‘วิกฤติขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน’ ทุบสายการบินเวียดนาม
สำนักงานการบินพลเรือนเวียดนาม (CAAV) รายงานว่าการโจมตีของรัสเซียในยูเครน ส่งผลกระทบต่อเส้นทางการบิน เวลาเดือนทางและราคาตั๋วของสายการบินเวียดนาม ผลกระทบดังกล่าวเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากเส้นทางการบินหลายเส้นทางของเวียดนามแอร์ไลน์และสายการบินแบมบูแอร์เวย์ส มีจุดแวะพักเพื่อเปลี่ยนเครื่องอยู่ในประเทศรัสเซีย อีกทั้ง รัสเซียประกาศห้ามสายการบินต่างๆ จาก 36 ประเทศใช้น่านฟ้าของรัสเซีย เพื่อเป็นการตอบโต้ที่ได้คว่ำบาตรรัสเซีย ทำให้สายการบินเวียดนามต้องค้นหาเส้นทางการบินใหม่ ทั้งนี้ เที่ยวบินเวียดนาม-ยุโรป ได้รับการเปลี่ยนเส้นทางเพื่อหลีกเลี่ยงน่านฟ้าของรัสเซีย ไม่ว่าจะผ่านจีน คาซัคสถาน หรือแอฟริกาเหนือ โดยจะใช้เวลาบินนานกว่า 1-2 ชั่วโมง ส่งผลให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นประมาณ 10,600-21,200 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเที่ยวบิน
‘เวิลด์แบงก์’ พร้อมสนับสนุนดันเวียดนามเป็นเศรษฐกิจที่มีรายได้สูง ปี 2045
มานูเอลา วี. เฟอโร รองประธานธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก เดินทางมาเยือนเวียดนามนับว่าเป็นวันที่ 5 (วันที่ 25 มี.ค.) ได้เข้าพบนายกรัฐมนตรีเวียดนาม “ฟาม มินห์ จิญ” และนายนายเวือง ดิ่งห์ เหวะ ประธานสภาแห่งชาติเวียดนาม โดยทั้งสองฝ่ายหารือเกี่ยวกับความท้าทายของเวียดนามในการยกระดับประเทศ รวมถึงวิธีการที่จะได้รับการสนับสนุนจากธนาคารโลก เพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของคนเวียดนาม ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญในการมาเยือนเวียดนามในครั้งนี้ คือการจัดทำร่างแผนและแนวทางแก้ไขเพื่อให้เวียดนามบรรลุเป้าที่จะกลายมาเป็นเศรษฐกิจที่มีรายได้สูงภายในปี 2045 อีกทั้ง มานูเอลา วี. เฟอโร เน้นย้ำว่าธนาคารโลกถือเป็นหุ้นส่วนพัฒนาที่สำคัญแก่ประเทศเวียดนามและเสนอโซลูชั่นที่เป็นนวัตกรรม เพื่อรองรับความท้าทายใหม่ๆ
ที่มา : https://vir.com.vn/wb-pleges-to-support-vietnam-to-become-high-income-economy-by-2045-92233.html
‘ตลาดตราสารหนี้เวียดนาม’ ปี 64 พุ่งทะยาน 56% ทะลุ 32 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
จากรายงานของบริษัท SSI Corporation (SSI) เปิดเผยว่าในปี 2564 มูลค่าของตราสารหนี้ของบริษัทเวียดนาม รวมกันทั้งสิ้น 722.7 ล้านล้านดอง (32 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้น 56% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยผู้ออกตราสารหนี้ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ด้วยมูลค่า 14 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 44% ของเม็ดเงินกู้ทั้งหมดของบริษัท ในขณะที่ฝั่งของกลุ่มธนาคารได้ออกตราสารหนี้เป็นมูลค่า 9.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 31.3% ของทั้งหมด อย่างไรก็ตามบริษัท SSI ระบุว่ามูลค่ารวมของพันธบัตรจากธนาคารที่หมุนเวียนในช่วงปลายปี 2564 อยู่ที่ 540 ล้านล้านดอง (23.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) หรือ 39% ของตลาด ซึ่งยังคงต่ำกว่าอัตรา 48% ที่บันทึกไว้ในปลายปี 2561 อย่างมีนัยสำคัญ สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าขนาดของตลาดตราสารหนี้ที่ไม่ใช่ธนาคารกำลังเพิ่มขึ้น
‘เวียดนาม’ ตั้งเป้าปี 2573 ผู้ส่งออกอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก
เวียดนามตั้งเป้าที่จะก้าวขึ้นมาเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่มีความสามารถการแข่งขันสูงและเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกรายใหญ่ 15 อันดับแรกของโลกภายในปี 2573 โดยตามรายงานของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (MoIT) เปิดเผยว่าเวียดนามตั้งเป้าที่จะส่งเสริมผลิตภัณฑ์ 20 รายการที่ก้าวขึ้นมาเป็นแบรนด์ระดับโลกและมีความได้เปรียบในตำแหน่งห่วงโซ่อุปทานโลก ส่งผลให้กำลังผลิตของภาคอุตสาหกรรมสนับสนุนอยู่ที่ 70% ของอุปสงค์ในประเทศและกำลังผลิตในประเทศ 45% ทั้งนี้ กระทรวงฯ ร้องขอให้รัฐบาลมุ่งความสำคัญไปยังการพัฒนาเชิงคุณภาพแทนที่จะเป็นเชิงปริมาณ และใช้มาตรการต่างๆ เพื่อพัฒนากำลังผลิต ซึ่งหนึ่งเป็นจุดอ่อนหลักของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ กระทรวงฯ คาดว่าในปี 2573 ภาคการผลิตอุตสาหกรรมจะมีสัดส่วน 40% ของ GDP
ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1166915/vn-aims-to-become-industrialised-world-exporter-by-2030.html
“สายการบินแห่งชาติเวียดนาม” ระงับเที่ยวบินปกติไปรัสเซีย
สายการบินเวียดนามประกาศว่าจะระงับเที่ยวบินปกติในเส้นทางจากกรุงฮานอย-มอสโก ประเทศรัสเซีย (25 มี.ค.) เป็นต้นไป จนกว่าจะมีประกาศเป็นอย่างอื่น โดยผู้โดยสารที่ซื้อตั๋วในเที่ยวบินดังกล่าวแล้วนั้น สายการบินจะดำเนินคืนเงินหรือเปลี่ยนตั๋วไปเที่ยวบินอื่น ทั้งนี้ ผู้โดยสารในเที่ยวบินดังกล่าวมีจำนวนมาก เนื่องจากมีความต้องการที่จะเดินทางกลับไปยังรัสเซีย ซึ่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว บริษัทท่องเที่ยวของเวียดนามได้ประกาศยกเลิกเที่ยวบินเช่าเหมาลำที่ขนส่งนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียไปยังเวียดนาม เนื่องจากรัฐบาลรัสเซียแนะให้บริษัทสายการบินคุมเข็มจำกัดเที่ยวบินไปยังประเทศอื่น หลังจากที่สหรัฐอเมริกาและชาติตะวันตกออกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย
ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnam-airlines-suspends-regular-flights-to-russia/
‘ยุทธศาสตร์การเงินเวียดนาม’ มุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
แผนยุทธศาสตร์ทางการเงินของเวียดนาม พ.ศ. 2564-2573 มีเป้าหมายเพื่อมุ่งเน้นการสร้างความเสถียรภาพทางการเงิน และเป้าหมายสำคัญคือ การสร้างความเข็มแข็งทางเศรษฐกิจ รัฐบาลจึงได้ตั้งการระดมเงินเข้างบประมาณแผ่นดินในช่วงปี 2569-2573 เฉลี่ย 16-17% ของ GDP ซึ่งเม็ดเงินส่วนใหญ่ราว 85-87% มาจากรายได้ในประเทศ โดยข้อกำหนดของนายกรัฐมนตรีฉบับที่ 368/QD-TTg เมื่อวันที่ 21 มี.ค. ได้ให้ความสำคัญกับงบประมาณแผ่นดินเป็นอันดับแรก ได้แก่ การปฏิรูปงบประมาณ การกระจายอำนาจมากขึ้นให้กับปกครองส่วนท้องถิ่นและความโปร่งใส รวมถึงการพัฒนาความยั่งยืนของตลาดเงิน นอกจากนี้ รัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะจำกัดเพดานหนี้ไว้ที่ 60% ของ GDP โดยหนี้ภาครัฐจะไม่เกิน 50% และหนี้ต่างประเทศไม่เกิน 50% ในช่วงปี 2564-2568 ในขณะที่มูลค่าของตลาดหลักทรัพย์ในปี 2568 จะสูงถึง 100% ของ GDP โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มเป็น 120% ของ GDP ภายในสิ้นปี 2573
ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnams-financial-strategy-aims-at-sustainable-development/223929.vnp
เวียดนาม เล็งขยายเส้นทางเดินเรือไปยังกัมพูชาและไทย
ผู้ประกอบการเวียดนามร้องขอให้รัฐบาลช่วยขยายเส้นทางเดินเรือขนส่งระหว่างเกาะฟูโกว๊กของประเทศเวียดนาม ไปยังชายฝั่งประเทศกัมพูชาและไทย ซึ่งเดิมเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงด้านความร่วมมือช่องทางการเดินเรือชายฝั่งทะเล ระหว่างเวียดนาม กัมพูชา และไทย ที่เคยมีการตกลงกันก่อนหน้านี้ ในปี 2014 โดยความร่วมมือด้านการขนส่งทางชายฝั่งคาดว่าจะเพิ่มโอกาสมากขึ้นสำหรับเรือบรรทุกสินค้าขนาดกลางและขนาดเล็กในเส้นทางระหว่างไทย-กัมพูชา-เวียดนาม ซึ่งคาดว่าจะช่วยเพิ่มการลงทุนในสามประเทศ
การผลิตรถยนต์ต่ำ ฉุดซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนยานยนต์เวียดนาม
ปริมาณการผลิตรถยนต์ขั้นต่ำอยู่ที่ 50,000 คันต่อปี สำหรับการเติบโตของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์เวียดนาม แต่มีผู้ผลิตเพียงไม่กี่รายที่สามารถบรรลุระดับการผลิตยานยนต์ดังกล่าวได้ ผู้ผลิตยานยนต์อย่างโตโยต้า (Toyota) และฮุนได้ (Hyundai) ผ่านเกณฑ์ระดับการผลิตยานยนต์ในปี 2564 ด้วยปริมาณการผลิตยานยนต์ 64,172 และ 56,028 คัน ตามลำดับ ในขณะที่เกีย (Kia) ไม่ผ่านระดับการผลิตยานยนต์อยู่ที่ 35,181 คัน รองลงมาวินฟาสต์ (VinFast) 34,746 คัน และมิตซูบิชิ (Mitsubishi) 26,346 คัน
ทั้งนี้ คุณ Truong Thị Chí Bình ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันยุทธศาสตร์และนโยบายอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม กล่าวว่าระดับการผลิตยานยนต์ขั้นต่ำถือเป็นความล้มเหลวของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ของเวียดนาม และปริมาณการผลิตที่อยู่ในระดับต่ำ แสดงให้เห็นถึงความต้องการชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศต่ำ ทำให้ซัพพลายเออร์ไม่กล้าที่จะลงทุนในสายการผลิตใหม่