ทางการกัมพูชารณรงค์ต่อเนื่อง เพื่อการส่งเสริมการใช้เงินสกุลเรียล

ธนาคารแห่งชาติกัมพูชาได้เร่งส่งเสริมการใช้เงินเรียลในระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ผ่านการดำเนินนโยบายการเงิน ผนวกกับการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด เพื่อผลักดันให้ปริมาณเงินเรียลหมุนเวียนในระบบเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับสกุลเงินท้องถิ่น โดยปัจจุบันกัมพูชาใช้สกุลเงินดอลลาร์ในระบบเศรษฐกิจสูงมากเมื่อเทียบกับสกุลเงินเรียล ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงในแง่ของอัตราแลกเปลี่ยนสำหรับผู้ที่ทำธุรกรรมภายในประเทศ ซึ่งธนาคารกลางคาดว่าจะใช้วิธีการลดต้นทุนการทำธุรกรรมผ่านสกุลเงินเรียล เพื่อเป็นการดึงดูดการใช้เงินเรียลแทนที่เงินดอลลาร์ นอกจากนี้ กัมพูชายังพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวอย่างมาก จึงเห็นถึงความสำคัญในการใช้สกุลเงินเรียลเป็นหลัก เพื่อให้ธนาคารกลางสามารถส่งเสริมการส่งออกต่อไปโดยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านราคาผ่านการแทรกแทรงค่าเงิน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501194382/sustained-campaign-for-riel-promotion-2/

นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมายังกัมพูชาทะลุ 1.5 ล้านคน ในช่วงเดือน ม.ค.-ต.ค.

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเยือนกัมพูชาในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2022 เพิ่มขึ้น เป็นกว่า 1,575,954 คน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 991.1 ตามรายงานของกระทรวงการท่องเที่ยว โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่เดินทางมายังกัมพูชาผ่านทางมาทางอากาศ 559,918 คน, ทางบก 1,005,549 คน และทางน้ำ 10,487 คน ซึ่งนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากประเทศไทย คิดเป็นกว่า 590,000 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 37.5 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ตามมาด้วยเวียดนาม จีน สหรัฐฯ สปป.ลาว อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ มาเลเซีย ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร โดยทางการกัมพูชาคาดว่าจะรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 2.2 ล้านคน ภายในช่วงสิ้นปีนี้ ซึ่งการท่องเที่ยวถือเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจกัมพูชา โดยปัจจุบันกัมพูชามีมรดกโลก 3 แห่ง ได้แก่ อุทยานโบราณคดีอังกอร์ในจังหวัดเสียมราฐ, ปราสาทพระวิหารในจังหวัดพระวิหาร และปราสาทสมโบร์ไพรกุกในจังหวัดกำปงธม

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501194322/intl-tourist-arrivals-cross-1-5-million-in-jan-oct/

ปัจจัย 3 ประการที่เป็นตัวกำหนดการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนาม

ตามบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ Vietnam Briefing เปิดเผยว่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน สภาพแวดล้อมทางการค้าและค่าจ้าง ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและไปในทิศทางที่เป็นบวก โดยเฉพาะการใช้จ่ายทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน ประมาณ 6% ของ GDP สูงสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน ทั้งนี้ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เวียดนามมีการลงนามข้อตกลงการค้าทวิภาคีกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก และเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกของอาเซียน ทำให้เวียดนามได้รับประโยชน์จากการทำ FTA หลายรายการสินค้า อีกทั้ง การรับรองมาตรฐานสินค้า การผลิตและสิทธิของพนักงานในข้อตกลงเหล่านี้จะทำให้เวียดนามกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตและการส่งออก นอกจากนี้ สภาพแวดล้อมทางธุรกิจของเวียดนามยังเปิดกว้างและรัฐบาลได้กำหนดนโยบายที่เป็นมิตรต่อนักลงทุน และปัจจัยสุดท้ายที่ทำให้เวียดนามได้เปรียบมากที่สุด คือค่าจ้างแรงงานที่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/three-factors-keep-vietnams-economy-humming-along-post987158.vov

CDC อนุมัติโครงการลงทุนใหม่กว่า 460 ล้านดอลลาร์ ในช่วง Q3/2022

สภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) อนุมัติโครงการการลงทุน 52 โครงการ มูลค่ากว่า 460 ล้านดอลลาร์ ในไตรมาส 3 ปี 2022 เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งโครงการการลงทุนที่ได้รับอนุมัติสร้างงานกว่า 40,274 ตำแหน่ง ให้กับคนในท้องถิ่น ตามรายงานล่าสุดจากกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง โดยกล่าวว่าโครงการลงทุน 33 โครงการ ตั้งอยู่นอกเขตเศรษฐกิจพิเศษ มูลค่าการลงทุนรวม 266 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่โครงการอื่นๆ อีก 19 โครงการ ตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ มูลค่าการลงทุนรวม 194 ล้านดอลลาร์ ซึ่งกระทรวงฯ ระบุว่า สถานการณ์เศรษฐกิจของกัมพูชาเริ่มกลับมาฟื้นตัวในช่วงไตรมาส 3 ตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ โครงการก่อสร้าง การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมและบริการ และการผลิตในประเทศที่เพิ่มขึ้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501192692/investment-projects-worth-460m-approved-in-q3/

‘สปป.ลาว’ จำเป็นต้องปฏิรูปเพื่อการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

ตามรายงาน Lao Economic Monitor ฉบับประจำเดือนตุลาคม 2565 เปิดเผยว่าการปฏิรูปจะสามารถช่วยฟื้นฟูเสถียรภาพและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน รายงานดังกล่าวยังระบุว่าเงินกีบอ่อนค่าลง 68% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐตั้งแต่ช่วงต้นปีจนถึงเดือนตุลาคม เป็นสาเหตุที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน ในขณะที่หนี้สาธารณะและหนี้ที่รัฐบาลค้ำประกัน คาดว่าจะเกินกว่า 100% ต่อ GDP ในสิ้นปีนี้ ด้วยเหตุนี้ ธนาคารโลกจึงปรับลดคาดการณ์ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจสปป.ลาว ในปี 2565 เหลืออยู่ที่ 2.5% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 3.8% ถึงแม้ว่าการจ้างงานจะเพิ่มขึ้นในช่วงกลางเดือนของปีนี้ ตารายได้ของคนลาวกลับเพิ่มตามมาไม่ทันเงินเฟ้อ ดังนั้น ธนาคารโลกได้เสนอให้ทำการปฏิรูป 5 ประการ ได้แก่ การยกเว้นภาษี เพิ่มรายได้ของรัฐบาลและปกป้องการใช้จ่ายทางสังคม, ปรับปรุงการบริหารการปกครองสาธารณะ, ปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะ, เสริมสร้างความมั่งคงของภาคการเงิน และการปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten227_Reform_y22.php

มูลค่าการค้าระหว่างกัมพูชากับกลุ่มประเทศ RCEP เพิ่มขึ้น 11% ในช่วง 9 เดือน

กระทรวงพาณิชย์กัมพูชารายงานว่ามูลค่าการค้าของกัมพูชากับกลุ่มประเทศความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) มีมูลค่าแตะ 24,000 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2022 เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 11 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยคิดเป็นการส่งออกของกัมพูชาไปยังกลุ่มประเทศสมาชิก RCEP มูลค่า 4.7 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 ในขณะที่การนำเข้าของกัมพูชาจากกลุ่มประเทศสมาชิก RCEP มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 19.3 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 ซึ่งประเทศคู่ค้ารายสำคัญ 5 อันดับแรกของกัมพูชาในกลุ่มประเทศสมาชิก RCEP ได้แก่ จีน เวียดนาม, ไทย, สิงคโปร์ และญี่ปุ่น ด้านปลัดกระทรวงพาณิชย์และโฆษกรัฐบาล Penn Sovicheat กล่าวว่า RCEP ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในกัมพูชาและในภูมิภาค

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501179149/cambodias-trade-with-rcep-countries-up-11-pct-in-9-months-ministry/

นายกฯ ฮุนเซน กล่าวถึงการเปิดประเทศก่อนกำหนด ทำให้ประเทศกลับมาเติบโตอีกครั้ง

นายกรัฐมนตรีฮุนเซน กล่าวในระหว่างพิธีสำเร็จการศึกษาของ Royal University of Law and Economics ว่าการที่รัฐบาลกัมพูชาตัดสินใจเปิดประเทศไปเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2021 ที่ผ่านมา เนื่องจากสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ไว้ได้ ส่งผลทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศกลับมาเติบโตอีกครั้ง โดยในปีนี้ทางการคาดว่าเศรษฐกิจกัมพูชาจะขยายตัวร้อยละ 5.4 และจะขยายตัวถึงร้อยละ 6.6 ในปี 2023 จากอุปสงค์ภายนอกและกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศที่กลับมาสู่ภาวะปกติ ด้าน Lim Heng รองประธานหอการค้ากัมพูชา กล่าวเสริมว่า การฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมภายในประเทศ เป็นผลมาจากการควบคุมโรคระบาดที่ประสบความสำเร็จภายใต้การรณรงค์ฉีดวัคซีนของรัฐบาล รวมถึงทางการยังได้ออกกฎหมายเพื่อการลงทุนฉบับใหม่ อีกทั้งกัมพูชายังได้ทำการลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีกับจีนและเกาหลีใต้ และหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) จะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาในระยะถัดไป

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501178071/pm-says-early-reopening-put-country-back-on-growth-trajectory/

“ฟิทช์” คงเรตติ้งเวียดนามที่ BB สะท้อนเชิงบวก

ฟิทช์ เรทติ้งส์ (Fitch Ratings) หน่วยงานจัดอันดับความน่าเชื่อถือ คาดการณ์เศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัว 7.4% ในปี 2565 เป็นผลสืบเนื่องจากภาคอุตสาหกรรม การก่อสร้างและการบริการที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ตลอดจนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่ไหลเข้ามายังประเทศเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม เวียดนามยังมีความเสี่ยงด้านลบจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ดังนั้นทางหน่วยงานฟิทช์ เรทติ้งส์ จึงปรับลดคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจที่ 6.2% ในปี 2566 ด้วยเหตุนี้ ฟิทช์ เรทติ้งส์ คงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของเวียดนามไว้ที่ ‘BB’ ด้วยแนวโน้มเป็นบวก

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/fitch-ratings-affirms-vietnam-at-bb-with-positive-outlook-2075843.html

รัฐบาลคาดเศรษฐกิจสปป.ลาว ปี 65 โต 4.4%

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการลงทุน กระทรวงวางแผนและการลงทุน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เปิดเผยว่ารัฐบาลได้คาดการณ์ตัวเลขการเติบโตเศรษฐกิจ ขยายตัว 4.4% ในปี 2565 ถึงแม้ว่าจะต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้เดิมอยู่ที่ 4.5% โดยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ ขยายตัว 4.5% และชะลอตัวเหลือ 4.2% ในไตรมาสที่สอง และ 3.8% ในไตรมาสที่สาม ทั้งนี้ การเติบโตทางเศรษฐกิจได้รับแรงหนุนมาจากภาคเกษตรกรรมและการท่องเที่ยวที่เริ่มกลับมาฟื้นตัวได้แล้วเป็นบางส่วน หลังจากยกเลิกข้อจำกัดการเดินทางที่บังคับใช้ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโรค นอกจากนี้ ในส่วนของภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการส่งออกผลิตภัณฑ์จากเหมืองแร่และพลังงานมีส่วนสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม สปป.ลาว ยังคงได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอก รวมถึงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน การแพร่ระบาดของโควิดและภัยพิบัติทางธรรมชาติ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten208_Economy.php

“เวียดนาม” เติบโตเร็วสุดในอาเซียน คาด GDP ปีนี้เพิ่มขึ้น 8%

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 ว่า Pham Minh Chinh นายกรัฐมนตรีเวียดนาม มั่นใจว่าการเติบโตของเวียดนามจะเกินความคาดหมายในปีนี้ และยังคงรักษาตำแหน่งเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไว้ในปี 2566  โดยคาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) จะเพิ่มขึ้น 8% ในปี 2565 ซึ่งเร็วกว่าค่าเฉลี่ย 7.3% ที่ประเมินไว้ในแบบสำรวจของ Bloomberg และขยายตัว 6.5% ในปีต่อไป ทั้งนี้ ในการกล่าวสุนทรพจน์ต่อการประชุมสภาแห่งชาติช่วงฤดูใบไม้ร่วง นายกรัฐมนตรีเวียดนามอธิบายว่าการคาดการณ์ปี 2566 นั้นสมเหตุสมผล เนื่องจากต้องเผชิญกับความท้าทายและความยากลำบากมากมายที่เศรษฐกิจเผชิญท่ามกลางแนวโน้มทั่วโลกที่แย่ลง ผลการดำเนินงานของ GDP ในปีปัจจุบันจะเพิ่มความท้าทายสำหรับการเติบโตในปีหน้าด้วยฐานที่สูงขึ้น

ที่มา : https://www.moneyandbanking.co.th/article/news/vietnam-gdp-20102022