กัมพูชาส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 89.7 ในช่วง 8 เดือนแรกของปี

กัมพูชาส่งออกสินค้าเกษตรปริมาณรวม 5.54 ล้านตัน ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2021 เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 89.7 จากปริมาณ 2.92 ล้านตัน ในช่วงเดียวกันของปีก่อน รายงานโดยรัฐมนตรีกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง ซึ่งกัมพูชาส่งออกสินค้าเกษตรไปยัง 66 ประเทศ โดยสร้างรายรับรวม 3.23 พันล้านดอลลาร์ จากการส่งออกในช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคมของปีนี้ ซึ่งสินค้าเกษตรหลักของกัมพูชา ได้แก่ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง มะม่วง กล้วยสด พริกไทย เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ข้าวโพด น้ำมันปาล์ม และยาสูบ เป็นต้น โดยจีนยังคงเป็นผู้ซื้อข้าวสารรายใหญ่ของกัมพูชา โดยคิดเป็นกว่าร้อยละ 48 ของการส่งออกข้าวทั้งหมดของกัมพูชา หรือคิดเป็นจำนวน 165,612 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50927787/cambodias-agricultural-exports-up-89-7-percent-in-first-8-months-netting-3-23-billion-in-revenue/

ราคาเมล็ดกาแฟที่เพิ่มขึ้นและอุปทานที่ไม่เพียงพอในกัมพูชา

ผู้จำหน่ายเมล็ดกาแฟในกัมพูชารายงานถึงราคาเมล็ดกาแฟที่พุ่งสูงขึ้นประมาณร้อยละ 50 ในปีนี้ รวมไปถึงความไม่แน่นอนต่อสถานการณ์การผลิตเมล็ดกาแฟในบราซิล ซึ่งเป็นผู้ผลิตเมล็ดกาแฟรายใหญ่ของโลกที่กำลังเผชิญอยู่กับภาวะปริมาณน้ำฝนที่ไม่แน่นอน โดยทางการกัมพูชาสนับสนุนให้เกษตรกรทดลองเพาะปลูกกาแฟพันธุ์โรบัสต้า ที่มีลักษณะพันธุ์ที่แข็งแกร่งและเติบโตได้ดีในหลายพื้นที่ของกัมพูชา รวมถึงอาจจะเป็นการเพิ่มพืชเศรษฐกิจที่สำคัญในอนาคตให้กับกัมพูชา ซึ่งสถานการณ์การส่งออกกาแฟของกัมพูชาลดลงกว่าร้อยละ 54.4 โดยมีปริมาณการส่งออกในปีที่แล้วเพียง 965 ตัน ตามข้อมูลจากเว็บไซต์ Tridge ซึ่งเชื่อมโยงผู้ซื้อรายใหญ่ อาทิเช่น Walmart และ Costco กับผู้ขายพืชผลและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอื่นๆ โดยยอดขายกาแฟในต่างประเทศของกัมพูชายังคงน้อยกว่าเวียดนามที่เป็นผู้ส่งออกเมล็ดกาแฟรายใหญ่อันดับ 5 ของโลก ซึ่งควบคุมตลาดโลกได้ร้อยละ 6.4 ในปีที่แล้ว โดยส่งออกเมล็ดกาแฟมูลค่ากว่า 1.74 พันล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50927112/rising-prices-and-short-supply-present-fresh-opportunities-for-coffee-farmers/

ญี่ปุ่นเร่งกระจายการลงทุนไปยังหลายพื้นที่เศรษฐกิจ รวมถึงกัมพูชา

กัมพูชาและญี่ปุ่น เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการครั้งที่ 22 ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยมีสมาชิกภาคเอกชนเข้าร่วมมากกว่า 130 คน โดยจะร่วมหารือมุ่งเน้นไปที่ค่าแรงขั้นต่ำ ภาษี การขนส่ง และการสร้างความเข้าใจต่อห่วงโซ่อุปทานภายในประเทศกัมพูชามากขึ้น ตามคำแถลงของสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) ซึ่ง CDC รายงานถึงการอนุมัติโครงการการลงทุนทั้งหมด 145 โครงการ มูลค่ารวม 2.8 พันล้านดอลลาร์ โดยมี 66 โครงการตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งนักลงทุนญี่ปุ่นถือเป็นส่วนสำคัญต่อภาคการลงทุนในกัมพูชา สู่การพัฒนาระบบเศรษฐกิจในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการผลิตที่นอกเหนือจากอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของกัมพูชา เพื่อสร้างความหลากหลายให้กับภาคธุรกิจในกัมพูชา และถือเป็นการลดความเสี่ยงในภาคธุรกิจ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50927114/japanese-investments-to-diversify-economy-praised/

วิเคราะห์ก้าวแรกของการพัฒนา CBDC ในภูมิภาค CLMVT

โดย ดร.ปพน เกียรติสกุลเดชา ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์

ในปัจจุบัน การคิดค้นเทคโนโลยีกระจายศูนย์ข้อมูล (Distributed Ledger Technology: DLT) ที่มีความรวดเร็ว ปลอดภัย และสามารถสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ใช้งานในด้านการชำระเงิน ได้นำไปสู่การพัฒนาสกุลเงินคริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) อย่างแพร่หลายในภาคเอกชนทั่วโลก เช่นเดียวกับภาคเอกชน ธนาคารกลางต่าง ๆ ทั่วโลกก็ได้เร่งริเริ่มที่จะนำนวัตกรรมเหล่านี้มาใช้ในระบบสถาบันการเงินในประเทศจนเกิดการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency: CBDC)

จุดมุ่งหมายของการพัฒนา CBDC โลกที่ผ่านมาเป็นอย่างไร และคาดว่าจะส่งกระทบอย่างไรต่อระบบเศรษฐกิจ?

การพัฒนา CBDC โดยธนาคารกลางต่าง ๆ ปัจจุบันนั้น สามารถแบ่งตามการใช้งานได้เป็น 2 ระดับ ได้แก่

1.ระดับธุรกรรมระหว่างสถาบันการเงิน (Wholesale CBDC) : การสร้างเครือข่ายการโอนทรัพย์สินระหว่างสถาบันการเงินทั้งในและระหว่างประเทศ

2.ระดับธุรกรรมรายย่อย (Retail CBDC) : การใช้สกุลเงินดิจิทัลแทนเงินสดในการทำธุรกรรมระหว่างประชาชนและธุรกิจรายย่อย

ในภาพรวม ทั้ง Wholesale CBDC และ Retail CBDC ได้ถูกพัฒนาขึ้นมา โดยมีเป้าหมายส่งเสริมการทำธุรกรรมทางการเงินให้รวดเร็วและปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นประโยชน์หลักที่ได้จากการนำ DLT (โดยเฉพาะในรูปแบบบล็อกเชน) มาใช้โดยธนาคารกลาง ที่จะทำให้สามารถลดต้นทุนในการประมวลผลธุรกรรมทางการเงินลงได้อย่างมีนัย รวมทั้งยังสามารถตรวจสอบตัวตนของคู่สัญญาธุรกรรมต่าง ๆ ได้อย่างรัดกุมมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ CBDC ทั้งสองประเภท หากถูกพัฒนาร่วมกันโดยกลุ่มประเทศในภูมิภาค ยังจะมีแนวโน้มนำไปสู่การเชื่อมโยงแพลตฟอร์ม และสนับสนุนให้ธุรกรรมระหว่างประเทศ (Cross-border Transactions) เป็นไปได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้นและด้วยต้นทุนที่ต่ำลงอีกด้วยเช่นกัน

แต่ทว่าหากมองลึกลงไปกว่าประสิทธิภาพของระบบสถาบันการเงินที่เพิ่มขึ้นนั้น การพัฒนาในระดับ Retail CBDC จะสามารถสร้างประโยชน์เพิ่มเติมได้ในอีกหลายด้าน โดยจะเป็นก้าวสำคัญต่อการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ ได้แก่

1. การเข้าถึงสถาบันการเงิน (Financial Inclusion) จะเพิ่มมากขึ้น ตามระบบ Retail CBDC ที่จะสามารถเข้าใช้งานได้ง่ายและรวดเร็วเพียงผ่านโทรศัพท์มือถือโดยไม่จำเป็นต้องผูกติดกับบัญชีธนาคาร ซึ่งข้อดีในจุดนี้ โดยเฉพาะสำหรับในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา จะช่วยให้กลุ่มประชาชนที่ไม่สามารถเข้าถึงสถาบันการเงินได้มาก่อนนั้น มีโอกาสหันมาเลือกใช้ Retail CBDC ที่สะดวกกว่าการถือเงินสดเพิ่มมากขึ้น

2. ช่องทางการดำเนินนโยบายทางการคลัง (Fiscal Policy) ของภาครัฐที่จะมีประสิทธิภาพมากขึ้นหลังมีการใช้ CBDC แทนเงินสดอย่างแพร่หลาย ตัวอย่างเช่น ภาครัฐสามารถออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่าน CBDC โดยประชากรสามารถนำเงินช่วยเหลือในรูปแบบดิจิทัลออกมาจับจ่ายใช้สอยได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องผ่านขั้นตอนการเปิดบัญชีธนาคารหรือเบิกจ่ายกับหน่วยงานของรัฐ นอกจากนี้ ภาครัฐยังสามารถเข้าถึงข้อมูลการจับจ่ายใช้สอยของประชากรในแต่ละกลุ่มสังคมเศรษฐกิจ (socioeconomic group) ซึ่งอาจต้องการความช่วยเหลือที่แตกต่างกัน การมี Retail CBDC platform จะช่วยให้ภาครัฐสามารถเลือกกลุ่มเป้าหมายและตั้งเงื่อนไขของมาตรการช่วยเหลือได้อย่างตรงจุดมากยิ่งขึ้น

3. การเพิ่มประสิทธิภาพของธนาคารกลางในการดำเนินนโยบายทางการเงิน (Monetary Policy) โดยการใช้ Retail CBDC แทนเงินสดนั้น จะช่วยให้ธนาคารกลางสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลปริมาณและการไหลเวียนของเงินในระบบได้อย่างแม่นยำมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการวางแผนนโยบายการเงินที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ยังมี CBDC อีกประเภทที่มีการจ่ายอัตราดอกเบี้ยในการถือครอง ซึ่งอาจเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ธนาคารกลางใช้ส่งผ่านผลของอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้โดยตรง

สถานะการพัฒนา CBDC โลกเป็นอย่างไรและภูมิภาค CLMVT อยู่ตรงจุดไหน?

ผลสำรวจล่าสุดโดย Bank of International Settlement พบว่า 86% ของธนาคารทั่วโลกกำลังดำเนินงานวิจัยเทคโนโลยี CBDC โดย 60% อยู่ในขั้นทดสอบระบบ ขณะที่เพียง 14% ได้เริ่มมีการทดลองใช้จริงในกลุ่มประชากรตัวอย่าง แม้ว่ากลุ่มประเทศที่มีการทดลองใช้ CBDC จริงแล้วประกอบด้วยกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักในโลก เช่น จีน ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และ สหภาพยุโรป แต่เป็นที่น่าจับตามองอย่างยิ่งว่าภูมิภาค CLMVT อยู่ในจุดที่ล้ำหน้ากว่าหลายชาติอื่นในโลกด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะไทยและกัมพูชา ซึ่งถูกจัดอันดับโดย PwC ว่าอยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลกในด้านการพัฒนา Wholesale CBDC และ Retail CBDC ตามลำดับ

สำหรับไทยนั้น โครงการอินทนนท์ซึ่งเป็น Wholesale CBDC ได้ถูกพัฒนาโดยธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งแต่ปี 2561 จนถึงในปี 2563 ได้พัฒนาไปถึงจุดที่มีการทดสอบการทำธุรกรรมข้ามพรมแดนโดยเชื่อมต่อกับ Project LionRock ของฮ่องกงได้สำเร็จ นอกจากนี้ ล่าสุดในปีนี้ ทาง ธปท. ยังได้เริ่มทำการศึกษาวิจัยต่อยอดไปสู่การทำ Retail CBDC แล้วเช่นกัน โดยมีเป้าหมายเบื้องต้นว่าจะมีการทดสอบใช้จริงในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2565

แนวโน้มการพัฒนา Retail CBDC สำหรับประเทศ LMVT (สปป.ลาว, เมียนมา, เวียดนาม และไทย) จะเป็นอย่างไร? บทเรียนล่าสุดที่ได้จากกัมพูชาคือ ประเทศกำลังพัฒนาที่มีการเข้าถึงสถาบันการเงินในระดับต่ำ แต่มีโครงสร้างประชากรที่พร้อมตอบรับเทคโนโลยีใหม่ นับได้ว่าเป็นจุดตั้งต้นที่สำคัญต่อการพัฒนาเงินดิจิทัลให้เข้ามาทดแทนเงินสดและดึงประชากรส่วนมากเข้าสู่ระบบสถาบันการเงินมากขึ้น สำหรับปัจจัยเหล่านี้ทั้ง สปป.ลาว เมียนมา และ เวียดนาม ล้วนมีประชากรน้อยกว่า 30% ที่เข้าถึงบัญชีธนาคาร ในขณะที่ประชากรส่วนใหญ่ยังมีอายุน้อย (ค่ามัธยฐานต่ำกว่า 30 ปี) แต่มีการเข้าถึงบริการโทรศัพท์มือถือในระดับที่สูง (เฉลี่ยมากกว่า 1 เบอร์โทรศัพท์ต่อคน) ด้วยปัจจัยแวดล้อมด้านประชากรที่คล้ายคลึงกับกัมพูชา ทำให้คาดได้ว่าการพัฒนา  Retail CBDC จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับประเทศเหล่านี้เช่นกัน และมีศักยภาพที่จะตามทันกัมพูชามาได้ในเวลาไม่ช้า

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/7775

ภาคการเพาะเลี้ยงพืชและสัตว์น้ำในกัมพูชา เร่งปรับตัวใช้พลังงานสะอาด

บริษัท EnergyLab ของกัมพูชา กำลังร่วมมือกับบริษัทในประเทศอื่นๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการนำพลังงานสีเขียวมาปรับใช้กับภาคการเพาะเลี้ยงพืชและสัตว์น้ำในกัมพูชา โดย ATEC Biodigesters, Sevea Consulting, CHAMROEUN Microfinance Plc และ People in Need Cambodia กำลังสนับสนุนให้ภาคธุรกิจเข้าร่วมโปรแกรมที่ถูกเรียกว่า SWITCH to Solar ซึ่งโครงการนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSMEs) ในภูมิภาค ด้วยการสนับสนุนอุปกรณ์เพื่อปรับปรุงคุณภาพและปริมาณผลผลิต ควบคู่ไปกับการใช้พลังงานสะอาดและยั่งยืน โดยทางด้านโครงการวางแผนที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการ MSME ด้านการประมงและเกษตรภายในประเทศสูงถึง 9,000 ราย ภายในสิ้นปี 2024 ร่วมกับซัพพลายเออร์ทางด้านเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ในท้องถิ่น 20 ราย ตัวกลางทางการเงิน 15 ราย และสร้างช่องทางการตลาดกว่า 70 ช่องทาง ในการช่วยเหลือ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50926340/aquaculture-sector-helped-to-use-sustainable-clean-energy/

กัมพูชาและเวียดนาม วางแผนเชื่อมทางด่วนระหว่างกัน

กัมพูชาและเวียดนามได้เพิ่มความเป็นไปได้ในการสร้างทางด่วนเชื่อมระหว่างสองประเทศ ณ จุดชายแดน หลังจากที่ทั้งสองประเทศได้หารือกันในประเด็นดังกล่าว โดยกระทรวงได้ขอให้บริษัทจีนผู้ซึ่งได้รับอนุญาตให้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการทางด่วนภายในกัมพูชา ให้ส่งรายงานขั้นสุดท้ายให้กระทรวงตรวจสอบ ซึ่งเร็ว ๆ นี้ทางการเวียดนามจะเริ่มก่อสร้างทางด่วนจากโฮจิมินห์ซิตี้ไปยังประตูชายแดนระหว่างประเทศ เพื่อเชื่อมต่อทางด่วนจากพนมเปญไปยังบาเวต โดยทางการหวังว่าการศึกษาจะแล้วเสร็จในเดือนธันวาคมปีนี้ และจะเร่งตรวจสอบการลงนามในสัญญาเงินกู้สัมปทานบนทางด่วนพนมเปญ-บาเวต ในระยะถัดไป และเมื่อรัฐบาลอนุมัติโครงการทางด่วน พนมเปญ-บาเวต แล้วจะถือเป็นทางด่วนแห่งที่ 2 ในกัมพูชา หลังจากที่ก่อนหน้าทางการกัมพูชาได้ก่อสร้างทางด่วนสาย พนมเปญ-สีหนุวิลล์ ที่จะมีความยาวกว่า 109 กิโลเมตร ซึ่งแล้วเสร็จไปแล้วมากกว่าร้อยละ 60

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50926403/cambodia-vietnam-boost-expressway-connection-hopes/

7-Eleven เปิดสาขาแรกอย่างเป็นทางการในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา

ซีพี ออลล์ (กัมพูชา) ผู้ดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์เจ้าของร้าน เซเว่น อีเลฟเว่น สาขาแรกในกัมพูชา เปิดให้บริการแล้ว CPALL โดยเลือกกรุงพนมเปญเป็นที่แรก ซึ่งหลังจากที่ ซีพี ออลล์ (กัมพูชา) จำกัด หรือ CP ALL (Cambodia) Co., Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทย่อยทางอ้อมของซีพี ออลล์ ได้เข้าทำสัญญาแฟรนไชส์หลักสำหรับการดำเนินการร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ในประเทศกัมพูชากับ 7-Eleven Inc. เมื่อปี 2020 ล่าสุด ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ในกัมพูชาได้เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการแล้ว ซึ่งในกัมพูชาร้านเซเว่น อีเลฟเว่น จะแข่งขันกับร้านสะดวกซื้อที่มีอยู่ เช่น Smile Mini Marts ในท้องถิ่นและ Circle K แฟรนไชส์จากสหรัฐฯ และแคนาดา รวมถึง Kiwimart, Aeon MaxValu Express และ Lucky Express ที่ได้ดำเนินธุรกิจร้านสะดวกซื้ออยู่ก่อนหน้าแล้วภายในประเทศกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50925946/7-eleven-opens-first-store-in-phnom-penh/

CDC อนุมัติโครงการลงทุนใหม่ 3 แห่ง มูลค่ารวม 15 ล้านดอลลาร์

สภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) เพิ่งอนุมัติโครงการลงทุนใหม่ 3 โครงการมูลค่าเกือบ 15 ล้านดอลลาร์ ซึ่งคาดว่าจะสร้างงานมากกว่า 4,000 ตำแหน่ง ภายในท้องถิ่น โดย CDC ได้ออกใบรับรองการลงทะเบียนขั้นสุดท้ายให้กับ Shining Fashion Industrial Co., Ltd. เพื่อตั้งโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าในจังหวัดกันดาล ซึ่งบริษัทวางแผนที่จะลงทุนรวม 3.4 ล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะสร้างงานในท้องถิ่นรวม 947 ตำแหน่ง โครงการที่ 2 คือของบริษัท Kicyn (Cambodia) Co., Ltd. วางแผนตั้งโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้ามูลค่าการลงทุนรวม 6.7 ล้านดอลลาร์ ซึ่งคาดว่าจะสร้างการจ้างจำนวน 2,947 ตำแหน่ง ในเขตจังหวัดตาแก้ว และโครงการที่ 3 เป็นของบริษัท Melyo Plastic Technology Co., Ltd. วางแผนสร้างโรงงานเพื่อผลิตถังน้ำแข็งและภาชนะพลาสติกอื่นๆ ในจังหวัดกำปงชนัง มูลค่าเงินลงทุนประมาณ 4.7 ล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะสร้างงานให้กับท้องถิ่นรวม 167 ตำแหน่ง โดยในอุตสาหกรรมสิ่งทอถือเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ ซึ่งมีการจ้างงานในประเทศทั้งหมด 800,000 ตำแหน่ง ก่อนที่การระบาดของโควิด-19 จะเริ่มแพร่กระจายในกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50925298/cdc-approves-three-factory-investments-valued-at-15-mn/