FTA อาเซียน-จีน ไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพ ACFTA 10-12 เม.ย.นี้

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการกำกับการดำเนินงานตามความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) สมัยพิเศษ ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 10-12 เมษายนนี้ กรุงเทพฯ โดยจะเป็นการประชุมแบบพบกันครั้งแรก หลังจากประชุมผ่านระบบออนไลน์ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 เพื่อเร่งปรับปรุงความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) ซึ่งบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2548 ให้ทันสถานการณ์และรูปแบบการค้าที่เปลี่ยนแปลงไป โดยตั้งเป้าหาข้อสรุปและเจรจาให้เสร็จภายในปี 2567 การประชุมครั้งนี้ จะประกอบด้วยการประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้าเพื่อกำกับดูแลภาพรวมการเจรจา และการประชุมคณะทำงาน 5 คณะ ได้แก่ การค้าสินค้า การลงทุน เศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจดิจิทัล และการแข่งขันและการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งนี้ ไทยในฐานะผู้ประสานงานฝ่ายอาเซียนและเป็นตัวแทนของอาเซียน จะทำหน้าที่เป็นประธานร่วมการประชุมกับฝ่ายจีน โดยจะผลักดันให้การเจรจาคืบหน้ามากที่สุด เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการหาข้อสรุปให้ได้ภายในปี 2567 ตามที่ตั้งเป้าไว้ ซึ่งการปรับปรุง FTA อาเซียน-จีน จะช่วยขยายการค้าระหว่างสมาชิก และเสริมสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างกันให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

ที่มา : https://www.thansettakij.com/business/economy/561013

นายกฯ สปป.ลาว เล็งดึงเม็ดเงินลงทุนเพิ่มจากจีน

นายกฯ สปป.ลาว ได้ร้องขอความร่วมมือจากผู้นำมณฑลยูนนาน ในการส่งเสริมให้บริษัทสัญชาติจีนเข้ามาลงทุนใน สปป.ลาว มากขึ้น โดยกล่าวขึ้นในระหว่างการประชุมที่จัดขึ้น ณ เวียงจันทน์ ซึ่งคาดหวังที่จะใช้ประโยชน์จากทางรถไฟสาย สปป.ลาว-จีน ในการส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าระหว่างระหว่างประเทศ ซึ่งตลาดจีนถือเป็นตลาดส่งออกสำคัญของ สปป.ลาว เนื่องจากมีประชากรมากกว่า 1.4 พันล้านคน โดย สปป.ลาว มีศักยภาพในการเพาะปลูกพืชและเลี้ยงโค-กระบือ ที่เป็นที่ต้องการของตลาดจีน ซึ่งในปี 2021 มีบริษัทจีนกว่า 300 แห่ง แสดงความสนใจที่จะลงทุนในภาคการเกษตรและป่าไม้ใน สปป.ลาว โดยคาดว่าเงินลงทุนรวมจะสูงถึง 1 พันล้านดอลลาร์ จากปัจจัยสนับสนุนในด้านต่างๆ ขณะที่ภาคการค้าระหว่างประเทศ จีนถือเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 2 ของ สปป.ลาว นับตั้งแต่ปี 2018-2022 มีมูลค่ารวมถึง 1.59 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 15.63 ต่อปี ในแง่ของการลงทุนระหว่างประเทศจีนก็ยังคงเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดของ สปป.ลาว ด้วยมูลค่าการลงทุนของจีนในเขตสัมปทานและเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีมูลค่าถึง 13.67 พันล้านดอลลาร์ กระจายอยู่ใน 921 โครงการ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten64_PM_y23.php

สปป.ลาว เปิด ด่านค้าชายแดน12 แห่ง หนุนส่งออกผลไม้ไทยไปจีน

ตัวเลขการส่งออกของไทยเดือนแรก (ม.ค.) ปี 2566 ที่ 2.02 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว 4.5% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ทั้งยังเป็น การหดตัวต่อเนื่อง 4 เดือนติดต่อกัน นับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2565 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัยจะหดตัว 3.0% ทั้งนี้อัตราการหดตัวน้อยลงจากเดือนก่อนหน้า จากผลกระทบการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและค่าเงินบาทผันผวน สอดคล้องกัน ตัวเลขการค้าชายแดนไทย-สปป.ลาว ผ่านด่านพรมแดนหนองคาย เดือนม.ค. 2566 หดตัวทั้งมูลค่าการค้าชายแดน การส่งออกและการค้าผ่านแดน ด้วยตัวเลขมูลค่าการค้าชายแดนรวม 7,149.38 ล้านบาท ลดลง 7.50% แต่ยอดส่งออกยังสูงกว่านำเข้าได้ดุลการค้า 4,156.72 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จำนวน 91.50 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2.25%

อีกทั้ง โอกาสนี้ไทยได้ขอให้ สปป.ลาว เร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาเปิดด่านพรมแดนที่ติดกับไทยเพิ่มอีก 12 แห่ง และช่วยอำนวยความสะดวกการขนส่งสินค้าไทย ผ่านแดน สปป.ลาวไปยังจีน เพื่อให้คล่องตัวมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าผลไม้ ซึ่งกำลังเข้าสู่ช่วงฤดูที่ผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมากเร็วๆ นี้

ที่มา : https://www.thansettakij.com/business/trade-agriculture/559913

ทางรถไฟสาย สปป.ลาว-จีน จ่อให้บริการในช่วงเดือน เม.ย.

บริษัท รถไฟ สปป.ลาว-จีน จำกัด จะเปิดให้บริการรถไฟข้ามพรมแดนในช่วงกลางเดือนเมษายนที่กำลังจะมาถึง ซึ่งปัจจุบันรถไฟวิ่งให้บริการระหว่างสถานีในประเทศ สปป.ลาว-เวียงจันทน์ และบ่อเต็น เท่านั้น เนื่องจากข้อจำกัดการเดินทางจากมาตรการป้องกันโควิด-19 แต่อย่างไรก็ตามเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมาด่านภาษีสากลบ่อเต็น ณ ชายแดน สปป.ลาว-จีน ได้เปิดให้ผู้คนสามารถข้ามพรมแดนระหว่างกันได้ และด้วยเหตุดังกล่าวทำให้ บริษัท วางแผนที่จะเปิดให้บริการรถไฟเส้นทาง เวียงจันทน์-คุนหมิง ขณะที่ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจจำนวนมาก เดินทางโดยรถไฟไปยังสถานีบ่อเต็นเพื่อเข้าสู่ประเทศ สปป.ลาว ซึ่งมียอดผู้โดยสารพุ่งสูงเฉลี่ย 1,500-1,600 คนต่อวัน นับตั้งแต่การรถไฟเปิดให้บริการในวันที่ 3 ธ.ค. 2021

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten2023_Laos59.php

ฮุนเซนคาดจีนยังคงเป็นตลาดสำคัญสำหรับกัมพูชาและอาเซียน

จีนยังคงเป็นตลาดสำคัญสำหรับภาคการค้า ของทั้งกัมพูชาและประเทศในกลุ่มสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) กล่าวโดยนายกรัฐมนตรีฮุนเซน ซึ่งปัจจุบันกัมพูชาได้จัดทำข้อตกลงการค้าเสรีกัมพูชา-จีน (CCFTA), เขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) และข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ส่งผลทำให้ภาคการค้าระหว่างประเทศได้รับประโยชน์จากการยกเลิกภาษี ในขณะที่ภาคการท่องเที่ยวคาดว่านักท่องเที่ยวจีนจะหลั่งไหลเข้ามายังกัมพูชาเป็นจำนวนมาก หลังจากจีนปรับนโยบายในการรับมือต่อโควิด-19 ให้เหมาะสม โดยการค้าของกัมพูชากับจีนในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2023 มีมูลค่าอยู่ที่ 1.7 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งลดลงมากกว่าร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ปริมาณการค้าในช่วงปี 2022 สูงถึง 14.5 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 19 เมื่อเทียบกับปี 2021 ซึ่งสินค้าส่งออกของกัมพูชาไปยังจีนส่วนใหญ่ ได้แก่ เสื้อผ้าและสินค้าเกษตร ขณะที่สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ ฝ้าย สิ่งทอ ฝ้าย โลหะ วัสดุก่อสร้าง เครื่องใช้และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501262376/prime-minister-hun-sen-says-china-huge-market-for-cambodia-other-asean-countries/

“สปป.ลาว” แบนนำเข้าเนื้อสุกรจากเวียดนาม

กระทรวงกสิกรรมและป่าไม้ สปป.ลาว ประกาศระงับการนำเข้าเนื้อสุกรและเนื้อสุกรแปรรูปจากประเทศเวียดนามและประเทศอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและตรวจสอบการนำเข้าอย่างผิดกฎหมายที่บริเวณชายแดนและสนามบินนานาชาติ นอกจากนี้ เนื้อสุกรที่ลักลอบนำเข้าหรือนำเข้าอย่างผิดกฎหมายในสปป.ลาวจะต้องถูกทำลาย ทั้งนี้ เมื่อปี 2563 สปป.ลาวระงับการนำเข้าเนื้อสุกรจากประเทศจีนและไทย หลังจากตรวจพบการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร 7 ครั้ง โดยมีหมูตาย 973 ตัวในแขวงสาละวัน และล่าสุดในเดือนมกราคม 2566 สปป.ลาวก็ระงับการนำเข้าเนื้อสุกรจากไทยเช่นเดียวกัน

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/laos-suspends-pork-imports-from-vietnam-2123587.html

จีนยังคงเป็นแหล่งวัตถุดิบรายใหญ่ให้กับอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มกัมพูชา

นายกรัฐมนตรีฮุนเซน กล่าวว่า จีนยังคงเป็นแหล่งวัตถุดิบที่ใหญ่ที่สุดให้กับอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มกัมพูชา โดยผู้ผลิตเครื่องนุ่งห่มในกัมพูชานำเข้าวัตถุดิบในการผลิตมากกว่าร้อยละ 80 จากจีน ก่อนที่จะทำการผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปไปยังประเทศต่างๆ ซึ่งภาคอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มหรือการ์เม้นท์ ถือเป็นอุตสาหกรรมหลักที่สร้างรายได้ให้กับประเทศมากที่สุด ในขณะเดียวกันก็สร้างการจ้างงานให้กับคนในท้องถิ่นนับแสนคน โดยในปี 2022 กัมพูชาส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่มมูลค่า 9.03 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็นกว่าร้อยละ 40.1 ของการส่งออกทั้งหมดที่มีมูลค่ารวมกว่า 22.48 พันล้านดอลลาร์ ตามรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิต

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501260728/china-remains-as-top-supplier-of-raw-materials-to-cambodias-garment-industry/

เมียนมา-จีน ร่วมหารือส่งเสริมเศรษฐกิจการค้าชายแดน

เมื่อวันอังคารที่ 21 มีนาคม 2566 ณ กระทรวงพาณิชย์ในกรุงเนปยีดอ ของเมียนมา Mr. U Myint Thura อธิบดีกรมการค้า กระทรวงพาณิชย์ของเมียนมา และ Mr. Du Jianhui นายกเทศมนตรีเมืองล้านช้าง จากประเทศจีน ได้ร่วมหารือเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ การลงนามข้อตกลงว่าด้วยการค้าผ่านแดนระหว่างเมียนมาและจีน และการอำนวยความสะดวกในการนำค้าสินค้าจากประเทศที่ 3 ผ่านชายแดนเมียนมา-จีน และการส่งเสริมเพื่อยกระดับการค้าชายแดนให้มีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/myanmar-china-economic-trade-promotion-meeting-held/

สปป.ลาว ลงนาม MoU เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าทางผ่านแดน

บริษัทของทั้ง สปป.ลาว และไทย ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจไตรภาคี (MoU) ซึ่งได้ลงนาม ณ เวียงจันทน์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านทางรถไฟระหว่าง สปป.ลาว-ไทย และ สปป.ลาว-จีน โดยข้อตกลงนี้ลงนามโดยผู้อำนวยการรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งชาติลาว (LNR) ร่วมกับประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Global Multimodal Logistics, รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Pan-asia Silk Road และประธานบริษัท Kaocharoen Train Transport ซึ่ง LNR จะประสานงาน อำนวยความสะดวก ซึ่งตั้งเป้าหมายในการขนส่งทุเรียนและผลไม้อื่นๆ อย่างน้อย 20,000 ตันต่อเดือน จากไทยไปยังตลาดจีน โดยหลังจากทางรถไฟสาย สปป.ลาว-จีน เปิดให้บริการในเดือนธันวาคม 2021 ความต้องการทั้งการขนส่งสินค้าและการขนส่งผู้โดยสารปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว สะท้อนจากจำนวนผู้โดยสารที่พุ่งสูงขึ้น ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ แตะ 417,400 คน เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 256.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การขนส่งสินค้ารวมอยู่ที่ 647,700 ตันในช่วงเวลาเดียวกัน เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 320

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten57_Deal_y23.php

โรงงานผลิตยางรถยนต์ของจีนแห่งใหม่ เริ่มดำเนินการในกัมพูชาแล้ว

โรงงานผลิตยางรถยนต์ ซึ่งลงทุนโดยนักลงทุนจีนในเขตเศรษฐกิจพิเศษสีหนุวิลล์ (SSEZ) ของกัมพูชา ได้เปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการแล้วในวันเสาร์ (18 มี.ค.) ที่ผ่านมา หลังจากได้รับการอนุมัติและเริ่มก่อสร้างกว่าหนึ่งปี โดยโรงงานดังกล่าวลงทุนด้วยมูลค่ารวมกว่า 300 ล้านดอลลาร์ ในนาม บริษัท General Tire Technology (กัมพูชา) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ Jiangsu General Science Technology ผู้ผลิตยางรถยนต์รายใหญ่ของจีน ขณะที่ด้าน Gu Cui ประธาน Jiangsu General Science Technology กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าผลิตยางเรเดียลกึ่งเหล็ก 5 ล้านเส้น และยางเรเดียลเสริมเหล็กกล้า 900,000 เส้นต่อปี โดยจะทำการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ยุโรป และบราซิลเป็นหลัก ผ่านสิทธิพิเศษของ SSEZ ซึ่งโรงงานดังกล่าวตั้งอยู่บนพื้นที่ขนาด 18 เฮกตาร์ สร้างการจ้างงานให้กับคนในท้องถิ่นประมาณ 1,600 ตำแหน่ง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501257581/chinese-invested-tire-factory-in-cambodia-goes-into-operation/