กัมพูชาส่งออกไปยังสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 37 ในช่วง 7 เดือนแรกของปี

กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 37.26 ในช่วงเดือน ม.ค.-ก.ค. หรือคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 3.8 พันล้านดอลลาร์ ประกอบด้วยสินค้าประเภทเสื้อผ้า รองเท้า และผลิตภัณฑ์การเดินทางเป็นหลัก โดยกัมพูชาทำการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯมูลค่ารวมกว่า 209 ล้านดอลลาร์ ส่วนใหญ่เป็นยานพาหนะ อาหารสัตว์ และเครื่องจักร คิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 49.62 จากช่วงเวลาเดียวกันในปี 2020 ซึ่งในระยะถัดไปสหรัฐฯ จะขยายระบบ Generalized System of Preferences (GSP) โดยทำการลดภาษีสินค้านำเข้าจากกัมพูชา เป็นการช่วยกระตุ้นการส่งออกของกัมพูชา ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้กล่าวไว้เมื่อเดือนที่แล้วว่าเศรษฐกิจกัมพูชามีโอกาสจะเติบโตร้อยละ 2.5 ในปีนี้ ภายใต้การส่งออกของสินค้าเกษตรที่ยังคงแข็งแกร่ง แต่การท่องเที่ยวจะยังคงไม่ฟื้นตัวจนกว่าอัตราการฉีดวัคซีนภายในประเทศจะถึงร้อยละ 80 ของประชากร ที่ทางกัมพูชาได้กำหนดไว้ในการเปิดประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50914249/exports-to-us-jump-more-than-37-percent-imports-also-gain-january-to-july/

เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสปป.ลาวคาดหวังให้สปป.ลาวได้วัคซีนโควิด-19 เพิ่มขึ้นจากสหรัฐฯ

ดร.ปีเตอร์ เอ็ม เฮย์มอนด์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสปป.ลาว กล่าวว่า วัคซีนโควิด-19 ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ จะมาถึงสปป.ลาวในอนาคต เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้คนในสปป.ลาวจากไวรัสโควิด-19 ผ่านโครงการ COVAX Facility มูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นความร่วมมือระดับโลกที่มีเป้าหมายเพื่อให้แน่ใจว่ามีการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 อย่างเท่าเทียมกัน การสนับสนุนจากสหรัฐฯ จะทำให้ประสิทธิภาพการฉีดวัคซีนในสปป.ลาวเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ปัจจุบันสปปป.ลาวสามารถฉีดวัคซีนเข็มแรกให้กับประชาชนไปแล้วกว่าร้อยละ 50 ของประชาทั้งหมดและหากได้รับวัคซีนเพิ่มเติมที่มีกำหนดรับในเดือนนี้ สปป.ลาวจะสามารถฉีดเข็มสองให้กับประชาชนได้ครอบคลุมกว่าร้อยละ 50 ภายในปีนี้ การเร่งฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในตามหลักทางการแพทย์นั้น จะทำให้สปป.ลาวสามารถจบปัญหากับโควิดเร็วและจะเร่งกลับมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้เร็วกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียน การสนับสนุนวัคซีนผ่านโครงการดังกล่าวจึงถือเป็นปัจจัยสำคัญในการที่จะทำให้สปป.ลาวรอดพ้นจากสถานการณ์ที่ยากลำบากในปัจจุบัน

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_US141.php

อาเซียน-สหรัฐฯ กระชับความร่วมมือแก้ปัญหาโควิด-19

ผู้นำสหรัฐฯ และอาเซียนเห็นพ้องที่จะเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อรับมือกับการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังเกิดโรคระบาด อาเซียน-สหรัฐฯ ตกลงที่จะร่วมมือในด้านเศรษฐกิจดิจิทัลและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนเครือข่าย Asean smart Cities และการเชื่อมต่อของอาเซียน ตลอดจนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการลดช่องว่างการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ในที่ประชุมยังได้มีแบ่งปันบทเรียนและประสบการณ์ตลอดจนแนวทางปฏิบัติที่ดีว่าประเทศต่างๆ ต่อสู้กับไวรัสอย่างไร โดยรัฐบาลสปป.ลาวกล่าวในที่ประชุมถึงการจัดการกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยได้กำหนดมาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่กระจายของไวรัส พร้อมสนับสนุนให้ผู้คนจำนวนมากได้รับการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึงและรวดเร็ว อีกทั้งเมื่อเร็วๆ นี้ สหรัฐฯ ได้ประกาศบริจาควัคซีนป้องกันโควิด-19 จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน จำนวน 1,008,000 โดส ให้กับลาว ซึ่งคาดว่าจะถึงในวันพฤหัสบดีนี้ การส่งมอบดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนความพยายามของรัฐบาลในการบรรลุเป้าหมายในการฉีดวัคซีน 50% ของประชากรภายในสิ้นปีนี้

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Asean136.php

ผู้เชี่ยวชาญการค้าชี้สหรัฐอาจเสียประโยชน์ขณะที่อาเซียน+5 มุ่งหน้าให้สัตยาบันข้อตกลง RCEP

เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วประเทศสมาชิกของสมาคมอาเซียน 10 ประเทศกับประเทศคู่ค้าอีกห้ารายคือ ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และเกาหลีใต้ ได้สรุปความตกลงการเจรจาการค้าเสรี RCEP หรือข้อตกลงหุ้นส่วนความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคระหว่างสมาคมอาเซียนกับห้าประเทศคู่ค้า ซึ่งโดยรวมแล้วครอบคลุมผลผลิตทางเศรษฐกิจประมาณ 30% ของโลก และขณะนี้จีน ญี่ปุ่น กับประเทศสมาชิกอาเซียนสองประเทศได้ให้สัตยาบันรับรองไปแล้ว ด้านนักวิเคราะห์ด้านการค้าบางคน เช่น คุณ Patrick Quirk จากสถาบัน International Republican Institute ได้ชี้ว่าสหรัฐฯ อาจจะเสียเปรียบเพราะข้อตกลง RCEP จะเปิดโอกาสให้จีนมีอิทธิพลด้านการค้าและเพิ่มระดับการพึ่งพาทางเศรษฐกิจกับประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้มากขึ้น ส่วน Jeffrey Wilson ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของศูนย์ Perth USAsia Center ในออสเตรเลียเห็นว่าถึงแม้ข้อตกลง RCEP จะส่งผลให้กลุ่มประเทศสมาชิกมีปริมาณการค้ากับภูมิภาคภายนอกซึ่งรวมถึงสหรัฐฯ น้อยลงก็ตาม แต่ RCEP ก็น่าจะช่วยเน้นย้ำเรื่องความสำคัญของระบบการค้าโลกได้

ที่มา : https://www.voathai.com/a/business-news-ct/5956167.html

บริษัทสัญชาติจีนวางแผนเพิ่มกิจกรรมระหว่างประเทศหลังการแพร่ระบาด

ในขณะที่ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯและจีนไม่มีทีท่าว่าจะลดลง ธุรกิจของทั้งสองชาติจึงเปลี่ยนความสนใจไปยังประเทศทางฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจีนหันไปให้ความสำคัญกับกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ยังคงมีการพัฒนาน้อยอย่างกัมพูชา โดยสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) 10 ประเทศ ได้รับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) จากทั่วโลกลดลงร้อยละ 31 ในปี 2020 แต่อย่างไรก็ตามจีนกลับเพิ่มการลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียนกว่า 14.36 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 51 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นการส่งสัญญาณถึงความสำคัญของจีนต่อภูมิภาคนี้ในปัจจุบัน โดยอาเซียนถูกมองว่าเป็นตลาดที่ใหญ่เป็นอันดับสามในเอเชียรองจากจีนและอินเดีย ซึ่งมีประชากรรวมถึง 660 ล้านคน รวมทั้งกลุ่มชนชั้นกลางก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นด้วย ปัจจุบันจีนถือเป็นแหล่ง FDI ลำดับต้นๆของกัมพูชา โดยมีเงินลงทุนเกือบ 900 ล้านดอลลาร์ ในช่วงปี 2020 ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขึ้นของ FDI จากทางจีนในกัมพูชาถึงร้อยละ 70

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50858253/chinese-firms-to-increase-post-pandemic-asean-activity/

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ช่วยกระตุ้นการค้าระหว่างกัมพูชา

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในสหรัฐฯ ส่งผลทำให้การค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 16.9 คิดเป็นมูลค่ากว่า 289.9 ล้านดอลลาร์ สู่ 1.9683 พันล้านดอลลาร์ ในไตรมาสแรกของปี 2021 ตามรายงานของสำนักงานสำรวจสำมะโนประชากรของสหรัฐฯ (USCB) โดยการใช้จ่ายของผู้บริโภคในสหรัฐฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 ในช่วง 3 เดือนแรกของปี ซึ่งมีการซื้อสินค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 ตามรายงานของ ประธานหอการค้าอเมริกันในกัมพูชา โดยการส่งออกรวมในไตรมาสที่แล้วมูลค่ารวม 1.8629 พันล้านดอลลาร์ และการนำเข้ารวม 106.3 ล้านดอลลาร์ ส่งผลทำให้ดุลการค้าของกัมพูชาเกินดุลกว่า 1.7566 พันล้านดอลลาร์ ตามตัวเลขอย่างเป็นทางการ ซึ่งสินค้าส่งออกที่สำคัญของกัมพูชา ได้แก่ เสื้อผ้า รองเท้า และผลิตภัณฑ์สำหรับการเดินทาง ส่วนการนำเข้าจากสหรัฐฯ ส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าที่เกี่ยวกับยานพาหนะ อาหารสัตว์และเครื่องจักร เป็นต้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50852336/booming-us-recovery-boosts-bilateral-trade-and-exports/

‘CPTPP’ เปิดโอกาสดันส่งออกเวียดนามไปตลาดสหรัฐฯ

จากงานสัมมนา “CPTPP – โอกาสส่งออกเวียดนามในตลาดสหรัฐฯ” เมื่อวันที่ 27 เมษายน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า เผยว่าความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างเวียดนามและสหรัฐฯ เติบโตอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ที่มีผลบังคับใช้ในเวียดนามเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2562 ซึ่งเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกแรกนั้น การค้าระหว่างเวียดนามกับสหรัฐ อยู่ที่ 111.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 16% เมื่อเทียบกับปี 2562 ทั้งนี้ ในไตรมาสแรกของปีนี้ เวียดนามมีมูลค่าการส่งออกที่ขยายตัวในกลุ่มประเทศ CPTPP โดยเฉพาะแคนาดา ชิลี เม็กซิโกและเปรู อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีช่วยฯ แนะให้บริษัทเวียดนามทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้ประโยชน์จากการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานของประเทศสมาชิก เพื่อแสวงหาโอกาสทางธุรกิจและกระจายตลาดส่งออกและสินค้า

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/cptpp-opens-up-prospects-for-vietnams-exports-to-the-americas/200708.vnp

สหรัฐฯ ก้าวขึ้นเป็นผู้นำเข้าสินค้าเกษตรรายใหญที่สุดของเวียดนาม

ตามรายงานล่าสุดของกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท แสดงให้เห็นว่าในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ ยอดส่งออกและนำเข้าสินค้าเกษตรโดยรวม อยู่ที่ประมาณ 11 พันล้านเหรียญสหรัฐ หากจำแนกพบว่าการส่งออก มีมูลค่าราว 6.17 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 16.6% และการนำเข้า มีมูลค่า 4.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 13.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี ทำให้เวียดนามเกินดุลการค้า 1.37 พันล้านเหรียญสหรัฐ  ทั้งนี้ กลุ่มสินค้าเกษตรส่งออกที่สำคัญของเวียดนามที่มีการเติบโตได้ดี ได้แก่ ยางพารา มีมูลค่า 516 ล้านเหรียญสหรัฐ (โต 9.9%) รองลงมาใบชา เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ผัก ไม้และผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากไม้ หวายและไม้ไผ่ นอกจากนี้ สหรัฐฯ เป็นลูกค้าสินค้าเกษตรของเวียดนามรายใหญ่ที่สุดในช่วงเวลาดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงฯ มุ่งเน้นไปที่จัดกิจกรรมส่งเสริมการค้า รวมถึงศึกษากฎระเบียบของตลาดและอุปสรรคทางเทคนิคในเขตการค้าเสรี (FTAs) เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

ที่มา : https://vietnamtimes.org.vn/us-becomes-largest-importer-of-vietnamese-agricultural-products-during-jan-feb-28790.html

PPSEZ ส่งออกไปยังสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และอาเซียน เพิ่มขึ้นในปี 2020

การส่งออกจากเขตเศรษฐกิจพิเศษพนมเปญ (PPSEZ) ภายใต้ FTA อาเซียน – สหภาพยุโรป และโครงการ GSP / MFN (Generalized System of Preferences / Most-Favored Nation) ของสหรัฐฯ มีมูลค่าการค้ารวมอยู่ที่ประมาณ 507 ล้านดอลลาร์ ในปี 2020 เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 76 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2019 ตามรายงานของกระทรวงพาณิชย์ โดยสินค้าส่งออกส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มเสื้อผ้า สิ่งทอ รองเท้า และสินค้าสำหรับการเดินทาง ไปยังสหรัฐฯ สหภาพยุโรป จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น คิดเป็นการส่งออกเสื้อผ้ารวม 20.34 ล้านดอลลาร์ สินค้าที่เกี่ยวกับการเดินทาง 4.637 ล้านดอลลาร์ และรองเท้าคิดเป็นมูลค่า 826,504 ดอลลาร์ ไปจนถึงหมวดหมู่ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ คิดเป็น 481.68 ล้านดอลลาร์ ซึ่งในปีนี้จะขึ้นอยู่กับว่าสถานการณ์ COVID-19 นั้นจะอยู่ในทิศทางใด

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50805264/ppsez-exports-to-us-eu-and-asean-up-substantially-in-2020/

วิเคราะห์ส่งออก ‘เวียดนาม’ ไม่สะเทือน แม้ถูกสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีปั่นค่าเงิน

โดย ศรัณย์ กิจวศิน I THE STANDARD

เวียดนามถือเป็น 1 ใน 2 ประเทศที่ถูกสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีดำเป็นประเทศบิดเบือนค่าเงินร่วมกับสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งทำให้เวียดนามอาจไม่สามารถเข้าดูแลค่าเงินได้อย่างเต็มที่ ส่งผลให้ค่าเงินดองมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น แต่ประเด็นนี้อาจไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกของเวียดนามมากนัก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า มีความเป็นไปได้ที่ทางการเวียดนามจะทยอยปรับค่าเงินดองให้สูงขึ้นในช่วง 5-7% สอดคล้องกับข้อมูลของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ที่พบว่าเวียดนามกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนต่ำกว่าความเป็นจริง 4.2-5.2% ในปี 2562 ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม การแข็งค่าของเงินดองจะไม่ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของเวียดนามลดลงอย่างมีนัยสำคัญทั้งในระยะสั้นถึงกลาง เนื่องจากโครงสร้างการผลิตของเวียดนามส่วนมากเน้นการใช้แรงงานเข้มข้น

สำหรับในระยะข้างหน้าด้วยค่าเงินดองมีแนวโน้มเผชิญแรงกดดันให้แข็งค่าต่อเนื่องจากโครงสร้างทางการค้าที่เกินดุล ทางการเวียดนามคงทยอยปรับค่าเงินดองให้แข็งค่าขึ้นในจังหวะที่เหมาะสม อันช่วยให้เศรษฐกิจเวียดนามมีระยะเวลาในการปรับตัวเพียงพอต่อทิศทางการแข็งค่าของเงินดองในระยะข้างหน้า ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะช่วยลดทอนผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกสินค้าและการตัดสินใจลงทุนในระยะยาวของนักลงทุน ขณะที่ยังสามารถที่จะลดแรงกดดันจากข้อกล่าวหาในการบิดเบือนค่าเงิน

อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวคงไม่ทำให้เวียดนามสูญเสียความได้เปรียบในการทำตลาดส่งออก เนื่องจากหากค่าเงินดองแข็งค่าขึ้นก็น่าจะเอื้อประโยชน์ช่วยลดต้นทุนการนำเข้าปัจจัยการผลิตขั้นกลางของเวียดนามที่ยังต้องพึ่งพาจากต่างประเทศถึง 54% ของการนำเข้าทั้งหมด ประกอบกับโครงสร้างการผลิตที่เอื้อให้สินค้าเวียดนามมีต้นทุนต่ำ จึงน่าจะบริหารจัดการลดส่วนแบ่งกำไรลงบางส่วนเพื่อรักษาตลาดไว้ได้ ทำให้เวียดนามจะยังคงความสามารถในการแข่งขันในด้านการผลิตและส่งออกไว้ได้อีกระยะหนึ่ง

ที่มา : https://thestandard.co/vietnam-export-not-effecting-united-states-currency/