เจรจา FTA ไทย-อียู จุรินทร์ทิ้งทวนก่อนเลือกตั้ง

เมื่อวันที่ 25-26 มกราคม 2566 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นำคณะผู้บริหารเข้าหารือกับนายวัลดิส โดมโบรฟสกิส (H.E. Mr. Valdis Dombrovskis) รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปด้านเศรษฐกิจและกรรมาธิการยุโรปด้านการค้า หรือรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าของสหภาพยุโรป ที่กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม เพื่อหารือประเด็นเปิดเจรจา FTA ไทย-อียู หากนับย้อนกลับไปการเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป (EU) ไม่ได้ถือเป็นเรื่องใหม่ เพราะไทยได้เริ่มเจรจากับ EU มาแล้ว 4 รอบ นับตั้งแต่ปี 2557 ตามข้อมูลกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศระบุว่า สหภาพยุโรปเป็นคู่ค้าอันดับที่ 4 ของไทย รองจากอาเซียน จีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น โดยในปี 2565 การค้าระหว่างไทยกับอียู มีมูลค่า 41,038 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.87% สัดส่วนการค้าประมาณ 7% ของการค้ากับโลก และไทยส่งออกไปอียู มูลค่า 22,794 ล้านเหรียญสหรัฐ (843,378 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 5.17% ซึ่งจากการที่ไทยปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบให้มีความทันสมัย เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคปัจจุบัน ส่งผลให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นของจากทุกภาคส่วนทั่วประเทศ

ที่มา : https://www.prachachat.net/economy/news-1191554

กัมพูชาส่งออกโต 16% มูลค่าแตะ 22.4 พันล้านดอลลาร์

มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของกัมพูชาพุ่งแตะ 52.4 พันล้านดอลลาร์ในปี 2022 เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 9.1 จากปีก่อน โดยคิดเป็นการส่งออกของกัมพูชาที่มูลค่ากว่า 22.4 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นการขยายตัวที่ร้อยละ 16 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รายงานโดยกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา ซึ่งการขยายตัวของภาคการส่งออก เป็นผลมาจากการที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมทั้งในและต่างประเทศกลับมาดำเนินได้อีกครั้ง โดยทางการกัมพูชามีความพยายามเป็นอย่างมากที่จะรักษาการเชื่อมโยงระหว่างห่วงโซ่อุปทานระดับภูมิภาค รวมถึงยังพยายามเชื่อมต่อห่วงโซ่อุปทานโลกให้ได้มากที่สุด สำหรับทิศทางการค้าในปีหน้า กระทรวงฯ มีความมุ่งมั่นอย่างสูงในการผลักดันการเติบโตภาคการค้า เปลี่ยนความท้าทายให้เป็นโอกาสผ่านการปฏิรูปเชิงลึกในทุกด้าน ลดต้นทุน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจ การส่งออกของกัมพูชาไปยังตลาดต่างประเทศและการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการทำธุรกิจและการลงทุนในกัมพูชา อีกทั้งกัมพูชายังมีความตกลงการค้าเสรีกัมพูชา-จีน (CCFTA), ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และ FTA กัมพูชา-เกาหลี จะเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นการส่งออก

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501229569/cambodia-exports-surge-16-to-22-4b/

กัมพูชาพิจารณาความเป็นไปได้ในการลงนาม FTA กับสวิตเซอร์แลนด์

กัมพูชามองหาโอกาสลงนามในข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) โดยเฉพาะกับสวิตเซอร์แลนด์ หลังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ Pan Sorasak เข้าหารือกับรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสวิตเซอร์แลนด์ Helene Budliger Artieda ในระหว่างการประชุม World Economic Forum ซึ่งได้หารือเกี่ยวกับมาตรการเพื่อเพิ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างทั้งสองประเทศ โดยปัจจุบันการค้าระหว่างกัมพูชาและสวิตเซอร์แลนด์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ซึ่งในปี 2020 มูลค่าการค้าทวิภาคีสูงถึง 379 ล้านดอลลาร์ และเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 974 ล้านดอลลาร์ ในปี 2021 โดยปัจจุบันกัมพูชาได้ลงนาม FTA ระหว่างจีนและเกาหลีใต้เมื่อปีที่แล้ว รวมถึงยังได้มีการพูดคุยกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เพื่อจัดทำข้อตกลงการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมของประเทศกัมพูชาเอมิเรตส์ (CAM-UAE CEPA) พร้อมกับการมองหาโอกาสในการทำข้อตกลงที่คล้ายกันกับญี่ปุ่นและบังคลาเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501225199/cambodia-looks-at-fta-possibility-with-switzerland/

“FTA ไทย-อียู” “จุรินทร์” เล็งเสนอ ครม. เห็นชอบอีก 2 สัปดาห์

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยผลการหารือทวิภาคีกับนายวัลดิส โดมโบรฟสกิส (H.E. Mr. Valdis Dombrovskis) รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ด้านเศรษฐกิจและกรรมาธิการยุโรปด้านการค้า หรือรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าของสหภาพยุโรป ว่าถือเป็นวันประวัติศาสตร์ของไทยกับสหภาพยุโรป ที่ได้มีการเจรจาจัดทำ FTA ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป ที่มีผลสัมฤทธิ์ที่ฝ่ายการเมืองของทั้ง 2 ฝ่าย มีข้อสรุปแสดงเจตจำนงร่วมกันในการเริ่มต้นให้แต่ละฝ่ายดำเนินกระบวนการภายใน เพื่อนำไปสู่การจัดทำ FTA ในส่วนของประเทศไทย จะนำเข้าหารือเดินหน้าเพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในการจัดทำ FTA ไทย-อียู ต่อไป ส่วนสหภาพยุโรป จะนำผลการหารือไปดำเนินการภายในของสหภาพยุโรปเพื่อขอคำรับรองจากสมาชิก 27 ประเทศต่อไป โดยตั้งเป้าจะดำเนินการตามกระบวนการภายในให้เสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุด เพื่อประกาศนับหนึ่งการเริ่มต้นเจรจา FTA ไทยกับสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการต่อไป ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายตั้งเป้าจะดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในไตรมาสแรกของปีนี้ ทั้งนี้ สหภาพยุโรปเป็นคู่ค้าอันดับที่ 4 ของไทย รองจากจีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ถือว่าเป็นคู่ค้าที่มีความสำคัญ โดยในปี 2565 การค้าระหว่างไทยกับอียู มีมูลค่า 41,038 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.87% สัดส่วนการค้าประมาณ 7% ของการค้ากับโลก และไทยส่งออกไปอียู มูลค่า 22,794 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (843,378 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 5.17% สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปอียู เช่น คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ รถยนต์และอุปกรณ์ แอร์และอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์ยางพารา อัญมณีและเครื่องประดับ และไก่แปรรูป เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าจากอียู เช่น เครื่องจักรกล เคมีภัณฑ์ และยา เป็นต้น ปัจจุบันอียูมี FTA กับประเทศอาเซียน 2 ประเทศ คือ เวียดนามและสิงคโปร์ ถ้ากระบวนการทั้งหมดเป็นไปตามเป้าหมาย ไทยจะเป็นประเทศที่ 3 และถ้าประสบความสำเร็จไทยจะมีตลาดการค้าที่เราได้เปรียบคู่แข่งจากประเทศอื่นเพิ่มขึ้น 27 ประเทศ และจะเป็นแต้มต่อทางการค้าให้กับไทย รวมถึงเป็นการสร้างเงิน สร้างอนาคตให้กับประเทศต่อไป

ที่มา : https://www.thansettakij.com/business/economy/554278

‘อาเซียน’ เปิดฉากถกประเด็นด้านเศรษฐกิจ เร่งดันกฎระเบียบเอื้อเปิดเสรีภาคบริการ เล็งจัดตั้งสำนักเลขาธิการ RCEP หนุนใช้ e-Form D เต็มรูปแบบ

‘อาเซียน’ ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน (SEOM) อย่างเป็นทางการครั้งแรก ถกประเด็นเศรษฐกิจสำคัญ ทั้งผลักดันทำกรอบอำนวยความสะดวกด้านบริการ จัดตั้งสำนักเลขาธิการ RCEP หนุนใช้ e-Form D เต็มรูปแบบ เดินหน้าเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของ MSMEs การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล เร่งติดตามความคืบหน้าการอัปเกรด FTA พร้อมคุยญี่ปุ่นหารือแนวทางจัดทำแผนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ

ที่มา : https://www.dtn.go.th/th/home

คาด FTAs, RCEP ผลักดันการลงทุนเข้ามายังกัมพูชาเพิ่มขึ้น

กัมพูชาคาดดึงดูดการลงทุนใหม่ ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคี (FTA) ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) รวมถึงกฎหมายเพื่อการลงทุนฉบับใหม่ ด้าน Heng Sokkung เลขาธิการกระทรวงอุตสาหกรรม และหัตถกรรม กล่าวว่า การที่กัมพูชาจัดทำข้อตกลงการค้ากับหลายๆ ประเทศ จะทำให้กัมพูชาสามารถเข้าถึงตลาดโลกได้มากขึ้น แม้จะมีวิกฤตโลก อาทิเช่น สงครามระหว่าง ยูเครน-รัสเซีย, วิกฤตพลังงาน และการเงิน โดยปัจจุบัน กัมพูชามี FTA อยู่หลายฉบับ เช่น FTA กัมพูชา-จีน, RCEP ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ไปเมื่อต้นปี 2022 รวมถึง FTA กัมพูชา-เกาหลี ที่มีผลบังคับใช้ไปเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ขณะที่กระทรวงฯ ได้รายงานการจดทะเบียนโรงงานใหม่ 186 แห่ง ในปี 2022 ทำให้จำนวนโรงงานที่เปิดดำเนินการทั้งหมดในประเทศอยู่ที่ 1,982 แห่ง โดยมีมูลค่าการลงทุนรวม 16.690 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจาก 13.811 พันล้านดอลลาร์ในปี 2021

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501224876/bilateral-ftas-rcep-expected-to-drive-new-industrial-investment-inflows/

กัมพูชาพิจารณาผลประโยชน์ FTA กัมพูชา-เกาหลีใต้

กระทรวงพาณิชย์กัมพูชาและสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลี จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกันเกี่ยวกับการผลประโยชน์และขั้นตอนการส่งออกให้แก่ผู้ส่งออกในประเทศ ภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีกัมพูชา-เกาหลี (CKFTA) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในเดือนหน้า โดยการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้มีเจ้าหน้าที่จากกระทรวง สถานทูตเกาหลี ภาคเอกชน และผู้แทนรวมกว่า 200 คน ในหลายๆ อุตสาหกรรม ซึ่ง CKFTA จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ธันวาคม 2022 ที่กำลังจะมาถึง ทางการหวังว่าจะเป็นการเพิ่มปริมาณการค้าระหว่างทั้งสองประเทศและสร้างโอกาสการส่งออกใหม่ๆ ให้กับภาคเอกชน โดยกัมพูชาจะได้รับสิทธิในการยกเว้นภาษีส่งออกสินค้ากว่าร้อยละ 92.37 ของอัตราภาษีทั้งหมด ซึ่งการค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและเกาหลีใต้แตะระดับ 920 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 10 เดือนของปีนี้ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 16.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามรายงานของสมาคมการค้าระหว่างประเทศของเกาหลี (KITA) โดยมูลค่าดังกล่าวคิดเป็นการส่งออกของกัมพูชามูลค่า 341 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.7

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501192199/cambodia-korea-fta-export-benefits-deliberated/

ข้อตกลงการค้าเสรี กัมพูชา-เกาหลีใต้ จะมีผลบังคับใช้ในเดือน ธ.ค.

นายกรัฐมนตรี ฮุน เซน ได้ประกาศว่าข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและเกาหลีใต้ (CKFTA) จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนธันวาคมปีนี้ ซึ่งได้กล่าวในพิธีเปิดการประชุมระดับสูงว่าด้วยการครบรอบ 10 ปีความตกลงความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และการเปิดตัวหนังสือว่าด้วยกรอบการบูรณาการระดับภูมิภาค โดยสถาบันวิจัยทางเศรษฐกิจเพื่ออาเซียนและเอเชียตะวันออก (ERIA) ซึ่งข้อตกลง FTA ดังกล่าวถือเป็นข้อตกลงในระดับทวิภาคีฉบับที่สองของกัมพูชาจากก่อนหน้านี้ที่ได้ลงนามร่วมกับจีนในช่วงต้นปี โดยทั้งสองประเทศหวังว่าข้อตกลงดังกล่าวจะเป็นแรงผลักดันหลักในการส่งเสริมภาคการค้าและการลงทุนระหว่างกัมพูชาและเกาหลีใต้ ภายใต้ผลประโยชน์ร่วมกัน และจะช่วยเร่งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศหลังประสบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้านมูลค่าการค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและเกาหลีใต้ในปัจจุบันแตะมูลค่า 818 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามรายงานของสมาคมการค้าระหว่างประเทศแห่งเกาหลี (KITA) คิดเป็นกัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังเกาหลีใต้มูลค่า 301 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501179178/cambodia-korea-free-trade-agreement-to-enter-into-force-in-december/

FTA กัมพูชา-เกาหลี มีผลบังคับใช้ 1 ธ.ค. นี้

สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีได้ประกาศยืนยันว่าข้อตกลงการค้าเสรี กัมพูชา-เกาหลี (CKFTA) จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ธันวาคม 2022 หลังเข้าร่วมพูดคุยกับกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา (MFAIC) ขณะที่ Nguon Mengtech อธิบดีหอการค้ากัมพูชา (CBC) กล่าวว่า บริษัทเอกชนภายในประเทศต่างแสดงความยินดีจากการที่ข้อตกลง CKFTA กำลังจะเริ่มมีผลบังคับใช้ เนื่องจากข้อตกลงดังกล่าวจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งสำหรับภาคเอกชนในการขยายการส่งออกไปยังต่างประเทศ ภายใต้ข้อตกลง CKFTA กัมพูชาคาดว่าจะได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าจากเกาหลีใต้มากกว่าร้อยละ 95 ด้าน Pen Sovicheat ปลัดกระทรวงการต่างประเทศของกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเสริมว่า CKFTA จะให้ประโยชน์เพิ่มเติม นอกเหนือจากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) โดยสินค้าสำคัญของกัมพูชาที่จะมีการส่งออก ส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าทางการเกษตร, เครื่องนุ่งห่ม, สิ่งทอ, รองเท้า, และสินค้าเพื่อการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501162478/cambodia-korea-fta-to-come-into-force-from-december-1/

กรมเจรจาฯ ลงพื้นที่นราธิวาส ติวเข้ม ผปก. รุ่นใหม่-เกษตรกร เร่งใช้ประโยชน์ FTA

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ดำเนินโครงการ “การสร้างเครือข่ายเชื่อมโยง 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่ตลาดการค้าเสรีอาเซียน” ณ จังหวัดนราธิวาส เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) กฎระเบียบทางการค้า และโอกาสในตลาดการค้าเสรี ให้กับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการ MOC Biz Club จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนราธิวาส ปัตตานี และยะลา รวมทั้งแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์การค้าและการส่งออก พร้อมแนะนำให้ผู้ประกอบการและเกษตรกรสามารถพัฒนาไปเป็นผู้ส่งออกที่มีประสิทธิภาพ ด้านนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า กรมได้นำทีมสภาเกษตรกรแห่งชาติ และสำนักงานพาณิชย์จังหวัดนราธิวาส จัดสัมมนาให้ความรู้เรื่องการใช้ประโยชน์จาก FTA ที่ไทยจัดทำ 14 ฉบับ กับ 18 ประเทศ พร้อมทั้งเปิดเวทีวิเคราะห์สินค้าศักยภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อาทิ ผ้าปาเต๊ะ ผ้าบาติก อาหารทะเลแปรรูป ผลไม้สดและแปรรูป และเครื่องดื่มจากรำข้าว โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าระหว่างประเทศและนักการตลาดให้คำแนะนำเกี่ยวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การใช้นวัตกรรมสร้างความแตกต่างเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า กลยุทธ์การเจาะตลาดออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งจะสามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคในปัจจุบันที่เน้นสินค้าที่มีคุณภาพและมาตรฐาน สินค้าสุขภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ Future Food

ที่มา : https://www.opt-news.com/news/28952