‘IMF’ ชี้แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจเวียดนาม ขยายตัวสูง

นายเปาโล เมดาส หัวหน้าฝ่ายการคลังของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประจำประเทศเวียดนาม ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ‘Dau Tu’ บอกถึงข้อสังเกตของทิศทางเศรษฐกิจในปีนี้ว่าแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถส่งเสริมการบริโภคและการผลิต ขณะที่เร่งการเบิกจ่ายจากงบประมาณการลงทุนภาครัฐได้อีกด้วย และแนวโน้มชองเศรษฐกิจเวียดนามจะฟื้นตัวได้ดี

ทั้งนี้ ธนาคารกลางควบคุมอัตราเงินเฟ้อของประเทศและบริหารจัดการความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน โดยไม่สูญเสียทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ อย่างไรก็ดีในปัจจุบันยังไม่เห็นช่องทางในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง

นอกจากนี้ IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัว 5.8% ในปี 2567 เนื่องมาจากได้แรงหนุนจากการส่งออก แต่สิ่งสำคัญที่เวียดนามต้องเร่งแก้ไขอย่างรวดเร็ว คือ ภาคอสังหาฯ ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อตลาดตราสารหนี้ขององค์กร

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-likely-to-maintain-high-economic-growth-in-medium-term-imf-expert-2251714.html

‘ผู้เชี่ยวชาญ’ ชี้ปี 67แรงกดดันเงินเฟ้อของเวียดนามอยู่ภายใต้การควบคุม

นาย Nguyen Duc Do รองผู้อํานวยการสถาบันเศรษฐกิจและการเงิน กล่าวว่าแรงกดดันเงินเฟ้อของเวียดนามไม่น่าจะปรับตัวสูงขึ้น เนื่องมาจากเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และจีนที่มีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัว ถึงแม้ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะมีทิศทางที่ชะลอตัว และมีผลให้การส่งออกของเวียดนามในปีนี้ขยายตัวอย่างค่อนเป็นค่อยไป ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรม การก่อสร้างและเศรษฐกิจโดยรวมจะได้รับผลกระทบและคาดว่าจะขยายตัวในระดับต่ำในปีนี้ ตลอดจนตลาดอสังหาฯ ของเวียดนามที่ยังคงอยู่ในภาวะซบเซา

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญชี้ให้เห็นว่าเวียดนามควรจับตามองปัจจัยต่างๆ ของภาวะเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการเบิกจ่ายโครงการลงทุนภาครัฐ และสินเชื่อที่เพิ่มสูงขึ้น

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnams-inflationary-pressure-under-control-this-year-say-experts-post1077608.vov

‘เวียดนาม’ เผยตัวเลขเงินเฟ้อ ม.ค. เพิ่มขึ้น 3.37%

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) รายงานว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในเดือน ม.ค. 2567 เพิ่มขึ้น 3.37% เมื่อเทียบเป็นรายปี และปรับตัวขึ้น 0.31% เมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค. 2566 ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้ตัวเลขเงินเฟ้อในเดือน ม.ค.67 ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากมาจากราคายาและค่าบริการด้านสุขภาพที่ 1.02% ตามมาด้วยที่อยู่อาศัยและวัสดุก่อสร้าง 0.56% ค่าบริการขนส่ง 0.41% กลุ่มสินค้าและบริการอื่นๆ 0.4% อาหารและบริการจัดเลี้ยง 0.21% ในขณะที่กลุ่มสินค้าที่มีราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ไปรษณีย์และโทรคมนาคม (0.05%) และการศึกษา (0.12%)

นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือน ม.ค.67 เพิ่มขึ้น 2.72% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/consumer-price-index-rises-337-in-january/276934.vnp

‘เวียดนาม’ เกินดุลการค้ากับสหภาพยุโรป 34.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

มูลค่าการค้าระหว่างเวียดนาม-สหภาพยุโรปในปีที่แล้ว อยู่ที่ 72.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 5.3% ส่งผลให้เกินดุลการค้าราว 34.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งการค้าระหว่างทั้งสองฝ่ายที่หดตัวลงมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก รวมถึงมาตรการรัดเข็มขัดในสหภาพยุโรปจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่คงอยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า รายงานว่าในปี 2567 เผชิญกับแรงกดดันจากปัจจัยภายนอกอย่างมากที่จะส่งผลกระทบต่อการผลิตของภาคอุตสาหกรรมและการนำเข้าส่งออกของเวียดนาม โดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจหลักที่เป็นคู่ค้ารายใหญ่ของเวียดนาม

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnam-enjoys-us343-billion-trade-surplus-with-eu-post1072454.vov

‘เศรษฐกิจเวียดนาม’ มีแนวโน้มขยายตัว 6.48% หนุนนำนวัตกรรมและปฏิรูปขับเคลื่อนประเทศ

สถาบันกลางเพื่อการจัดการเศรษฐกิจ (CIEM) เปิดเผยว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามมีแนวโน้มที่จะขยายตัว 6.48% ในปี 2567 ที่ได้รับแรงหนุนจากนวัตกรรม การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและการปฏิรูปหน่วยงานหรือสถาบัน โดยทางสถาบัน CIEM ได้นำแบบจำลองสถานการณ์ทางเศรษฐกิจไว้ 2 สถานการณ์ ในสถานการณ์แรกจะเป็นการที่เศรษฐกิจโลกค่อยๆกลับมาฟื้นตัวที่ 2.9% และอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง ตลอดจนการเติบโตทางเศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัว 6.13% ตามมาด้วยอัตราเงินเฟ้อที่ 3.9% การส่งออก 4.02% และเกินดุลการค้า 5.64 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่สถานการณ์ที่สอง คาดว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ 3.2% เศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัว 6.48% ตามมาด้วยอัตราเงินเฟ้อที่ 3.72% และการส่งออก 5.19%

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1639269/2024-gdp-growth-might-reach-6-48-driven-by-innovation-reforms.html

‘เวียดนาม’ เผยแรงกดดันเงินเฟ้อผ่อนคลายลง ส่งสัญญาณชะลอตัว

จากการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ที่จัดขึ้นโดยสถาบันการเงินและเศรษฐกิจ นาย Nguyen Duc Do รองผู้อำนวยการสถาบัน อธิบายว่าถึงภาวะเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน โดยเฉพาะสหรัฐฯ และจีนที่มีทิศทางชะลอตัวลงในปีนี้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกของเวียดนาม ในขณะที่ตลาดอสังหาฯ เผชิญกับความท้าทายและอุปสรรค นับเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งประเทศและทำให้การเติบโตต่ำลงในปีนี้ นอกจากนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) อยู่ที่ราว 2.5% – 3.5% ทางด้านรองศาสตราจารย์ ดร. โง ตรี กล่าวเน้นย้ำว่าเป้าหมายเงินเฟ้อที่รัฐสภาอนุมัติไว้ที่ 4% – 4.5% น่าจะมีความเป็นไปได้ เนื่องจากความสามารถของรัฐบาลในการควบคุมราคาสินค้า รวมถึงกับอุปสงค์โดยรวมที่ยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัว

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/inflationary-pressure-to-ease-in-2024-economists-2235656.html

‘ADB’ คาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามปี 67 โต 6%

จากรายงานแนวโน้มการพัฒนาเอเชีย (ADO) ของธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) คาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของเวียดนามในปี 2567 ขยายตัว 6% ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญของธนาคารฯ มองว่าจากอุปสงค์จากต่างประเทศที่อ่อนแอเกินกว่าที่คาดไว้ ยังคงเป็นอุปสรรคต่อภาคอุตสาหกรรมและบริการ ตลอดจนส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและการบริโภคในประเทศ นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายการเงินเชิงรุกและมีความรอบคอบ เพื่อที่จะควบคุมราคาน้ำมัน ค่าไฟฟ้า อาหาร การดูแลสุขภาพ การศึกษา ล้วนมีผลทำให้เกิดเงินเฟ้อ ด้วยเหตุนี้ เงินเฟ้อของเวียดนามคาดว่าจะอยู่ที่ 3.8% ในปีนี้ ก่อนที่จะปรับตัวสูงขึ้น 4% ในปีหน้า

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/adb-projects-6-gdp-growth-for-vietnam-next-year-post1065201.vov

พาณิชย์ เผยเงินเฟ้อพ.ย. หดตัว 0.44% ต่ำสุดรอบ 33 เดือน คาดปี 67 อยู่ในกรอบ -0.3 ถึง 1.7%

กระทรวงพาณิชย์ เผย เงินเฟ้อทั่วไปเดือนพ.ย. หดตัว 0.44% ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และ ต่ำสุดในรอบ 33 เดือน ส่งผลเฉลี่ย 11 เดือน ขยายตัว 1.41% ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานเดือนพ.ย. ขยายตัว 0.58% ส่งผลเฉลี่ย 11 เดือน ขยายตัว 1.33% พร้อมคาดปี 67 เงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ -0.3 ถึง 1.7% จากปีนี้อยู่ระหว่าง 1 – 1.7%

ที่มา : https://www.efinancethai.com/LastestNews/LatestNewsMain.aspx?ref=A&id=SnhJaE5xVUFjU2M9

‘HSBC’ เผยทิศทางการส่งออกของเวียดนามฟื้นตัวต่อเนื่อง

จากข้อมูลของธนาคารเอชเอสบีซี (HSBC) เปิดเผยว่าตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ การส่งออกของเวียดนามฟื้นตัวได้ดีขึ้น จากในเดือนพฤศจิกายน การส่งออกขยายตัว 6.7% เมื่อเทียบเป็นรายปี ในขณะที่การส่งออกสินค้าสิ่งทอและรองเท้ายังคงซบเซา แต่หากพิจารณาสินค้าอื่นๆ ขยายตัวได้ดีขึ้น ได้แก่ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ (20.2%YoY) และเครื่องจักร (5%YoY) ซึ่งสินค้าเหล่านี้ยังคงมีสัญญาณเชิงบวก

ทั้งนี้ นโยบายวีซ่าของเวียดนามที่มีผลตั้งแต่เดือนสิงหาคม ผลักดันนักท่องเที่ยวต่างชาติเติบโตต่อเนื่อง โดยในเดือนพฤศจิกายน เวียดนามต้อนรับนักท่องเที่ยวเกินกว่า 1 ล้านคน นับเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน

นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อของเวียดนามเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.2% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในเดือนพฤศจิกายน ลดลงเหลือ 3.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-continues-to-see-improvement-in-exports-hsbc-2224046.html

‘เวียดนาม’ เผย CPI พ.ย.66 เพิ่ม 3.45%

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนพฤศจิกายน ปรับตัวขึ้น 0.25% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) และ 3.45% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (YoY) สาเหตุสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อเวียดนามปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมาจากปัจจัยหลายประการ ได้แก่ ต้นทุนการให้บริการด้านสุขภาพและค่าเล่าเรียนที่สูงขึ้นในส่วนของท้องถิ่น รวมถึงราคาข้าวในประเทศที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภคในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ ปรับตัวขึ้น 3.22% เมื่อเทียบเป็นรายปี ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เพิ่มขึ้น 4.27% โดยสาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อของเวียดนามตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันปรับตัวขึ้นมาจากต้นทุนของสายการบินและความต้องการในการเดินทางที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดฤดูร้อน ตามมาด้วยค่าเล่าเรียน อาหารและค่าไฟฟ้าของภาคครัวเรือน เพิ่มขึ้น 7.35%, 6.67% และ 4.55% ตามลำดับ

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1637260/november-s-cpi-grows-3-45-per-cent.html