“ผู้ออกกฎหมายเวียดนาม” เรียกร้องให้ลดดอกเบี้ย หนุนศก.เติบโต

สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่าผู้ออกกฎหมาย หรือสมาชิกสภานิติบัญญัติของเวียดนาม มีการเรียกร้องให้ธนาคารกลางพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อพยุงเศรษฐกิจและช่วยให้บรรลุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้ การเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามในช่วงปลายปี 2565 ชะลอตัวจาก 5.92% ลงมาอยู่ที่ 3.32% ในไตรมาสแรกของปีนี้ ส่งผลให้ธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นจำนวน 2 ครั้งในปีนี้ โดยเวียดนามตั้งเป้าการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ที่ 6.5% ในปี 2566 อย่างไรก็ดี เวียดนามยังคงเผชิญกับความท้าทายหรืออุปสรรคอีกหลายประการที่จะกดดันเศรษฐกิจและเป้าหมายของการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้

ที่มา : https://www.reuters.com/markets/asia/vietnam-lawmakers-call-further-rate-cut-prop-up-growth-2023-05-09/

เลือกตั้งคึกคัก ปชช.แห่ใช้สิทธิ์ หนุนเศรษฐกิจไทยฟื้น

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า จากการเลือกตั้งล่วงหน้าวานนี้ (7 พ.ค.) ประชาชนตื่นตัวออกมาใช้สิทธิกันจำนวนมาก และเชื่อว่าการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้จะคึกคักมาก สะท้อนจากการทำโพลล์ การจัดดีเบต การปราศรัยใหญ่ของพรรคการเมือง และกิจกรรมรณรงค์หาเสียงต่างๆ ทำให้คาดว่าจะมีเม็ดเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจถึงวันเลือกตั้งราว 4-5 หมื่นล้านบาท ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย และเมื่อได้เห็นโฉมหน้ารัฐบาลใหม่แล้ว ความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยก็จะกลับมา รวมถึงการลงทุน ดังนั้นเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง คาดว่าจะเติบโตที่ร้อยละ 4 ซึ่งสูงกว่าครึ่งปีแรก ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย เผยข้อมูล ณ วันที่ 28 เมษายน 2566 ซึ่งเป็นช่วงก่อนการเลือกตั้ง 3 เดือน (มกราคม-มีนาคม) พบปริมาณเงินสดที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นกว่า 52,423 ล้านบาท เมื่อแยกประเภทธนบัตร พบว่า ธนบัตรราคา 1,000 บาท เพิ่มขึ้น 42,523 ล้านบาท /ชนิดราคา 500 บาท หมุนเวียนในระบบเพิ่มขึ้น 8,093 ล้านบาท ส่วนชนิดราคา 100 บาท หมุนเวียนในระบบลดลง 249 ล้านบาท

ที่มา : https://ch3plus.com/news/economy/ruangden/347089

“เอชเอสบีซี” ประเมินศก.เวียดนาม ไตรมาส 2 ปี 66 คงเผชิญความท้าทาย

ธนาคารเอชเอสบีซี (HSBC) รายงานว่าเศรษฐกิจของเวียดนามได้รับอิทธิผลอย่างมากต่อปัจจัยภายนอกและสถานการณ์การค้าโลก แสดงให้เห็นจากการเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ที่หดตัวลง 12% เมื่อเทียบเป็นรายปี ตลอดจนยอดการส่งออกที่ลดลงเป็นตัวเลขสองหลัก โดยจุดอ่อนหลักที่สร้างผลกระทบไปยังวงกว้าง คือ สินค้าที่ทำการซื้อขายระหว่างประเทศ อาทิเช่น สิ่งทอ รองเท้า สมาร์ทโฟนและเฟอร์นิเจอร์ไม้ สินค้าดังกล่าวตกต่ำอย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่ดัชนี PMI ส่งสัญญาณเริ่มต้นอยู่ในระดับทรงตัว แต่ก็ยังต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งจนกว่าวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกจะดีดตัวขึ้น อย่างไรก็ดีถึงแม้การเติบโตเศรษฐกิจจะชะลอตัว แต่อัตราเงินเฟ้อมีทิศทางที่ดีขึ้น อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง 0.3% เมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1531980/viet-nam-continues-to-face-challenges-in-q2-2023-hsbc.html

“รมต.ต่างประเทศจีน” เยือนชายแดนเมียนมา

นายฉิน กัง (Qin Gang) รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน เรียกร้องให้มีความมั่งคงและการปราบปรามอาชญากรรมบริเวณพรมแดนของประเทศที่ติดกับประเทศเมียนมา โดยพรมแดนเมียนมาที่ติดกับประเทศจีนมีระยะทาง 2,129 กิโลเมตร มีภูเขาที่มีป่าไม้หนาทึบและมีชื่อเสียงในการลักลอบขนยาเสพติดเข้าสู่ประเทศจีน ทั้งนี้ องค์การสหประชาชาติ ระบุว่าการผลิตฝิ่นในเมียนมากลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง หลังจากกองทัพเข้ายึดอำนาจรัฐบาลในปี 2564 การเพาะปลูกฝิ่นป๊อบปี้เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาลงและปัญหาอาชญากรรมที่ไม่เข็มงวด ทำให้ผู้คนหันมาซื้อยาเสพติดกันสูงขึ้น

อีกทั้ง รัฐมนตรีฯ ต่างประเทศของจีน กล่าวระหว่างการเยือนเมียนมาว่าพรรคคอมมิวนิสต์ท้องถิ่น หน่วยงานรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรเข้าร่วมระบบเสริมสร้างป้องกันชายแดนและจำเป็นต้องมีการประสานงานการจัดการชายแดน เพื่อที่จะพัฒนาการค้าชายแดนและความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ

ที่มา : https://www.taiwannews.com.tw/en/news/4880184

สายการบิน Lao Airlines กลับมาให้บริการเส้นทางสู่เมืองฉางชาประเทศจีน

เที่ยวบินแรกของสายการบิน Lao Airlines จากเมืองเวียงจันทน์สู่ฉางชาเมืองหลวงของมณฑลหูหนานทางตอนกลางของจีน ซึ่งเป็นการกลับมาให้บริการหลังจากจีนเริ่มเปิดพรมแดนอีกครั้ง โดยกำหนดเที่ยวบินไว้ที่สัปดาห์ละ 2 เที่ยวบิน เพื่อตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจในภูมิภาคที่เพิ่มจำนวนขึ้นในระยะที่ผ่านมา รวมถึงเพื่อเป็นการส่งเสริมการค้าและกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่าง สปป.ลาว และจีน โดยเที่ยวบินระหว่างเวียงจันทน์-ฉางชา มีจุดประสงค์ไม่เพียงแต่เพื่อจะฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวใน สปป.ลาว เท่านั้น แต่ยังส่งเสริมความเชื่อมโยงของ สปป.ลาว กับภูมิภาคต่างๆ เพื่อหวังฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศและภูมิภาคต่อไป ปัจจุบันสายการบิน Lao Airlines ได้ให้บริการเที่ยวบินตรง 12 เส้นทางไปยังเมืองต่างๆ ทั้งในประเทศจีนและประเทศสมาชิกอาเซียน

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten82_Lao_y23.php

‘ถอดบทเรียนเวียดนาม’ การเมืองนิ่ง เศรษฐกิจรุ่ง

ถ้าจะพูดถึงเพื่อนบ้านอาเซียนในฝั่งอินโดจีนเวียดนามถือว่ามีพัฒนาการมากที่สุด การเขียนถึงเวียดนามในวันนี้นับเป็นเวลาอันเหมาะสม ใกล้ถึงวันครบรอบ “ไซ่ง่อนแตก” 30 เม.ย.2518 ที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นประวัติศาสตร์เวียดนามยุคใหม่  เมื่อแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติเวียดนามใต้หรือเวียดกงเข้ายึดกรุงไซ่ง่อนของเวียดนามใต้ สหรัฐผู้สนับสนุนแตกกระเจิงกลับประเทศ นำไปสู่การรวมชาติในนาม “สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม” ในวันที่ 2 ก.ค.2519

ช่วงรวมชาติได้ใหม่ๆ เวียดนามยังเป็นประเทศยากจนเพราะเพิ่งผ่านศึกสงคราม จากการที่เวียดนามมีสหภาพโซเวียตเป็นลูกพี่ใหญ่ แน่นอนว่าต้องเป็นศัตรูกับสหรัฐ (ก็เพิ่งไล่เขากลับประเทศไปหมาดๆ) ส่วนจีนที่เป็นเพื่อนบ้านก็ไม่ได้ญาติดีกัน กับเพื่อนบ้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมองหน้ากันได้ไม่สนิทนัก ตอนตั้งสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ก็เคยถูกเวียดนามวิจารณ์

แต่สถานการณ์เปลี่ยนเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามตัดสินใจปฏิรูปประเทศใช้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมแบบตลาดทีละน้อยๆ ปี 2530 เวียดนามออกกฎหมายว่าด้วยกฎหมายการลงทุนของต่างชาติ ความเปลี่ยนแปลงในทางบวกค่อยๆ เกิดขึ้นอย่างที่เราเห็นในวันนี้ นักลงทุนต่างชาติแห่เข้าไปลงทุนในเวียดนาม ที่น่าสนใจคือธุรกิจค้าปลีกเพราะเป็นตัวชี้วัดว่าไลฟ์สไตล์คนเวียดนามเปลี่ยนไป ชนชั้นกลางเติบโตขึ้น รายได้มากขึ้น พร้อมจับจ่ายซื้อสินค้าและบริการเพื่อความสะดวกสบายในชีวิตไปจนถึงเพิ่มความหรูหรา นอกจากนี้เวียดนามยังเป็นประเทศที่ประชากรหนุ่มสาวมาก พวกเขาสนใจในเทคโนโลยี ยังไม่เข้าสู่สังคมสูงวัยเหมือนไทย โอกาสที่เศรษฐกิจเติบโตจึงมีอีกมาก เรียกได้ว่า เข้าไปลงทุนทำอะไรในเวียดนามตอนนี้มีแต่ได้กับได้

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/politics/1064510

“แบงก์ชาติเวียดนาม” เตรียมปรับโครงสร้างหนี้ของธุรกิจที่ประสบปัญหา

ธนาคารกลางเวียดนาม (State Bank of Vietnam: SBV) เตรียมที่จะปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของธุรกิจที่ประสบปัญหา รวมถึงความสามารถในการชำระเงินกู้และอื่นๆ เป็นต้น นายฟาม มินห์ ชินห์ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ได้ขอให้ธนาคารกลางทำการร่างข้อมติเกี่ยวกับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของธุรกิจและขยายกรอบระยะเวลา โดยบริษัทเวียดนามหลายแห่งในปัจจุบันที่เป็นศูนย์กลางการผลิตระดับภูมิภาคกำลังเผชิญกับอุปสรรค ท่ามกลางอุปสงค์ทั่วโลกที่อ่อนแอและภาวะการส่งออกที่หดตัว 11.9% ตลอดจนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง 3.32% ในไตรมาสแรกของปีนี้

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้ร้องขอให้ธนาคารพาณิชย์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน

ที่มา : https://www.investing.com/news/economy/vietnam-central-bank-plans-loan-restructuring-for-struggling-businesses-3062243

IMF คาดเศรษฐกิจ สปป.ลาว ปีนี้โตเฉลี่ยร้อยละ 4

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจ สปป.ลาว จะเติบโตร้อยละ 4 ในปีนี้ แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจโลกจะยังอยู่บนความไม่แน่นอน แต่ถึงอย่างไรในรายงานของ IMF ช่วงเดือนเมษายน ได้ระบุว่าการยกเลิกข้อจำกัดด้านการเดินทางและการเปิดประเทศอีกครั้งของจีน จะส่งผลทำให้เศรษฐกิจในภูมิภาครวมถึง สปป.ลาว กลับมาขยายตัว โดยหนึ่งในความท้าทายหลักสำหรับ สปป.ลาว ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าคือการควบคุมอัตราเงินเฟ้อ เนื่องจากต้นทุนสินค้าและบริการที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบันที่กำลังสร้างผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจในภาพรวม ซึ่ง IMF คาดการณ์ว่าดัชนีราคาผู้บริโภคใน สปป.ลาว จะขึ้นไปแตะที่เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 15.1 ในปีนี้ ถือเป็นอัตราสูงสุดที่คาดการณ์ไว้สำหรับประเทศในกลุ่มเอเชียเกิดใหม่

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten2023_Laoeconomy73.php

เลือกตั้งดัน GDP ไทย

จากข้อมูลธนาคารโลก คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2566 จะเติบโตร้อยละ 3.6 ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิมที่มีการคาดการณ์ไว้เมื่อเดือนธันวาคม 2565 โดยเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นจากในปี 2565 ที่เติบโตร้อยละ 2.6 และคาดว่าในปี 2567 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.1 ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ  หรือ IMF  ยังคงคาดการณ์เศรษฐกิจประเทศไทยสำหรับปีนี้และปีหน้า โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 3.7% ในปีนี้ และ 3.6% ในปีหน้า เมื่อเทียบกับที่เคยคาดการณ์ไว้ในเดือนต.ค. แต่ลดคาดการณ์การขยายตัวเฉลี่ยสำหรับ 5 ประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งประกอบด้วยอินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์,  สิงคโปร์ และไทย

อย่างไรก็ตาม มีการจับตาปัจจัยเรื่องการเลือกตั้ง ที่จะช่วยดันเศรษฐกิจไทย โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจคาดว่าช่วงการจัดกิจกรรมหาเสียงเต็มรูปแบบของพรรคการเมืองทุกพรรคไปจนถึงวันเลือกตั้งจริง จะมีเม็ดเงินสะพัดทุกกิจกรรมลงในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศในระดับรากหญ้าไม่ต่ำกว่า 40,000-50,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสที่ 2 เติบโตไปพร้อมกับการท่องเที่ยว โดยดันจีดีพีไทยให้สูงขึ้นในช่วงไตรมาสดังกล่าว 1-1.5% และคาดว่าจะดันให้เศรษฐกิจไทยในช่วงตลอดปี 2566 มีอัตราการเติบโตเป็นบวก 3-4% ได้อย่างแน่นอน

ที่มา : https://siamrath.co.th/c/437831

ภาคการค้าและการท่องเที่ยว ยังคงเป็นส่วนสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจกัมพูชา

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กัมพูชาได้เน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของภาคการค้าและการท่องเที่ยวกัมพูชาต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมภายในประเทศ ซึ่งได้กล่าวไว้ในระหว่างการสัมมนาในหัวข้อ Economic Outlook for Southeast Asia, China and India 2023: Reviving Tourism Post-Pandemic ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) โดยภาคการค้าถือเป็นส่วนช่วยเพิ่มโอกาสในการจ้างงาน สร้างรายได้ และเป็นส่วนสำคัญต่อห่วงโซ่อุปทานอาหารและสินค้าของกัมพูชา ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวถือเป็นแรงขับเคลื่อนด้านการบริการ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศ ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลกัมพูชามีความพยายามเป็นอย่างมากในการจัดทำข้อตกลงการค้าเสรีทั้งระดับพหุภาคี, ภูมิภาค, อนุภูมิภาค และทวิภาคี เพื่อสร้างขีดความสามารถให้กับประเทศ ขณะที่ OECD ได้ระบุว่าเศรษฐกิจของกัมพูชาจะขยายตัวประมาณร้อยละ 6.3 ในปีนี้ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.5 ในปี 2022 โดยความท้าทายต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ยังคงเป็นแรงกดดันด้านเงินเฟ้อและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501269119/trade-and-tourism-sector-important-for-economic-growth/