กัมพูชาเล็งทำข้อตกลงด้านการค้าเสรีร่วมกับญี่ปุ่น

Pan Sorasak รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มอบหมายหน่วยงานในการดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างกัมพูชาและญี่ปุ่น หลังจากในช่วงปีนี้การส่งออกสินค้าของกัมพูชาไปยังญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ซึ่งรัฐมนตรีได้กล่าวข้อความดังกล่าวไว้ในงานสัมมนาที่มีนักธุรกิจและผู้ประกอบการจากทั้งสองประเทศเข้าร่วมหารือเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกทางการค้าในยุคดิจิทัลระหว่างญี่ปุ่นและกัมพูชาเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (9 มิ.ย.) โดยกล่าวเสริมว่าทั้งสองประเทศควรใช้ประโยชน์จากข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) อย่างเต็มที่ ซึ่งในระยะถัดไปทางการกัมพูชาคาดหวังถึงการทำข้อตกลงการค้าเสรีกับญี่ปุ่นโดยตรง และกำลังเร่งศึกษา รวมถึงพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการจัดทำข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างกัน โดยปัจจุบันญี่ปุ่นถือเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 สำหรับสินค้าส่งออกของกัมพูชา ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ คิดเป็นมูลค่าการส่งออกของกัมพูชาไปยังญี่ปุ่นมูลค่า 442 ล้านดอลลาร์ สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ เครื่องสำอาง เครื่องใช้สำนักงาน และเครื่องหนัง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501306688/cambodia-eyes-free-trade-agreement-with-japan/

ในช่วง 5 เดือนแรงของปี กัมพูชาส่งออกแตะ 9.18 พันล้านดอลลาร์

การส่งออกของกัมพูชาในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2023 มูลค่ารวมแตะ 9.18 พันล้านดอลลาร์ ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 2.4 จากเมื่อช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีการส่งออกรวมมูลค่า 9.41 พันล้านดอลลาร์ ตามการรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชา โดยสินค้าส่งออกสำคัญของกัมพูชา ได้แก่ เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า สินค้าเดินทาง จักรยาน และสินค้าเกษตร อาทิ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง กล้วย และมะม่วง สำหรับประเทศส่งออก 5 อันดับแรกของกัมพูชา ได้แก่ สหรัฐฯ เวียดนาม จีน ไทย และญี่ปุ่น ซึ่งคาดว่าข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ข้อตกลงการค้าเสรีกับจีน (CCFTA) และเกาหลี (CKFTA) จะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการส่งออกของกัมพูชา

ในขณะเดียวกันการนำเข้าของกัมพูชาจากต่างประเทศมีมูลค่ารวม 10,109 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเวลาดังกล่าว ลดลงร้อยละ 22.6 จากมูลค่ารวม 13,057 ล้านดอลลาร์ ในช่วงปีก่อนหน้า ขณะที่สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมัน ก๊าซ วัตถุดิบสำหรับเสื้อผ้า รองเท้า สินค้าเพื่อการเดินทาง ยานพาหนะ เครื่องจักร เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงสินค้าอื่นๆ เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501306111/cambodia-exports-reach-9-18-billion-in-five-months/

4 เดือนแรกของปี กัมพูชาอนุมัติโครงการลงทุนมูลค่ารวม 588 ล้านดอลลาร์

สภาเพื่อการพัฒนาแห่งกัมพูชา (CDC) อนุมัติโครงการลงทุนกว่า 65 โครงการ มูลค่าการลงทุนมากกว่า 588 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากประเทศจีนเป็นสำคัญ คิดเป็นกว่าร้อยละ 73.5 ของ FDI ทั้งหมดที่ได้เข้ามาลงทุนยังกัมพูชา ด้าน Chea Vuthy รองเลขาธิการ CDC กล่าวเสริมว่า FDI มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมของกัมพูชา รวมถึงก่อให้เกิดการสร้างงานให้กับคนในท้องถิ่น และเป็นการเพิ่มปริมาณการส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยการลงทุนของจีนที่เพิ่มขึ้นสะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศ อีกทั้งสภาพแวดล้อมด้านการลงทุนที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุน ไปจนถึงกัมพูชายังมีข้อตกลงการค้าเสรีในระดับทวิภาคีอีกหลายฉบับ อาทิเช่น FTA กัมพูชา-จีน, FTA กัมพูชา-เกาหลี และ RCEP

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501294135/588m-investment-projects-approved-in-four-months/

จับตาส่งออกข้าวไทย-เวียดนาม ระอุ ยอดส่งออกไตรมาสแรกเบียดสูสี

ปี 2565 ไทยส่งออกข้าวรั้งอันดับ 2 ของโลก โดยส่งออกได้  7.69 ล้านตัน เบียดเวียดนามที่เป็นคู่แข่งสำคัญที่ครองอันดับ 2  ของโลกติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี โดยเวียดนามส่งออกได้ 6.31 ล้านตัน แม้ว่าในปี 2565 เวียดนามจะถูกไทยเบียดแซงหล่นมาเป็นอันดับ 3 แต่เวียดนามก็ยังเป็นผู้ส่งออกข้าวในอันดับต้นของโลกอยู่ จากความได้เปรียบในเรื่องของพันธุ์ข้าวที่ตรงต่อความต้องการของตลาด และราคาข้าวของเวียดนาม ไม่มีความผันผวนเกินไป ราคาข้าวยังคงที่ ทำให้สามารถทำตลาดค้าข้าวกับลูกค้าได้ง่าย โดยในปี 2566 เวียดนามตั้งเป้าส่งออกข้าวเพิ่มขึ้น 16% ทั้งนี้ กรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่าในไตรมาสแรกของปี 2566 ไทยและเวียดนามส่งออกข้าวในปริมาณใกล้เคียงกัน ในส่วนของไทยส่งออกข้าว 2,063,927 ตัน เพิ่มขึ้น 18% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในขณะที่เวียดนามส่งออกข้าวได้ 1.7 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 19% จากแรงหนุนจากข้อตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป – เวียดนาม (EVFTA) ทำส่งออกไปอียูเพิ่มขึ้นจากราคาข้าวได้เปรียบคู่แข่ง

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1064275

ฮุนเซนคาดจีนยังคงเป็นตลาดสำคัญสำหรับกัมพูชาและอาเซียน

จีนยังคงเป็นตลาดสำคัญสำหรับภาคการค้า ของทั้งกัมพูชาและประเทศในกลุ่มสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) กล่าวโดยนายกรัฐมนตรีฮุนเซน ซึ่งปัจจุบันกัมพูชาได้จัดทำข้อตกลงการค้าเสรีกัมพูชา-จีน (CCFTA), เขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) และข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ส่งผลทำให้ภาคการค้าระหว่างประเทศได้รับประโยชน์จากการยกเลิกภาษี ในขณะที่ภาคการท่องเที่ยวคาดว่านักท่องเที่ยวจีนจะหลั่งไหลเข้ามายังกัมพูชาเป็นจำนวนมาก หลังจากจีนปรับนโยบายในการรับมือต่อโควิด-19 ให้เหมาะสม โดยการค้าของกัมพูชากับจีนในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2023 มีมูลค่าอยู่ที่ 1.7 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งลดลงมากกว่าร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ปริมาณการค้าในช่วงปี 2022 สูงถึง 14.5 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 19 เมื่อเทียบกับปี 2021 ซึ่งสินค้าส่งออกของกัมพูชาไปยังจีนส่วนใหญ่ ได้แก่ เสื้อผ้าและสินค้าเกษตร ขณะที่สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ ฝ้าย สิ่งทอ ฝ้าย โลหะ วัสดุก่อสร้าง เครื่องใช้และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501262376/prime-minister-hun-sen-says-china-huge-market-for-cambodia-other-asean-countries/

FTA ไทย-ยูเออี ประตูการค้าสู่ตะวันออกกลางของไทย

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมเตรียมจัดการประชุมระดมความเห็น เปิดประตูการค้าการลงทุนผ่าน FTA ไทย-ยูเออี ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์นี้ เพื่อรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับจัดทำ CEPA ไทย-ยูเออี จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสัมคม พร้อมทั้งนำเสนอผลการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศ GCC และ CEPA ไทย-ยูเออี และรับฟังมุมมองและข้อเสนอแนะจากภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็น สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย สำหรับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เป็นประเทศที่มีศักยภาพด้านเศรษฐกิจและการค้าในตะวันออกกลาง ซึ่งพึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูง และยังสามารถเป็นประตูการค้าสู่กลุ่มประเทศคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council: GCC) ซึ่งมีสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ ยูเออี ซาอุดีอาระเบีย บาห์เรน โอมาน กาตาร์ และคูเวต ซึ่งปัจจุบันสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นคู่ค้าอันดับที่ 6 ของไทยในตลาดโลก และอันดับที่ 1 ในตะวันออกกลางโดยในปี 2565 การค้าระหว่างไทยกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีมูลค่า 20,824.22 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (+73.90%) เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า มีสัดส่วนการค้า คิดเป็น 3.53% ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของไทย

ที่มา : https://www.thansettakij.com/business/economy/557089

“เวียดนาม” พัฒนาเกษตรสีเขียว รับการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปเพิ่มมากขึ้น

เวียดนามให้ความสนใจที่จะพัฒนาเกษตรสีเขียว โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดของการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังสหภาพยุโรป และจากข้อมูลแสดงให้เห็นว่ารายได้จากการส่งออกสินค้าเกษตร ป่าไม้และประมงในปีที่แล้ว ทำสถิติมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ อยู่ที่ 53.22 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 9.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม ตลาดยุโรปมีสัดส่วนเพียง 11.3% ของส่วนแบ่งตลาดทั้งหมด ซึ่งตัวเลขข้างต้นนับว่าเป็นมูลค่าเล็กน้อย ถึงแม้ว่าภาคการเกษตรของเวียดนามมีข้อได้เปรียบหลายประการจากข้อตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (EVFTA) ดังนั้น เวียดนามควรส่งเสริมการส่งออกภาคการเกษตรที่ส่งออกไปยังสหภาพยุโรป

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnam-develops-green-agriculture-to-increase-exports-to-eu-post999144.vov

คาด FTAs, RCEP ผลักดันการลงทุนเข้ามายังกัมพูชาเพิ่มขึ้น

กัมพูชาคาดดึงดูดการลงทุนใหม่ ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคี (FTA) ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) รวมถึงกฎหมายเพื่อการลงทุนฉบับใหม่ ด้าน Heng Sokkung เลขาธิการกระทรวงอุตสาหกรรม และหัตถกรรม กล่าวว่า การที่กัมพูชาจัดทำข้อตกลงการค้ากับหลายๆ ประเทศ จะทำให้กัมพูชาสามารถเข้าถึงตลาดโลกได้มากขึ้น แม้จะมีวิกฤตโลก อาทิเช่น สงครามระหว่าง ยูเครน-รัสเซีย, วิกฤตพลังงาน และการเงิน โดยปัจจุบัน กัมพูชามี FTA อยู่หลายฉบับ เช่น FTA กัมพูชา-จีน, RCEP ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ไปเมื่อต้นปี 2022 รวมถึง FTA กัมพูชา-เกาหลี ที่มีผลบังคับใช้ไปเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ขณะที่กระทรวงฯ ได้รายงานการจดทะเบียนโรงงานใหม่ 186 แห่ง ในปี 2022 ทำให้จำนวนโรงงานที่เปิดดำเนินการทั้งหมดในประเทศอยู่ที่ 1,982 แห่ง โดยมีมูลค่าการลงทุนรวม 16.690 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจาก 13.811 พันล้านดอลลาร์ในปี 2021

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501224876/bilateral-ftas-rcep-expected-to-drive-new-industrial-investment-inflows/

การค้าระหว่างกัมพูชา – RCEP แตะ 3.1 หมื่นล้านดอลลาร์

มูลค่าการค้าระหว่างกัมพูชากับประเทศในกลุ่มสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) มีมูลค่ารวมถึง 3.1 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2022 เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการรายงานของกระทรวงพาณิชย์ โดยรายงานระบุว่าการส่งออกของกัมพูชาไปยังกลุ่มประเทศ RCEP มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 6.34 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 ขณะที่การนำเข้าจากประเทศสมาชิก RCEP มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 24.68 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ซึ่งรายงานเสริมว่าประเทศคู่ค้าหลัก 5 อันดับแรก ภายใต้ RCEP ได้แก่ จีน เวียดนาม ไทย สิงคโปร์ และญี่ปุ่น โดยข้อตกลงการค้าเสรี RCEP เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2022

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501221471/cambodias-trade-with-rcep-countries-hit-31-bln-last-year/

ข้อตกลงการค้าเสรี กัมพูชา-เกาหลีใต้ จะมีผลบังคับใช้ในเดือน ธ.ค.

นายกรัฐมนตรี ฮุน เซน ได้ประกาศว่าข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและเกาหลีใต้ (CKFTA) จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนธันวาคมปีนี้ ซึ่งได้กล่าวในพิธีเปิดการประชุมระดับสูงว่าด้วยการครบรอบ 10 ปีความตกลงความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และการเปิดตัวหนังสือว่าด้วยกรอบการบูรณาการระดับภูมิภาค โดยสถาบันวิจัยทางเศรษฐกิจเพื่ออาเซียนและเอเชียตะวันออก (ERIA) ซึ่งข้อตกลง FTA ดังกล่าวถือเป็นข้อตกลงในระดับทวิภาคีฉบับที่สองของกัมพูชาจากก่อนหน้านี้ที่ได้ลงนามร่วมกับจีนในช่วงต้นปี โดยทั้งสองประเทศหวังว่าข้อตกลงดังกล่าวจะเป็นแรงผลักดันหลักในการส่งเสริมภาคการค้าและการลงทุนระหว่างกัมพูชาและเกาหลีใต้ ภายใต้ผลประโยชน์ร่วมกัน และจะช่วยเร่งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศหลังประสบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้านมูลค่าการค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและเกาหลีใต้ในปัจจุบันแตะมูลค่า 818 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามรายงานของสมาคมการค้าระหว่างประเทศแห่งเกาหลี (KITA) คิดเป็นกัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังเกาหลีใต้มูลค่า 301 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501179178/cambodia-korea-free-trade-agreement-to-enter-into-force-in-december/