กัมพูชาตั้งเป้าส่งออกสินค้าเกษตรไปยังจีน

กัมพูชาตั้งเป้าส่งออกสินค้าเกษตรไปยังจีนเป็นตลาดหลักสำคัญ เนื่องจากปัจจุบันทางการกัมพูชาได้ลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีกัมพูชา-จีน (CCFTA) ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม ที่ผ่านมา ในขณะที่มูลค่าตลาดจีนในปัจจุบันอยู่ที่มูลค่า 805 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นร้อยละ 6.0 ของการส่งออกสินค้าทั้งหมด แต่หากนับเฉพาะสินค้าเกษตรตลาดจีนครองสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 40 หรือคิดเป็นมูลค่า 281 ล้านดอลลาร์ ของการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมดของกัมพูชาที่มูลค่าการส่งออกทั้งหมด 715 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ สำหรับตลาดจีนเน้นไปที่การนำเข้า กล้วย ข้าวสาร และมันสำปะหลังเป็นสินค้าสำคัญ นอกจากนี้ FDI ของจีนยังคงมีสัดส่วนสูงกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่าโครงการ FDI ที่ได้รับอนุมัติคิดเป็นมูลค่าโครงการรวมกว่า 4.0 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 260 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2022

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501200944/cambodias-agricultural-commodities-target-china-as-a-key-export-destination/

บ.เสื้อผ้าญี่ปุ่นหนีจีนซบอาเซียนเหตุ ‘ค่าแรงพุ่ง-ซีโร่ โควิด’

บรรดาซัพพลายเออร์ที่ผลิตเสื้อผ้าแฟชั่นให้แบรนด์เสื้อผ้าดังของญี่ปุ่นจำนวนมากเริ่มย้ายฐานการผลิตออกจากจีนเพื่อไปตั้งฐานการผลิตในประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียนแทน โดยเฉพาะในเวียดนามและกัมพูชา เนื่องจากต้นทุนค่าแรงงานในจีนที่แพงขึ้นและนโยบายกำจัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของทางการปักกิ่งให้เป็นศูนย์ ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ การเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ของบรรดาผู้ผลิตเสื้อผ้าญี่ปุ่น เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจท่ามกลางภาวะเงินเยนอ่อนค่าและต้นทุนวัตถุดิบแพงขึ้นมาก ขณะที่ความตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ที่มีผลบังคับไปเมื่อวันที่ 1 ม.ค. ที่ผ่านมา ก็มีส่วนช่วยต่อลมหายใจให้แก่บริษัทเหล่านี้ได้มาก โดยข้อมูลขององค์การการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) ระบุเสริมว่า ค่าจ้างแรงงานรายเดือนโดยเฉลี่ยของคนงานในโรงงานในกวางโจวของจีนอยู่ที่ประมาณ 670 ดอลลาร์ สูงกว่าค่าจ้างรายเดือนคนงานในโฮจิมินห์ ซิตี้ของเวียดนามซึ่งอยู่ที่ประมาณ 270 ดอลลาร์และในกรุงธาดา บังกลาเทศซึ่งอยู่ที่ 120 ดอลลาร์

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/world/1042066

เมียนมา ผลักดันบริษัทมากกว่า 600 แห่ง ยื่นจดทะเบียนกับ GACC เพื่อส่งออกสินค้าเกษตรไปจีน

บริษัทและวิสาหกิจในเมียนมามากกว่า 600 แห่ง รวมถึงบริษัทส่งที่ออกข้าว ข้าวหัก ข้าวโพด และกล้วย กำลังพยายามยื่นนจดทะเบียนกับกรมศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (GACC) เพื่อส่งออกสินค้ามากกว่า 1,600 รายการ โดยหน่วยงานของภาครัฐต่างๆ เช่น กรมวิชาการเกษตร กรมปศุสัตว์และสัตวแพทย์ กรมประมง และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กำลังยื่นมือเข้าช่วยเหลือบริษัท วิสาหกิจ องค์กร และนิติบุคคล ที่กำลังขึ้นทะเบียนกับ GACC สำหรับสินค้าเกษตร เช่น ข้าว ข้าวหัก ข้าวโพด และกล้วย ซึ่งสินค้าเกษตรของเมียนมาที่มีข้อตกลงระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล (G2G) นั้นมีส่วนแบ่งการตลาดที่เติบโตค่อนข้างแข็งแกร่ง ทั้งนี้บริษัทหรือวิสาหกิจที่จะทำการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวกับ น้ำมันเพื่อการบริโภค เมล็ดพืชน้ำมัน ขนมยัดไส้ รังนกและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ธัญพืชและมอลต์ ผักสดและแห้ง ถั่วแห้ง พันธุ์พืช ถั่วและเมล็ดพืช ผลไม้แห้ง กาแฟที่ยังไม่ได้คั่วและเมล็ดโกโก้ อาหารเพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์จากผึ้ง ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ รวมถึงผลิตภัณฑ์จากฟาร์ม ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ และอาหารสัตว์ จำเป็นต้องยื่นขอใบอนุญาตจาก GACC เพื่อวางขายสินค้าในตลาดจีน

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/over-600-local-companies-eye-registering-with-gacc-to-export-agri-products/#article-title

กรมส่งเสริมการค้าเซี่ยงไฮ้ ตกลงร่วมมือทางเศรษฐกิจกับ สปป.ลาว

กรมส่งเสริมการค้า ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) ร่วมกับทางการเซี่ยงไฮ้ของจีนเกี่ยวกับความร่วมมือทางการค้าและทางเศรษฐกิจ โดยข้อตกลงดังกล่าวได้ลงนามระหว่างงาน China International Import Expo ตั้งแต่ในช่วงวันที่ 5-11 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ซึ่งบันทึกความเข้าใจดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) โดยหวังว่าจะกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาค รวมถึงมีส่วนในการพัฒนาและการเปิดประเทศของจีน ผ่านโครงการ One Belt, One Road ในฐานะคู่ค้าสำคัญของจีน ซึ่ง สปป.ลาว เป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล แต่ปัจจุบันได้มีการเปิดเส้นทางรถไฟสายใหม่ ส่งผลทำให้ สปป.ลาว เชื่อมต่อกับประเทศคู่ค้าในภูมิภาคได้กว้างมากขึ้น โดยเฉพาะกับจีนที่มีประชากรรวมกว่า 1.4 พันล้านคน

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten218_Trade.php

กัมพูชาหวังเปิดตลาดจีนด้วยมะพร้าวหอมพันธุ์ไทย

กัมพูชาเริ่มการเจรจากับจีนเพื่อส่งเสริมการส่งออกสินค้าเกษตร 7 รายการ โดยหนึ่งในนั้นมีมะพร้าวหอมรวมอยู่ด้วย ในขณะที่กัมพูชาได้เร่งสนับสนุนการปรับปรุงพันธุ์เพื่อส่งเสริมการส่งออกมะพร้าวในอนาคตไปยังประเทศจีน ซึ่งในบรรดาพันธุ์ต่างๆ มะพร้าวหอมของไทยค่อนข้างเป็นที่นิยมในตลาดและปัจจุบันมีการเพาะปลูกกันอย่างแพร่หลายในกัมพูชา ส่งผลทำให้ทางการกัมพูชาคาดว่าจะใช้มะพร้าวหอมพันธุ์ไทยเป็นสินค้าเกษตรชนิดแรกๆ ในการเปิดตลาดจีน โดยลักษณะของมะพร้าวหอมไทยจะมีขนาดเล็กกว่ามะพร้าวทั่วไป และยังมีรสชาติที่เข้มข้น รสชาติหวานปานกลางและมักจะมีราคาแพงกว่ามะพร้าวทั่วไป แต่อย่างไรก็ตามผลผลิตมะพร้าวของกัมพูชาในแต่ละปีมีเป็นจำนวนมาก รวมถึงยังมีความหลากหลายในส่วนของชนิดพันธุ์ ส่งผลทำให้ราคาโดยภาพรวมจึงยังคงอยู่ในระดับต่ำ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501181326/cambodia-hopes-to-open-the-chinese-market-with-the-thai-fragrant-coconut-2/

‘จุรินทร์’ เดินหน้าขยายความร่วมมือเศรษฐกิจการค้าไทย-จีน ในโอกาสเจ้าภาพจัดประชุม APEC 2022

“จุรินทร์” รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ชี้คำกล่าว ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จากประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน (CPC) ครั้งที่ 20 ที่ผ่านมา โดยประกาศขยายความร่วมมือกับนานาประเทศ จะส่งผลดีต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกหลังโควิด-19 คลี่คลาย ขณะที่ไทยได้รับโอกาสเป็นเจ้าภาพในดารจัดประชุม APEC 2022 พร้อมผนึกกำลังจีน เดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจ การค้า และรับมือกับความเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ จากนโยบายเปิดกว้างสู่ภายนอกของจีน โดยผลักดันความร่วมมือภายใต้โครงการ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” การเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้กับนานาประเทศตามรูปแบบการพัฒนาของจีน และส่งเสริมการสร้างเศรษฐกิจโลกที่เปิดกว้าง ทำให้ทั่วโลกได้ตระหนักว่าจีนมีขีดความสามารถและศักยภาพที่จะดำเนินความร่วมมือกับทั่วโลก เพื่อเพื่อเสริมสร้างประโยชน์ระหว่างกัน ซึ่งจะส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกหลังสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง

ที่มา : https://www.naewna.com/relation/691045

ทุนจีนขยายการลงทุนต่อเนื่องใน SSEZ กัมพูชา พัฒนาห่วงโซ่อุปทานระดับโลก

เขตเศรษฐกิจพิเศษสีหนุวิลล์ (SSEZ) ซึ่งจีนเป็นผู้ลงทุนในกัมพูชา ได้เปลี่ยนให้จังหวัดชายฝั่งทางตะวันตกเฉียงใต้ของพระสีหนุ ให้มีความเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานระดับภูมิภาคและระดับโลก ด้าน Long Dimanche รองผู้ว่าราชการจังหวัด กล่าวว่า SSEZ ถือเป็นเขตอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในแง่ของขนาดเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของกัมพูชา ซึ่งเขตอุตสาหกรรมดังกล่าวมีขนาดกว่า 11 ตารางกิโลเมตร ปัจจุบันมีโรงงานประมาณ 170 แห่ง ทั้งจากจีน ยุโรป สหรัฐฯ ประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และภูมิภาคอื่นๆ ด้วยเงินลงทุนรวมกว่า 1.3 พันล้านดอลลาร์ สร้างการจ้างงานกว่า 30,000 ตำแหน่ง เน้นไปที่ภาคการผลิตเสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋าและเครื่องหนัง รวมไปถึงเครื่องจักร วัสดุก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน ชิ้นส่วนรถยนต์ และยางรถยนต์ เป็นต้น ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าและส่งออกผ่าน SSEZ เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 1.9 พันล้านดอลลาร์ ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 21 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในอนาคตคาดว่า SSEZ จะสามารถรองรับโรงงานได้ทั้งหมด 300 แห่ง ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และจะสร้างงานให้กับชาวกัมพูชามากถึง 100,000 ตำแหน่ง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501181084/chinese-invested-economic-zone-integrating-cambodias-sihanoukville-into-regional-global-supply-chains-official/

‘รถไฟจีน-ลาว’ โอกาสไทยได้นักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้าประเทศ

สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) อ้างตามรายงานจาก “Thaiger” เปิดเผยว่าหากทางการจีนอนุญาตให้เดินทางขาออกได้ ชาวจีนจำนวนอย่างน้อย 3 ล้านคนจะเดินทางผ่านทางรถไฟจีน-ลาว ขณะที่นายกสมาคมโรงแรมและร้านอาหารลาว กล่าวกับสำนักข่าวเวียงจันทน์ไทมส์ว่าภาคธุรกิจการท่องเที่ยวได้เตรียมความพร้อมในการต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางมายังสปป.ลาวและประเทศอาเซียน ซึ่งจะเปิดให้บริการรถไฟจีน-ลาว ตลอดจนเร่งปรับปรุงการบริการโรงแรมและร้านอาหาร เพื่อรองรับกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ นายอดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว กล่าวว่าไทยต้องคว้าโอกาสจากการที่สปป.ลาวเปิดรับนักท่องเที่ยว เนื่องจากสปป.ลาวอาจไม่สามารถรองรับกับนักท่องเที่ยวจำนวนมากได้ โดยเฉพาะสิ่งอำนวยความสะดวกและที่พัก นอกจากนี้ ทางรถไฟจีน-ลาว เป็นส่วนหนึ่งของโครงการทางรถไฟคุนหมิง-สิงคโปร์ด้วย (ไทย สปป.ลาวและมาเลเซีย)

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten2022_Thailand214.php

รมว.พาณิชย์กัมพูชา ลงนามส่งออกรังนกนางแอ่นไปยังจีน

กระทรวงพาณิชย์ (MoC) ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) กับศูนย์การค้าเซี่ยเหมินในกัมพูชา ซึ่งดำเนินการโดยบริษัทสัญชาติจีน เพื่อเพิ่มการส่งออกรังนกนางแอ่นไปยังประเทศจีน โดย MoU ดังกล่าวลงนามโดย Kao Kosal อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าของกระทรวงพาณิชย์ และ Zeng Youmin ผู้อำนวยการศูนย์การค้าเซี่ยเหมินกัมพูชา ซึ่งวัตถุประสงค์หลักคือการสร้างพันธมิตรในการผลิตและจัดหาผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับรังนก รวมถึงเป็นการส่งเสริมการพัฒนาโรงงานแปรรูปรังนกภายในกัมพูชา โดยเฉพาะเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนภาคเอกชนรายย่อย (SMEs) เพื่อเป็นการสร้างเสถียรภาพในตลาดรังนกกัมพูชา ภายใต้คุณภาพ มาตรฐานสุขอนามัย และความปลอดภัย เป็นสำคัญ ซึ่งทางการกัมพูชาคาดหวังเป็นอย่างมากที่จะเพิ่มการส่งออกผลิตภัณฑ์รังนกไปยังประเทศจีน โดยในปี 2020 กัมพูชามีรังนกนางแอ่นจำนวนกว่า 872 หลัง ที่สามารถผลิตรังนกได้ประมาณ 1-1.5 ตันต่อเดือน ในขณะที่ราคารังนกสดปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 700-900 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัม และรังนกแปรรูปอยู่ที่ประมาณ 1,500-2,000 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัม ตามข้อมูลของกรมวิชาการเกษตร (GDA)

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501177180/commerce-ministry-chinese-firm-sign-swiftlet-nest-exports-mou/

จีนลดการนำเข้าถั่วลิสงจากเมียนมา กดราคาร่วงต่ำกว่า 6,000 จัตต่อ viss

ศูนย์ขายส่งสินค้ามัณฑะเลย์ เผย ผลผลิตถั่วลิสงที่เก็บเกี่ยวใหม่จำนวนมากจาก ภูมิภาคต่างๆ ของเมียนมากำลังถูกขนส่งไปจำหน่ายยังตลาดมัณฑะเลย์ส่งผลให้ราคาร่วงลงต่ำกว่า 6,000 จัตต่อ viss (viss เท่ากับ 1.6 กิโลกรัม) และความต้องการที่ลดต่ำลงของจีนส่งผลให้ราคาร่วงลงอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 1 กันยายน2565 ราคาถั่วลิสงอยู่ระหว่าง 6,800 ถึง 7,200 จัตต่อ viss ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ แต่ราคา ณ  เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2565 ราคาลดลงอยู่ระหว่าง 4,700-5,800 จัตต่อ viss ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนการลดลงอย่างรวดเร็วถึง 1,000 จัตต่อ viss ในระยะเวลาเพียงแค่หนึ่งเดือน

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/chinas-low-demand-drives-peanut-prices-down-to-below-k6000-per-viss/