กองทุนฉุกเฉินสำหรับช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในกัมพูชา

รัฐบาลเปิดตัวกองทุนพิเศษ 50 ล้านเหรียญสหรัฐสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มผลผลิตและการดำเนินธุรกิจท่ามกลางผลกระทบของการระบาดของโรค Covid-19 และการถูกถอน EBA บางรายการสินค้าของสหภาพยุโรป โดยกองทุนพิเศษของรัฐบาลสำหรับ SMEs จะมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจการแปรรูปสินค้าทางการเกษตร, การแปรรูปอาหาร, ธุรกิจเกษตร, พืชผัก, ปศุสัตว์และธุรกิจสัตว์น้ำและองค์กรต่างๆที่ใช้วัตถุดิบจากภาคการเกษตร ซึ่ง SMEs สามารถกู้ยืมเงินได้สูงถึง 3 แสนเหรียญสหรัฐ ด้วยอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 6 ต่อปีสำหรับเงินทุนหมุนเวียน (สูงสุด 2 ปี) และ 6.5 เปอร์เซ็นต์ต่อปีสำหรับกองทุนการลงทุนตลอดระยะเวลาการชำระ 5 ปี โดยรัฐบาลจะให้การผ่อนผันระยะเวลา 1 ปี ซึ่ง SMEs ที่มีสิทธิ์ได้รับกองทุนพิเศษคือ SMEs ที่ทำงานเกี่ยวกับการแปรรูปสินค้าเกษตร ที่สามารถขยายการดำเนินงาน สามารถสร้างงานได้จาก 5-30 แห่งและเป็น SMEs ที่จดทะเบียนในกรมสรรพากรและกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ธนาคารเพื่อการพัฒนาชนบทและการเกษตร (RDAB)

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50702354/50-million-emergency-fund-for-small-and-medium-enterprises/

สถานทูตเมียนมาขอให้แรงงานในไทยงดเดินทางกลับในช่วงเทศกาลติงยาน

สถานเอกอัครราชทูตเมียนมาในกรุงเทพฯ ได้ประกาศให้แรงงานข้ามชาติในประเทศไทยไม่ให้กลับเมียนมาในช่วงวันหยุดเทศกาลติงยัน ซึ่งแรงงานข้ามชาติที่เดินทางกลับจากไทยจะถูกกักตัวเป็นเวลา 14 วันในประเทศไทย สำหรับการระบาดของ COVID-19 แรงงานข้ามชาติที่เข้าประเทศหรือประเทศบ้านเกิดที่ได้รับผลกระทบ COVID-19 ต้องแจ้งให้เจ้าของโรงงานทราบ โดยจะมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม 1,000 บาท (ประมาณกว่า 40,000 จัต) สำหรับการขอวีซ่าเข้าประเทศสำหรับแรงงานข้ามชาติที่เดินทางกลับประเทศในช่วงเทศกาลติงยาน จากข้อมูลพบว่าแรงงานชาวเมียนมากว่า 100,000 คนเดินทางกลับประเทศในช่วงเทศกาลติงยานในทุกๆ ปี ชาวต่างชาติรวมถึงประชาชนชาวเมียนมาที่วางแผนจะเดินทางมาประเทศไทยจำเป็นต้องติดตั้งแอพ AOT ที่สนามบินในโทรศัพท์มือถือ โดยเจ้าหน้าที่จะเก็บเอกสารเป็นเวลา 14 วันนับจากวันที่เดินทางมาถึงประเทศไทย

ที่มา : https://elevenmyanmar.com/news/myanmar-embassy-urges-its-migrant-workers-in-thai-not-to-return-during-thingyan

ADB เผยเศรษฐกิจเวียดนามลดลง 0.41% จากไวรัสโควิด-19

จากรายงานของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเวียดนามลดลงร้อยละ 0.41 เนื่องมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งจากตัวรายงานฉบับนี้เผยแพร่ในหัวข้อ “ผลกระทบทางเศรษฐกิจของการระบาดของโควิด-19” ที่เผยแพร่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าความเสียหายของเวียดนามนั้นอยู่ในทิศทางที่ดีเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศเอเชีย ด้วยอยู่ในอันดับที่ 9 ตามมาด้วยไทเป (0.44%), สิงคโปร์ (0.57%), มองโกเลีย (0.74%), จีน (0.76%), ฮ่องกง (0.85%), ไทย (1.11), กัมพูชา (1.59%) และมัลดีฟส์ (2.05%) ขณะเดียวกัน การแพร่ระบาดของไวรัสนั้น จะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในเอเชียและโลก ไม่ว่าจะเป็นด้านการบริโภคในประเทศลดลง การชะลอตัวของการลงทุน การท่องเที่ยวทรุดและการหยุดชะงักด้านการผลิตสินค้า รวมถึงผลกระทบด้านสุขภาพ สำหรับกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ จะเป็นกลุ่มที่ทำการค้าและการผลิตกับจีน รวมถึงนักท่องเที่ยวจากจีนอีกด้วย นอกจากนี้ เศรษฐกิจโลกลดลงร้อยละ 0.2 ในช่วงปลายเดือนมกราคม คิดเป็นมูลค่าที่สูญเสียอยู่ที่ 156 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/adb-vietnam-to-lose-0-41-percent-of-gdp-due-to-covid-19/169850.vnp

ADB เตือนภาคการท่องเที่ยวกัมพูชาอาจจะเสียหายเป็นอย่างมากจากการแพร่ของไวรัส

ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) กล่าวถึงการระบาดอย่างต่อเนื่องของไวรัส COVID-19 จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังพัฒนาในเอเชีย โดยในการวิเคราะห์ล่าสุดของ ADB กล่าวว่าจะมีการลดลงอย่างมากของอุปสงค์ในประเทศ เช่นการท่องเที่ยวและการค้ารวมถึงการหยุดชะงักอย่างรุนแรงในการเชื่อมโยงการผลิตและซัพพลายเชน ในกรณีที่เลวร้ายที่สุดสำหรับกัมพูชา ADB ประมาณการว่ารายรับจากการท่องเที่ยวของกัมพูชาอาจลดลงเหลือ 856.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเมื่อปีที่แล้วกัมพูชาได้ให้การต้อนรับนักท่องเที่ยว 6.6 ล้านคน เพิ่มขึ้น 7% จากปีก่อน ภาคดังกล่าวสร้างรายได้ประมาณ 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ และคิดเป็น 12% ของจีดีพี อย่างไรก็ตามในปีนี้กระทรวงการท่องเที่ยวได้คาดการณ์ไว้แล้วว่ากัมพูชาจะประสบปัญหานักท่องเที่ยวลดลงประมาณ 1 ล้านคนส่งผลให้รายได้จากการท่องเที่ยวลดลง 10% โดยการท่องเที่ยวถือเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญสำหรับประเทศที่กำลังพัฒนาหลายแห่งในเอเชีย

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50699917/tourism-sector-to-lose-over-850-million-warns-the-adb

อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของสปป.ลาว ต้องการความช่วยเหลือจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวเรียกร้องให้ภาครัฐฯช่วยเหลือและร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับภาคเอกชนมากยิ่งขึ้น เพื่อที่จะแก้ไขสถานการณ์การค้าที่เผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งตัวแทนของภาคการท่องเที่ยว รวมถึงผู้ประกอบการโรงแรม ร้านอาหาร สายการบิน การท่องเที่ยว เป็นต้น ได้มารวมตัวกันที่กรุงเวียงจันทร์เมื่อวานที่ผ่านมา เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ในการหาวิธีแก้ไขต่อสถานการณ์ไวรัสดังกล่าว ทั้งนี้ การประชุมหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติสปป.ลาว ได้เสนอประเด็นต่างๆ ในการช่วยเหลืออุตสาหกรรมท่องเที่ยวในปัจจุบัน รวมถึงการลด/เลื่อนการชำระภาษี และให้ธุรกิจท่องเที่ยวได้ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะดึงดูดลูกค้าผ่านการโปรโมตกลุ่มเป้าหมายในประเทศ ภายใต้ชื่อ “ลาวช่วยลาว” นอกจากนี้ จากตัวเลขการท่องเที่ยวในปีที่แล้ว แสดงให้เห็นว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาสปป.ลาว มากกว่า 1 ล้านคน แต่ในปัจจุบันรัฐบาลจีนได้สั่งห้ามบริษัททัวร์จีนไม่ให้เดินทางออกนอกประเทศ ส่งผลให้ธุรกิจท้องถิ่นสปป.ลาว สูญเสียรายได้ราว 20-25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ที่มา : http://annx.asianews.network/content/lao-tourism-industry-seeks-help-wake-covid-19-slump-115095

ดัชนีอุตฯ IIP เพิ่มขึ้น 6.2% ในช่วง 2 เดือนแรก

จากรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม (IIP) เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีผลกระทบอย่างมากต่อกิจกรรมการผลิตภาคอุตสาหกรรม ซึ่งไวรัสข้างต้นส่งผลต่อแหล่งวัตถุดิบนำเข้าจากจีนในอุตสาหกรรมบางอย่าง หากจำแนกภาคอุตสาหกรรม พบว่าภาคแปรรูปและการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4, การผลิตไฟฟ้าและจำหน่าย (+8.4%), น้ำประปาและบำบัดน้ำเสีย (+4.9%) แต่การขุดเหมือง (-3.7%) อย่างไรก็ตาม สินค้าสำคัญบางอย่างที่อยู่ในธุรกิจ FDI มีการผลิตขยายตัวสูงขึ้น อาทิ ชิ้นส่วนโทรศัพท์เพิ่มขึ้นราวร้อยละ 30, โทรศัพท์มือถือ (+25.5%), สมาร์ทโฟน (+3.2%), ถ่านหินสะอาด (+10.3%) และการผลิตไฟฟ้า (+8.6%) นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจของสำนักงาน GSO ระบุว่าจำนวนพนักงานเพิ่มขึ้นที่อยู่ในธุรกิจอุตสาหกรรม ตั้งแต่ต้นเดือนที่แล้วเมื่อเทียบกับเดือนมกราคม ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคธุรกิจที่ไม่ใช่รัฐและธุรกิจ FDI จากข้อมูลข้างต้นนั้น แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการพร้อมที่จะฟื้นตัวหลังจากสถานการณ์ของไวรัสโควิด-19 ผ่อนคลายลง

ที่มา : https://english.vov.vn/economy/iip-rises-62-in-first-two-months-410915.vov

ราคาส่งออกข้าวพุ่ง ตามความต้องการเพิ่มขึ้น

จากข้อมูลของสมาคมอาหารเวียดนาม (VFA) เปิดเผยว่าเมื่อไม่นานมานี้ ราคาส่งออกข้าวปรับตัวสูงขึ้น เนื่องมาจากความต้องการเพิ่มขึ้นของตลาดบางแห่ง อาทิ มาเลเซีย เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย เป็นต้น ทางตลาดมาเลเซียได้ตกลงที่จะซื้อธัญพืชจากเวียดนาม 90,000 ตัน และจะนำเข้าเพิ่มมากขึ้นอีกในอนาคตข้างหน้า สำหรับเกาหลีใตให้โควตานำเข้าอาหารเวียดนาม 55,112 ตันในปีนี้ ขณะเดียวกัน ฟิลิปปินส์นำเข้าข้าวจำนวนมากจากเวียดนาม ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 ซึ่งเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ที่สุดของโลกในปี 2562 และคาดว่ายังคงรักษาตำแหน่งสูงสุดในปี 2563 คิดเป็นปริมาณนำเข้า 2.6 ล้านตัน ทั้งนี้ คณะผู้แทนจากกระทรวงเกษตรของฟิลิปปินส์ มีกำหนดการเข้าเยี่ยมชมโรงงานแปรรูปข้าวเวียดนาม เพื่อที่จะเตรียมนำเข้าในอนาคตข้างหน้า นอกจากนี้ จีนที่เคยเป็นตลาดข้าวรายใหญ่ที่สุดของเวียดนามาหลายปีนั้น แต่ในปี 2562 ยอดส่งออกข้าวไปยังประเทศดังกล่าวลดลงอย่างมากร้อยละ 64.2 เป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของไวรัวสโควิด-19

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/rice-export-prices-surge-amid-high-demand/169579.vnp

กัมพูชามองถึงการเติบโตด้านการท่องเที่ยวหลังสิ้นสุดการระบาด Covid-19

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเยือนกัมพูชาคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าหลังจากสิ้นสุดการระบาดของ COVID-19 โดยอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของกัมพูชาได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว โดยรัฐบาลได้มีการแนะนำมาตรการและแผนงานเพื่อฟื้นฟูภาคต่างๆโดยเฉพาะในจังหวัดเสียมราฐ ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่สำคัญของกัมพูชา ซึ่งในช่วงสองเดือนแรกของปีนี้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในกัมพูชาลดลงถึง 15% เมื่อปีที่แล้วภาคการท่องเที่ยวของกัมพูชาเติบโตถึง 6.6% คิดเป็น 6.6 ล้านคน โดยมีรายรับจากภาคการท่องเที่ยวถึง 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่ากลัวคือ COVID-19 จะลดจำนวนนักท่องเที่ยวลงในปีนี้ประมาณไม่ต่ำกว่า 10% ซึ่งนายกรัฐมนตรีฮุนเซนและรัฐมนตรีต่างประเทศของกระทรวงการท่องเที่ยวเรียกร้องให้ผู้คนที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่นเดินทางท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้นเพื่อเป็นการช่วยสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวภายในประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50698040/cambodia-optimistic-of-exponential-tourism-growth-and-foreign-arrivals-after-end-of-covid-19

กนอ.จ่อคลอดแผนนิคมอุตสาหกรรมสกัด ‘โควิด-19’

กนอ.เตรียมออกมาตรการเฝ้าระวังโควิด-19 ในนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ เล็งปรับเป้าขายที่ดินปีนี้รับพิษเศรษฐกิจทรุดด้านเอเชียคลีนฯเชื่อไทยสร้างความมั่นใจคุมไวรัสได้ โดยผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่าจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาในหลายประเทศ กนอ.เตรียมจะออกประกาศให้นิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศมีมาตรการและบังคับใช้มาตรการอย่างเข้มงวดในการตรวจและคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรค โควิด – 19 ตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดและลดความเสี่ยงของผู้ที่ทำงานในโรงงานและนิคมอุตสาหกรรม จากเดิมที่ตั้งเป้าหมายการจำหน่ายพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ในความดูแลของ กนอ.ประมาณ 3,000 ไร่ต่อปี โดยปีนี้เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากหลายด้าน ซึ่งนอกจากเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัสแล้วจะต้องประเมินถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศ รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงก็เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุนด้วย โดยเชื่อว่าหากยังสามารถควบคุมการระบาดในประเทศได้ในระดับนี้จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนที่มีแผนที่จะขยายการลงทุนในกลุ่มประเทศ CLMV เข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเพื่อเป็นโอกาสรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในอนาคต

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/868079

กัมพูชาลดหย่อนภาษีเงินได้ 4 เดือนสำหรับโรงแรมและเกสต์เฮ้าส์ในเสียมเรียบ

นายกรัฐมนตรีฮุนเซนประกาศเมื่อวานนี้ว่าโรงแรมและเกสต์เฮาส์ที่จดทะเบียนทั้งหมดในเสียมเรียบจะได้รับการยกเว้นภาษีทั้งหมดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์จนถึงเดือนพฤษภาคมปีนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ธุรกิจที่กำลังประสบกับปัญหาผู้เข้าพักลดลงเนื่องจากการแพร่ของเชื้อไวรัสโคโรนาที่รู้จักกันในชื่อ Covid-19 ซึ่งได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงต่อภาคการท่องเที่ยวในเสียมเรียบ โดย Covid-19 ได้ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคการท่องเที่ยวในกัมพูชาโดยนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางมากัมพูชาในเดือนนี้ลดลงประมาณ 60% และโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนลดลงไปกว่า 90% ซึ่งในปัจจุบันรัฐบาลจะมุ่งเน้นไปที่การช่วยเหลือธุรกิจการท่องเที่ยวในเสียมเรียบ ซึ่งมาตรการดังกล่าวตั้งขึ้นเพื่อช่วยให้โรงแรมและเกสต์เฮาส์ดำเนินงานต่อไปได้ โดยรักษาตำแหน่งงานและความสามารถในการแข่งขันไว้

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50694704/four-month-tax-break-for-hotels-and-guesthouses-in-siem-reap