการส่งผู้ร้ายข้ามแดน อีกทั้ง เหตุจากสปป.ลาว เป็นแบตเตอรี่แห่งอาเซียน ทั้งสองประเทศจึงมุ่งเน้นความร่วมมือในด้านการพัฒนาพลังงานทั้งพลังงานไฟฟ้า น้ำและถ่านหิน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501238354/cambodia-laos-to-deepen-economic-cooperation/

นายกฯ ปลื้ม RCEP บังคับใช้ครบ 1 ปี ช่วยการค้าไทยกับประเทศสมาชิก ขยายตัวกว่า 7%

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พอใจผลรายงานความตกลง RCEP ซึ่งทำให้การค้าไทยกับประเทศสมาชิกขยายตัวร้อยละ 7.11 มูลค่าการค้ารวม 10 ล้านล้านบาท จากผลบังคับใช้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) ซึ่งได้มีผลบังคับใช้ครบ 1 ปี กับประเทศสมาชิก RCEP อาทิ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดยแบ่งเป็นการส่งออกจากไทยไปประเทศสมาชิก RCEP มูลค่า 1.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (4.8 ล้านล้านบาท) โดยประเทศอาเซียน คือ อินโดนีเซีย กัมพูชา และสิงคโปร์ เป็นตลาดส่งออกอันดับต้น รองลงมาเป็น เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย และการนำเข้าจากประเทศสมาชิก RCEP มูลค่า 1.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (5.7 ล้านล้านบาท) ขณะที่ไทยนำเข้าสินค้าจากบรูไนดารุสซาลาม ออสเตรเลีย และเมียนมา เป็นอันดับต้น

ที่มา : https://mgronline.com/politics/detail/9660000012777