FTA ระหว่าง กัมพูชา-เกาหลีใต้ ดันการส่งออกเครื่องนุ่งห่มแตะ 173 ล้านดอลลาร์

FTA ดันการส่งออกสินค้ากลุ่มเครื่องนุ่งห่มของกัมพูชาไปเกาหลีใต้แตะ 173 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.84 สำหรับในช่วงสามไตรมาสแรกของปี 2023 ขณะที่ในปี 2022 กัมพูชาส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวไปยังเกาหลีใต้ที่มูลค่า 191.37 ล้านดอลลาร์ โดยการเพิ่มขึ้นนี้เกิดขึ้นหลังจากข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2022 ขณะที่การส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวโดยภาพรวมของกัมพูชาเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.05 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) มีสิทธิประโยชน์ด้านการลดภาษีนำเข้าสินค้าจากกัมพูชาหลายรายการ รวมทั้งเสื้อผ้า ทำให้สินค้ากัมพูชามีราคาที่สามารถแข่งขันได้มากขึ้นในตลาดเกาหลีใต้ สำหรับอุตสาหกรรมเสื้อผ้าถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่สำคัญของกัมพูชาด้วยการมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 16 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) และมีการจ้างงานประมาณกว่า 700,000 คน ในกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501401901/fta-boosts-cambodias-apparel-export-to-south-korea-reaches-173-million/

อาเซียน-แคนาดา ถกทำ FTA รอบ 5 คืบหน้าต่อเนื่อง นัดรอบ 6 พ.ย.นี้

นายรัชวิชญ์ ปิยะปราโมทย์ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงผลการประชุมเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) อาเซียน-แคนาดา รอบที่ 5 ณ เมืองบาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 25-29 ก.ย.2566 ที่ผ่านมา ว่า การประชุมรอบนี้ ได้เน้นหารือ 9 กลุ่ม ได้แก่ การค้าบริการ บริการโทรคมนาคม บริการด้านการเงิน การลงทุน พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ทรัพย์สินทางปัญญา กฎหมายและสถาบัน การค้าสินค้า และกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า ส่วนอีก 4 กลุ่ม ได้หารือผ่านทางออนไลน์ ได้แก่ พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า และวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย

ทั้งนี้ คณะกรรมการเจรจาการค้าได้กำชับให้คณะทำงานเจรจาทุกคณะ หารืออย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้ความคืบหน้าเพิ่มเติมก่อนการประชุมรอบที่ 6 ในเดือน พ.ย.2566 พร้อมทั้งกำหนดแผนที่จะประชุมกันอีก 5 รอบ ในปี 2567 เพื่อให้อาเซียนและแคนาดาสามารถสรุปผลการเจรจาภายในปี 2568 ตามที่รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและแคนาดาได้ตั้งเป้าหมายไว้

ที่มา : https://commercenewsagency.com/news/6408

รัฐบาล ปัดฝุ่น FTA ไทย-อินเดีย เปิดตลาดยา เวชภัณฑ์ ยุทโธปกรณ์

นางนลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย เปิดเผยว่า ได้หารือกับนายนาเคศ สิงห์ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอินเดียประจำประเทศไทย โดยอินเดียพร้อมฟื้นฟูความตกลงเขตการค้าเสรี (Free Trade Agreement : FTA) ไทย-อินเดีย อีกครั้ง และพร้อมแก้ไขปัญหาอุปสรรคร่วมกันอย่างเข้มแข็งและรวดเร็วที่สุด ทั้งนี้ ที่ผ่านมาไทยและอินเดียได้ทำความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA โดยได้เปิดตลาดสินค้าส่วนแรก (Early Harvest Scheme) จำนวน 83 รายการ ครอบคลุมทั้งสินค้าผลไม้สด ธัญพืช อาหารปรุงแต่งจากเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์แร่ เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยได้ยกเลิกภาษีตั้งแต่ปี 2549 ทำให้การค้าทั้ง 2 ฝ่ายขยายตัว และไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า แต่ได้หยุดชะงักไปเมื่อปี 2559 เนื่องจากอินเดียได้หันมาผลักดันการเจรจา FTA ระหว่างอาเซียน-อินเดียแทน เพื่อขยายตลาดมายังกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ ทั้งนี้ในการหารือทั้ง 2 ฝ่ายเห็นตรงกันว่า ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ หรือ BIMSTEC จะเป็นเวทีที่จะช่วยขจัดอุปสรรคต่างๆ เพื่อให้ความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกเป็นไปอย่างราบรื่น โดยนายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ตั้งใจอย่างมากที่จะมาร่วมการประชุมระดับผู้นำ BIMSTEC ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2566 นี้ จากข้อมูลรายงานการค้าระหว่างประเทศของไทย ประจำปี 2565 ของกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า อินเดีย ขึ้นมาเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 7 จากอันดับที่ 10 ในปีก่อน โดยขยายตัวถึง 22.5% โดย การค้าระหว่างไทยและอินเดีย มีมูลค่า 17,702.82 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 18.06% โดยไทยส่งออกไปอินเดีย มูลค่า 10,524.68 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากอินเดีย มูลค่า 7,178.14 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญของไทย อาทิ เม็ดพลาสติก ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ เคมีภัณฑ์ อัญมณีและเครื่องประดับ และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญของอินเดีย อาทิ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะ เคมีภัณฑ์ และพืชและผลิตภัณฑ์จากพืช

ที่มา : https://www.thansettakij.com/business/economy/577107

ไทยเข้าเกียร์เดินหน้าทำเอฟทีเอหวังแซงเวียดนามขึ้นเบอร์ 1 อาเซียน

“เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ณ กรุงนิวยอร์ก สหรัฐฯ โดยประเด็นหนึ่งที่ให้สัมภาษณ์คือ แผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ รัฐบาลที่แล้วไม่ได้ให้ความสนใจในการลงนามข้อตกลงเขตการค้าเสรีมากนัก ทำให้ไทยยังตามหลังเวียดนาม ซึ่งต้องเร่งเดินหน้าเจรจากรอบความตกลงการค้าเสรีหรือเอฟทีเอ (FTA) เพื่อเปิดตลาดการค้าใหม่ ซึ่งการทำเอฟทีเอเป็นหนึ่งในนโยบายที่รัฐบาลประกาศไว้ต่อรัฐสภา โดยในประเทศกลุ่มอาเซียน ประเทศเวียดนามถือเป็นเบอร์ 1 ของอาเซียนที่ทำเอฟทีเอมากที่สุด โดยเวียดนามมีเอฟทีเอ รวม 15 ฉบับ คลอบคลุม  53  ประเทศ (ทั้งระดับพหุภาคีและทวิภาคี) ได้แก่ 1.ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน  2. อาเซียน-จีน  3.อาเซียน-เกาหลีใต้  4. เวียดนาม-ญี่ปุ่น  5.เวียดนาม-เกาหลีใต้  6.อาเซียน-อินเดีย 7.อาเซียน- ออสเตรเลีย –นิวซีแลนด์ 8.เวียดนาม-ชิลี  9.เวียดนาม-เกาหลีใต้ ขณะที่ไทยมีเอฟทีเอเพียง 14 ฉบับ 18 ประเทศ ซึ่งน้อยทั้งจำนวนน้อยกว่าประเทศอื่นประเทศเพื่อนบ้านทั้งสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย  เวียดนาม ทั้งจำนวนฉบับและประเทศที่คลอบคลุม

โดยเอฟทีเอไทย 14 ฉบับประกอบด้วย  1.อาเซียน 9 ประเทศ 2. อาเซียน-จีน 3. อาเซียน-ญี่ปุ่น 4.อาเซียน-เกาหลีใต้ 5.อาเซียน-ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ 6.อาเซียน- อินเดีย 7.อาเซียน-ฮ่องกง 8.ไทย-ออสเตรเลีย 9..ไทย-นิวซีแลนด์ 10.ไทย-ญี่ปุ่น 11.ไทย- เปรู 12.ไทย-ชิลี 13.ไทย-อินเดีย และ14.ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)  ซึ่งเป็นเอฟทีเอเป็นฉบับล่าสุดของไทย

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1089953

ส่งออกนมไปคู่ค้า FTA โต 8.3% มูลค่ากว่า 357.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่ากรมได้ติดตามสถานการณ์การส่งออกสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมของไทย พบว่า การส่งออกยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกเบอร์ 1 ในอาเซียน และเป็นอันดับ 7 ของโลก โดยในช่วง 7 เดือนของปี 2566 (มกราคม-กรกฎาคม) ไทยส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นมไปตลาดโลก มูลค่า 380.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 8.2% เป็นการส่งออกไปตลาดคู่ FTA มูลค่า 357.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 8.3% คิดเป็นสัดส่วนถึง 94.1% ของการส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นมทั้งหมด ตลาดคู่ FTA ที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ อาเซียน เพิ่ม 6.9% จีน เพิ่ม 41.4% ฮ่องกง เพิ่ม 18.6% ออสเตรเลีย เพิ่ม 21.8% และอินเดีย เพิ่ม 137.6% สินค้าส่งออกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น เช่น นมพร้อมดื่มยูเอชทีนมเปรี้ยวและโยเกิร์ต นมถั่วเหลืองที่มีนมผสม เครื่องดื่มอื่นๆ ที่มีนมผสม และหางนม (เวย์) เมื่อเจาะลึกลงไปในตลาด FTA ทั้งหมด ที่ไทยส่งออกสินค้านมและผลิตภัณฑ์ พบว่า ตลาดอาเซียนมีการขอใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA ในการส่งออกสูงสุด เนื่องจากไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าทุกรายการแล้ว โดยในช่วง 7 เดือนไทยส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นมไปอาเซียน คิดเป็นสัดส่วน 81% ของการส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นมทั้งหมด ตลาดที่ขยายตัวได้ดี เช่น สปป.ลาว เพิ่ม 14.2% ฟิลิปปินส์ เพิ่ม 13.3% และมาเลเซีย เพิ่ม 35.3% สินค้าที่ได้รับความนิยม เช่น นม UHT มูลค่า 86.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 16.7% นมเปรี้ยวและโยเกิร์ต มูลค่า 78.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 14.4% เครื่องดื่มอื่นๆ ที่มีนมผสม มูลค่า 12.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 18.8% และหางนม (เวย์) มูลค่า 4.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 41.8% ปัจจุบัน ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ของไทยกับคู่ค้า 18 ประเทศ ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้การส่งออกสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมของไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยคู่ค้า FTA 14 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี และฮ่องกง ได้ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้ากับสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมจากไทยทุกรายการแล้ว เหลือเพียง 4 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย และเปรู ที่ลดภาษีนำเข้าสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมบางส่วนให้ไทย เช่น ญี่ปุ่น เก็บภาษีนำเข้านม อัตรา 21.3-25.5% โยเกิร์ต อัตรา 21.3-29% และชีส อัตรา 22.4-40% เกาหลีใต้ เก็บภาษีนำเข้านม อัตรา 26.8% โยเกิร์ต อัตรา 28.8% ชีส อัตรา 36% และอินเดีย ไม่เก็บภาษีนำเข้านมเปรี้ยวและโยเกิร์ตจากไทยแล้ว แต่ยังเก็บภาษีนำเข้านม อัตรา 20-60% นอกจากนี้ ความตกลงความ RCEP ญี่ปุ่น ตกลงจะทยอยลดภาษีนำเข้าเครื่องดื่มนมที่มีนมผสมลงจนเหลือ 0% ในปี 2580

ที่มา : https://www.naewna.com/business/756491

พาณิชย์ชี้ตลาดส่งออกยานยนต์ไปอินเดียสดใสด้วยแต้มต่อ FTA

นายบุณย์ธีร์ พานิชประไพ เลขานุการ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจาก น.ส.กัญญาวัลย์ สืบสิงห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเจนไน เกี่ยวกับสถานการณ์ตลาดยานยนต์และอินเดียในช่วงที่ผ่านมาว่า มูลค่าจำหน่ายยานยนต์ของอินเดียในเดือน มิ.ย.66 ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นรถสามล้อ 75% รถแทรกเตอร์ 41% รถจักรยานยนต์ 7% รถยนต์นั่งส่วนบุคคล 5% และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ 0.5% เนื่องจากอินเดียไม่สามารถผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ได้เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ ทั้งนี้ ตลาดยานยนต์อินเดียเติบโตและไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่อินเดียนำเข้าชิ้นยานยนต์อย่างต่อเนื่อง โดยได้รับสิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีภายใต้ FTA ไทย-อินเดีย และ FTA อาเซียน-อินเดีย ดังนั้นผู้ส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยควรสร้างจุดเด่นให้กับสินค้าและบริการของตน ตอบสนองความต้องการของตลาด โดยอาจหารือร่วมกับผู้นำเข้า เพื่อขยายส่วนแบ่งให้เพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาดอินเดียในอนาคต สร้างโอกาสในการทำเงินเข้าประเทศต่อไป

ที่มา : https://www.infoquest.co.th/2023/323808

ส่งออก “ปลากระป๋องและแปรรูป” ไปตลาด FTA 5 เดือนโต 15.7% ทูน่ากระป๋องแชมป์

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมได้ติดตามสถานการณ์สินค้าปลากระป๋องและแปรรูป พบว่าเป็นสินค้าที่มีศักยภาพของไทย โดยปัจจุบันไทยส่งออกเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากจีน และอันดับ 1 ของอาเซียน และในช่วง 5 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-พ.ค.) ไทยส่งออกปลากระป๋องและแปรรูปไปตลาดโลกแล้วมูลค่า 1,145.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นการส่งออกไปตลาดคู่ FTA มูลค่า 351.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 15.7% ตลาดคู่ FTA ที่ขยายตัวต่อเนื่อง เช่น ญี่ปุ่น เพิ่ม 22.7% ชิลี เพิ่ม 96.7% เปรู เพิ่ม 183.1% จีน เพิ่ม 25.7% กัมพูชา เพิ่ม 11.9% และฟิลิปปินส์ เพิ่ม 138.1%

ทั้งนี้ เมื่อเจาะลึกการส่งออกสินค้าปลากระป๋องและแปรรูปไปตลาดคู่ FTA พบว่า ปลาทูน่ากระป๋อง เพิ่ม 17.2% คิดเป็นสัดส่วน 51.6% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดไปตลาดคู่ FTA ปลาแปรรูป เช่น ปลาทูน่าที่ทำให้สุกแล้ว คาร์เวียร์ ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน และปลาแมคเคอเรล เพิ่ม 18.2% สัดส่วน 32.6% ปลาซาร์ดีนกระป๋อง เพิ่ม 8.4% สัดส่วน 4.6% และปลากระป๋องอื่นๆ เพิ่ม 6.2% สัดส่วน 11.1%

ที่มา : https://www.commercenewsagency.com/news/6183

กัมพูชาหวัง RCEP-FTA กระตุ้นภาคการส่งออก

กัมพูชาตั้งความหวังไว้กับข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคี (FTA) ในการกระตุ้นการส่งออกสินค้ากลุ่มเครื่องนุ่งห่ม รองเท้า และสินค้าเพื่อการเดินทาง (GFT) กล่าวโดย Ly Khun Thai ประธานสมาคมรองเท้ากัมพูชา หลังการส่งออกรองเท้าไปยังจีนและเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญนับตั้งแต่กัมพูชาลงนามในข้อตกลก RCEP และ FTA ทวิภาคีของกัมพูชากับจีน รวมถึงเกาหลีใต้เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งกล่าวเสริมว่าตลาดหลักในปัจจุบันสำหรับสินค้ากลุ่ม GFT ของกัมพูชา ได้แก่ ยุโรป สหรัฐฯ และแคนาดา โดยได้มีการส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวไปแล้วมูลค่ารวมกว่า 5.26 พันล้านดอลลาร์ นับตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคมถึงมิถุนายนปีนี้ ลดลงที่ร้อยละ 18.7 จากมูลค่าการส่งออกที่ 6.47 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ตามการรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิต ซึ่งอุตสาหกรรมสินค้ากลุ่ม GFT ถือเป็นแรงหลักของภาคการส่งออกกัมพูชา โดยมีผู้ประกอบด้วยโรงงานประมาณ 1,100 แห่ง สร้างการจ้างงานถึงประมาณ 750,000 คน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501325280/cambodia-hopes-rcep-bilateral-ftas-to-boost-exports-of-garment-footwear-travel-goods/

“เวียดนาม” ลงนามข้อตกลง FTA กับประเทศคู่ค้า 15 ฉบับ

เวียดนามเป็นประเทศเดียวที่ได้ลงนามข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศคู่ค้าที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ ได้แก่ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีน สหภาพยุโรป เกาหลีใต้ สหราชอาณาจักรและรัสเซีย และจนถึงในปัจจุบัน เวียดนามได้ลงนามข้อตกลงการค้าเสรี รวมทั้งสิ้น 15 ฉบับ และอยู่ในช่วงขั้นตอนการเจรจาข้อตกลงการค้าอีก 4 ฉบับ โดยข้อตกลงการค้าหรือเขตการค้าเสรีมีส่วนสำคัญที่ทำให้ธุรกิจเวียดนามมีข้อได้เปรียบอย่างมากที่จะส่งเสริมการค้า ความเชื่อมโยงทางธุรกิจและนำเสนอสินค้าเวียดนามไปสู่ผู้บริโภคในตลาดสำคัญทั่วโลก ทั้งนี้ จากข้อมูลในปีที่แล้ว ระบุว่ายอดการส่งออกที่ใช้หนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าแบบพิเศษ ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรี มีมูลค่าอยู่ที่ 78.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 33.61% ของมูลค่าการส่งออกรวมของเวียดนามไปยังตลาดที่ทำข้อตกลงการค้าเสรี (233 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม รายงานว่าอัตราการใช้หนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าแบบพิเศษ อยู่ที่ 33.61% และอัตราการเติบโตที่ 13.18% แสดงให้เห็นถึงสัญญาณการฟื้นตัวของการส่งออกของเวียดนามในตลาด FTA ในช่วงหลังการแพร่ระบาดของ COVID-19

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-signs-15-ftas-with-foreign-partners-2153890.html

กรมเจรจาฯ ลุยต่อช่วยเกษตรกร-ผู้ประกอบการ รับมือเปิดตลาดนมภายใต้ FTA

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ดำเนินโครงการ “โคนมไทยก้าวไกลขยายตลาดส่งออกได้ด้วย FTA” มาอย่างต่อเนื่อง โดยทำงานร่วมกับกรมปศุสัตว์ ชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย กลุ่มเกษตรกรโคนม และผู้ประกอบการ เพื่อเตรียมความพร้อมสินค้านมโคแปรรูปและผลิตภัณฑ์นมของไทยให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดการค้าเสรี และเตรียมรับมือการเปิดตลาดนมภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) โดยเฉพาะ FTA ไทย-ออสเตรเลีย และ FTA ไทย-นิวซีแลนด์ รวมทั้งการขยายตลาดส่งออกไปยังประเทศคู่ FTA โดยเฉพาะอาเซียน จีน และฮ่องกง ที่ได้ยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมจากไทยแล้ว สำหรับแนวทางในการรับมือ กรมฯ ได้ลงพื้นที่ไปให้ความรู้ในการปรับตัว ช่วยพัฒนาคุณภาพมาตรฐานสินค้าให้ได้มาตรฐานส่งออก ช่วยจับคู่ธุรกิจให้กับสหกรณ์โคนมและผู้ประกอบการนมโคและแปรรูปของไทยในการหาตลาดรองรับน้ำนมดิบอย่างยั่งยืน และช่วยหาตลาดส่งออก โดยเฉพาะประเทศที่มีการทำ FTA กับไทย ซึ่งประสบผลสำเร็จ สามารถส่งออกสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมไทยได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2565 ไทยส่งออกสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน และเป็นอันดับ 7 ในตลาดโลก โดยไทยส่งออกสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมสู่ตลาดโลก มูลค่า 593.11 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 1.78% และในช่วง 3 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-มี.ค.) ไทยส่งออกสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมสู่ตลาดโลกมูลค่า 153.82 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ อาเซียน มีส่วนแบ่งตลาดกว่า 80% จีน มีส่วนแบ่งตลาด 5% และฮ่องกง มีส่วนแบ่งตลาด 5%

ที่มา : https://mgronline.com/business/detail/9660000049989