ไทยพาณิชย์ เผยนักลงทุนจีนมาแน่ ปักฐานลงทุนไทยเชื่อมั่นศักยภาพ ขยายตลาดสู่อาเซียน

ธนาคารไทยพาณิชย์ โดยกลุ่มธุรกิจจีน ร่วมกับ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (Economic Intelligence Center: EIC) เผยแพร่รายงานส่องทิศทางการลงทุนของนักลงทุนจีนในประเทศไทยหลังโควิด-19 โดยทำการสำรวจนักธุรกิจจีนตัวจริง พบว่า นักธุรกิจจีนมองไทยเป็นประเทศที่น่าสนใจเข้ามาลงทุนในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า ทั้งจากมุมมองของนักธุรกิจจีนที่เข้ามาลงทุนในไทยแล้ว และที่ยังไม่เข้ามาลงทุน โดยเฉพาะนักธุรกิจในกลุ่มเอสเอ็มอีที่ปรับกลยุทธ์ใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อขยายตลาดท้องถิ่น เชื่อมั่นประเทศไทยเป็นตลาดศักยภาพและอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่พร้อมเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงตลาดสู่กลุ่มประเทศในภูมิภาคอาเซียนให้กับจีนในอนาคต ชี้แนวโน้มนักธุรกิจจีนกำลังปรับโครงสร้างการลงทุนในไทยจากอุตสาหกรรมที่ใช้เงินลงทุนสูง สู่การลงทุนขนาดเล็กลง มุ่งเจาะภาคอุตสาหกรรมบริการ และเทคโนโลยี ในขณะเดียวกัน แนวโน้มใหม่นี้ถือเป็นความท้าทายสำหรับผู้ประกอบการไทยในการเผชิญกับคู่แข่งที่มีความได้เปรียบทั้งด้านต้นทุนที่ต่ำกว่า และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า รวมถึงประสบการณ์จากตลาดที่มีการแข่งขันสูงในประเทศจีน

ที่มา : https://www.isranews.org/article/isranews-pr-news/94810-scb-118.html

สุริยะหารือสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียนดึงทุนธุรกิจดิจิทัลในไทย

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า คณะนักธุรกิจจากสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน (US-ASEAN Business Council: USABC) นำโดยนายไมเคิล มิคาลัก รองประธานอาวุโสและกรรมการผู้จัดการภูมิภาค สภาธุรกิจ USABC พร้อมด้วยนักธุรกิจชั้นนำของสหรัฐฯ และผู้แทนจากบริษัท รวม 38 บริษัท ได้เข้าหารือกับกระทรวงอุตสาหกรรมแบบกึ่งออนไลน์ โดยพร้อมให้ความร่วมมือและสนับสนุนรัฐบาลไทยเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลและยกระดับอุตสาหกรรม 4.0 การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable development) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์เพื่อลดปัญหาฝุ่น PM2.5 อีกทั้งส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ด้วยการใช้วัตถุดิบหมุนเวียนมากขึ้น ทั้งนี้การยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 จำเป็นต้องสร้างปัจจัยแวดล้อมเพื่อรับรองการทำธุรกิจยุคดิจิทัล โดยรัฐบาลได้เดินหน้าเปิดประมูลคลื่น 5 จี และเร่งพัฒนาโครงข่าย 5G ในพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยให้สามารถรองรับเทคโนโลยีดิจิทัลได้ ดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้ยกระดับการทำงานสู่ระบบออนไลน์ โดยได้ผลักดันการใช้ระบบฐานข้อมูล ประมวลผล และสนับสนุนอุตสาหกรรม (I-industry) ซึ่งเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อให้เกิดการให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จ (online service) อำนวยความสะดวกในการให้บริการกับผู้ประกอบการผ่านระบบ

ที่มา : https://tna.mcot.net/latest-news-600958

กนอ.ประกาศเดินหน้าแผนปี’64 ศูนย์กลางฐานการผลิตของภูมิภาคอาเซียน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “Industry Toward 2021” ถึงทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยในปี 2564 หลังสถานการณ์โควิด-19 ในงานฉลองครบรอบ 48 ปี การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) “The Journey of Sustainable Partnership” ว่า ทุกภาคส่วนต้องปรับตัวให้สอดรับกับบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปโดยใช้ศักยภาพที่มีอยู่อย่างเต็มที่ เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมไทยเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งกระทรวงฯได้เริ่มขับเคลื่อนนโยบายหลายประการที่เป็นจุดเปลี่ยนเชิงยุทธศาสตร์การพัฒนา ประการแรก คือ การพัฒนาอุตสาหกรรมศักยภาพ โดยเร่งขับเคลื่อนการดำเนินงานตามมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมในสาขา ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า หุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ อุตสาหกรรมชีวภาพ และอุตสาหกรรมอาหาร อีกทั้งผลักดันมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมในสาขาอื่นๆ เพื่อขยายผลการพัฒนาให้เกิดขึ้นอย่างครอบคลุม ประการที่สอง : การยกระดับผู้ประกอบการ SMEs และ Startups ช่วยสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากด้วยการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมและนวัตกรรม เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของผู้ประกอบการอย่างยั่งยืน ประการที่สาม : การส่งเสริมนิคมอุตสาหกรรมที่เป็น มิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของสถานประกอบการผ่านโครงการ Factory 4.0 การยกระดับสถานประกอบการสู่การเป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ การส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่สอดคล้องกับแนวนโยบาย BCG ของรัฐบาล

ที่มา : https://www.matichon.co.th/economy/news_2486117

อาเซียนบวกสามผนึกกำลังเพิ่มประสิทธิภาพความช่วยเหลือทางการเงิน เสริมสภาพคล่องหากขาดดุลการชำระเงิน ผ่านกลไกการริเริ่มเชียงใหม่

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ เป็นความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการเงินระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน+3 คือ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นกลไกความร่วมมือทางการเงินในภูมิภาค (Regional Financing Arrangement) ในการเสริมสภาพคล่องระหว่างกันในกรณีที่ประสบปัญหาดุลการชำระเงิน หรือขาดสภาพคล่องในระยะสั้น และเป็นส่วนเสริมความช่วยเหลือด้านการเงินที่ได้รับจากองค์กรการเงินระหว่างประเทศ และเมื่อครั้งการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียนบวกสาม (AFMGM+3) ครั้งที่ 23 ได้มีมติเห็นชอบร่างความตกลงมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralisation (CMIM) Agreement) ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม โดยขอให้แต่ละประเทศสมาชิกดำเนินการภายในเพื่อลงนามในร่างความตกลงดังกล่าว โดยมีสาระสำคัญ คือ 1) เพิ่มสัดส่วนให้ความช่วยเหลือกรณีที่ไม่เชื่อมโยงกับความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จากร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 40 ของวงเงินขอรับความช่วยเหลือสูงสุด 2) ยินยอมให้สามารถเลือกสมทบหรือขอรับความช่วยเหลือภายใต้กลไก CMIM เป็นสกุลเงินท้องถิ่นตามหลักความสมัครใจ ภายใต้วงเงินรวมคงเดิมจำนวน 2.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ 3) เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากจะยกเลิกการใช้อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงกรุงลอนดอน (London Interbank Offered Rate : LIBOR) ในสิ้นปี 2564 และแก้ไขประเด็นเชิงเทคนิคเพื่อให้การดำเนินการในขั้นตอนต่างๆ ภายใต้กลไก CMIM มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ที่มา : https://mgronline.com/politics/detail/9630000123605

ระบบขนส่งด้านศุลกากร ออนไลน์ใหม่ของอาเซียนและสหภาพยุโรป เพิ่มการค้าในภูมิภาคอาเซียน

ปัจจุบันภาคเอกชนในอาเซียนสามารถเข้าถึงระบบออนไลน์ใหม่อันทรงพลัง นั่นคือ ระบบการขนส่งด้านศุลกากรของอาเซียน (ASEAN Customs Transit System หรือ ACTS) ซึ่งจะลดอุปสรรคในการค้าภายในกลุ่มสมาชิกประเทศอาเซียน เพื่อให้บริษัทต่างๆได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และการเคลื่อนย้ายสินค้าได้อย่างมีอิสระตลอดทั่วภูมิภาคอาเซียน โดยในปี พ.ศ.2560 รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนตั้งเป้าหมายสองเป้าหมายที่เหมือนกันในการลดค่าใช้จ่ายด้านธุรกรรมการค้าลงถึง 10% ภายในปี 2563 และเพิ่มการค้าภายในกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นสองเท่าภายในปี 2560 ถึง 2563 เมื่อตระหนักถึงเป้าหมายนี้ จึงได้มีการพัฒนาระบบขนส่งด้านภาษีของอาเซียนเพื่อทำให้ภาคธุรกิจยื่นการแจ้งทางอิเล็กทรอนิกส์เกี่ยวกับการขนส่งสินค้าโดยตรงกับหน่วยงานด้านศุลกากรของอาเซียน และติดตามการเคลื่อนย้ายสินค้าจากการบรรทุกจากสถานที่นำสินค้าออกมาจนถึงจุดหมายปลายทางที่ส่งสินค้า ทั้งนี้ นายดาโต๊ะ ลิม จ็อค ฮอย เลขาธิการอาเซียนเปิดเผยว่า การนำระบบ ASEAN Customs Transit System มาบังคับใช้ จึงมีบทบาทสำคัญในการอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสินค้าอย่างราบรื่นในภูมิภาค ผมเชื่อว่า ระบบนี้จะเป็นเครื่องมือยอดเยี่ยมในการเพิ่มการค้าและเครือข่ายการผลิตของอาเซียน เช่นเดียวกับการจัดตั้งตลาดที่รวมกันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวมากขึ้นสำหรับบริษัทและผู้บริโภค ระบบ ACTS ยังอาจช่วยการฟื้นฟูทางการค้าหลังวิกฤติโควิด-19 โดยการเร่งการเคลื่อนย้ายการขนส่งอุปกรณ์การแพทย์ วัคซีน และอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลระหว่างประเทศสมาชิก

ที่มา : https://siamrath.co.th/n/201168

ศุภชัย มั่นใจปีหน้า เศรษฐกิจไทย กลับมาเติบโต

นายศุภชัย  พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก เปิดเผยภายหลังการปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ทิศทาเศรษฐกิจไทยเดินหน้าอย่างไร ในวิกฤตไทย วิกฤตโลก” ภายในงานสัมมนาประจำปีของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม จากวิกฤติโควิดที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐไทย และทุกประเทศทั่วโลก อย่างไรก็ตาม การที่จีนได้ฟื้นตัวจากภาวะโควิดอย่างรวดเร็ว จะส่งผลดีกับประเทศไทย และภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากเศรษฐกิจไทยผูกติดกับห่วงโซ่การผลิตของจีนสูงมาก ประกอบกับไทยรับมือกับปัญหาโควิดได้ดี และประเทศในอาเซียนโดยเฉพาะ CLMV ได้รับผลกระทบจากโควิดไม่รุนแรง ทำให้การส่งออกของไทยจะค่อย ๆ ฟื้นตัว เห็นได้จากตัวเลขทางเศรษฐกิจของไทยปรับตัวดีขึ้นในทุก ๆ ไตรมาส อาจทำให้ GDP ปีนี้ไม่ได้แย่อย่างที่คาดไว้ ส่วนการส่งออกในปีหน้าก็จะดีกว่าปีนี้อย่างแน่นอน สำหรับกรณีที่มีหลายฝ่ายเรียกร้องให้ ธปท. เข้ามาดูแลในเรื่องค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าเกินไปจนกระทบต่อการส่งออกนั้น ส่วนตัวมองว่าค่าเงินบาทเป็นปัจจัยหนึ่งแต่ไม่ใช่ทั้งหมด หากเศรษฐกิจโลกดีการส่งออกก็จะดีตามไปด้วย แต่ทั้งนี้ภาคอุตสาหกรรมไทยควรจะเร่งปรับตัวขยายหาตลาดใหม่ ๆ การสร้างนวัตกรรม พัฒนาสินค้าให้เป็นที่ต้องการของตลาด จะทำให้แข่งขันได้โดยไม่ต้องพึ่งค่าเงินอ่อน นอกจากนี้ อยากให้รัฐบาลอย่างเพิ่งเร่งเปิดประเทศ ควรจะเปิดแบบค่อยเป็นค่อยไป เปิดทีละนิดแล้วตรวจสอบผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยชาวต่างชาติที่ควรเปิดให้เข้าประเทศ คือ กลุ่มนักลงทุน ที่จะเข้ามาดำเนินธุรกิจในไทย เพราะจะทำให้เกิดการลงทุน และการจ้างงาน แก้ปัญหาการว่างงานได้ตรงจุด โดยควรจะแก้ไขกฎระเบียบเข้าประเทศให้ง่ายขึ้น แต่จะต้องผ่านกระบวนการตรวจโควิดที่เข้มงวด

ที่มา :  https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/909828

“อาเซียน” หนุนเปิดประเทศ ฟื้นฟูจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยหลังเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน (ASEAN Transport Ministers Meeting : ATM) ครั้งที่ 26 ว่ามีประเด็นสำคัญด้านต่างๆ ดังนี้คือ 1.การขนส่งในการฟื้นฟูภูมิภาคอาเซียนจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 2.รับรองงานสำคัญเร่งด่วน-ผลลัพธ์ที่อาเซียนจะต้องร่วมดำเนินการให้แล้วเสร็จในปี 64 ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ด้านการขนส่งกัวลาลัมเปอร์ ปี 59-68 และ 3.การขนส่งรายสาขา ทั้งทางอากาศ ทางบก ทางทะเล และการอำนวยความสะดวกในการขนส่ง ซึ่งที่ประชุมยังยินดีต่อความสำเร็จและให้การรับรองเอกสารผลลัพธ์-งานสำคัญประจำปี 63 ด้านการทบทวนแผนยุทธศาสตร์การขนส่งกัวลาลัมเปอร์ (KLTSP) ปี 59-68 ระยะกลางพิธีสาร 2 สถาบัน ฝึกอบรมด้านการบินตามความตกลงยอมรับร่วมใบอนุญาตผู้ปฏิบัติหน้าที่ประจำเที่ยวบิน แผนแม่บทเดินอากาศอาเซียน แนวปฏิบัติในช่วงสถานการณ์โควิด-19 แนวปฏิบัติการยกระดับขั้นตอนมาตรฐานรายงานข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนตามมาตรฐานสหประชาชาติ ปฏิญญาบรูไนว่าด้วยความปลอดภัยทางถนนของอาเซียน ค.ศ.2020 การเปิดตัววีดิทัศน์ความปลอดภัยทางถนนของอาเซียน และแผนที่โครงข่ายด้านการขนส่งทางบกอาเซียน จนถึงเตรียมจัดประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียนกับคู่เจรจา ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งจะมีขึ้นในลำดับถัดไปเป็นต้น

ที่มา : https://www.thairath.co.th/news/business/market-business/1983029

อียู ให้เงินสนับสนุนอาเซียนเดินหน้าโครงการ Smart Green ASEAN Cities

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวานนี้มีมติเห็นชอบความตกลงทางการเงินระหว่างอาเซียนกับสหภาพยุโรป (อียู) เพื่อดำเนินโครงการ Smart Green ASEAN Cities เป็นความตกลงเพื่อแสดงว่าอียูจะสนับสนุนงบประมาณ 5 ล้านยูโร สำหรับการดำเนินโครงการฯเวลา 72 เดือน ที่มีวัตถุประสงค์ส่งเสริมความเป็นเมืองที่ยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับพลเมืองอาเซียน โดยสนับสนุนให้เมืองต่างๆ ในอาเซียนใช้ประโยชน์จากแนวทางเมืองอัจฉริยะ ทั้งนี้มีสมาชิกอาเซียน 8 ประเทศเข้าร่วมดำเนินโครงการ ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และ ไทย โดยตั้งเป้าผลผลิต 3 ข้อ คือ 1.ยกระดับการออกแบบ วางแผน และดำเนินการเพื่อมุ่งสู่เมืองสีเขียวและเมืองอัจฉริยะสำหรับเข้าร่วมดำเนินโครงการ 2.เสริมสร้างศักยภาพประเทศเพื่อการพัฒนาเมืองสีเขียวและเมืองอัจฉริยะ ผ่านการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างสหภาพยุโรปและอาเซียน และ 3.ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมเมืองสีเขียวและเมืองอัจฉริยะระหว่างสหภาพยุโรปและภายในภูมิภาคอาเซียน

ที่มา : https://www.infoquest.co.th/news/2020-732378c251cb42fc3f36615ea1929c94

RCEP กระตุ้นภาคการผลิตของเมียนมา

งานวิจัยของ Oxford Business Group ชี้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) มีส่วนผลักดันการผลิตของเมียนมาโดยกลุ่มการค้าจาก 15 ประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลกเพื่อขยายฐานการผลิต สภาหอการค้าอังกฤษในเมียนมาเผยผู้ผลิตในท้องถิ่นระดับภูมิภาคและระดับโลกที่ต้องเข้าร่วมในตลาดอาเซียนกำลังใช้ประโยชน์จากโอกาสในเมียนมา เพราะเศรษฐกิจเมียนมาร์ยังมีความใหม่มีพื้นฐานทางการเกษตรและการผลิตโดยรวมอยู่ในช่วงเริ่มต้น มีฐานต้นทุนที่ต่ำ โครงสร้างพื้นฐานที่กำลังเติบโตและรัฐบาลที่เปิดกว้าง รัฐบาลใหม่ของนางอองซานซูจี ตอนนี้ถึงเวลาสร้างและเสริมสร้างขีดความสามารถของกระทรวงต่างๆเพื่อสนับสนุนการดำเนินงาน RCEP อย่างมีประสิทธิผลแ 5 ปีที่ผ่านมาธุรกิจจากต่างประเทศมีการลงทุนลงทุนกว่า 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในธุรกิจการผลิต 711 แห่ง ส่วนใหญ่จากญี่ปุ่นและสิงคโปร์ลงทุน 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐใน 50 ธุรกิจในเขตเศรษฐกิจพิเศษ จากรายงานของคณะกรรมการด้านการลงทุนและการบริหารบริษัท (DICA) การลงทุนภาคการผลิตมีมูลค่ามากที่สุดในช่วงปี 2559 ถึง 2563 ด้วยมูลค่า 7.4 พันล้านดอลลาร์  โดย RCEP ได้ลงนามเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 63 ที่ผ่านมาในการประชุมสุดยอดอาเซียน ซึ่งมีประเทศร่วมลงนาม ได้แก่ 10 ประเทศจากอาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ RCEP มีประชากรคิดเป็น 30% ของประชากรโลก และขนาดของเศรษฐกิจจะเท่ากับ 28% ของ GDP โลก โดยกลุ่มอาเซียนที่เข้าร่วม ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย สปป.ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม

ที่มา: https://www.mmtimes.com/news/new-asean-led-trade-deal-boost-myanmar-manufacturing-sector.html

ลงนามแล้ว! ไทยเซ็นนานาชาติร่วม อาร์เซ็ป เปิดการค้าเสรีใหญ่สุดในโลก

ลงนามแล้ว ! ไทยลงนามร่วม 15 ชาติ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ตั้งอาร์เซ็ป เขตการค้าเสรีใหญ่สุดในโลก ขนาดจีดีพี 817 ล้านล้านบาท นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมสุดยอดความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป)​ ครั้งที่ 4 ผ่านระบบการประชุมทางไกล ซึ่งเวียดนามเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นเมื่อวันที่ 15 พ.ย. 63 ว่า การประชุมครั้งนี้ถือเป็นการประกาศความสำเร็จครั้งประวัติศาสตร์ ของการเจรจาความตกลงอาร์เซ็ป หลังจากมีการเจรจามานานเกือบ 8 ปี ซึ่งช่วยสนับสนุนให้ 15 ชาติสมาชิก ประกอบด้วย อาเซียน 10 ชาติ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ มีการเปิดเสรีการค้าและการลงทุนที่ ครอบคลุม เป็นไปตามกฎกติกาของโลก เกิดการจ้างงานและสร้างรายได้ให้กับประชาชน ตลอดจนเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ทั้งนี้ ความตกลงอาร์เซ็ปเป็นเขตการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยข้อมูลทางการค้าในปี 62 ความตกลงอาร์เซ็ปครอบคลุมตลาดที่มีประชากรรวมกัน 2,200 ล้านคน หรือเกือบ 30% ของประชากรโลก มี จีดีพี รวมกันกว่า 26.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 817.7 ล้านล้านบาท มีสัดส่วน 30% ของจีดีพีโลก และมีมูลค่าการค้ารวมกว่า 10.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 326 ล้านล้านบาท ผู้นำอาร์เซ็ปได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่เร่งกระบวนการภายในสำหรับให้สัตยาบันเพื่อให้ความตกลงมีผลใช้บังคับโดยเร็ว ซึ่งความตกลงจะมีผลใช้บังคับเมื่อสมาชิกอาเซียน 6 ประเทศและประเทศคู่เจรจา 3 ประเทศให้สัตยาบันความตกลง ในขณะเดียวกัน สมาชิกอาร์เซ็ปยังคงเปิดโอกาสให้อินเดียกลับมาเข้าร่วมความตกลงในฐานะที่เป็นสมาชิกดั้งเดิม และมีบทบาทสำคัญในการเจรจาอาร์เซ็ปตั้งแต่ปี 55 ความตกลงอาร์เซ็ปจะช่วยเสริมสร้างความเป็นแกนกลางของอาเซียนในเวทีระดับภูมิภาค และได้รับผลประโยชน์ร่วมกันจากการเปิดเสรีการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน อีกทั้งมีการเพิ่มความร่วมมือในด้านต่างๆ มากยิ่งขึ้นจากเอฟทีเอของอาเซียนกับคู่เจรจาที่มีอยู่ก่อนหน้า เช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ทรัพย์สินทางปัญญา การแข่งขันทางการค้า ตลอดจนมีเรื่องใหม่ ๆ อาทิ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ซึ่งจะสร้างโอกาสครั้งใหญ่ให้กับธุรกิจในภูมิภาคได้

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/economic/807023