เงินเฟ้อลาวเดือน ก.ค. พุ่งแตะ 25.6%

สำนักงานสถิติประเทศลาว (Lao Statistics Bureau) เผยแพร่รายงานว่าอัตราเงินเฟ้อในเดือน ก.ค.65 เพิ่มขึ้น 25.6% จากระดับ 23.6% ในเดือน มิ.ย. ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2543 ส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีรายได้น้อยที่เผชิญกับปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้น สำนักงานฯ ยังเผยว่าราคาผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ได้แก่ ราคาอาหาร ค่ารักษาพยาบาลและสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นต้น ประกอบกับราคาเชื้อเพลิง สินค้านำเข้าอื่นๆ ที่พุ่งสูงขึ้น และเงินกีบก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น

อย่างไรก็ตามเงินกีบก็ยังอ่อนค่าลง ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะพยายามควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนก็ตาม นอกจากนี้ ค่าเงินกีบที่อ่อนค่าลงถือเป็นสาเหตุหลักของปัญหาเงินเฟ้อ เนื่องจากธุรกิจส่วนใหญ่ใช้เงินสกุลต่างประเทศ โดยเฉพาะเงินบาทและดอลลาร์สหรัฐฯ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten152_Inflation_y22.php

“เวียดนาม” เผยราคาก๊าซหุงต้มปรับตัวลดลง

ราคาก๊าซหุงต้มในประเทศปรับตัวลดลง 18,500 ดอง เหลืออยู่ที่ 430,500 ดองต่อถัง 12 กก. เริ่มวันที่ 1 ส.ค. นับเป็นเดือนที่สี่ติดต่อกันที่ราคาก๊าซหุงต้มลดลง หากพิจารณาในภาพรวมจะพบว่าราคาก๊าซหุงต้มในพื้นที่ชนบท สำหรับถัง 12 กก. ตั้งแต่เดือนพ.ค.-ส.ค. ลดลงเหลืออยู่ที่ 85,500 ดอง สาเหตุสำคัญที่ทำให้ราคาก๊าซหุงต้มปรับตัวลดลงในเดือนส.ค. เนื่องจากผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลกประกาศราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ย 665 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ลดลง 60 ดอลลาร์ เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยราคาก๊าซหุงต้มในประเทศจะเคลื่อนไหวตามราคาโลก โดยอุปทานภายในประเทศมีสัดส่วนประมาณ 60% ของความต้องการในประเทศทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ซัพพลายเออร์ทั่วโลกคาดการณ์ว่าราคาก๊าซอาจพลิกกลับทิศทางที่จะสูงขึ้นต่อไปได้

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/cooking-gas-prices-down-further/

พาณิชย์ ยังสั่งตรึงราคาสินค้า ห้ามผู้ผลิตปรับขึ้นราคา

วันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา ผู้ผลิตสินค้าอย่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปประกาศจะปรับขึ้นซองละ1บาทหลังจากที่แบกรับต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้น แต่อย่างไรก็ตามกระทรวงพาณิชย์จะยังคัดค้านที่จะไม่ให้ปรับขึ้นราคาสินค้า เพราะต้องการตรึงราคาเพื่อไม่ให้กระทบกับผู้บริโภคและเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นแบบนี้ ล่าสุดกรมการค้าภายใน ได้ขอความร่วมมือผู้ผลิตและผู้จำหน่ายสินค้าให้ตรึงราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพต่อไปให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน และในส่วนสินค้าอุปโภคบริโภคอย่าง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง และนม ณ วันนี้ยังคงไม่มีการอนุญาตให้ปรับราคา ส่วนสินค้าที่มีการปรับราคาสูงขึ้นส่วนใหญ่ก็มีแค่บางยี่ห้อที่ปรับราคา ดังนั้นผู้บริโภคจึงยังคงมีทางเลือกในการซื้อสินค้าทดแทนได้ นอกจากนี้การปรับราคาสินค้าส่วนหนึ่งอาจมาจากการปรับเปลี่ยนโปรโมชั่นสินค้าหรือส่วนลดทางการค้า ซึ่งเป็นเรื่องของการแข่งขันตามกลไกตลาด ทั้งนี้ กรมการค้าภายในจะดูแลอย่างเต็มที่ ไม่ให้มีการฉวยโอกาสจำหน่ายสินค้าในราคาสูงเกินสมควร

ที่มา: https://www.thansettakij.com/economy/trade/534927

โพลชี้ชัด! ประชาชนรายได้น้อยกว่ารายจ่าย น้ำมัน-อาหารแพงกระทบคุณภาพชีวิต

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “ปัญหาการใช้จ่ายของประชาชน” พบว่า รายได้ปัจจุบันของประชาชน พบว่า ร้อยละ 47.10 ระบุว่า รายได้ลดลง รองลงมา ร้อยละ 46.72 ระบุว่า รายได้เท่าเดิม และร้อยละ 6.18 ระบุว่า รายได้มากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบรายได้กับรายจ่ายในแต่ละเดือนของประชาชน พบว่า ร้อยละ 60.06 ระบุว่า รายได้น้อยกว่ารายจ่าย รองลงมา ร้อยละ 32.62 ระบุว่า รายได้พอ ๆ กับรายจ่าย และร้อยละ 7.32 ระบุว่ารายได้มากกว่ารายจ่าย เมื่อถามถึงการใช้จ่ายในปัจจุบันที่สร้างผลกระทบมากที่สุด พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 32.73 ระบุว่า การใช้จ่ายด้านน้ำมันเชื้อเพลิง อันดับ 2 ร้อยละ 25.79 ระบุว่า การใช้จ่ายด้านอาหารประจำวัน อันดับ 3 ร้อยละ 13.47 ระบุว่า การใช้จ่ายด้านไฟฟ้าในครัวเรือน อันดับ 4 ร้อยละ 6.10 ระบุว่า การใช้จ่ายด้านแก๊สหุงต้ม อันดับ 5 ร้อยละ 3.36 ระบุว่า การใช้จ่ายด้านการผ่อนชำระค่ารถ เป็นต้น

ที่มา: https://www.posttoday.com/economy/news/686804

 

รัฐบาลกัมพูชาออกมาตรการควบคุมราคาอาหารหลังพุ่งสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

กระทรวงพาณิชย์กัมพูชาได้ออกมาตรการและติดตามราคาอาหารอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันการขึ้นราคาและหลีกเลี่ยงแรงกดดันต่อผู้บริโภคภายในประเทศ ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากอัตราเงินเฟ้อโดยทั่วไปพุ่งสูงขึ้นทั่วโลก เนื่องจากผลกระทบของราคาน้ำมันที่เป็นผลมาจากสงครามระหว่าง รัสเซีย-ยูเครน ทางด้าน Pen Sovicheat โฆษกกระทรวงฯ กล่าวว่า มีการติดตามราคาสินค้าในตลาดมากกว่า 50 รายการ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคประจำวัน เช่น เนื้อหมู ปลา ไก่ ไข่ ผัก และข้าว เพื่อให้แน่ใจว่าราคาจะไม่สูงขึ้น ซึ่งปัจจุบันระดับเงินเฟ้อของกัมพูชาในกลุ่มอาหารเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแต่ยังคงต่ำกว่าร้อยละ 10 ของระดับความเสี่ยง ในขณะเดียวกันรัฐบาลกัมพูชาคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะเติบโตมากกว่าร้อยละ 5 ในปี 2022

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501101472/measures-to-keep-price-rise-under-control-ministry/

“เวียดนาม” ดัชนีค่าครองชีพสูงอันดับ 89 ของโลก

“นัมเบโอ (Numbeo)” เว็บไซต์ฐานข้อมูลด้านค่าครองชีพระดับสากล เปิดเผยดัชนีค่าครองชีพ (Cost of Living Index) ทั่วโลก ปี 2565 พบว่าอันดับของเวียดนามขยับเพิ่มขึ้นมาเป็นอันดับ 89 มีคะแนน 37.48 คะแนน โดยคำนวณจากดัชนีค่าครองชีพของนครโฮจิมินห์อยู่ที่ 39.01 จุด ซึ่งมีค่าดัชนีสูงสุดของทั้งประเทศ ส่วนค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของครอบครัวที่มีสมาชิก 4 คน ไม่รวมค่าเช่าบ้าน อยู่ที่ 40 ล้านดองต่อเดือน ขณะที่คนเดียวใช้จ่ายมากกว่า 11 ล้านดองต่อเดือน ในขณะที่แหล่งอื่นๆ ดัชนีค่าครองชีพในเมืองฮานอยอยู่ที่ 36.85 จุด ส่วนค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของครอบครัวที่มีสมาชิก 4 คน ไม่รวมค่าเช่าบ้าน อยู่ที่ 36 ล้านดองต่อเดือน ขณะที่คนเดียวใช้จ่ายประมาณ 10 ล้านดองต่อเดือน

นอกจากนี้ ประเทศที่มีค่าครองชีพสูง 5 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 หมู่เกาะเบอร์มิวด้าในมหาสมุทรแอตแลนติก 146.04 คะแนน อันดับ 2 สวิตเซอร์แลนด์ 123.35 คะแนน อันดับ 3 นอร์เวย์ 100.90 คะแนน อันดับ 4 ไอซ์แลนด์ 94.86 คะแนน และอันดับ 5 บาร์เบโดส 92.37 คะแนน

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnam-ranks-89th-in-cost-of-living-index-rankings-post950321.vov

แนะประชาชนเลี่ยงการเดินทางโดยไม่จำเป็น ประหยัดน้ำมันเพื่อการเกษตร

กระทรวงอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ และสมาคมเชื้อเพลิงและก๊าซแห่งประเทศลาว เรียกร้องให้ประชาชนใช้เชื้อเพลิงอย่างประหยัดและงดเดินทางโดยไม่จำเป็น เพื่อให้มีน้ำมันสำรองเพียงพอสำหรับใช้ทำการเกษตรและกิจกรรมสำคัญอื่นๆ สปป.ลาวพึ่งพาเชื้อเพลิงจากแหล่งภายนอกเป็นหลัก หมายความว่าต้องใช้สกุลเงินต่างประเทศจำนวนมากในการซื้อเชื้อเพลิงจากประเทศอื่น ดังนั้นเพื่อเป็นมาตรการชั่วคราวในป้องกันวิกฤต รัฐบาลได้ตกลงที่จะลดภาษีและค่าธรรมเนียมอื่นๆ ที่จ่ายโดยธุรกิจเชื้อเพลิงเพื่อลดราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง สำนักนายกรัฐมนตรีได้ออกประกาศเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม โดยสั่งให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมติที่รับรองโดยคณะกรรมการประจำรัฐสภา ประกาศระบุว่าภาษีสรรพสามิตที่เรียกเก็บสำหรับน้ำมันดีเซลจะลดลงจากจำนวนปัจจุบันที่ร้อยละ 21 เป็นร้อยละ 11 ในขณะที่ภาษีสรรพสามิตที่เรียกเก็บจากน้ำมันเบนซินจะลดลงจากร้อย 31 เป็นร้อยละ 16

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten96_Public_y22.php

อัตราเงินเฟ้อสปป.ลาวพุ่งสูงสุดรอบ 2 ปี

อัตราเงินเฟ้อเมื่อเทียบปีต่อปีเพิ่มขึ้นเป็น 6.25% ในเดือนมกราคม ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดนับตั้งแต่มกราคม 2563 ส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนสปป.ลาว ทำให้ต้นทุนสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมีนาคมปีที่แล้ว และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 5.04 ในเดือนพฤศจิกายน ก่อนจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 5.27 ในเดือนธันวาคม ตามรายงานล่าสุดจากสำนักสถิติลาว ต้นทุนเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นเป็นหนึ่งในปัจจัยขับเคลื่อนหลักของเงินเฟ้อในสปป.ลาวรวมถึงการระบาดใหญ่ของโควิด-19  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด Omicron กระทบต่อห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนและทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้นเนื่องจากอุปสงค์และอุปทานไม่สมดุลกัน ทั้งนี้รัฐบาลสปป.ลาวกำลังดำเนินการเพื่อเพิ่มผลผลิตเพื่อลดการนำเข้าเพื่อควบคุมราคาเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจและประชาชนทั่วไป

อีกทั้งรัฐบาลได้ตัดสินใจลดภาษีมูลค่าเพิ่มจากร้อยละ 10 เหลือร้อยละ 7 ในปีนี้ และลดปริมาณสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงทั้งหมด ซึ่งหมายความว่าราคาน้ำมันสำรองในปัจจุบันอยู่ที่ 0 กีบ/ลิตร เพื่อกั้ญหาอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Inflation_37_22.php

พาณิชย์ชี้ดีเซลกระทบต้นทุนน้อย สั่งตรึงราคาสินค้า ขอผู้ผลิตให้ความร่วมมือ

กระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าภายในวิเคราะห์“น้ำมันดีเซล”กระทบต้นทุนการผลิตสินค้า พบปรับเพิ่มขึ้นไม่มาก อาหาร เครื่องดื่มแค่ 1.45% ของใช้ประจำวัน 1.1% วัสดุก่อสร้าง 1.2% ปัจจัยเกษตร 0.5% ห้ามร้านค้าอ้างเหตุผลปรับขึ้นราคา ขอความร่วมมือผู้ผลิตให้ตรึงราคาไปก่อน ยันไม่มีนโยบายให้ปรับขึ้นราคาช่วงนี้ พร้อมเชิญ ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมการค้า ผู้ผลิตสินค้า ผู้ประกอบการ มาหารือ ติดตามสถานการณ์ เผยเตรียมจัดโครงการลดภาระค่าครองชีพให้ประชาชน นอกจากนี้กรมฯ ยังมีแผนจะประสานงานไปยังซับพลายเออร์ เพื่อให้จัดส่งสินค้าอุปโภคบริโภคต้นทุนถูกเช่นของใช้ส่วนบุคคล สบู่ แชมพู ยาสระผม ผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน เป็นต้น ให้กับร้านค้าธงฟ้าที่มีอยู่1.3แสนราย เพื่อจำหน่ายต่อให้กับผู้บริโภค รวมทั้งพิจารณาจัดจำหน่ายสินค้าราคาถูก เพื่อแทรกแซงตลาดตามความจำเป็น

ที่มา: https://www.naewna.com/business/635517

เสนอให้ปรับราคาสินค้าแทนการฉวยโอกาส

ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต เปิดเผยว่า กล่าวว่า สินค้าและบริการใดที่มีต้นทุนสูงขึ้นโดยเฉพาะจากราคาน้ำมันและพลังงานที่สูงขึ้น กระทรวงพาณิชย์ควรให้ปรับราคาเพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงไม่ใช่ฉวยโอกาสขึ้นราคา หากไม่ให้ปรับขึ้นราคาตามต้นทุนจะทำให้เกิดภาวะการขาดแคลนสินค้าได้ ส่วนสินค้าและบริการจำเป็นพื้นฐานนั้น รัฐบาลควรเข้ามาอุดหนุนหรือแทรกแซงกลไกราคาไม่ให้ราคาสูงเกินจนประชาชนไม่สามารถซื้อหาได้และเกิดความเดือดร้อนในการดำรงชีวิต

ที่มา: https://www.posttoday.com/economy/news/675536