สำรวจเศรษฐกิจกลุ่ม CLMV ยัง ‘ฟื้นตัว’ แตกต่างกันจากพิษโควิด-19

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ระบุว่า เศรษฐกิจกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) ส่งสัญญาณฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในไตรมาส 2 ปี 2563 หลังเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในช่วงเดือนพฤษภาคม ถึง มิถุนายน 2563 ทั้งนี้เศรษฐกิจ CLMV ยังคงฟื้นตัวช้าและไม่ทั่วถึง โดยระดับการฟื้นตัวที่แตกต่างกันมากขึ้นนั้น เป็นผลมาจากการฟื้นตัวแบบช้าๆ และไม่ทั่วถึงของเศรษฐกิจโลก อัตราว่างงานที่เพิ่มขึ้น ระดับการระบาดระลอกใหม่ของโรคโควิด-19 และประสิทธิภาพของมาตรการรองรับ รวมทั้งปัจจัยเฉพาะในรายประเทศที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ โดยเศรษฐกิจเวียดนามกลับมาฟื้นตัวได้ดี ด้วยแรงหนุนจากการส่งออกที่แข็งแกร่ง ในขณะเดียวกันเศรษฐกิจลาวยังเผชิญแรงกดดันจากข้อจำกัดในการทำนโยบายการคลัง (Fiscal Space) และความเสี่ยงที่สูงขึ้นในประเด็นการผิดชำระหนี้ สำหรับเมียนมา การระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 และมาตรการล็อกดาวน์ที่กลับมาเข้มงวดขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจเมียนมามีแนวโน้มฟื้นตัวต่ำกว่าคาดการณ์ในปีงบประมาณ 2020/2021

ที่มา : https://thestandard.co/the-clmv-economic-survey-continued-to-recover/

อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มของกัมพูชาคาดว่าจะเผชิญกับการชะลอตัว

Oxford Economics ระบุว่าการระบาดของ COVID-19 จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการส่งออกของกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งประกอบไปด้วย กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม โดยเสริมว่าการส่งออกของกัมพูชามากถึงร้อยละ 66 เกิดจากอุตสาหกรรมเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งได้รับประโยชน์จากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศและสิทธิประโยชน์ทางการค้าหลักจากผู้ซื้อหลัก โดยคาดการณ์ว่าการไหลเข้าของ FDI จะลดลงอย่างรวดเร็วในปีนี้ และการฟื้นตัวในปี 2021 จะถูกชะลอลงท่ามกลางความต้องการเครื่องนุ่งห่มทั่วโลกที่อ่อนแอและการถอนบางส่วนจากสิทธิพิเศษทางการค้า “Everything but Arms : EBA” ระหว่างสหภาพยุโรป ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม ที่ผ่านมา ซึ่ง Oxford Economics เน้นย้ำอีกว่าแม้จะเกิดสถานการณ์เลวร้าย ณ ปัจจุบัน แต่ในกลุ่ม CLMV จะยังคงมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างแข็งแกร่งในอนาคต โดย Oxford Economics คาดการณ์ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ CLMV มีแนวโน้มที่จะเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 5.1 ตั้งแต่ปี 2020 ถึง 2028 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยโดยประมาณของ ASEAN-5 ที่เติบโตอยู่ที่ร้อยละ 4

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50764104/cambodias-garment-industry-projected-to-face-brunt-of-clmv-exports-slowdown/

EIC CLMV Outlook Q3/2020

การประกาศมาตรการ lockdown ที่เข้มงวดส่งผลให้กลุ่มประเทศ CLMV ประสบความสำเร็จ ในการควบคุมการระบาดของ COVID-19 ได้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2020 และสามารถผ่อนคลายมาตรการ lockdown ได้รวดเร็วกว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค อย่างไรก็ดี อุปสงค์ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ คาดว่าจะยังซบเซาต่อไปในระยะข้างหน้า โดยเป็นผลจากอัตราว่างงานที่สูงขึ้น จำนวนผู้ติดเชื้อในต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น และการขยายระยะเวลาปิดพรมแดน ด้วยเหตุผลข้างต้น EIC จึงปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจ CLMV ทั้ง 4 ประเทศในปี 2020 ทั้งนี้การชะลอตัวทางเศรษฐกิจอาจยิ่งเพิ่มความเปราะบางของกลุ่มประเทศ CLMV ต่อปัจจัยเสี่ยงด้านโครงสร้างและปัจจัยเสี่ยงในระยะยาว ทั้งจากฐานะทางการคลังและฐานะระหว่างประเทศที่อ่อนแอลง รวมถึงคุณภาพสินทรัพย์ของสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นความเสี่ยงด้านต่ำต่อแนวโน้มและอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ (sovereign credit rating) นอกจากนี้ ปัจจัยเสี่ยงเฉพาะ รายประเทศยังคงเป็นสิ่งที่ต้องจับตา ทั้งผลกระทบของการถอดถอนสิทธิพิเศษทางการค้า EBA บางส่วนซึ่งมีผลบังคับใช้ในเดือนสิงหาคม 2020 ต่อเศรษฐกิจกัมพูชา ผลกระทบจากการถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือและความเสี่ยงในประเด็นความสามารถในการชำระหนี้ที่ลดลงของสปป.ลาว การเลือกตั้งทั่วไปของเมียนมาในเดือนพฤศจิกายน และการระบาดของ COVID-19 ระลอกที่ 3 ในเวียดนาม ทั้งนี้จากความเสี่ยงเฉพาะรายประเทศ บวกกับผลกระทบและความไม่แน่นอนจากสถานการณ์ COVID-19 คาดว่าเศรษฐกิจ CLMV ในระยะข้างหน้าจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีระยะการฟื้นตัวช้าเร็วแตกต่างกันในแต่ละประเทศและภาคอุตสาหกรรม

  • กัมพูชา  EIC ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจกัมพูชาจากการหดตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก โดยประเมินว่าเศรษฐกิจจะหดดตัว -3.0% ในปี 2020F
  • สปป.ลาว EICปรับลดคาดการร์การเติบโตขอเศรษฐกิจสปป.ลาวลงเป็น 0.5% ในปี 2020F นอกจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่อ่อนแรงแล้ว ข้อจำกัดด้านการคลังและเสถียรภาพด้านต่างประเทศที่น่ากังวลจะยิ่งทำให้ผลกระทบจากสถานกาณ์ Covid-19 ทวีความรุ่นแรงยิ่งขึ้น
  • เมียนมา EIC ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจเมียนมาลงเป็น 1.5% ในปี 2020F สะท้อนถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจในเกือบทุกภาคส่วน
  • เวียดนาม จำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่กลับมาเพิ่มขึ้นในหลายเมืองหลักน่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจเวียดนามชะลอตัวมากกว่าคาด EIC จึงปรับลดคาดการณ์การเติบโตขอเศรษฐกิจเวียดนามลงเป็น 2.3% ในปี 2020F

ที่มา : scbeic

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.scbeic.com/th/detail/product/7015

EXIM BANK จัดงานสัมมนาออนไลน์ส่งเสริมนักธุรกิจ CLMV ลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ไทย

นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา (ที่ 4 จากซ้าย) กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ต้อนรับนายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ (ที่ 4 จากขวา) อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ผศ.ดร.สมชาย รัตนซื่อสกุล (ที่ 3 จากซ้าย) คณบดี คณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) และนายทินกฤต สินทัตตโสภณ (ที่ 2 จากขวา) กรรมการผู้จัดการ บริษัท คามุ คามุ จำกัด วิทยากรในงานสัมมนาออนไลน์ Thai Franchise “Your Opportunity” จัดโดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้าของ EXIM BANK (EXIM Excellence Academy : EXAC) ดำเนินรายการโดย ดร.นิ่มนวล ผิวทองงาม (ที่ 2 จากซ้าย) อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มธบ. เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจแก่นักลงทุนจาก CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) และอาเซียน ในการเลือกลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ไทยและโอกาสของธุรกิจใน CLMV ณ EXIM BANK สำนักงานใหญ่

ที่มา : https://thaipublica.org/2020/08/exim-bank-thai-brand-franchise-businesses-in-clmv/

กิจกรรมเสวนา AiTi ในรูปแบบ Private Mentoring และ Business Matching หัวข้อ การค้าการลงทุน และโอกาสใหม่ๆ ช่วงโควิด..วิกฤตรอบ 100 ปี ในประเทศกลุ่ม CLMV

📌วันที่ 7 กรกฎาคม ตั้งแต่เวลา 15.00 น. อาคาร 10 ชั้น 3 มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย📌

“ธสน.” เตือนผู้ส่งออกบริหารความเสี่ยงรับมือ “เศรษฐกิจโลก” และปัญหาผู้ซื้อต่างประเทศ

นายพิศิษฐ์  เสรีวิวัฒนา  กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ ธสน. (EXIM BANK) เปิดเผยว่า จากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 ธนาคารโลก (World Bank) ได้คาดการณ์ว่า ในปี 2563 เศรษฐกิจโลกจะหดตัว 5.2% ต่ำสุดในรอบเกือบ 100 ปีนับตั้งแต่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression) ในช่วงทศวรรษ 1930 ขณะที่การค้าโลกจะหดตัว 13.4% เป็นการหดตัวรุนแรงเกินเลข 2 หลัก (-10% ขึ้นไป) ครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดวิกฤตสินเชื่อซับไพรม์หรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2552 “EXIM BANK” คาดว่า ในปี 2563 ภาคการส่งออกของไทยจะหดตัว 5-8% สินค้าที่มีโอกาส เช่น สินค้าจำเป็นประเภทอาหาร และสินค้าตามกระแสเมกะเทรนด์ เช่น อุปกรณ์สำนักงานสำหรับทำงานจากบ้าน (Work from Home) เครื่องมือแพทย์ เภสัชภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ ทั้งนี้  จากการคาดการณ์ของออยเลอร์เฮอร์เมส (Euler Hermes) บริษัทประกันสินเชื่อทางการค้าชั้นนำของโลก Covid-19 จะส่งผลกระทบให้ธุรกิจการค้าทั่วโลกขาดทุนคิดเป็นมูลค่า 3.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งจะมีธุรกิจล้มละลายเพิ่มสูงขึ้นกว่า 20% ผู้ส่งออกไทยจึงต้องบริหารความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศ โดยวิธีกระจายตลาดส่งออกสินค้าไปยังตลาดที่ยังเติบโตหรือมีคนรุ่นใหม่ที่ยังมีกำลังซื้ออยู่มาก เช่น ตลาดใหม่อย่าง CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) เอเชียใต้ และแอฟริกา

ที่มา : https://www.thansettakij.com/content/439442

โควิด-19 กระทบเศรษฐกิจ CLMV เติบโตต่ำสุดในรอบ 2 ทศวรรษ ประเทศยิ่งพึ่งพารายได้จากต่างประเทศมาก ยิ่งกระทบหนัก (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3100)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์เรื่อง COVID-19 กระทบเศรษฐกิจ CLMV เติบโตต่ำสุดในรอบ 2 ทศวรรษ ประเทศยิ่งพึ่งพารายได้จากต่างประเทศมาก ยิ่งกระทบหนัก โดยระบุว่า การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจ CLMV ผ่านทางการพึ่งพารายได้จากต่างประเทศในธุรกิจท่องเที่ยว และภาคการส่งออก โดยประเทศที่พึ่งพารายได้จากต่างประเทศมาก ยิ่งได้รับผลกระทบในเชิงลบมาก      

  • กัมพูชา เป็นประเทศที่ได้รับรับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากพึ่งพารายได้จากต่างประเทศทั้งในธุรกิจท่องเที่ยวและภาคการส่งออก โดยคาดว่าธุรกิจท่องเที่ยวจะหดตัวประมาณ 60% ในปีนี้ ส่วนภาคการส่งออกนั้น กัมพูชายังพึ่งพาการส่งออกไปยังตลาด EU และสหรัฐฯ มากที่สุด ซึ่งในปัจจุบัน ประเทศสหรัฐฯ และประเทศในกลุ่ม EU คือประเทศที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 มากที่สุดในเวลานี้ จึงคาดว่ามูลค่าส่งออกจะหดตัวถึง 10% ในปีนี้ ส่งผลให้เศรษฐกิจกัมพูชาโดยรวมจะหดตัวกว่า 0.9% ในปี 2563
  • เวียดนาม เวียดนามได้รับผลกระทบปานกลาง เนื่องจากพึ่งพารายได้จากต่างประเทศในภาคการส่งออกเท่านั้น และยังโชคดีที่ เวียดนามมีประเทศคู่ค้าหลักที่หลากหลายทำให้การกระจายความเสี่ยงในการส่งออกค่อนข้างดี ประกอบกับสินค้าส่งออกหลักของเวียดนาม คือ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะได้รับอานิสงค์จากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่จำเป็นต้องเปลี่ยนไปด้วยการทำงานที่บ้าน (Work From Home) จึงทำให้อุปสงค์ของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ แผงวงจรไฟฟ้า เพิ่มขึ้น และทำให้ภาพรวมการส่งออกของเวียดนามหดตัวไม่มากนัก คาดว่ามูลค่าการส่งออกของเวียดนามจะหดตัวประมาณ 5% ในปีนี้ ประกอบรัฐบาลมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในรูปแบบเงินให้เปล่า และการลดภาษี คาดว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามจะยังคงเติบโตได้ในระดับ 3.6% ในปีนี้
  •  เมียนมา  เป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ค่อนข้างน้อย เพราะมีรายได้จากภาคการส่งออกและธุรกิจท่องเที่ยวค่อนข้างน้อย อย่างไรก็ตาม ภาคการส่งออกของเมียนมาก็ได้รับผลกระทบค่อนข้างหนัก เนื่องจากสินค้าส่งออกหลักของเมียนมา คือ ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งได้รับผลกระทบหนักจากราคาเชื้อเพลิงในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับ สินค้าส่งออกสำคัญอันดับสองของเมียนมา คือ เสื้อผ้าและสิ่งทอ ก็ได้รับผลกระทบหนักทั้งจากการปิดโรงงานในจีน และจากอุปสงค์สินค้าที่ลดลงในตลาด EU จึงคาดว่ามูลค่าการส่งออกของเมียนมาจะหดตัวถึง 10% ในปีนี้ อย่างไรก็ตาม EU ได้จัดตั้งกองทุนเงินช่วยเหลือฉุกเฉิน (Quick Assistance Fund) มูลค่า 500 ล้านยูโร เพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมสิ่งทอในเมียนมาที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งจะช่วยอุดหนุนการจ้างงานและการบริโภคของครัวเรือน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่ากองทุนเงินช่วยเหลือฉุกเฉินของ EU ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 1% ของ GDP จะช่วยพยุงรายได้ของประชาชน และทำให้การบริโภคในครัวเรือนยังเติบโตได้ในระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนวิกฤตโควิด-19 นอกจากนี้ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ของเมียนมาก็ยังคงเป็นไปตามกำหนดการเดิม จึงคาดว่าในภาพรวมเศรษฐกิจเมียนมาจะยังเติบโตได้ในระดับ 4.3% ในปี 2563
  • สปป.ลาว ก็เป็นอีกประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ค่อนข้างน้อย เนื่องจากไม่ได้พึ่งพารายได้จากธุรกิจท่องเที่ยว หรือภาคการส่งออกมากนัก อย่างไรก็ตาม ธุรกิจท่องเที่ยวของลาวพึ่งพานักท่องเที่ยวไทยมากที่สุด ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หนักที่สุดในอาเซียนในปีนี้ จึงคาดว่าธุรกิจท่องเที่ยวของลาวน่าจะได้รับผลกระทบหนักตามไปด้วย ส่วนภาคการส่งออกของสปป.ลาวคาดว่ามูลค่าการส่งออกจะหดตัวประมาณ 5% ในปีนี้ ยังโชคดีที่ ภาคการส่งออกของสปป.ลาวส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมเหมืองแร่และการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งไม่ได้ทำให้เกิดการจ้างงานกับผู้คนจำนวนมาก ส่วนธุรกิจท่องเที่ยวก็เพิ่งเริ่มพัฒนาและยังมีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับ GDP จึงทำให้รายได้ของประชากรส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก และทำให้การบริโภคในครัวเรือนยังเติบโตได้ใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 นอกจากนี้ การลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงซึ่งมีมูลค่ากว่า 7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ยังคงดำเนินไปตามกำหนดการเดิม จึงทำให้เม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 มากนัก เมื่อดูภาพรวมแล้ว คาดว่าเศรษฐกิจสปป.ลาวจะยังเติบโตได้ในระดับ 3.9% ในปี 2563

แม้ว่าวิกฤตโควิด-19 จะทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทLกลุ่ม CLMV อยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบ 2 ทศวรรษ แต่เศรษฐกิจ CLMV ก็ยังสามารถเติบโตได้ในระดับ 3.4% ในปีนี้ นอกจากนี้ เศรษฐกิจ CLMV ดยรวมยังมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างรวดเร็วใน 1-2 ปีข้างหน้า โดยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะอยู่ที่ระดับ 6.4% ในปี 2564และ 6.5% ในปี 2565

ที่มา : https://kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/economy/Pages/z3100.aspx

ก.แรงงาน เปิดคอร์สฝึกแรงงานเพื่อนบ้าน เสริมความเข้มแข็งภูมิภาคอาเซียน

ก.แรงงาน โดยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดคอร์สอบรมแรงงาน เพื่อนบ้าน กว่า 10 หลักสูตร สร้างความเข้มแข็งลุ่มน้ำโขงและในภูมิภาคอาเซียน โดยทางกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าความผันผวนทางเศรษฐกิจภายในประเทศไทย เกิดจากปัจจัยหลายด้าน อาทิ การลดลงของปริมาณกำลังแรงงานไทย การปรับเปลี่ยนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่รวดเร็ว ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น รวมถึงนักลงทุนจากกลุ่มประเทศอาเซียนที่มีศักยภาพ ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย หันมาลงทุนในประเทศ CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อความต้องการแรงงานที่มีความรู้และทักษะฝีมือเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ด้วยเหตุนี้ จีงกำหนดยุทธศาสตร์ความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้ กพร. ได้จัดตั้งสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาฝีมือและศักยภาพแรงงานในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อยกระดับขีดความสามารถของแรงงานเพิ่มขึ้น ด้วยจำนวน 13 หลักสูตร อาทิ การออกแบบว็บไซต์ด้านโปรแกรม WordPress การโฆษณาและการตลาดด้านการท่องเที่ยว การประยุกต์ใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร เทคนิคการขับรถยกสินค้าอย่างปลอดภัย และเทคนิคการซ่อมเครื่องยนต์เล็กเพื่อการเกษตร เป็นต้น

ที่มา : https://www.ryt9.com/s/prg/3102138

สมาร์ทคอนกรีตโตรับอีอีซี คาดปี 63 ก่อสร้างขยายตัว

นายรังสี ทีปกรสุขเกษม กรรมการผู้จัดการ บริษัท สมาร์ทคอนกรีต จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตอิฐมวลเบาด้วยระบบอบไอน้ำภายใต้ความดันสูง เปิดเผยว่า ทิศทางธุรกิจปี 2563 คาดว่าจะมีแนวโน้มที่ดี จากนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ผลักดันให้เกิดการลงทุนก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม คลังสินค้า โครงการเมกะโปรเจค งานโครงการก่อสร้างภาครัฐ และผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ทยอยลงทุนในโครงการใหม่ ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ความต้องการสินค้ากลุ่มวัสดุก่อสร้าง-อิฐมวลเบาปรับตัวดีขึ้น สำหรับกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนธุรกิจ บริษัทมีแผนเดินหน้าทำการตลาดเชิงรุก แนะนำสินค้าให้เป็นที่รู้จัก ผลักดันสินค้าผ่านช่องทางการจำหน่ายให้หลากหลายมากขึ้น อีกทั้งมุ่งเน้นการทำตลาดผลิตภัณฑ์ใหม่ ควบคู่กับการใช้กลยุทธ์ O2O (Online to Offline ) เพื่อกระตุ้นยอดขาย และสร้างการรับรู้กับลูกค้าในวงกว้าง ผ่านสื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดีย ส่วนการขยายตลาดกลุ่มประเทศ CLMV บริษัทมีการส่งสินค้าไปจำหน่ายในประเทศกัมพูชาและสปป.ลาว เพื่อใช้ในงานก่อสร้างและงานโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ โดยมีกระแสตอบรับที่ดี นอกจากนี้ บริษัทยังคงเดินหน้าเจรจาหาพันธมิตรเป็นตัวแทนจำหน่าย เพื่อขยายตลาดในกลุ่มประเทศ CLMV อย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้บริษัทตั้งเป้ารายได้ 490 ล้านบาท หรือเติบโตไม่ต่ำกว่า 5% นอกจากนี้ ด้านผลประกอบการงวดไตรมาส 4/2562 มีรายได้รวม 124.08 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.90 ล้านบาท หรือ 25.11% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 99.18 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 20.99 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีขาดทุนสุทธิ 2.73 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 867.53% โดยผลประกอบการปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากปริมาณการใช้งานวัสดุอิฐมวลเบาของโครงการเมกะโปรเจคภาครัฐ และโครงการก่อสร้างภาคเอกชน

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/866674?utm_source=category&utm_medium=internal_referral&utm_campaign=economic

“บีซีพีจี”สยายปีกลงทุนโรงไฟฟ้าพลังน้ำในลาว-ผนึกพันธมิตรสายส่งไปเวียดนาม

“บีซีพีจี”เดินหน้าขยายธุรกิจพลังน้ำในลาว ด้วยการเข้าลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำในเมืองเชียงขวาง สปป.ลาวเป็นแห่งที่ 2 ขนาดกำลังการผลิต 45 เมกะวัตต์ ส่งผลให้บริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำในลาวเพิ่มเป็น 114 เมกะวัตต์ พร้อมเข้าลงทุนร่วมกับพันธมิตรก่อสร้างและดำเนินกิจการระบบสายส่งกระแสไฟฟ้าไปยังเวียดนาม ส่งผลให้แผนการลงทุนในกลุ่มประเทศ CLMV มีรายได้เติบโต มั่นคงระยะยาว ทั้งนี้ ข้อมูลของบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าในวันที่ 10 ก.พ.63 ได้มีการลงนามสัญญาซื้อขายหุ้นของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ Nam San 3B Power Sole Co.,Ltd.ระหว่างบริษัท บีซีพีจี อินโดไชน่า จำกัด (BIC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบีซีพีจี ดำเนินกิจการลงทุนโรงไฟฟ้าในกลุ่มประเทศ CLMV กับบริษัท Phongsubthavy Roads and Bridges Construction and Irrigation(PSG) นอกจากนี้ โครงการ Nam San 3B ยังได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (EVN) เพื่อขายไฟฟ้าให้กับ EVN แทนการขายไฟฟ้าให้กับ EDL เป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 25 ปี คาดว่าจะเริ่มจำหน่ายตั้งแต่ปี 2565 สำหรับการลงทุนของบริษัทในครั้งนี้ เป็นเพียงก้าวแรกของบริษัทในการขยายธุรกิจสู่กลุ่มประเทศ CLMV โดยลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าในประเทศที่มีศักยภาพในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำอาทิ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และขายไฟฟ้าให้กับประเทศที่มีศักยภาพในการเติบโตทางเศรษฐกิจเช่น สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

ที่มา : https://siamrath.co.th/n/131991