คลังเตรียมให้สัตยาบันตั้งบริษัทลูกธนาคารในอาเซียน

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า การเปิดเสรีด้านบริการการเงินในอาเซียนมีความคืบหน้ามากขึ้น โดยเตรียมให้สัตยาบัน (Ratification) ข้อตกลงให้ธนาคารของสมาชิกอาเซียน เข้าไปตั้งบริษัทลูกในประเทศสมาชิกอาเซียนอีกประเทศหนึ่งได้ไม่เกิน 49% ซึ่งการจัดทำข้อตกลงเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงินของประเทศสมาชิกอาเซียน ได้ดำเนินสืบเนื่องในหลายครั้งผ่านการเจรจาหารือร่วมกันและครั้งนี้ ถือเป็นข้อตกลงฉบับที่ 9  ซึ่งทำให้การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของสมาชิกอาเซียน มีความลึกและกว้างขึ้น โดยจะเป็นการลดข้อจำกัดของการเข้ามาลงทุนในกิจการธนาคารภายในกลุ่มอาเซียน ทั้งนี้ ข้อตกลงดังกล่าวซึ่งเรียกว่า ASEAN Framework Agreement on Services ซึ่งกระทรวงการคลังในฐานะหน่วยงานหลักในการเจรจาร่วมกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องได้เห็นชอบร่างข้อตกลงนี้แล้ว โดยร่างข้อตกลงดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ใน 180 วัน หลังจากลงนามให้สัตยาบัน สำหรับสาระสำคัญของข้อตกลงฉบับที่ 9 ดังกล่าว เพื่อขยายความร่วมมือด้านการค้าบริการระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน โดยลดหรือยกเลิกข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าบริการภายใต้กรอบอาเซียนให้มากกว่าที่เปิดเสรีตามกรอบขององค์การการค้าโลก และประเทศสมาชิกจะให้สิทธิประโยชน์ตามตารางข้อผูกพันแก่ประเทศสมาชิกอื่น ตามหลักการให้การปฏิบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง (Most-Favored Nation Treatment: MFN) และการปฏิบัติเยี่ยงคนชาติ (National Treatment)

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/965526

“รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน” หารือจัดทำ “ระเบียงการเดินทางอาเซียน”

ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนได้ติดตามความคืบหน้าการดำเนินการสร้างประชาคมอาเซียนที่เข้มแข็ง มีการหารือการรับมือและการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิด-19 การสร้างประชาคมอาเซียนที่เข้มแข็ง การดำเนินความสัมพันธ์กับภาคีภายนอกที่ประชุมหารือประเด็นในภูมิภาคและระหว่างประเทศ โดยที่ประชุมมีฉันทามติ 5 ข้อของผู้แทนพิเศษฯ เรื่องเมียนมา ความร่วมมือในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อรับมือกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อให้อาเซียนพัฒนาก้าวทันโลก และก้าวไกลสู่อนาคตอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ที่ประชุมยังส่งเสริมความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) ในการฟื้นฟูภูมิภาคและการบรรลุเป้าหมาย การพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/964591

‘ศักดิ์สยาม’ หารือ ‘สภาธุรกิจสหภาพยุโรป-อาเซียน’ ร่วมมือภาคขนส่ง ยกระดับโครงข่ายคมนาคม-โลจิสติกส์

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลัง Mr.Martin Hayes รองประธานสภาธุรกิจสหภาพยุโรป–อาเซียน และ Mr.Jan Eriksson ประธานสมาคมการค้ายูโรเปียนเพื่อธุรกิจและการพาณิชย์ ประจำประเทศไทย และคณะเข้าพบ วันนี้ (6 ต.ค. 2564) ว่า ได้มีการหารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย รวมทั้งการอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ เพื่อลดอุปสรรคการค้าและการลงทุน ทั้งนี้ ได้มีการนำเสนอความคืบหน้าของโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม และการพัฒนาโครงข่ายโลจิสติกส์ของไทย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการเชื่อมต่อห่วงโซ่มูลค่าทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน รวมถึงการดำเนินงานเพื่อรองรับการเดินทางระหว่างประเทศในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ความปลอดภัยด้านคมนาคม การขนส่งที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่วนเป้าหมายและความมุ่งมั่นของกระทรวงคมนาคมที่จะขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านแนวนโยบายการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ อีกทั้งการสนับสนุนและส่งเสริมในภาคอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และเพิ่มการใช้พลังงานสะอาดในภาคการขนส่งครอบคลุมทางถนน ทางราง และทางน้ำ รวมทั้งนโยบายในการแก้ปัญหาการจราจร ทั้งการพัฒนาระบบ M-Flow

ที่มา : https://www.trjournalnews.com/35757

รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนลุยหารือฟื้นเจรจา FTA กับสหภาพยุโรป

ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อช่วงกลางเดือนก.ย.2564 ที่ผ่านมา ได้รับมอบหมายจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนกับรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจของคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร สวิตเซอร์แลนด์ และรัสเซีย ผ่านการประชุมทางไกล เพื่อกระชับความสัมพันธ์ และติดตามความคืบหน้าความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกัน โดยการประชุมร่วมกับกรรมาธิการยุโรปด้านการค้า ได้เห็นชอบแผนงานด้านการค้าและการลงทุนร่วมกัน การหารือเกี่ยวกับการเตรียมการเจรจาความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-สหภาพยุโรป โดยจะจัดประชุมระดับผู้เชี่ยวชาญเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันในประเด็นการค้าใหม่ ๆ เช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ และการค้าและพัฒนาที่ยั่งยืน และเห็นพ้องที่จัดประชุมระดับรัฐมนตรีและระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง รวมถึงกิจกรรมความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียนให้แน่นแฟ้นขึ้น

ที่มา : https://www.thaipost.net/main/detail/118394

พาณิชย์เผยค้าชายแดน-ผ่านแดน สค.โต 32.56%

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงสถิติการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ในช่วงเดือน ส.ค.64 พบว่า มีมูลค่ากว่า 1.47 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.56 โดยเป็นการส่งออกกว่า 9.1 หมื่นล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 39 โดยในช่วง 8 เดือนแรกของปี การค้าชายแดนและผ่านแดน คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.11 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.18 คิดเป็นมูลค่าการส่งออกกว่า 6.82 แสนล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 38.03 โดยการค้าผ่านแดนไปยังประเทศจีน ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว จากการส่งออกผลไม้ไปจีน มูลค่ากว่า 1.4 หมื่นล้านบาท รวมถึงการเปิดด่านรอบประเทศที่มีอยู่ 97 ด่าน เปิดได้แล้ว 46 ด่าน โดยเฉพาะ ด่านฝั่ง สปป.ลาว มาเลเซียและกัมพูชา มีนโยบายเร่งรัดผลักดันให้มีการเปิดด่านได้เร็วขึ้นและมากที่สุด เพื่อให้การค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนขยายตัวมากกว่าที่เป็นอยู่

ที่มา : https://www.innnews.co.th/news/economy/news_201148/

ชาติอาเซียนเริ่มเปิดประเทศ ละทิ้งหลักปลอดโควิด หลังผ่านจุดพีค เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อยู่ร่วมกับไวรัส

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่า หากเปิดพรมแดนรับนักท่องเที่ยว ทั้งที่ประชาชนในประเทศที่ได้รับวัคซีนต้านโควิด-19 ครบถ้วน ยังมีจำนวนต่ำอยู่ อาจทำให้ระบบสาธารณสุขต้องรับผู้ป่วยโควิดจนล้นมืออีกครั้ง ด้านสำนักข่าว CNN รายงานว่า โควิด-19 ได้ระบาดหนักในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา เนื่องจากเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ Delta ที่แพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว แต่หลังจากใช้มาตรการล็อกดาวน์ หรือ จำกัดการเคลื่อนที่ตั้งแต่เดือนมิถุนายน-สิงหาคม เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด ขณะนี้หลายชาติในอาเซียน เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย และไทย กำลังละทิ้งนโยบาย “Zero-Covid” หรือ “โควิดเป็นศูนย์” หันมาหาทางใช้ชีวิตอยู่กับโควิด-19 ให้ได้ และกำลังมองหาการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ด้วยการเปิดพรมแดนรับนักเดินทางจากต่างประเทศอีกครั้ง โดยจุดสูงสุดของการระบาดเพิ่งผ่านพ้นไป ขณะที่อัตราการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ก็ยังต่ำมากในหลายพื้นที่ แต่รัฐบาลหลายชาติในอาเซียน ก็เตรียมจะเปิดประเทศรับนักเดินทางต่างชาติอีกครั้งแล้ว

ที่มา : https://www.tnnthailand.com/news/world/91673/

ส่องจังหวะการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินอาเซียน หลังจากสหรัฐฯ ส่งสัญญาณในการปรับลดขนาดมาตรการ QE

โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

สถานการณ์การระบาดของโควิดเริ่มมีทิศทางผ่อนคลายลงโดยเฉพาะในประเทศกลุ่มพัฒนาแล้ว ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศเหล่านั้นกลับมาฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญและเติบโตเหนือระดับก่อนโควิด ตลาดแรงงานที่เริ่มกลับสู่ระดับปกติมากขึ้น ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อมีสัญญาณเร่งตัวเป็นปัจจัยที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของตลาดการเงินโลกรวมทั้งตลาดการเงินของอาเซียนอีกครั้ง หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เริ่มส่งสัญญาณพิจารณาถึงการปรับลดขนาดของมาตรการ QE ที่น่าจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้และนำไปสู่คาดการณ์ถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้นนโยบายสหรัฐฯ ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 3/2565

 

ในทำนองเดียวกัน ธนาคารกลางยุโรปก็ได้ส่งสัญญาณที่จะลดขนาด QE ลงในการประชุมรอบล่าสุดที่ผ่านมา ขณะที่ธนาคารกลางเกาหลีใต้เป็นธนาคารกลางแรกๆ ที่เริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมนโยบายการเงินเดือนสิงหาคม 2564  จากหลังเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นมาสู่ระดับ 2.6% ในเดือนสิงหาคม 2564 อันเป็นระดับสูงสุดในรอบ 9 ปี ตลอดจน การปรับขึ้นของหนี้ภาคครัวเรือนที่เป็นผลจากการระบาดของโควิดที่ส่งผลให้ระดับหนี้ครัวเรือนทะลุระดับ 100% ของจีดีพีเป็นครั้งแรก ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงของท่าทีการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด ธนาคารกลางยุโรป ตลอดจน ธนาคารกลางเกาหลีใต้ อาจเป็นภาพสะท้อนถึงทิศทางของคลื่นการเปลี่ยนแปลงของนโยบายการเงินที่กำลังเข้าใกล้เศรษฐกิจอาเซียนมากขึ้นเรื่อยๆ

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าประเทศสิงคโปร์น่าจะเป็นผู้นำของเศรษฐกิจกลุ่มอาเซียน-6 ที่เริ่มปรับท่าทีการดำเนินโนยายการเงินให้เข้มงวดขึ้นผ่านการปรับความชันของอัตราแลกเปลี่ยนที่อาจจะเกิดขึ้นช่วงต้นปี 2565 หลังจากที่เศรษฐกิจสิงคโปร์กลับมาฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งและขนาดเศรษฐกิจกลับไปสูงกว่าระดับก่อนโควิดแล้วเพื่อสร้างความสมดุลระหว่างอัตราเงินเฟ้อจากต่างประเทศและการเติบโตทางเศรษฐกิจ ส่วนฟิลิปปินส์คงจะเป็นประเทศที่เผชิญกับแรงกดดันในการขยับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นรายต่อไป ท่ามกลางแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ตลอดจนความเสี่ยงด้านต่างๆ ที่อาจนำไปสู่การไหลออกของเงินทุน ตามมาด้วยเศรษฐกิจเวียดนามที่คงมีปรับท่าทีการดำเนินนโยบายการเงินหลังจากที่เศรษฐกิจกลับมาเติบโตตามระดับศักยภาพมาระยะหนึ่งแล้ว เพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจตลอดจนหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่เวียดนามอาจถูกจัดในกลุ่มประเทศที่แทรกแซงค่าเงิน

 

ขณะที่มาเลเซียและอินโดนีเซียคงเลือกจังหวะในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่สอดคล้องกับเฟดเนื่องจากตลาดการเงินของอินโดนีเซียและมาเลเซียมีระดับของการพึ่งพิงเงินทุนต่างชาติที่ค่อนข้างสูงโดยเปรียบเทียบ โดยช่วงเวลาดังกล่าวเศรษฐกิจทั้ง 2 ประเทศกลับมาฟื้นตัวเหนือระดับก่อนโควิดไปแล้ว อย่างไรก็ดี ไทยคาดว่าจะเป็นประเทศท้ายๆ ที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเนื่องจากเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากโควิดมากกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียน-6 อย่างมีนัยสำคัญ จึงต้องอาศัยการดำเนินโยบายการเงินผ่อนคลายที่นานกว่าประเทศอื่นๆ

ที่มา : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/economy/Pages/QE-z3269.aspx

ข่าวดี! เอฟทีเอ อาเซียน-ฮ่องกง เพิ่มความร่วมมือทางศก.อีก 5 สาขา จูงใจลงทุนแรงสุด

นายสรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจาก นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้เป็นหัวหน้าผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมหารือรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน – ฮ่องกง ครั้งที่ 5 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยหารือในประเด็นการติดตามความคืบหน้าการดำเนินการภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน–ฮ่องกง (AHKFTA) และความตกลงด้านการลงทุนอาเซียน–ฮ่องกง (AHKIA) ซึ่งมีผลบังคับใช้กับทุกภาคีสมาชิกแล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้

ทั้งนี้ นายสรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบให้เพิ่มสาขาความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการอีก 5 สาขา ได้แก่ มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช มาตรฐาน/กฎระเบียบทางเทคนิค/กระบวนการประเมินความสอดคล้อง ทรัพย์สินทางปัญญา เทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับการอำนวยความสะดวกทางการค้า และการส่งเสริมการลงทุน จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 5 สาขา ได้แก่ พิธีการศุลกากร บริการวิชาชีพ การอำนวยความสะดวกทางการค้า/โลจิสติกส์ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสาขาความร่วมมือที่เพิ่มขึ้นมาใหม่นี้จะช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจของไทยและอาเซียนในตลาดโลกได้

ที่มา : https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_2950650

บิ๊กซีรุกตลาดอาเซียน

บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ห้างค้าปลีกในกลุ่มบีเจซี เดินหน้าเปิดสาขา “มินิ บิ๊กซี” สาขาแรกในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เนื่องจากเห็นโอกาสการเติบโตทางการค้าของประเทศกัมพูชา โดยนับเป็นประเทศที่สามที่บิ๊กซีเดินหน้าขยายสาขา รองจากประเทศไทย และสปป.ลาว ซึ่งมินิบิ๊กซี มุ่งเน้นส่งมอบความสะดวกสบายให้กับลูกค้า ด้วยสินค้าและบริการที่ได้มาตรฐานในราคาที่เหมาะสม ด้านนายแกรี่ ฮาร์ดี้ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ ฝ่ายธุรกิจค้าปลีกบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ห้างค้าปลีกในกลุ่มบริษัทบีเจซี เปิดเผยว่า บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ สาขาปอยเปต ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ เดินหน้าขยายตลาดค้าปลีกในประเทศอาเซียน ล่าสุดเปิด “มินิบิ๊กซี สาขาตลาดเดโป” ร้านสะดวกซื้อสาขาแรกในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เนื่องจากมองเห็นโอกาสกำลังซื้อสูงจากการขยายตัวของธุรกิจท่องเที่ยว ในประเทศกัมพูชาที่มีแนวโน้มเติบโต โดยได้รับเกียรติจาก นายปัญญรักษ์ พูลทรัพย์ เอกอัครราชทูตไทย ประจำราชอาณาจักรกัมพูชา และ Mr. Penn Sovicheat ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานในพิธีเปิด

ที่มา : https://www.banmuang.co.th/news/directsale/250308

“สุพัฒนพงษ์” จ่อรับรอง AIFF ไฟเขียวลงทุนอาเซียนฉลุย

ครม.ไฟเขียว “สุพัฒนพงษ์” รับรอง ร่างกรอบการอำนวยความสะดวกการลงทุนอาเซียน “AIFF” ในที่ประชุม รมต.เศรษฐกิจอาเซียนและคณะมนตรีเขตการลงทุนอาเซียน “AEM-24th AIA Council Meeting” 8 ก.ย.นี้ร่าง AIFF ได้ให้ความสำคัญเรื่องการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนในฐานะเสาหลักสำคัญของการลงทุนที่นำไปสู่การรักษาและการเติบโตของการลงทุนในประเทศ ผ่านการสร้างบรรยากาศการลงทุนที่อำนวยความสะดวกแก่ผู้ลงทุนในการจัดตั้ง ดำเนินการและขยายการลงทุนและธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ภูมิภาคอาเซียนกำลังจะก้าวเข้าสู่สภาพแวดล้อมภายหลังวิกฤตการระบาดของโควิด-19

ที่มา : https://www.prachachat.net/economy/news-751162