กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยัง ไทย-เวียดนาม เพิ่มขึ้น

การส่งออกของกัมพูชาไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทยและเวียดนาม เพิ่มขึ้นในช่วงเดือนมกราคมปีนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งตรงกันข้ามกับการส่งออกไปยังตลาดหลัก เช่น จีนและสหรัฐฯ ที่ลดลงในช่วงดังกล่าว โดยจากข้อมูลของกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) การส่งออกไปยังประเทศไทยพุ่งสูงขึ้นร้อยละ 22.8 หรือคิดเป็นมูลค่า 107 ล้านดอลลาร์ และส่งออกไปยังเวียดนามเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.7 คิดเป็นมูลค่า 172 ล้านดอลลาร์ ในเดือนมกราคม 2023 ขณะที่การส่งออกไปยังจีนกลับลดลงที่ร้อยละ 22.2 คิดเป็นมูลค่า 81 ล้านดอลลาร์ และส่งออกไปยังสหรัฐฯ มูลค่า 562 ดอลลาร์ หดตัวร้อยละ 23 ในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งเวียดนามถือเป็นตลาดส่งออกใหญ่เป็นอันดับสองของกัมพูชาในเดือนมกราคมปีนี้ ด้วยสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 11 ขณะที่ไทยที่มีสัดส่วนการส่งออกอยู่ที่ร้อยละ 6.9 เป็นอันดับสาม ตามมาด้วยญี่ปุ่นและจีน ตามลำดับ แต่ถึงอย่างไรสหรัฐฯ ก็ยังคงเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดสำหรับการส่งออกของกัมพูชา โดยมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 35.9 ของการส่งออกในเดือนมกราคม

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501241502/exports-to-thailand-vietnam-up-as-traditional-markets-shrink/

กสิกรไทย คาดเศรษฐกิจไทยปีนี้เติบโต 3.7% จับตาการค้าโลกไม่สดใสกดดันส่งออกไทยเสี่ยงโตต่ำคาด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ของปี 2565 ที่ผ่านมา ขยายตัวต่ำกว่าคาดที่ 1.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ทั้งปี 2565 เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพียง 2.6% ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่ำกว่าคาดการณ์ที่ 3.2% ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ ตัวเลขการเติบโตจีดีพีของไทยในไตรมาส 4/2565 มีปัจจัยกดดันหลักมาจากส่งออกสินค้าที่หดตัวถึง -10.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามโมเมนตัมเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง

นอกจากนี้ การบริโภคภาครัฐก็หดตัวลง ขณะที่การลงทุนภาครัฐก็ขยายตัวต่ำกว่าคาด เนื่องจากการใช้จ่ายและลงทุนที่เกี่ยวข้องกับโควิดนั้นลดลงอย่างมาก

ด้านปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/2565 การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ส่งผลให้การส่งออกในภาคบริการนั้นขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้นที่ 94.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวก็ได้ส่งผลต่อเนื่องไปยังการจ้างงาน รวมถึงการบริโภคภาคเอกชนที่ยังขยายตัวได้ดีที่ 5.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในไตรมาส 4/2565 แม้จะชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวได้ถึง 9.1%

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยที่ 3.7% ซึ่งสูงกว่าประมาณการของสภาพัฒน์ที่ 2.7-3.7% (ค่ากลางอยู่ที่ 3.2%) จากแรงหนุนของภาคการท่องเที่ยวที่ยังคงจะเป็นขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยต่อเนื่องไปในปีนี้ แม้การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกอาจกดดันการส่งออกไทยให้หดตัวเล็กน้อยในปีนี้

ที่มา: https://www.thairath.co.th/business/feature/2634206

ไทยเร่งยกระดับความร่วมมืออาเซียน เพิ่ม FTA หนุนเศรษฐกิจฟื้น

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน (Senior Economic Officials Meeting: SEOM) ที่ผ่านมาณ เมืองเซอมารัง สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ที่ผ่านมาได้พิจารณาประเด็นสำคัญด้านเศรษฐกิจ รวมทั้งการเร่งติดตามความคืบหน้าในการเจรจายกระดับความตกลงการค้าเสรี (FTA)

ทั้งนี้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้รับทราบประเด็นเรื่องการประชุมดังกล่าว ซึ่งในปีนี้เน้นย้ำถึงประเด็น บทบาทอาเซียนที่มีความสำคัญในฐานะศูนย์กลางการเจริญเติบโต (ASEAN Matters: Epicentrum of Growth) พร้อมตั้งเป้าให้เศรษฐกิจอาเซียนเติบโตอย่างรวดเร็ว ครอบคลุม และยั่งยืน

นอกจากนี้ในที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน ยังได้เร่งผลักดันประเด็น การเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน การสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของ MSMEs การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล การพัฒนาที่ยั่งยืน การลดกำแพงภาษี ระหว่างภูมิภาค รวมถึงขยายความสัมพันธ์กับประเทศนอกภูมิภาค

ที่มา: https://www.thansettakij.com/business/economy/556633

“พาณิชย์-DITP” ชี้เป้านักลงทุนไทยลงทุนธุรกิจโลจิสติกส์ในเวียดนาม

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้มอบหมายให้กรมฯ สำรวจลู่ทางและโอกาสการส่งออกสินค้าไทยในประเทศต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้รับข้อมูลจาก นางสาวธนียา ฟูเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงฮานอย ถึงการติดตามสถานการณ์การแข่งขันของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในเวียดนาม และโอกาสในการเข้าไปลงทุนด้านโลจิสติกส์ของผู้ประกอบการไทย

ทั้งนี้ ทูตพาณิชย์ได้รายงานแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในเวียดนามว่าเมื่อเร็วๆ นี้ นาย เล มินห์ ไค รองนายกรัฐมนตรีเวียดนาม ได้ลงนามในข้อมติ No.163/NQ-CP ว่าด้วยการส่งเสริมการดำเนินการงานหลักเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและส่งเสริมอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในประเทศ เพื่อพัฒนาบริการโลจิสติกส์ให้เป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นเพื่อเชื่อมโยงกับการพัฒนาการผลิตสินค้า การนำเข้า การส่งออก และการค้าภายในประเทศ และการเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการด้านบริการโลจิสติกส์ ดังนั้น จึงเป็นโอกาสการลงทุนธุรกิจโลจิสติกส์ในเวียดนามของนักลงทุนไทย เพื่อรองรับการขยายตัวของความต้องการคลังสินค้าและการขนส่งที่เพิ่มขึ้น

ที่มา : https://www.thailandplus.tv/archives/670257

กรมการค้าต่างประเทศเตือน ระวังสินค้าเสี่ยงสวมสิทธิ์ไทย

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมได้ปรับปรุงแก้ไขบัญชีสินค้าเฝ้าระวัง หรือสินค้าที่มีความเสี่ยงสูงที่จะแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าจากไทยส่งออกไปสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (อียู) เพิ่มเติมอีก 8 รายการ รวมเป็น 48 รายการ เพื่อให้สอดคล้องกับรายการสินค้าที่สหรัฐฯ และอียูได้ตรวจสอบ รวมถึงป้องกันประเทศอื่นสวมสิทธิ์ไทยส่งออก โดยสินค้า 8 รายการเป็นสินค้าเฝ้าระวังส่งออกไปสหรัฐฯ 6 รายการ คือ 1.พื้นไม้อัด 2.ผ้าแคนวาส 3.เหล็กลวดคาร์บอน 4.ท่อเหล็กคาร์บอน 5.ตะปูเหล็ก 6.ลวดเย็บกระดาษ และส่งออกไปอียู 2 รายการ คือ 1.เหล็กลวดคาร์บอน 2.อะลูมิเนียมเส้นหน้าตัด

อย่างไรก็ตาม มีสินค้า 1 รายการที่นำออกจากรายการสินค้าเฝ้าระวังส่งออกไปอียู ได้แก่ มอเตอร์ไฟฟ้า และสินค้าที่ส่งออกไปสหรัฐฯ 1 รายการ ได้แก่ ฟูกที่นอน โดยมีผลวันที่ 1 ก.พ.66 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ผู้ส่งออกที่ต้องการส่งออกสินค้าทั้ง 48 รายการไปสหรัฐฯ และอียู ต้องยื่นขอตรวจสอบถิ่นกำเนิดสินค้าจากกรม เพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบในการขอใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (ฟอร์มซีโอทั่วไป) ก่อนส่งออก.

ที่มา: https://www.thairath.co.th/business/economics/2629101

เร่งเอฟทีเอ “อาเซียน-จีน” เสร็จปีหน้า

นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ ได้เป็นประธานฝ่ายอาเซียน เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการกำกับการดำเนินงานภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน สมัยพิเศษ ครั้งที่ 3 เพื่อหารือการเริ่มเจรจายกระดับความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) อาเซียน-จีน ให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมธุรกิจในปัจจุบัน และสามารถรองรับความท้าทายที่เกิดขึ้นในโลก

 

สำหรับการประชุมครั้งนี้ อาเซียนและจีนได้ข้อสรุปเกี่ยวกับแผนงานการเจรจา ระเบียบวิธีการประชุม โครงสร้างข้อบทที่จะอยู่ในความตกลง และตั้งเป้าหมายเจรจาให้เสร็จสิ้นภายในปี 67 ซึ่งจะช่วยขยายมูลค่าการค้าของทั้ง 2 ฝ่ายให้เติบโต ผ่านการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงให้มากขึ้น รวมถึงเสริมสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างกันให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น สำหรับความตกลง ACFTA ฉบับเดิม เริ่มมีผลใช้บังคับด้านการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน ตั้งแต่ปี 2548 2550 และ 2553 ตามลำดับ อาเซียนและจีนจึงเห็นความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงเพื่อยกระดับความตกลงดังกล่าว

 

ทั้งนี้ ปัจจุบันจีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของอาเซียน โดยช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 65 การค้าระหว่างกัน มีมูลค่า 530,327 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 9.68% เทียบช่วงเดียวกันของปี 64 โดยอาเซียนส่งออก 210,928 ล้านเหรียญฯ และอาเซียนนำเข้า 319,399 ล้านเหรียญฯ.

ที่มา: https://www.thairath.co.th/business/economics/2628191

คาดส่งออกไตรมาส 1 ติดลบ 3-5%

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก กล่าวว่า คาดภาวะการส่งออกของไทยในไตรมาส 1/2566 อาจเติบโตน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยคาดว่าจะติดลบ 3-5% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว แม้การส่งออกในเดือน ม.ค. 2566 จะขยายตัวได้ดีกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อนก็ตาม แต่ทั้งปียังมั่นใจว่าการส่งออกจะขยายตัวได้ 1-2% สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญ ได้แก่ 1.ปริมาณสินค้าคงคลังของคู่ค้ายังคงทรงตัวในระดับสูง ส่งผลให้คู่ค้าชะลอคำสั่งซื้อสินค้า 2.ต้นทุนการผลิตยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าที่ปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการ และจำเป็นต้องส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปยังผู้บริโภค (Consumer) และ 3. สถานการณ์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ผู้ส่งออกสูญเสียความสามารถในการแข่งขันทางด้านราคาต่อประเทศคู่ค้าและคู่แข่งที่มีค่าเงินอ่อนกว่าไทย 4. ราคาพลังงานในตลาดโลกยังคงมีความผันผวนตามสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ คาดราคาจะอยู่ที่ระดับ 80-90 ดอลลาร์/บาร์เรล ทั้งนี้ มองว่า แม้จะมีปัจจัยลบหลายเรื่อง แต่เชื่อว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจีนจะเป็นปัจจัยบวกที่ส่งผลดีกับภาคการส่งออกได้มากกว่า

ที่มา : https://www.thaipost.net/economy-news/318850/

เปิดโผสินค้าที่พร้อมฝ่าพิษเศรษฐกิจ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้รายงานสถานการณ์ภาคอุตสาหกรรมไทยในปีนี้ว่า มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา แต่ภาคอุตสาหกรรมไทยยังต้องปรับตัวเผชิญกับความท้าทาย ทั้งความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจโลก ความไม่แน่นอนจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศมหาอำนาจ และภัยธรรมชาติ ขณะที่อุตสาหกรรมที่จะมีการเติบโตและขยายตัวได้โดดเด่นในปีนี้ มีอาทิ ยานยนต์ โดยเฉพาะยานยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม, ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มีความต้องการใช้ที่สูงขึ้นมาก จากการเติบโตของอุตสาหกรรมดิจิทัล ในทุกอุตสาหกรรม อาทิ การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะแผ่นวงจรรวม (IC) และแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCBA) ขณะที่อาหารและเครื่องดื่มที่เกี่ยวกับสุขภาพ อาหารเสริม อาหารทางการแพทย์ อาหารสำหรับผู้สูงอายุ เครื่องดื่มสมุนไพร เติบโตจากกระแสรักษ์และดูแลสุขภาพ, เครื่องปรับอากาศอัจฉริยะ ได้แก่ เครื่องปรับอากาศที่มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ เช่น สามารถดักจับฝุ่น PM 2.5, พลาสติกชีวภาพ ที่ปลอดสารพิษและย่อยสลายได้ ที่ใช้เป็นส่วนประกอบ สำหรับทำบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม, เภสัชภัณฑ์ โดยเฉพาะยาเม็ดสกัด จากสมุนไพรได้รับการตอบรับที่ดี เช่น ฟ้าทะลายโจร แคปซูลขมิ้นชัน ลูกประคบสมุนไพร ส่งผลให้มีการผลิตเพิ่มมากขึ้น รองรับความต้องการของผู้บริโภค ทั้งภายในและนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในไทย

ที่มา: https://www.thairath.co.th/business/economics/2622956

หอค้าเชียงใหม่ ผวา ‘นอมินีจีน’ ขยับลงทุนฮุบธุรกิจ ‘โรงแรม-ร้านอาหาร-สถานบันเทิง-ทัวร์’

เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ นายจุลนิตย์ วังวิวัฒน์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า นักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และท่องเที่ยวในเชียงใหม่ และภาคเหนือ ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนด้านท่องเที่ยว อาทิ โรงแรม ภัตตาคารร้านอาหาร สปา สถานบันเทิง และทัวร์ เพื่อนำนักท่องเที่ยวจีนมายังเชียงใหม่และภาคเหนือ แต่นักลงทุนดังกล่าว ส่วนมากถือวีซ่าท่องเที่ยว จึงไม่ต้องเสียภาษี ทำให้ได้เปรียบนักลงทุนท้องถิ่น เพราะต้นทุนต่ำกว่า ประกอบกับค่าเงินหยวนแข็ง ทำให้ได้เปรียบอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท ทำให้มีเงินทุนหมุนเวียนมากขึ้น มีอำนาจซื้อและต่อรองสูงขึ้น ซึ่ง ททท.ประเมินว่า ปีนี้นักท่องเที่ยวจีนเข้าสู่เชียงใหม่ และภาคเหนือ กว่า 2 ล้านคน โดยสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ การลงทุนแบบแอบแฝง หรือธุรกิจสีเทา ที่นำไปสู่อาชญากรรมข้ามชาติ และการฟอกเงินที่ผิดกฎหมาย อาทิ ยาเสพติด บ่อนกาสิโน แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่บ่อนทำลายและสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจประเทศ ดังนั้นรัฐต้องมีมาตรการป้องกันและปราบปรามจริงจัง พร้อมบังคับใช้กฎหมายการสงวนอาชีพคนไทยไม่ให้ต่างชาติลงทุน หรือประกอบอาชีพได้ เพื่อคุ้มครองสิทธิ รักษาผลประโยชน์นักลงทุน ผู้ประกอบการในประเทศ และท้องถิ่น

ที่มา: https://www.matichon.co.th/economy/news_3807262

เจรจา FTA ไทย-อียู จุรินทร์ทิ้งทวนก่อนเลือกตั้ง

เมื่อวันที่ 25-26 มกราคม 2566 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นำคณะผู้บริหารเข้าหารือกับนายวัลดิส โดมโบรฟสกิส (H.E. Mr. Valdis Dombrovskis) รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปด้านเศรษฐกิจและกรรมาธิการยุโรปด้านการค้า หรือรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าของสหภาพยุโรป ที่กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม เพื่อหารือประเด็นเปิดเจรจา FTA ไทย-อียู หากนับย้อนกลับไปการเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป (EU) ไม่ได้ถือเป็นเรื่องใหม่ เพราะไทยได้เริ่มเจรจากับ EU มาแล้ว 4 รอบ นับตั้งแต่ปี 2557 ตามข้อมูลกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศระบุว่า สหภาพยุโรปเป็นคู่ค้าอันดับที่ 4 ของไทย รองจากอาเซียน จีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น โดยในปี 2565 การค้าระหว่างไทยกับอียู มีมูลค่า 41,038 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.87% สัดส่วนการค้าประมาณ 7% ของการค้ากับโลก และไทยส่งออกไปอียู มูลค่า 22,794 ล้านเหรียญสหรัฐ (843,378 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 5.17% ซึ่งจากการที่ไทยปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบให้มีความทันสมัย เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคปัจจุบัน ส่งผลให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นของจากทุกภาคส่วนทั่วประเทศ

ที่มา : https://www.prachachat.net/economy/news-1191554