ครบรอบ 1 ปี รถไฟจีน-สปป.ลาว … การค้าผ่านแดนไทยไปจีนมีทางเลือกเพิ่มขึ้น

โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

แม้ว่าภาพรวมการส่งออกของไทยไปจีนช่วง 10 เดือนแรกปี 2565 ในรูปเงินบาทจะเติบโตช้าที่ 2.8% และการส่งออกผ่านแดนไทยไปจีนในช่วงเดียวกันก็หดตัวถึง 27.3% (YoY) มีมูลค่าส่งออกที่ 1.26 แสนล้านบาท แต่การส่งออกผ่านแดนบางเส้นทางยังคงเติบโตได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะการขนส่งไปยังมณฑลหยุนหนานทั้งการขนส่งด้วยรถบรรทุกและการขนส่งผ่านรถไฟจีน-สปป.ลาว ที่เปิดดำเนินการตั้งแต่วันที่ 3 ธ.ค. 2564 ผ่านมาครบ 1 ปี การขนส่งผ่านแดนยังคงมีสัญญาณบวกเติบโตได้อีกในระยะข้างหน้า ดังนี้

– ในช่วงโควิด-19 ระบาดการขนส่งผ่านแดนเป็นตัวช่วยสำคัญในการส่งสินค้าเข้าสู่จีน โดยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นรวดเร็วเป็น 17% ของมูลค่าการส่งออกทุกช่องทางไปจีนในปี 2564 (จากเคยอยู่ที่ 12.4% ในปี 2562)

– ปัจจุบันการขนส่งผ่านแดนระหว่างไทยกับจีนมี 4 เส้นทาง ซึ่งสามารถส่งสินค้าจากกรุงเทพฯ ถึงจีนด้วยระยะเวลาเพียง 2-5 วัน และเส้นทางเหล่านี้จะยิ่งคึกคักขึ้นจากการเตรียมเปิดเส้นทางขนส่งช่องทางที่ 5

– กำลังซื้อที่มาจากจีนตอนใต้ มณฑลหยุนหนานและเขตปกครองตนเองกว่างซียังมีโอกาสเติบโตในระยะข้างหน้า โดยในเวลานี้การส่งออกไปยังพื้นที่จีนตอนใต้เติบโตสวนกระแสการหดตัวของการส่งออกผ่านแดนไทยไปจีนในภาพรวม ทั้งการส่งออกผ่านสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 4 จ.เชียงราย ไปยังมณฑลหยุนหนานยังขยายตัวถึง 27.9% (YoY) เช่นเดียวกับช่องทางรถไฟความเร็วสูงจีน-สปป.ลาวที่เปิดใช้งานมา 1 ปี มีมูลค่าการค้าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เป็น 1,569 ล้านบาท เบื้องต้นมีสัดส่วน 1.3% ของการส่งออกผ่านแดนไปจีน จากที่ไม่เคยมีการขนส่งด้วยช่องทางนี้มาก่อน สินค้าที่น่าจับตา ได้แก่ ผลไม้ เครื่องสำอาง น้ำพริกปรุงรส เครื่องแกง มันสำปะหลัง ถั่ว ของแต่งบ้าน รวมถึงอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่เป็นผลิตภัณฑ์ส่งออกใหม่ที่น่าจับตา

– การส่งออกผ่านแดนไทยไปจีนตอนใต้สามารถส่งต่อสินค้าไปยังภาคกลางและภาคตะวันตกของจีนได้อย่างรวดเร็วด้วยเครือข่ายการขนส่งที่มีประสิทธิภาพของจีน โดยเฉพาะสินค้าเพื่อการบริโภคที่จีนผลิตไม่ได้และเป็นสินค้าที่เป็นจุดเด่นของไทย รวมถึงสินค้าขั้นกลางเพื่อการผลิตในกลุ่มสินค้าที่ต้องใช้วัตถุดิบสำคัญของไทยอย่างยางพาราและเม็ดพลาสติก สามารถนำไปต่อยอดผลิตในมณฑลฉงชิ่งและเมืองเฉิงตู ซึ่งเป็นศูนย์กลางการขนส่งของพื้นที่ตอนในเชื่อมโยงการขนส่งทั่วจีน และเชื่อมการขนส่งสินค้าไปยุโรป

อย่างไรก็ดี จากมาตรการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวดของจีนในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง และด้วยฐานการส่งออกที่สูงในปีก่อนหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาด การส่งออกผ่านแดนไทยไปจีนในช่วงที่เหลือของปี 2565 แม้จะมีแรงส่งจากกำลังซื้อในช่วงเทศกาลปลายปี แต่ด้วยการส่งออกที่อ่อนแรงในช่วงที่ผ่านมาทำให้ทั้งปี 2565 การส่งออกผ่านแดนไทยไปจีนหดตัวที่ 25% มีมูลค่า 145,000 ล้านบาท

ในระยะต่อไปต้องจับตา การผ่อนปรนมาตรการโควิดเป็นศูนย์ที่เริ่มส่งสัญญาณบวก และแผนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของจีนที่หันมาพึ่งพิงการบริโภคในประเทศมากขึ้น ท่ามกลางการส่งออกในภาพรวมไปจีนที่ไม่สดใสนัก แต่การกระจายการขนส่งไปยังเส้นทางการค้าผ่านแดนทางภาคเหนือและภาคอีสานของไทยเพื่อส่งไปยังจีนตอนใต้น่าจะเป็นอีกช่องทางที่สร้างโอกาสในการส่งออกสินค้าไทยไปจีนยังพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ตอนในประเทศของจีนมากขึ้น

ที่มา : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/Thai-China-lao-FB-13-12-2022.aspx

สรท.คาดส่งออกไทย ปี 2566 ขยายตัว 3% ไร้แรงหนุน

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สรท. คาดการณ์การส่งออกรวมปี 2565 ขยายตัวที่ 7-8% หรือมีมูลค่า 290,000-293,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ การส่งออกปี 2566 ขยายตัวที่ 2-3% หรือมีมูลค่า 300,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ปัจจัยบวกที่จะสนับสนุนให้การส่งออกขยายตัวได้ คือ จีนผ่อนคลายโควิด-19 สินค่าการส่งออกที่ยังเติบโต การส่งออกอาหาร สินค้าเกษตร เป็นต้น

ที่มา : https://www.prachachat.net/economy/news-1140385

8 เดือนแรกของปี 65 ค้าชายแดนเมียวดีของเมียนมามีมูลค่ารวม 1.456 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

กระทรวงพาณิชย์เมียนมา เผย มูลค่าการค้าชายแดนเมียวดีระหว่างวันที่ 1 เมษายน ถึง 25 พฤศจิกายน 2565 แตะ 1.456 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงอย่างมากถึง 148.545 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว เพราะการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าและความไม่แน่นอนทางการเมืองในพื้นที่ชายแดนส่งผลให้การส่งออกไปไทยลดลงอย่างมาก โดยสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ สินค้าเกษตร (พริก หัวหอม ผงข้าว ขมิ้น ดอกลิลลี่แห้ง เมล็ดกาแฟ ถั่วเขียว ยาง อบเชย เปลือกถั่วแมคคาเดเมีย ลูกพลัม  และถั่วลิสง) สินค้าประมง (ปลากะตัก หอยกาบ ปลาตะลุมพุกฮิลซาปู กุ้ง และปลาอื่น ๆ) และสินค้าอุตสาหกรรมสำเร็จรูปประเภทตัดเย็บและบรรจุภัณฑ์ (เสื้อกันหนาวบุรุษ เสื้อเชิ้ตสตรี และเสื้อผ้าอื่น ๆ) ซึ่งความต้องการของไทยสำหรับของใช้และวัตถุดิบสำหรับปรุงอาหารในครัวเรือนจากเมียนมาเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากธุรกิจท่องเที่ยว ร้านอาหารและธุรกิจอาหาร เริ่มกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งหลังโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myawady-border-trade-totals-1-456-billion-in-about-eight-months/

ปริมาณการค้าระหว่าง กัมพูชา-ไทย โต 29%

การค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและไทยเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 8,589 ล้านดอลลาร์ในช่วง 10 เดือนของปี เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 29 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยคิดเป็นการส่งออกของกัมพูชามูลค่า 959 ล้านดอลลาร์ไปยังไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 28 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะเดียวกันการนำเข้าสินค้าของกัมพูชาจากไทยคิดเป็นมูลค่า 7,630 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 29 ตามรายงานของกระทรวงพาณิชย์ไทย ซึ่งสินค้าส่งออกหลักของกัมพูชาไปยังไทย ได้แก่ สิ่งทอ สินค้าเกษตร อัญมณี และผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูป เป็นสำคัญ ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญจากไทย ได้แก่ ปลา เนื้อสัตว์ ผัก รถยนต์ ปุ๋ยอินทรีย์ อาหาร และวัสดุก่อสร้าง โดยในปีที่แล้วการค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและไทยมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 7.97 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.26 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501196940/cambodia-thailand-trade-surges-29/

สถานะธนาคารรัฐทั้งหมดยังแข็งแกร่ง

สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศหลายแห่ง ทั้งทริสเรทติ้ง, มูดีส์ อินเวสเตอร์ส และฟิทช์ เรทติ้งส์ ได้จัดอันดับความน่าเชื่อถือของสถาบันการเงิน ของรัฐหลายแห่ง ทั้งธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิม แบงก์) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยพบว่าแม้ต้องเผชิญวิกฤติโควิด-19 และเป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการช่วยเหลือประชาชน แต่สถานะธนาคารรัฐทั้งหมดยังแข็งแกร่ง และคงอันดับความน่าเชื่อถือไว้ที่ระดับสูง

ที่มา: https://www.thairath.co.th/business/finance/2570805

จุรินทร์ สั่งลุย! หลังจีนไฟเขียวไทย ส่งออกผลไม้ทางรถไฟลาว-จีน ด่านโม่ฮาน เริ่ม 3 ธ.ค.

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ถึงความคืบหน้าการก่อสร้างลานตรวจจำเพาะสินค้าผลไม้ ณ ด่านรถไฟโม่ฮาน ที่ปัจจุบันได้ดำเนินการก่อสร้างเสร็จและผ่านการตรวจรับจากหน่วยศุลกากรแห่งชาติจีน (GACC) แล้ว และล่าสุดเมื่อวันที่ 30 พ.ย.65 ทาง GACC ได้มีการประกาศในบัญชีรายชื่อสถานที่ควบคุมตรวจสอบผลไม้นำเข้าในเว็บไซต์ของ GACC แล้ว ส่งผลให้ด่านรถไฟโม่ฮานมีความพร้อมในการตรวจสอบกักกันผลไม้นำเข้าได้ตามระเบียบที่กำหนดของ GACC ทุกประการ ถือเป็นสัญญาณที่ดี และเป็นอีกหนึ่งโอกาสของผู้ส่งออกและนำเข้าสินค้าของจีนและไทย เพราะเป็นการเพิ่มตัวเลือกในการขนส่งทางรางที่จะช่วยให้ต้นทุนลดต่ำลง และมีความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เส้นทางรถไฟลาว-จีน เปิดใช้บริการตั้งแต่วันที่ 3 ธ.ค.65 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 1 ปีของการเปิดใช้บริการของรถไฟลาว-จีน

ที่มา : https://www.matichon.co.th/economy/news_3703370

คณะผู้แทนสภาธุรกิจไทย-กัมพูชา เยือนกัมพูชาหาโอกาสการค้าและการลงทุน

คณะผู้แทนสภาธุรกิจไทย-กัมพูชา (TCBC) นำโดยนายวรทัศน์ ตันติมงคลสุข ประธานกรรมการ TCBC ซึ่งได้รับการแต่งตั้งใหม่ ได้เดินทางไปเยือนกัมพูชาเพื่อหาโอกาสทางธุรกิจและการลงทุนเพิ่มเติมในกัมพูชา เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยคณะผู้แทนได้เข้าหารือกับ Pan Sorasak รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา หารือเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกทางการค้าทวิภาคี และการใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าในระดับทวิภาคีและระดับภูมิภาค ซึ่งรัฐมนตรีได้กล่าวเสริมเกี่ยวกับการปฏิรูปการบริการสาธารณะของกระทรวงพาณิชย์ และการนำระบบอัตโนมัติมาใช้สำหรับใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า การจดทะเบียนบริษัท และการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ง่าย โปร่งใส และมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อเอื้อต่อกิจกรรมทางด้านการค้าและการลงทุน นอกจากนี้ยังพร้อมที่จะให้การสนับสนุนแก่ TCBC ได้ใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรีระดับภูมิภาคและความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่กัมพูชาเป็นสมาชิก

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501193425/tcbc-delegation-seeks-additional-business-and-investment-opportunity-in-cambodia/

ห่วง ส่งออกไทยเริ่มติดลบ! ซ้ำเติม เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำเมื่อเทียบอาเซียน

นางสาวจุฑาพร เกตุราทร ว่าที่ผู้สมัคร สส. กทม. เขตบางรัก สาทร และ ปทุมวัน และ โฆษกคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การส่งออกของไทยในเดือนตุลาคมเริ่มติดลบที่ -4.4% เป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 9 เดือน ซึ่งเป็นสัญญาณที่น่าห่วงว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะเริ่มแผ่ว มีแนวโน้มอาจจะไม่สู้ดีนักในปลายปีนี้ และจะต่อเนื่องไปถึงปีหน้า ทั้งนี้ขอตอกย้ำว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ที่ขยายได้ 4.5% นั้น แม้จะดูเหมือนดี แต่เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียนจะเห็นว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำมากเพราะ ในไตรมาส 3 มาเลเซียขยายได้ 14.2% เวียดนาม 13.7% ฟิลิปปินส์ 7.6% อินโดนีเซีย 5.7% แม้ประเทศที่พัฒนาแล้วเช่นสิงคโปร์ยังขยายได้ 4.4% และถ้านับ 9 เดือนตั้งแต่ต้นปีไทยขยายได้เพียง 3.1% เท่านั้นซึ่งต่ำกว่าประเทศอาเซียนอื่นเช่นกันตามที่เสนอไว้แล้ว และต้องไม่ลืมว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นคืนที่เดิมจากการติดลบ 6.2% ในปี 2563 เพราะปี 2564 ขยายได้เพียง 1.5% ปีนี้ก็น่าจะได้เพียง 3% กว่า ซึ่งยังห่างจากที่เศรษฐกิจไทยที่ตกลงมาพอสมควร ในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศอื่นในอาเซียนได้ขยายตัวเกินกว่าที่ตกลงมาไปมากแล้ว

ที่มา : https://www.matichonweekly.com/hot-news/article_629987

ส่งออกเดือนต.ค.ร่วง 4.4 % เจอปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกเดือนตุลาคม 2565 มีมูลค่า 21,772.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4.4% คิดเป็นเงินบาท มีมูลค่า 801,273 ล้านบาท รวม 10 เดือนของปี 2565 (มกราคม-ตุลาคม) มีมูลค่า 243,138.5 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้น 9.1% คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 8,325,091 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม คาดว่า การส่งออกทั้งปี 2565 ยังเป็นบวก จากการประมาณการร่วมกับภาคเอกชนล่าสุดยังมั่นใจว่าเกินเป้าที่กำหนดไว้ 4% จะเพิ่มเกือบหนึ่งเท่าตัว ส่วนมูลค่าตั้งเป้าไม่น้อยกว่า 9 ล้านล้านบาท มีแนวโน้มจะเกินกว่า 9 ล้านล้านบาท และจะเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในปี 2565 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การส่งออกติดลบ มาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่น่าเป็นห่วง โดยเศรษฐกิจโลกปี 2564 เพิ่ม 6% ปี 2565 เพิ่ม 3.2% และปี 2566 เพิ่ม 2.7% ตลาดจีนยังมีมาตรการซีโร่โควิด-19 ดัชนีการผลิต หรือ PMI ของคู่ค้าสำคัญ เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีน และสหภาพยุโรป ลดลง แต่ก็มีปัจจัยบวกจากเงินบาทที่ยังอ่อนค่า ทั้งนี้การส่งออกในเดือนตุลาคม 2565 ที่กลับมาติดลบ 4.4% ถือเป็นการกลับมาติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 20 เดือน นับจากเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ส่วนการนำเข้าตุลาคม 2565 มีมูลค่า 22,368.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 2.1% ขาดดุลการค้า 596.4 ล้านเหรียญสหรัฐ รวม 10 เดือน นำเข้ามลค่า 258,719.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 18.3% ขาดดุลการค้า 15,581.3 ล้านเหรียญสหรัฐ

ที่มา: https://www.naewna.com/business/694962

กรมท่าอากาศยาน (ทย.) ทุ่ม 4 พันล้านพัฒนาสนามบิน ท่องเที่ยวฟื้น! รับผู้โดยสารทะลัก

นายปริญญา แสงสุวรรณ อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เปิดเผยแผนพัฒนาสนามบินภูมิภาคทั้ง 29 แห่ง ปี 66 ว่า หลังสายการบินเริ่มเพิ่มเที่ยวบิน ทำให้ ทย.มีเป้าหมายดำเนินการดังนี้ 1.เร่งขยายขีดความสามารถสนามบินภูมิภาคให้มีศักยภาพรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้น ซึ่งมีแผนลงทุนรวมกว่า 4,568 ล้านบาท รองรับปริมาณผู้โดยสาร รวม 41 ล้านคนในปี 66 และ 2.เพิ่มความสะดวกสบายให้ผู้โดยสาร และสายการบินที่มาใช้บริการ ด้วยการเปิดให้บริการเคาน์เตอร์เช็กอินร่วมสายการบิน ส่วนการขยายขีดความสามารถของสนามบินภูมิภาค มีดังนี้ สนามบินกระบี่เปิดให้บริการอาคารที่พักผู้โดยสารหลังที่ 1-3 รองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 3,000 คนต่อ ชม. หรือ 8 ล้านคนต่อปี สนามบินขอนแก่นเปิดอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ รองรับผู้โดยสารเพิ่มเป็น 2,000 คนต่อ ชม. หรือ 5 ล้านคนต่อปี สนามบินนครศรีธรรมราชเปิดอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ รองรับผู้โดยสารเป็น 1,600 คนต่อ ชม. หรือ 4 ล้านคนต่อปี ส่วนการเปิดให้บริการเคาน์เตอร์เช็กอินร่วมสายการบินนั้น ขณะนี้ ทย.ได้พัฒนาระบบให้เป็นเคาน์เตอร์เช็กอินร่วมแล้ว 6 สนามบิน.

ที่มา: https://www.thairath.co.th/business/economics/2564078