เวียดนามเผยดัชนีราคาผู้บริโภค เม.ย. ลดลง 0.04%

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) ระบุว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในเดือนเมษายน ลดลง 0.04% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน แต่เพิ่มขึ้น 1.27% เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคมปีที่แล้ว สาเหตุส่วนใหญ่ที่ดัชนีดังกล่าวปรับตัวลดลง เนื่องมาจากปริมาณสินค้าที่ล้นตลาดและความต้องการบริโภคไฟฟ้าและน้ำอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ ดัชนี CPI เดือนเมษายน เพิ่มขึ้น 2.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะที่ ดัชนี CPI  เฉลี่ยในช่วง 4 เดือนแรกของปี เพิ่มขึ้น 0.89% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2559

ที่มา :https://english.vov.vn/en/economy/cpi-in-april-records-decline-of-004-853791.vov

เวียดนามเกินดุลการค้า 1.9 พันล้านเหรียญสหรัฐในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้

กระทรวงวางแผนและการลงทุน และสำนักงานการลงทุนจากต่างประเทศ เปิดเผยว่าในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ เวียดนามเกินดุลการค้า 1.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภาคการลงทุนจากต่างประเทศ เกินดุลการค้า 14.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ธุรกิจในประเทศ ขาดดุลการค้า 12.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน 17 ภาคอุตสาหกรรม โดยอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปดึงดูดเม็ดเงินทุนจากต่างชาติมากที่สุด ด้วยมูลค่า 5.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า อสังหาริมทรัพย์ ค้าปลักและค้าส่ง ตามลำดับ ขณะเดียวกัน หัวเมืองของเวียดนามที่ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศมากที่สุด คือ เมืองลองอัน (Long an) มูลค่า 3.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาเกิ่นเทอและโฮจิมินห์ นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวางแผนและการลงทุน กล่าวว่ากระทรวงจะดำเนินงานตามกลไกต่างๆ เพื่อนำไปปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจแก่นักลงทุนต่างชาติ และกำหนดการให้สิทธิพิเศษต่างๆ เพื่อดึงดูดการลงทุนทางด้านเทคโนโลยีขั้นสูง

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-racks-up-nearly-19-billion-usd-in-trade-surplus-in-four-months/200766.vnp

เวียดนามเผย 4 เดือนแรกของปีนี้ ดึงดูด FDI กว่า 12.25 พันล้านเหรียญสหรัฐ

สำนักงานการลงทุนจากต่างประเทศ (FIA) เผยในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ เวียดนามดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) 12.25 พันล้านเหรียญสหรัฐ ตามสถิติชี้ให้เห็นว่าเงินทุนจดทะเบียนใหม่และการปรับเพิ่มเงินทุน รวมถึงเม็ดเงินซื้อหุ้นกิจการ มีมูลค่าสูงถึง 12.25 พันล้านเหรียญสหรัฐ ณ วันที่ 20 เมษายน ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ การลงทุนจากต่างประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น 18.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้วยมูลค่า 10.13 พันล้านเหรียญสหรัฐ ถึงแม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างไรก็ตาม นักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่เข้ามาลงทุนในภาคอุตสาหกรรม ด้วยสัดส่วน 42.4% ของยอดลงทุนรวม รองลงมาการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า อสังหาริมทรัพย์และภาคการค้าปลีกค้าส่ง ตามลำดับ ในขณะที่ สิงคโปร์เป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดในเวียดนาม ด้วยมูลค่า 4.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ตามลำดับ

ที่มา : https://vov.vn/en/economy/vietnam-lures-us1225-billion-in-foreign-investment-over-four-month-period-853531.vov

ADB เศรษฐกิจเวียดนามโตเร็วที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เศรษฐกิจเวียดนามมีแนวโน้มเติบโตเร็วที่สุดในบรรดาประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยปีนี้ คาดว่าขยายตัว 6.7% ได้รับแรงหนุนมาจากการฟื้นตัวของภาคการผลิตและการค้า ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ได้เปิดเผยว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ คาดขยายตัว 4.4% ในขณะที่เศรษฐกิจเวียดนามคาดว่าจะอยู่ที่ 7% ในปีหน้า ซึ่งขยายตัวสูงที่สุดในภูมิภาค ด้วยเฉลี่ยประมาณ 5.1% ทั้งนี้ การบริโภคในประเทศที่ซบเซาและอุปสงค์ต่างประเทศที่อ่อนแอ ล้วนเกิดมาจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจเวียดนามชะลอตัวในปีที่แล้ว แต่ทิศทางเศรษฐกิจยังคงมีความแข็งแกร่งในปีนี้ เนื่องจากการควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสที่ประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีน จะช่วยให้เวียดนามมีโอกาสที่จะขยายการค้าและการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ

ที่มา : https://e.vnexpress.net/news/business/data-speaks/vietnam-to-lead-southeast-asia-in-growth-adb-4269618.html

‘CPTPP’ เปิดโอกาสดันส่งออกเวียดนามไปตลาดสหรัฐฯ

จากงานสัมมนา “CPTPP – โอกาสส่งออกเวียดนามในตลาดสหรัฐฯ” เมื่อวันที่ 27 เมษายน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า เผยว่าความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างเวียดนามและสหรัฐฯ เติบโตอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ที่มีผลบังคับใช้ในเวียดนามเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2562 ซึ่งเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกแรกนั้น การค้าระหว่างเวียดนามกับสหรัฐ อยู่ที่ 111.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 16% เมื่อเทียบกับปี 2562 ทั้งนี้ ในไตรมาสแรกของปีนี้ เวียดนามมีมูลค่าการส่งออกที่ขยายตัวในกลุ่มประเทศ CPTPP โดยเฉพาะแคนาดา ชิลี เม็กซิโกและเปรู อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีช่วยฯ แนะให้บริษัทเวียดนามทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้ประโยชน์จากการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานของประเทศสมาชิก เพื่อแสวงหาโอกาสทางธุรกิจและกระจายตลาดส่งออกและสินค้า

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/cptpp-opens-up-prospects-for-vietnams-exports-to-the-americas/200708.vnp

ข้าวพันธุ์เวียดนาม “ST25” เป็นข้าวที่ดีที่สุดในโลก แต่เผชิญกับความเสี่ยงกับการสูญเสียแบรนด์

เครื่องหมายการค้า “สายพันธุ์ข้าว ST25” ของเวียดนาม ถือเป็นข้าวหอมที่ดีที่สุดในโลก ประจำปี 2562 มีแนวโน้มที่จะตกไปอยู่กับมือนักธุรกิจชาวอเมริกันในตลาดต่างประเทศ เนื่องจากบริษัทเวียดนามดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าล่าช้า ข้อเท็จจริงดังกล่าว ชี้ว่ามีจำนวนบริษัทสหรัฐฯ 5 แห่งอยู่ในขั้นตอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับสายพันธุ์ข้าว ST25 สิ่งนี้ได้ส่งสัญญาเตือนไปยังบริษัทในท้องถิ่นให้ปกป้องสินค้าเกษตรของเวียดนามในตลาดต่างประเทศ ทั้งนี้ คุณ Nguyen Tri Hieu นักเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่าสินค้าส่งออกทางการเกษตรของเวียดนามในตลาดโลกนั้น ยังมีสินค้าอีกจำนวนมากที่ตามหลังประเทศอื่น ในประเด็นของความน่าเชื่อถือของตราสินค้า สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าการจดทะเบียนแบรนด์และทรัพย์สินทางปัญญายังคงเป็นจุดอ่อนของผู้ส่งออกสินค้าเกษตรของเวียดนาม

ที่มา : http://hanoitimes.vn/local-enterprises-urged-to-learn-from-potential-loss-of-st25-rice-brand-in-us-317118.html

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่แข็งแกร่ง ส่งผลต่อเศรษฐกิจ CLMV ได้รับอานิสงส์แตกต่างกัน

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ท่ามกลางมุมมองเชิงบวกต่อพัฒนาการการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2564 ที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งหลังวิกฤติโควิดอันสะท้อนผ่านประมาณการเศรษฐกิจของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2564 เป็น 6.0% จากคาดการณ์ครั้งก่อนที่ 5.5% นำโดยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจขนาดใหญ่โดยเฉพาะสหรัฐฯ และจีน ซึ่งน่าจะส่งผลบวกต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจอินโดจีน (CLMV) ที่มีการพึ่งพิงภาคต่างประเทศสูง อย่างไรก็ดี ภาพการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่สดใสอาจส่งผลบวกต่อพัฒนาการของเศรษฐกิจอินโดจีน (CLMV) ในระดับที่แตกต่างกัน ตามความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกผ่านช่องทางต่างๆ อาทิ การส่งออก รายได้ส่งกลับของแรงงานในต่างประเทศ การลงทุนทางตรง (FDI) และการท่องเที่ยว นอกจากนี้ ปัจจัยเฉพาะในประเทศก็มีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน ทำให้เศรษฐกิจ CLMV ในภาพรวมจะได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ไม่เท่ากัน

เวียดนามเป็นเศรษฐกิจใน CLMV ที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก จากโครงสร้างการผลิตและส่งออกที่มีสัดส่วนของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สูง นอกจากภาคการส่งออกแล้ว การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเวียดนามยังได้รับอานิสงส์จากรายได้นำส่งกลับของแรงงาน ซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 5.8 ของจีดีพี เนื่องจากแรงงานเวียดนามที่ส่วนใหญ่กระจายอยู่ในไต้หวัน เกาหลีใต้และญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่ได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในระดับสูง ขณะที่กัมพูชาอาจเป็นอีกเศรษฐกิจที่ได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเช่นกันเนื่องจากการส่งออกของกัมพูชามีตลาดหลักอยู่ในสหรัฐฯ จีน และยุโรปซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ การลงทุนในกัมพูชาส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative : BRI) ซึ่งภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนที่แข็งแกร่งย่อมส่งผลให้โครงการดังกล่าวยังเดินหน้าต่อไป ในส่วนของเศรษฐกิจสปป.ลาว คงจะได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่จำกัดในส่วนของการลงทุนตรงจากจีนเป็นหลัก ขณะที่ภาคการส่งออกอาจได้รับอานิสงส์จำกัด ขณะที่เมียนมา ปัจจัยการเมืองในประเทศคงเป็นปัจจัยที่มีผลในการลดทอนผลบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก​

ที่มา : https://kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/economy/Pages/CLMV-z3213.aspx