ADB พร้อมสนับสนุนการผลักดันโครงข่ายไฟฟ้าในระดับภูมิภาคของกัมพูชา

ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) สนับสนุนการผลักดันของกัมพูชาในการจัดตั้งโครงข่ายไฟฟ้าอาเซียน (APG) ซึ่งมีวิสัยทัศน์ร่วมกัน ในการยกระดับความมั่นคงด้านพลังงานสีเขียวของภูมิภาค โดยหัวข้อนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาอภิปรายระหว่างทีมงานของ ADB นำโดยผู้อำนวยการบริหาร Rachel Thompson หลังเข้าพบ Keo Rattanak รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเหมืองแร่และพลังงานกัมพูชา ซึ่งทางการคาดว่าโครงการ APG จะมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมพลังงานของกัมพูชา โดยจำเป็นต้องลดพลังงานที่ได้จากถ่านหินและเพิ่มแหล่งพลังงานหมุนเวียนเข้ามาทดแทน ขณะที่ความคิดริเริ่มของโครงการ APG ถือเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญในแผนแม่บทความเชื่อมโยงของอาเซียน ที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างกลไกการเชื่อมต่อโครงข่ายพลังงานในระดับภูมิภาค ภายใต้เงื่อนไขทวิภาคีข้ามพรมแดน จากนั้นจะค่อยๆ ขยายไปสู่ระดับอนุภูมิภาค นำมาสู่การรวมกลุ่มบูรณาการในระบบโครงข่ายไฟฟ้าอาเซียนเป็นขั้นสุดท้าย ซึ่งการเชื่อมต่อโครงข่ายในระดับทวิภาคีหลายแห่งได้ดำเนินการไปแล้ว เช่น การเชื่อมโยงโครงข่ายของสิงคโปร์กับมาเลเซีย และการเชื่อมโยงไทยกับมาเลเซีย

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501436267/cambodias-regional-power-grid-bid-gets-adb-support/

CDC ยอมรับข้อเสนอ UK ในการจัดตั้ง Green SEZ

สภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) เห็นชอบต่อคำขอจากเอกอัครราชทูตอังกฤษให้จัดตั้ง “เขตเศรษฐกิจพิเศษสีเขียว (Green SEZ)” และพร้อมที่จะช่วยส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนยังกัมพูชา โดยคำร้องขอดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างการเข้าเยี่ยมคารวะโดยคณะผู้แทนซึ่งนำโดย Dominic Williams เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำกัมพูชา เข้าพบ Sun Chanthol รองนายกรัฐมนตรีและรองประธานลำดับที่ 1 ของ CDC เพื่อปรับปรุงความยั่งยืนทางเศรษฐกิจของกัมพูชา ภายใต้การรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ โดยเน้นไปที่การให้ลำดับความสำคัญ คือการปรับปรุงถนนแห่งชาติหมายเลข 5, การก่อสร้างทางด่วนพนมเปญ-บาเว, การตรวจสอบบนทางด่วนพนมเปญ-เสียมราฐ-ปอยเปต รวมถึงการปรับปรุงทางด่วนพนมเปญ-สีหนุวิลล์ (PPSV) และโครงการฟูนันเตโช ซึ่งจะเป็นโครงการประวัติศาสตร์ของประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501436295/cdc-consents-to-uk-proposal-for-establishing-green-sez/

EXIM BANK ร่วมกับหอการค้ากัมพูชาส่งเสริมการค้าการลงทุน

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และสมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาแนต นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชา เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) และหอการค้ากัมพูชา (CCC) โดยมี ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK และเนก โอคนา คิท เม้ง ประธานหอการค้ากัมพูชา เป็นผู้ลงนาม โดยทั้งสองหน่วยงานจะแลกเปลี่ยนข้อมูลและบริการด้านข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน และการพัฒนาอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ การค้าระหว่างกัมพูชาและไทยมีมูลค่าสูงกว่า 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยเป็นคู่ค้าสำคัญของกัมพูชา นอกเหนือจากจีน สหรัฐฯ และเวียดนาม การส่งออกของไทยไปกัมพูชาในปี 2566 มีมูลค่า 6.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ การนำเข้าของไทยจากกัมพูชามีมูลค่า 1.6 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่กัมพูชาเป็นจุดหมายปลายทางการลงทุนที่สำคัญของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs เป็นผลมาจากนโยบายเศรษฐกิจที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุนจากต่างประเทศ ธุรกิจของไทยที่ดำเนินการในกัมพูชาครอบคลุมหลายภาคส่วน

ที่มา : https://www.thebetter.co.th/news/business/13414

ADB ตกลงสนับสนุนผู้ประกอบการ MSMEs กัมพูชา

ธนาคารการค้าต่างประเทศแห่งกัมพูชา (FTB) เข้าร่วมโครงการการเงินการค้าและห่วงโซ่อุปทาน (TSCFP) ของธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) เพื่อส่งเสริมทางด้านการเงิน การค้า สำหรับวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก และขนาดกลาง (MSMEs) ในกัมพูชา โดยเป็นการลงนามระหว่าง Dith Sochal ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร FTB และ JyotsanaVarma ผู้อำนวยการ ADB ประจำกัมพูชา ณ กรุงพนมเปญ ซึ่งคาดว่าจะเติมเต็มช่องว่างให้กับผู้ประกอบการ MSEMs ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่านธนาคารพันธมิตร ด้าน MSMEs คิดเป็นกว่าประมาณร้อยละ 99 ขององค์กรทั้งหมดในกัมพูชา ขณะที่ TSCFP ได้ให้สินเชื่อและค้ำประกันแก่ธนาคารพันธมิตรมากกว่า 200 แห่งในหลายประเทศ เพื่อสนับสนุนการค้า ส่งเสริมการนำเข้าและส่งออก

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501435837/cambodia-adb-agree-to-support-micro-small-and-medium-sized-enterprises/

2023 มูลค่าการส่งออก-นำเข้า ผ่าน SSEZ กัมพูชา แตะ 3.36 พันล้านดอลลาร์

ปริมาณการนำเข้าและส่งออกรวมของเขตเศรษฐกิจพิเศษสีหนุวิลล์ (SSEZ) มีมูลค่า 3.36 พันล้านดอลลาร์ สำหรับในปี 2023 เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 34.8 เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยมูลค่าการค้าผ่าน SSEZ คิดเป็นประมาณกว่าร้อยละ 7.18 ของปริมาณการค้าทั้งหมดของกัมพูชา สำหรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ SSEZ ถือเป็นโครงการเรือธงภายใต้โครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ซึ่งร่วมลงทุนโดยนักลงทุนจีนและกัมพูชา ตั้งอยู่ทางชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัดพระสีหนุ โดยเป็นเขตอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของประเทศในแง่ของขนาดและจำนวนผู้ประกอบการในเขต ซึ่งปัจจุบันมีองค์กรและบริษัทเอกชนรวมกว่า 180 แห่ง จากทั้งทางฝั่งจีน ยุโรป สหรัฐฯ และจากภูมิภาคอื่นๆ สร้างการจ้างงานให้กับคนในท้องถิ่นเกือบ 30,000 ตำแหน่ง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501435871/ssezs-export-import-valued-at-3-36-billion-in-2023/

กัมพูชา-ไทย ตั้งเป้าการค้าระหว่างกันแตะ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ภายในปี 2025

นายกรัฐมนตรีกัมพูชาและไทย มีกำหนดการพบปะกันที่กรุงเทพฯ ในสัปดาห์นี้ เพื่อหารือเกี่ยวกับขั้นตอนในการส่งเสริมการค้าในระดับทวิภาคี รวมถึงการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดน และการขจัดอุปสรรคระหว่างทั้งสองประเทศ โดยประเทศไทยถือเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับสองของกัมพูชาเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่มูลค่าการค้ารวม 3.71 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2023 ลดลงร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มูลค่า 4.47 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2022 ตามรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิต ซึ่งสินค้าส่งออกหลักของกัมพูชาไปยังไทย ได้แก่ สิ่งทอ สินค้าเกษตร อัญมณี วัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูป ด้านสินค้านำเข้าจากไทย ได้แก่ ปลา เนื้อสัตว์ ผัก รถยนต์ ปุ๋ยอินทรีย์ อาหาร และวัสดุก่อสร้าง เป็นสำคัญ สำหรับการเดินทางไปเมืองไทยของนายกรัฐมนตรี ฮุน มาเนต จะเดินทางเยือนเมืองไทยในวันพุธนี้ (7 ก.พ.) ตามคำเชิญของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ซึ่งจะทำการเจรจาเกี่ยวกับความร่วมมือทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคีในประเด็นที่มีความสนใจร่วมกัน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501434816/cambodia-thailand-target-15-billion-trade-by-2025/

ปริมาณสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคในกัมพูชาเพิ่มขึ้นกว่า 5% ในไตรมาสก่อน

การขอสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคในกัมพูชาเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 สำหรับในช่วงไตรมาส 4 ปี 2023 เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสก่อนหน้า โดยปริมาณสินเชื่ออุปเพื่อโภคบริโภคทั้งหมดเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.51 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แตะมูลค่าสินเชื่อรวมกว่า 15.01 พันล้านดอลลาร์ สำหรับจำนวนบัญชีสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคในปัจจุบันอยู่ที่ 1.76 ล้านบัญชี โดยร้อยละ 80.27 อยู่ในหมวดการเงินส่วนบุคคล รองลงมาร้อยละ 11.53 อยู่ในหมวดสินเชื่อจำนอง และร้อยละ 8.20 อยู่ในหมวดบัตรเครดิต ซึ่งการเพิ่มขึ้นของปริมาณบัญชีสินเชื่ออุปโภคบริโภคสูงสุดในช่วง 5 ไตรมาสที่ผ่านมา โดยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สำหรับคุณภาพของสินเชื่อผู้บริโภคที่วัดด้วยอัตราส่วน 30+ DPD (เกินกำหนดชำระมากกว่า 30 วัน) เพื่อบ่งชี้ความน่าเชื่อถือทางเครดิตและความเสี่ยงของการผิดนัดชำระหนี้ มีการเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.14 บ่งชี้ว่าคุณภาพสินเชื่อลดลงเล็กน้อย

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501434280/consumer-loan-applications-go-up-by-5-in-q4-last-year/

IMF รายงานการเติบโตทางเศรษฐกิจกัมพูชาโต 5.3% ในปี 2023

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) รายงานการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาในช่วงปี 2023 เติบโตกว่าร้อยละ 5.3 ซึ่งได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและการส่งออกที่ไม่ใช่เครื่องนุ่งห่ม อย่างไรก็ตามความเสี่ยงก็ยังคงมีอยู่มาก โดยเฉพาะการเติบโตที่อ่อนแอของสหรัฐฯ ซึ่งครองสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 40 ของการส่งออกของกัมพูชาอีกทั้งเศรษฐกิจจีนยังคงมีความเสี่ยงในหลายด้าน นอกจากนี้ ภาวะการเงินที่ตึงตัวของสหรัฐฯ และระดับหนี้ภาคเอกชนในกัมพูชาที่สูงอาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตของประเทศ ภายใต้ภาวะขาดดุลทางด้านการคลัง โดยคาดว่านับตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไปการขาดดุลของกัมพูชาจะขาดดุลลดลง ตามความมุ่งมั่นของทางการกัมพูชาที่ได้กำหนดไว้ ภายใต้มาตรการที่กำหนดไว้อย่างอย่างครอบคลุม

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501434518/cambodias-economy-projected-to-have-grown-by-5-3-in-2023-imf/