กัมพูชาส่งออกข้าวสารไปยังอินโดนีเซียเป็นครั้งแรกหลังลงนาม MoU สำเร็จ

กัมพูชาส่งออกข้าวสารไปยังอินโดนีเซียเป็นครั้งแรก หลังก่อนหน้าได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) ณ เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยทางการกัมพูชาหวังที่จะขยายตลาดส่งออกข้าวสารไปยังต่างประเทศเพิ่มขึ้น ในกรณีนี้กัมพูชาส่งออกข้าวสารไปยังอินโดนีเซียประมาณ 3,500 ตัน สำหรับการขนส่งในครั้งแรก ซึ่งอินโดนีเซียตกลงที่จะนำเข้าข้าวสารจากกัมพูชาปริมาณรวมกว่า 125,000 ตัน ภายในปี 2023 สำหรับการส่งออกข้าวโดยภาพรวมของกัมพูชาในช่วง 9 เดือนแรกของปีอยู่ที่ 456,581 ตัน ไปยัง 57 ประเทศ สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 327.4 ล้านดอลลาร์ ตามการรายงานของสหพันธ์ข้าวกัมพูชา (CRF) โดยจีนและยุโรปยังคงเป็นตลาดสำคัญสำหรับภาคการส่งออกข้าวสารของกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501386510/cambodia-exports-milled-rice-to-indonesia-for-1st-time/

บริษัทสัญชาติกัมพูชาลงนาม MoU ร่วมกับบริษัทอินโดนีเซีย พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร

บริษัท V-Consolidated Co., Ltd. ของกัมพูชาได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) ร่วมกับ บริษัท PT Niramas Utama ซึ่งปัจจุบันบริษัทถือเป็นผู้ผลิตภัณฑ์อาหารรายใหญ่ของอินโดนีเซีย หวังดันการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารภายใต้แบรนด์ดัง ‘Inaco’ สำหรับบันทึกความเข้าใจดังกล่าวได้รับการลงนามนอกรอบในงาน Trade Expo Indonesia (TEI) ครั้งที่ 38 ประจำปี 2023 ซึ่งจัดขึ้น ณ ICE BSD City ในทังเกอรัง ตั้งแต่วันที่ 18 – 22 ตุลาคม และทางออนไลน์ระหว่างวันที่ 18 ตุลาคม – 18 ธันวาคม 2023 ผ่านทางเว็บไซต์ www.tradexpoindonesia.com ด้าน Sovann Heng กรรมการผู้จัดการของ V-Consolidated และสมาชิกของคณะผู้แทนกัมพูชา กล่าวเสริมว่า บันทึกความเข้าใจดังกล่าวไม่ได้เป็นเพียงข้อตกลงในการนำเข้าและจัดจำหน่ายเท่านั้น แต่ยังเป็นความร่วมมือทางธุรกิจที่เป็นก้าวที่สำคัญ ซึ่งมีส่วนในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ในระดับทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและอินโดนีเซีย

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501380749/cambodian-firm-signs-mou-with-indonesian-food-products-major/

กัมพูชาเตรียมขยายระบบการชำระเงินข้ามพรมแดนไปยัง อินโดนีเซีย-โมร็อกโก

กัมพูชาเตรียมขยายระบบการชำระเงินข้ามพรมแดนไปยังอินโดนีเซียและโมร็อกโก หลังธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) พัฒนาระบบสำเร็จ สำหรับอินโดนีเซียกัมพูชาพร้อมที่จะลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) เพื่อนำระบบการชำระเงินดังกล่าวมาใช้ระหว่างกัน ในขณะที่โมร็อกโกทางการกัมพูชากำลังเร่งหารือเพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างกัน โดยการหารือและลงนามในข้อตกลงดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างผู้ว่าการ Chea Serey ของ NBC และ Perry Warjiyo ผู้ว่าการธนาคารแห่งอินโดนีเซีย (GBI) ซึ่งมีจุดประสงค์ในการส่งเสริมความร่วมมือในระดับทวิภาคี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเชื่อมต่อการชำระเงินดิจิทัลข้ามพรมแดน ซึ่งคาดว่าจะอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยว การค้า และการลงทุนระหว่างประเทศ ขณะที่ทางฝั่งโมร็อกโก Abdellatif Jouahri ผู้ว่าการธนาคารกลางโมร็อกโก (GCBM) ได้วางเริ่มวางแผนที่จะประชุมหารือร่วมกับ Chea Serey เพื่อปรับปรุงเทคโนโลยีทางการเงินหรือ Fintech ให้เหมาะสมกับรูปแบบการใช้งาน ซึ่งส่วนหนึ่งประกอบด้วยระบบการชำระเงินและสกุลเงินดิจิทัล

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501376848/cambodia-to-launch-cross-border-payment-with-indonesia-morocco/

นโยบายหนุนรถ EV ของอินโดนีเซียมีแววส่งเสริมการลงทุนในอาเซียน

นโยบายที่เอื้อต่อรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ของอินโดนีเซียได้ดึงดูดให้นักลงทุนทั่วโลกหลั่งไหลเข้าสู่ประเทศ ขณะเดียวกันกลุ่มผู้เชี่ยวชาญระบุว่า นโยบายดังกล่าวของอินโดนีเซียนั้นจะช่วยหนุนการลงทุนด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศต่าง ๆ ทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ทั้งนี้ นายอนินด์ยา โนเวียน บัครี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานคณะกรรมการบริษัทบัครีแอนด์บราเธอร์ส (Bakrie & Brothers) ระบุว่า อินโดนีเซียอาจเป็น “ประตู” มุ่งสู่ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียน โดยบริษัทวีเคทีอาร์ (VKTR) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือบัครีแอนด์บราเธอร์ส เป็นผู้ผลิตรถบัสไฟฟ้าและชิ้นส่วนรถ EV

ที่มา : https://www.infoquest.co.th/2023/337445

อินโดนีเซียจ่อนำเข้าข้าวสารจากกัมพูชาแตะ 2.5 แสนตันต่อปี

อินโดนีเซียได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลกัมพูชาสำหรับการจัดหาข้าวสารปริมาณกว่า 250,000 ตันต่อปี กล่าวโดย โจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (4 ก.ย.) โดยความร่วมมือดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากอินเดียประกาศยุติการส่งออกข้าวไปยังอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายความมั่นคงด้านอาหารแห่งชาติของอินเดีย หลังมีแนวโน้มที่จะเกิดปรากฏการณ์เอลนิโญ่ ด้านประธานาธิบดีอินโดนีเซียกล่าวเสริมด้วยว่าเพื่อเป็นการตอบแทนต่อกัมพูชา อินโดนีเซียพร้อมที่จะสนับสนุนโครงการความมั่นคงด้านอาหารให้แก่กัมพูชาด้วยการจัดหาปุ๋ยรองรับการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรของกัมพูชา

โดยในช่วงก่อนหน้าอินโดนีเซียวางแผนที่จะนำเข้าข้าวสารจากอินเดียมากกว่า 1 ล้านตัน แต่คำขอดังกล่าวถูกปฏิเสธ ส่งผลทำให้อินโดนีเซียจำเป็นต้องหาแหล่งในการนำเข้าข้าวสารจากแหล่งอื่นๆ เพื่อทดแทนกับโควต้าที่ถูกปฏิเสธ ตามที่รัฐมนตรีการค้า Zulkifli Hasan ได้กล่าวไว้

ขณะที่ข้อมูลของรัฐบาลอินโดนีเซียได้ระบุว่า สต๊อกข้าวในโกดังของ Bulog หน่วยงานโลจิสติกส์ของรัฐ รายงานว่าปัจจุบันมีจำนวนเกือบ 1.6 ล้านตัน อีกทั้งรัฐบาลกำลังดำเนินมาตรการเชิงรุกเพื่อเพิ่มปริมาณอาหารสำรองเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งส่งผลโดยตรงไปยังภาคการเกษตร

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501354908/indonesia-to-import-250000-tons-of-rice-from-cambodia/

อินโดนีเซียเล็งนำเข้าข้าวกัมพูชา

Joko Widodo ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ให้คำมั่นสัญญากับนายกรัฐมนตรี Hun Sen เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (11 ส.ค.) ถึงการนำเข้าข้าวจากกัมพูชาเพื่อยกระดับการค้าทวิภาคี โดยทางอินโดนีเซียจะส่งคณะผู้แทนเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการนำเข้าข้าวจากกัมพูชา ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐบาลกัมพูชาและอินโดนีเซียเคยได้ลงนามในข้อตกลงการซื้อข้าวระหว่างกันในปี 2012 เป็นครั้งแรก แต่ยังไม่ได้สรุปโควตาปริมาณการส่งออกและประเภทของข้าว

ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ชื่นชมความเคลื่อนไหวดังกล่าว โดยเรียกร้องให้อินโดนีเซียลงทุนในภาคอุตสาหกรรมข้าวในกัมพูชา ซึ่งนักลงทุนอินโดนีเซียสามารถถือครองสัดส่วนการลงทุนได้สูงถึงร้อยละ 100 ในการจัดตั้งโรงสี โกดัง และเครือข่ายรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกร เพื่อสร้างความมั่นคงในการส่งออก สำหรับในช่วงครึ่งแรกของปีกัมพูชาส่งออกข้าวสารไปยังตลาดต่างประเทศกว่า 329,633 ตัน ไปยัง 52 ประเทศทั่วโลก โดยเน้นการส่งออกไปที่ข้าวหอมพรีเมียม ข้าวหอม ข้าวขาวเมล็ดยาว ข้าวนึ่ง และข้าวอินทรีย์ สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 229 ล้านดอลลาร์ รายงานโดยสหพันธ์ข้าวกัมพูชา (CRF) ซึ่งในขณะเดียวกันกัมพูชาส่งออกข้าวเปลือก ณ ชายแดนประเทศกว่า 2.2 ล้านตัน สร้างรายได้เข้าประเทศประมาณ 578 ล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501342422/indonesia-eyes-cambodian-rice-imports/

‘ครั้งแรก’ บริษัทอินโดนีเซียส่งออกชาอู่หลงไปยังเวียดนาม

บริษัท PT Perkebunan Nusantara (PTPN) ของอินโดนีเซีย และกลุ่มบริษัท PT Suntory Garuda Beverage เปิดเผยว่าธุรกิจทำการส่งออกชาอู่หลง (Oolong tea) ไปยังเวียดนาม นับเป็นครั้งแรกและเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ระหว่างสองบริษัทในการจัดหาวัตถุดิบที่มีคุณภาพสูง สำหรับเครื่องดื่มแบบพร้อมดื่ม (RTD) ทั่วตลาดเอเชีย โดยความร่วมมือในครั้งนี้ เพื่อเริ่มต้นการส่งออกในปี 2564 และผ่านขั้นตอนการเตรียมการต่างๆ รวมถึงการทดลอง การประเมินและการตรวจสอบชาอู่หลงที่ผลิตโดยกลุ่มบริษัท PTPN ที่ได้รับการรับรองจากระบบมาตรฐานแห่งชาติ (SNI) และผ่านการประเมินปริมาณสารกำจัดศัตรูพืชด้วยสารออกฤทธิ์ที่จำเป็น 268 รายการ

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/indonesian-firms-export-first-batch-of-oolong-tea-to-vietnam-post1038334.vov

‘ซาวิลส์’ ชี้โอกาสของเวียดนามที่ได้รับประโยชน์สูงสุด เหตุนักลงทุนเล็งหาศูนย์การผลิตด้วยต้นทุนต่ำ

บริษัท ซาวิลส์ เอเชีย แปซิฟิก ระบุว่าประเทศต่างๆ ได้แก่ เวียดนามและอินโดนีเซีย อาจได้รับประโยชน์ หากบริษัทเริ่มที่จะมองหาศูนย์การผลิตด้วยต้นทุนต่ำในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นและต้นทุนการผลิตต่ำ โดยหลังจาก 3 ปีที่เกิดการหลุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานโลก ดูเหมือนว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว สังเกตได้จากต้นทุนการขนส่งสินค้าทางทะเลหรือทางอากาศส่วนใหญ่กลับสู่ช่วงก่อนโควิด-19 ตลอดจนเรือตู้คอนเทนเนอร์ไม่มีคิวรอเข้าท่าเรือหลัก ทั้งนี้ Jack Harkness ผู้อำนวยการฝ่ายบริการอุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ระดับภูมิภาคของบริษัท กล่าวว่าต้นทุนแรงงานที่เพิ่มขึ้นในจีน บ่งชี้ให้เห็นว่าไม่คุ้มค่ากับการดำเนินธุรกิจ และยังแสดงให้เห็นว่าบริษัทต่างๆ มองหาแหล่งการผลิตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnam-could-benefit-as-investors-look-for-low-cost-production-centres-savills-post1032775.vov

วิกฤตเมียนมาเป็นวาระสำคัญในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันอังคารที่ 11 กรกฏาคม 2566 กล่าวว่า การประชุมสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จัดขึ้น 2 วันในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย บรรดารัฐมนตรีต่างประเทศมีวาระการประชุมเกี่ยวกับพื้นที่ปลอดอาวุธนิวเคลียร์, ปัญหาเมียนมา และจะตามมาด้วยการหารือร่วมกับตัวแทนจากจีน, สหรัฐอเมริกาวอชิงตัน และชาติมหาอำนาจอื่นๆ

ที่มา : https://www.thaipost.net/abroad-news/412234/

อินโดนีเซียจ่อใช้ประโยชน์จาก “ท่าบก-ท่านาแล้ง” ในสปป.ลาว

ผู้พัฒนาท่าบก-ท่านาแล้ง กล่าวถึงคณะผู้แทนของอินโดนีเซียว่า อินโดนีเซียสามารถเชื่อมต่อกับตลาดจีนและยุโรปทางบก ด้วยการขนส่งทางรถไฟผ่าน สปป.ลาว ซึ่งหลายประเทศในภูมิภาค โดยเฉพาะจีน สปป.ลาว และไทย เริ่มใช้บริการขนส่งทางรถไฟแล้วด้วยความคุ้มค่าคุ้มราคาเมื่อเทียบกับการขนส่งในช่วงก่อนมีทางรถไฟสายดังกล่าว ด้าน Tee Chee Seng รองประธาน บริษัท Vientiane Logistics Park Co., Ltd. ผู้พัฒนาท่าบก กล่าวว่า ปัจจุบันเครือข่ายของท่าบกได้เชื่อมไปถึงมาเลเซียและสิงคโปร์แล้ว และในอนาคตอันใกล้ตั้งใจจะเชื่อมไปถึงอินโดนีเซีย เพื่อเอื้อต่อภาคการขนส่งระหว่างประเทศ โดยท่าบกถือเป็นประตูการค้าแห่งแรกและสำคัญที่สุดระหว่างจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเปิดให้บริการในเดือนธันวาคม 2021 ด้วยมูลค่าการลงทุนก่อสร้างรวม 727 ล้านดอลลาร์ ประกอบด้วยศูนย์โลจิสติกส์ 7 โซน ในการอำนวยความสะดวกแก่ภาคการขนส่ง

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten2023_Thanleng106.php