วิเคราะห์ก้าวแรกของการพัฒนา CBDC ในภูมิภาค CLMVT

โดย ดร.ปพน เกียรติสกุลเดชา ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์

ในปัจจุบัน การคิดค้นเทคโนโลยีกระจายศูนย์ข้อมูล (Distributed Ledger Technology: DLT) ที่มีความรวดเร็ว ปลอดภัย และสามารถสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ใช้งานในด้านการชำระเงิน ได้นำไปสู่การพัฒนาสกุลเงินคริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) อย่างแพร่หลายในภาคเอกชนทั่วโลก เช่นเดียวกับภาคเอกชน ธนาคารกลางต่าง ๆ ทั่วโลกก็ได้เร่งริเริ่มที่จะนำนวัตกรรมเหล่านี้มาใช้ในระบบสถาบันการเงินในประเทศจนเกิดการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency: CBDC)

จุดมุ่งหมายของการพัฒนา CBDC โลกที่ผ่านมาเป็นอย่างไร และคาดว่าจะส่งกระทบอย่างไรต่อระบบเศรษฐกิจ?

การพัฒนา CBDC โดยธนาคารกลางต่าง ๆ ปัจจุบันนั้น สามารถแบ่งตามการใช้งานได้เป็น 2 ระดับ ได้แก่

1.ระดับธุรกรรมระหว่างสถาบันการเงิน (Wholesale CBDC) : การสร้างเครือข่ายการโอนทรัพย์สินระหว่างสถาบันการเงินทั้งในและระหว่างประเทศ

2.ระดับธุรกรรมรายย่อย (Retail CBDC) : การใช้สกุลเงินดิจิทัลแทนเงินสดในการทำธุรกรรมระหว่างประชาชนและธุรกิจรายย่อย

ในภาพรวม ทั้ง Wholesale CBDC และ Retail CBDC ได้ถูกพัฒนาขึ้นมา โดยมีเป้าหมายส่งเสริมการทำธุรกรรมทางการเงินให้รวดเร็วและปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นประโยชน์หลักที่ได้จากการนำ DLT (โดยเฉพาะในรูปแบบบล็อกเชน) มาใช้โดยธนาคารกลาง ที่จะทำให้สามารถลดต้นทุนในการประมวลผลธุรกรรมทางการเงินลงได้อย่างมีนัย รวมทั้งยังสามารถตรวจสอบตัวตนของคู่สัญญาธุรกรรมต่าง ๆ ได้อย่างรัดกุมมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ CBDC ทั้งสองประเภท หากถูกพัฒนาร่วมกันโดยกลุ่มประเทศในภูมิภาค ยังจะมีแนวโน้มนำไปสู่การเชื่อมโยงแพลตฟอร์ม และสนับสนุนให้ธุรกรรมระหว่างประเทศ (Cross-border Transactions) เป็นไปได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้นและด้วยต้นทุนที่ต่ำลงอีกด้วยเช่นกัน

แต่ทว่าหากมองลึกลงไปกว่าประสิทธิภาพของระบบสถาบันการเงินที่เพิ่มขึ้นนั้น การพัฒนาในระดับ Retail CBDC จะสามารถสร้างประโยชน์เพิ่มเติมได้ในอีกหลายด้าน โดยจะเป็นก้าวสำคัญต่อการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ ได้แก่

1. การเข้าถึงสถาบันการเงิน (Financial Inclusion) จะเพิ่มมากขึ้น ตามระบบ Retail CBDC ที่จะสามารถเข้าใช้งานได้ง่ายและรวดเร็วเพียงผ่านโทรศัพท์มือถือโดยไม่จำเป็นต้องผูกติดกับบัญชีธนาคาร ซึ่งข้อดีในจุดนี้ โดยเฉพาะสำหรับในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา จะช่วยให้กลุ่มประชาชนที่ไม่สามารถเข้าถึงสถาบันการเงินได้มาก่อนนั้น มีโอกาสหันมาเลือกใช้ Retail CBDC ที่สะดวกกว่าการถือเงินสดเพิ่มมากขึ้น

2. ช่องทางการดำเนินนโยบายทางการคลัง (Fiscal Policy) ของภาครัฐที่จะมีประสิทธิภาพมากขึ้นหลังมีการใช้ CBDC แทนเงินสดอย่างแพร่หลาย ตัวอย่างเช่น ภาครัฐสามารถออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่าน CBDC โดยประชากรสามารถนำเงินช่วยเหลือในรูปแบบดิจิทัลออกมาจับจ่ายใช้สอยได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องผ่านขั้นตอนการเปิดบัญชีธนาคารหรือเบิกจ่ายกับหน่วยงานของรัฐ นอกจากนี้ ภาครัฐยังสามารถเข้าถึงข้อมูลการจับจ่ายใช้สอยของประชากรในแต่ละกลุ่มสังคมเศรษฐกิจ (socioeconomic group) ซึ่งอาจต้องการความช่วยเหลือที่แตกต่างกัน การมี Retail CBDC platform จะช่วยให้ภาครัฐสามารถเลือกกลุ่มเป้าหมายและตั้งเงื่อนไขของมาตรการช่วยเหลือได้อย่างตรงจุดมากยิ่งขึ้น

3. การเพิ่มประสิทธิภาพของธนาคารกลางในการดำเนินนโยบายทางการเงิน (Monetary Policy) โดยการใช้ Retail CBDC แทนเงินสดนั้น จะช่วยให้ธนาคารกลางสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลปริมาณและการไหลเวียนของเงินในระบบได้อย่างแม่นยำมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการวางแผนนโยบายการเงินที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ยังมี CBDC อีกประเภทที่มีการจ่ายอัตราดอกเบี้ยในการถือครอง ซึ่งอาจเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ธนาคารกลางใช้ส่งผ่านผลของอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้โดยตรง

สถานะการพัฒนา CBDC โลกเป็นอย่างไรและภูมิภาค CLMVT อยู่ตรงจุดไหน?

ผลสำรวจล่าสุดโดย Bank of International Settlement พบว่า 86% ของธนาคารทั่วโลกกำลังดำเนินงานวิจัยเทคโนโลยี CBDC โดย 60% อยู่ในขั้นทดสอบระบบ ขณะที่เพียง 14% ได้เริ่มมีการทดลองใช้จริงในกลุ่มประชากรตัวอย่าง แม้ว่ากลุ่มประเทศที่มีการทดลองใช้ CBDC จริงแล้วประกอบด้วยกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักในโลก เช่น จีน ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และ สหภาพยุโรป แต่เป็นที่น่าจับตามองอย่างยิ่งว่าภูมิภาค CLMVT อยู่ในจุดที่ล้ำหน้ากว่าหลายชาติอื่นในโลกด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะไทยและกัมพูชา ซึ่งถูกจัดอันดับโดย PwC ว่าอยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลกในด้านการพัฒนา Wholesale CBDC และ Retail CBDC ตามลำดับ

สำหรับไทยนั้น โครงการอินทนนท์ซึ่งเป็น Wholesale CBDC ได้ถูกพัฒนาโดยธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งแต่ปี 2561 จนถึงในปี 2563 ได้พัฒนาไปถึงจุดที่มีการทดสอบการทำธุรกรรมข้ามพรมแดนโดยเชื่อมต่อกับ Project LionRock ของฮ่องกงได้สำเร็จ นอกจากนี้ ล่าสุดในปีนี้ ทาง ธปท. ยังได้เริ่มทำการศึกษาวิจัยต่อยอดไปสู่การทำ Retail CBDC แล้วเช่นกัน โดยมีเป้าหมายเบื้องต้นว่าจะมีการทดสอบใช้จริงในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2565

แนวโน้มการพัฒนา Retail CBDC สำหรับประเทศ LMVT (สปป.ลาว, เมียนมา, เวียดนาม และไทย) จะเป็นอย่างไร? บทเรียนล่าสุดที่ได้จากกัมพูชาคือ ประเทศกำลังพัฒนาที่มีการเข้าถึงสถาบันการเงินในระดับต่ำ แต่มีโครงสร้างประชากรที่พร้อมตอบรับเทคโนโลยีใหม่ นับได้ว่าเป็นจุดตั้งต้นที่สำคัญต่อการพัฒนาเงินดิจิทัลให้เข้ามาทดแทนเงินสดและดึงประชากรส่วนมากเข้าสู่ระบบสถาบันการเงินมากขึ้น สำหรับปัจจัยเหล่านี้ทั้ง สปป.ลาว เมียนมา และ เวียดนาม ล้วนมีประชากรน้อยกว่า 30% ที่เข้าถึงบัญชีธนาคาร ในขณะที่ประชากรส่วนใหญ่ยังมีอายุน้อย (ค่ามัธยฐานต่ำกว่า 30 ปี) แต่มีการเข้าถึงบริการโทรศัพท์มือถือในระดับที่สูง (เฉลี่ยมากกว่า 1 เบอร์โทรศัพท์ต่อคน) ด้วยปัจจัยแวดล้อมด้านประชากรที่คล้ายคลึงกับกัมพูชา ทำให้คาดได้ว่าการพัฒนา  Retail CBDC จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับประเทศเหล่านี้เช่นกัน และมีศักยภาพที่จะตามทันกัมพูชามาได้ในเวลาไม่ช้า

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/7775

กัมพูชาและเวียดนาม วางแผนเชื่อมทางด่วนระหว่างกัน

กัมพูชาและเวียดนามได้เพิ่มความเป็นไปได้ในการสร้างทางด่วนเชื่อมระหว่างสองประเทศ ณ จุดชายแดน หลังจากที่ทั้งสองประเทศได้หารือกันในประเด็นดังกล่าว โดยกระทรวงได้ขอให้บริษัทจีนผู้ซึ่งได้รับอนุญาตให้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการทางด่วนภายในกัมพูชา ให้ส่งรายงานขั้นสุดท้ายให้กระทรวงตรวจสอบ ซึ่งเร็ว ๆ นี้ทางการเวียดนามจะเริ่มก่อสร้างทางด่วนจากโฮจิมินห์ซิตี้ไปยังประตูชายแดนระหว่างประเทศ เพื่อเชื่อมต่อทางด่วนจากพนมเปญไปยังบาเวต โดยทางการหวังว่าการศึกษาจะแล้วเสร็จในเดือนธันวาคมปีนี้ และจะเร่งตรวจสอบการลงนามในสัญญาเงินกู้สัมปทานบนทางด่วนพนมเปญ-บาเวต ในระยะถัดไป และเมื่อรัฐบาลอนุมัติโครงการทางด่วน พนมเปญ-บาเวต แล้วจะถือเป็นทางด่วนแห่งที่ 2 ในกัมพูชา หลังจากที่ก่อนหน้าทางการกัมพูชาได้ก่อสร้างทางด่วนสาย พนมเปญ-สีหนุวิลล์ ที่จะมีความยาวกว่า 109 กิโลเมตร ซึ่งแล้วเสร็จไปแล้วมากกว่าร้อยละ 60

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50926403/cambodia-vietnam-boost-expressway-connection-hopes/

‘เวียดนาม’ เผย 8 เดือนแรก ปิดกิจการ 85,000 แห่ง

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ ธุรกิจกว่า 85,000 แห่ง ปิดกิจการ เนื่องจากได้รับผลกระทบรุนแรงจากการระบาดของโควิด-19 และจำนวนธุรกิจดังกล่าว ธุรกิจทั้งหมด 43,200 แห่งได้ปิดกิจการชั่วคราว เพิ่มขึ้น 25.9% ขณะที่ธุรกิจ 30,100 แห่งหยุดดำเนินงานและอยู่ระหว่างเลิกกิจการ เพิ่มขึ้น 24.5% โดยสิ่งที่น่าสังเกต คือในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา ธุรกิจกว่า 24,000 แห่งออกจากตลาดในเมืองโฮจิมินห์ ถือเป็นฮอตสปอตการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ คิดเป็น 28.1% ของตัวเลขทั้งหมด และเพิ่มขึ้น 6.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งการแพร่ระบาดระลอกที่ 4 นั้น ส่งผลกระทบสำคัญต่อการผลิตของกิจการในท้องถิ่นอย่างรุนแรง

ที่มา : https://tienphongnews.com/business-closures-hit-85000-over-eight-months-199878.html

‘เวียดนาม’ เผย 8 เดือนแรก รายได้ท่องเที่ยวดิ่งลงเหว

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ รายได้รวมจากการท่องเที่ยวในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ ลดลง 61.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 4.5 ล้านล้านดอง ขณะที่เดือนสิงหาคมเพียงเดือนเดียว มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าเวียดนามเพิ่มขึ้น 24.4% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน อยู่ที่ 9,300 คน ทั้งนี้ ในช่วงเวลาดังกล่าว จำนวนนักท่องเที่ยวชาวเอเชียลดลง 96.7% มาอยู่ที่ 90,600 คน คิดเป็นสัดส่วน 86.2% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมที่เดินทางเข้าเวียดนาม โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวยุโรป ดิ่งลง 98.6% ตามมาด้วยนักท่องเที่ยวอเมริกา 98.5% อีกทั้ง เป็นผลมาจากบังคับใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศลดลง 5.5% เหลือเพียง 31.2 ล้านคน รายได้รวมจากการท่องเที่ยวในช่วงดังกล่าว ลดลง 36.5% อยู่ที่ 136,520 พันล้านดอง

ที่มา : https://tienphongnews.com/tourism-revenue-endures-steep-plunge-over-eight-months-199899.html

‘เวียดนาม’ ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ส.ค. ลดลง 4.2%

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (IIP) เดือนสิงหาคม 2564 ลดลง 4.2% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และลดลง 7.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยในภาพรวม 8 เดือนแรก (ม.ค.-สิ.ค.) จำนวนทั้งหมด 1,135 โครงการมาจากนักลงทุนต่างชาติ ด้วยเงินทุนจดทะเบียนรวม 11.33 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ การพาณิชย์ การคมนาคม การขนส่งและการท่องเที่ยวยังคงได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโควิด-19 และโดยเฉพาะมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม นอกจากนี้ ดัชนี CPI ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.25% จากเดือนกรกฎาคม แต่ CPI ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 1.79% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขึ้นในระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2559 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นที่ฐานในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1021621/industrial-production-for-august-drops-42-per-cent.html

‘เวียดนาม’ เผย 8 เดือนแรก ขาดดุลการค้า 3.71 พันล้านเหรียญสหรัฐ

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ เวียดนามขาดดุลการค้า 3.71 พันล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากเวียดนามนำเข้าเพิ่มขึ้น 33.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา สู่ระดับ 216.26 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่การส่งออกเพิ่มขึ้น 21.5% สู่ระดับ 212.55 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนสินค้านำเข้า 13 รายการที่มีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ รวมกันมีสัดส่วน 88.7% ของมูลค่าทั้งหมด โดยส่วนใหญ่นำเข้าสินค้าทุนและสินค้าที่เป็นวัตถุดิบ จีนยังคงเป็นแหล่งนำเข้าที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ด้วยมูลค่า 72.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาเกาหลีใต้และอาเซียน ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า มีแผนที่จะใช้โอกาสจากข้อตกลงการค้าเสรีที่เวียดนามได้ร่วมลงนามไว้ เพื่อที่จะเข้าสู่ตลาดใหม่และส่งเสริมการค้าแก่กลุ่มประเทศที่ฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด-19

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-posts-371-billion-usd-in-trade-deficit-in-eight-months/207175.vnp