นายกฯ สปป.ลาว หวังพัฒนาภาคการเกษตร และภาคท่องเที่ยวในแขวงเวียงจันทน์

Sonexay Siphandone นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว พร้อมให้การสนับสนุนแก่หน่วยงานท้องถิ่นในแขวงเวียงจันทน์ ในการร่วมพัฒนาภาคการเกษตรและการท่องเที่ยวให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น โดยมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและป่าไม้ร่วมมือกับกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ ไปจนถึงหน่วยงานระดับจังหวัดในการสำรวจระบบชลประทานและการจ่ายกระแสไฟฟ้า ในขณะเดียวกันต้องสร้างความมั่นใจด้วยการพัฒนาเทคนิคต่างๆ ให้แก่เกษตรกร รวมถึงพัฒนาพันธุ์พืชและสัตว์ ให้เหมาะสมแก่ความต้องการของตลาด ควบคู่ไปกับการสนับสนุนด้านการลดต้นทุนการผลิตสำหรับเกษตรกรและส่งเสริมการทำฟาร์มสินค้าคุณภาพที่สามารถแข่งขันได้ในภูมิภาค สำหรับหน่วยงานระดับจังหวัดมีหน้าที่ในการติดตาม ส่งเสริม และสร้างเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยต่อบริษัทอุตสาหกรรมและการเกษตรในจังหวัด เพื่อส่งเสริมการผลิตและการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออกเป็นสำคัญ นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ร่วมมือกับกระทรวงสารสนเทศ วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว ในการจัดทำแพลตฟอร์มโฆษณาที่มีประสิทธิภาพหวังดึงดูดนักท่องเที่ยวเดินทางมายัง สปป.ลาว มากยิ่งขึ้น

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_142_PM_calls_y23.php

หน่วยงานด้านการท่องเที่ยว สปป.ลาว วางแผนดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ

รัฐบาล สปป.ลาว กำลังเร่งจะจัดหาผลิตภัณฑ์และบริการด้านการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ เพื่อรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยวต่างชาติภายในปี 2025 ตามข้อมูลของกระทรวงสารสนเทศ วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว สปป.ลาว ซึ่งรวมถึงการพัฒนาตามแผนเพื่อยกระดับมาตรฐานของภาคการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และการเกษตร โดยนำเสนอคุณลักษณะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนมากขึ้น ด้วยการบูรณาการระดับภูมิภาคและระดับโลก ซึ่งคาดว่าจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนให้หลุดพ้นจากความยากจน ขณะที่ปัจจุบันสิ่งอำนวยความสะดวกในการเอื้อต่อการท่องเที่ยว เช่น สถานีรถไฟ สปป.ลาว-จีน และศูนย์ข้อมูลนักท่องเที่ยว ก็เป็นส่วนสำคัญในการดึงดูดนักท่องเที่ยวมายัง สปป.ลาว มากขึ้น สำหรับสถานการณ์การท่องเที่ยวในช่วง 2 ปี 5 เดือน สปป.ลาว ให้การต้อนรับเกือบ 5.6 ล้านคน สร้างเงินหมุนเวียนในประเทศกว่า 631 ล้านดอลลาร์ ในจำนวนนี้ เกือบ 3 ล้านคน เป็นชาว สปป.ลาว และเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ 2.6 ล้านคน ขณะที่ระยะเวลาพำนักเฉลี่ยอยู่ที่ 7 วันต่อคน อ้างอิงจากกระทรวงสารสนเทศ วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_141_Tourism_y23.php

‘เวียดนาม’ เล็งนำเข้าถ่านหินปีละ 20 ตัน จากสปป.ลาว

เวียดนามลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) ว่าด้วยการนำเข้าถ่านหิน 20 ตันต่อปีจากสปป.ลาว เมื่อวันที่ 20 ก.ค. และภายใต้บันทึกความเข้าใจดังกล่าว ทั้งสองประเทศจะส่งเสริมความร่วมมือและการลงทุนทางด้านการทำเหมืองแร่ อุตสาหกรรมและการส่งออก รวมถึงการถ่ายทอดความรู้หรือประสบการณ์และยกระดับขีดความสามารถในการทำเหมืองและแปรรูปถ่านหิน นอกจากนี้ การบันทึกความเข้าใจฉบับนี้จะช่วยส่งเสริมกิจกรรมการค้าถ่านหินระหว่างธุรกิจของทั้งสองประเทศ

ที่มา : https://en.baochinhphu.vn/viet-nam-plans-to-import-20-tons-of-coal-from-laos-annually-111230722092801128.htm

รัฐบาล สปป.ลาว เล็งขึ้นเงินเดือนให้แก่ ข้าราชการ-ลูกจ้างภาคเอกชน ผู้มีรายได้น้อย

รัฐบาล สปป.ลาว กำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการให้เงินสนับสนุนสำหรับข้าราชการที่มีค่าแรงต่ำ และเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับพนักงานภาคเอกชน เพื่อให้สามารถรับมือกับค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นได้ กล่าวโดยนายกรัฐมนตรี Sonexay Siphandone ด้านกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงการคลังได้รับความไว้วางใจให้ดำเนินการศึกษาเพื่อพิจารณาว่างกรอบงบประมาณสำหรับโครงการนี้ ร่วมกับกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม รวมถึงสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติ สปป.ลาว โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ต้นทุนสินค้าและบริการพุ่งสูงขึ้นถึงร้อยละ 38.06 ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและการใช้ชีวิตของภาคประชาชนที่มีรายได้ไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพ สำหรับสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ (NA) ได้เรียกร้องให้เพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำรายเดือนจาก 1.3 ล้านกีบ เป็น 2 ล้านกีบ หวังช่วยแรงงานรับมือกับความยากลำบากในสภาวะเงินเฟ้อที่กำลังเผชิญอยู่

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Govt140.php

สปป.ลาว นำเสนอแผนพัฒนาที่ยั่งยืน ณ เวที UN

รัฐบาล สปป.ลาว ได้ยืนยันความมุ่งมั่นในการสนับสนุนความร่วมมือในระดับพหุภาคี และยกระดับความเป็นหุ้นส่วนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ภายในปี 2030 กล่าวโดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ Mr.Phoxay Khaykhamphithoune ซึ่งย้ำถึงจุดยืนของรัฐบาลในการดำเนินการ ร่วมกับความพยายามในการฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยรัฐบาล สปป.ลาว ได้นำมาตรการที่สำคัญมาปรับใช้ รวมถึงได้กำหนดวาระแห่งชาติว่าด้วยการจัดการปัญหาทางเศรษฐกิจและการเงินสำหรับปี 2021-2023 ไปจนถึงการกำหนดแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 9 สำหรับปี 2023-2025 เพื่อปรับตัวต่อสถานการณ์หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Laos139.php

ทางการ สปป.ลาว ปรับปรุงถนนหมายเลข 13 ในเขตบอลิคำไซ

ทางการ สปป.ลาว ยกระดับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 13 ทางตอนใต้ในจังหวัดบอลิคำไซ โดยงานพัฒนาในระยะแรกผ่านไปได้ด้วยดี ซึ่งมีกำหนดการแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนนี้ ด้านหัวหน้าโครงการปรับปรุงและซ่อมแซมถนนหมายเลข 13 Mr.Sisomphanh Phimsipasom ยืนยันว่าโครงการดำเนินไปตามแผนที่ร้อยละ 97 ของงานในส่วนแรก ด้วยการดำเนินการภายใต้สัญญาสองฉบับ โดยสัญญาฉบับแรกเกี่ยวข้องกับการซ่อมแซมถนนระยะทาง 40 กิโลเมตร (จากหลักกิโลเมตรที่ 71 ถึงกิโลเมตรที่ 111) ด้วยมูลค่าโครงการจำนวน 17.5 ล้านดอลลาร์ ที่ได้รับการสนับสนุนเงินกู้จากธนาคารโลก รวมถึงทำการขยายความกว้างของถนนจาก 9 เมตร เป็น 12 เมตร สำหรับระยะที่สองของการพัฒนาครอบคลุมระยะทางกว่า 79 กิโลเมตร (จากหลักกิโลเมตรที่ 111 ถึง กิโลเมตรที่ 190) ภายใต้การสนับสนุนทางด้านเงินกู้จำนวน 28 ล้านดอลลาร์จาก European Investment Bank

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten138_Upgrade_y23.php

SCB EIC คาดเศรษฐกิจ CLMV ขยายตัวต่อเนื่องจากแรงส่งการบริโภคและภาคการท่องเที่ยว แม้มีปัจจัยกดดันจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และความเสี่ยงเฉพาะประเทศ

โดย ปัณณ์ พัฒนศิริ และ ดร.ฐิติมา ชูเชิด จากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

SCB EIC คาดเศรษฐกิจ CLMV มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในปี 2023

โดยประเมินว่า เศรษฐกิจกัมพูชาจะขยายตัว 5.9% สปป.ลาว 4.0% เมียนมา 3.0% และเวียดนาม 5.0% ตามลำดับ จากภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่องหลังการเปิดประเทศของจีน ทั้งด้านจำนวนนักท่องเที่ยวและค่าใช้จ่ายต่อคน ตลอดจนการบริโภคภายในประเทศที่ปรับดีขึ้นตามตลาดแรงงานและแรงกดดันเงินเฟ้อที่ลดลง ทั้งนี้เศรษฐกิจ CLMV จะขยายตัวค่อยเป็นค่อยไปและยังต่ำกว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยช่วงก่อน COVID-19 ในปีนี้ ส่วนหนึ่งจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ทยอยฟื้นตัวแต่ยังต่ำกว่าระดับก่อน COVID-19 การส่งออกและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่ค่อนข้างซบเซาตามเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวชะลอลง และปัจจัยกดดันเฉพาะประเทศ

.

ปัจจัยกดดันเฉพาะประเทศทำให้ทิศทางการฟื้นตัวรายประเทศไม่เหมือนกัน

ประเทศที่พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติสูง เช่น กัมพูชา มีแนวโน้มฟื้นตัวแข็งแกร่งขึ้นในปีนี้ ช่วยลดทอนผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวชะลอลงต่อการส่งออกได้ ขณะที่สปป.ลาวได้ประโยชน์จากโครงการโลจิสติกส์ต่าง ๆ อาทิ รถไฟความเร็วสูงจีน – สปป.ลาว และจุดเปลี่ยนถ่ายสินค้าท่าแห้งท่านาแล้ง จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยวและการขนส่งภายในภูมิภาค แม้อัตราเงินเฟ้อสูงยังเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจอยู่ สำหรับเศรษฐกิจเวียดนามมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงมาก เนื่องจากพึ่งพาการส่งออกและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสูง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่มีแนวโน้มซบเซาในปีนี้ อีกทั้ง ยังเผชิญภาวะการเงินในประเทศตึงตัวขึ้นมาก ส่งผลให้ธุรกิจบางกลุ่ม โดยเฉพาะภาคอสังหาฯ ระดมทุนได้ยาก ส่งผลกระทบความเชื่อมั่นและการลงทุนภาคเอกชนไประยะหนึ่ง

.

ความเปราะบางเชิงโครงสร้างกดดันให้เศรษฐกิจ CLMV บางประเทศขยายตัวต่ำกว่าอดีต

ในระยะปานกลาง SCB EIC คาดว่า กัมพูชาและเวียดนามจะสามารถกลับมาขยายตัวใกล้ค่าเฉลี่ยในอดีต เนื่องจากปัจจัยกดดันเศรษฐกิจในปีนี้เป็นปัจจัยชั่วคราวและคาดว่าจะทยอยคลี่คลายได้ แต่สปป.ลาวและเมียนมามีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตไปอีกระยะ ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง โดยสปป.ลาวมีความเสี่ยงด้านเสถียรภาพภาคต่างประเทศและภาคการคลัง จากระดับทุนสำรองระหว่างประเทศที่ไม่สูงนักในภาวะเงินกีบอ่อนค่าเร็ว และหนี้สาธารณะสูง ส่งผลให้ภาครัฐต้องใช้นโยบายการเงินและนโยบายการคลังตึงตัวมากขึ้น เพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินและอาจพิจารณาเจรจาปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะ ซึ่งจะกระทบต่อความสามารถในการใช้จ่ายลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ สำหรับเมียนมาความไม่สงบทางการเมืองที่ยังไม่คลี่คลายยังเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจ ส่งผลให้ฟื้นความเชี่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภคได้ยาก ขณะที่ชาติตะวันตกขยายมาตรการคว่ำบาตรให้ครอบคลุมบุคคลและนิติบุคคลเพิ่มเติม ส่งผลให้สภาพแวดล้อมการทำธุรกิจในเมียนมาไม่เอื้อต่อการลงทุน และกดดันให้เศรษฐกิจเมียนมาขยายตัวต่ำในระยะปานกลาง

.

แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของ CLMV

แม้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงต่อเนื่อง ทิศทางนโยบายการเงินยังขึ้นกับบริบทเศรษฐกิจรายประเทศ อัตราเงินเฟ้อทยอยชะลอตัวในทุกประเทศตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่ลดลง แต่ทิศทางนโยบายการเงินจะคำนึงถึงบริบทเศรษฐกิจการเงินในประเทศนั้น ๆ เช่น เวียดนามปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและออกมาตรการสนับสนุนสภาพคล่องในตลาดการเงินเพื่อบรรเทาอุปสรรคการระดมทุนของภาคธุรกิจที่ตึงตัวขึ้นมาก โดย SCB EIC คาดว่านโยบายการเงินเวียดนามจะผ่อนคลายต่อไป เนื่องจากเศรษฐกิจมีแนวโน้มซบเซาในปีนี้ และภาคอสังหาฯ ยังคงอ่อนแอคาดว่าต้องใช้เวลาอีกระยะก่อนจะทยอยฟื้นตัวได้ ขณะที่นโยบายการเงินสปป.ลาวมีแนวโน้มตึงตัวต่อไป เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังสูงแม้จะเริ่มชะลอลงบ้าง ซึ่งเป็นผลจากเงินกีบอ่อนค่า ทำให้ราคาสินค้านำเข้าสูงขึ้นมาก ธนาคารกลางสปป.ลาวจึงต้องเน้นดูแลเสถียรภาพด้านราคาในปีนี้

.

แนวโน้มการค้าและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศระหว่างไทยกับ CLMV

แนวโน้มการค้าและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศระหว่างไทยกับ CLMV ยังคงซบเซาในปีนี้ สอดคล้องกับการชะลอตัวของการค้าภายในภูมิภาคและความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมที่ลดลง อย่างไรก็ดี คาดว่าการส่งออกไทยไป CLMV จะฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจ CLMV จะทยอยฟื้นตัวดีขึ้นและฐานส่งออกปีก่อนต่ำกว่าช่วงครึ่งแรกของปี สำหรับการลงทุนโดยตรงจากไทยไป CLMV ยังคงมีแนวโน้มซบเซาจากหลายปัจจัย อาทิ ต้นทุนการระดมทุนในประเทศสูงขึ้น เศรษฐกิจ CLMV ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ และสภาพแวดล้อมการทำธุรกิจในบางประเทศไม่เอื้อต่อการลงทุนและขยายกิจการ ในระยะต่อไป SCB EIC ยังมีมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจ CLMV โดยมองว่า ยังเป็นตลาดสำคัญของธุรกิจไทย เนื่องจากมีความได้เปรียบด้านจำนวนแรงงานและค่าแรง ตลาดในประเทศเติบโตต่อเนื่อง การเข้าร่วมสนธิสัญญาการค้าเสรีต่าง ๆ และทำเลที่ตั้งซึ่งสามารถเชื่อมไทยไปยังตลาดสำคัญในภูมิภาคได้

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/clmv-190723

คาด สปป.ลาว ได้ประโยชน์จากโครงการความร่วมมือ แม่โขง-คงคา

โครงการความร่วมมือ แม่โขง-คงคา (MGC) มอบเงินอุดหนุนให้แก่ สปป.ลาว มูลค่า 500,000 ดอลลาร์ ผ่านแผนการพัฒนาที่เชื่อมโยงกับความพยายามในการลดความยากจนภายใต้โครงการปฏิบัติการ MGC ประจำปี 2019-2022 จำนวน 11 โครงการ ตามการรายงานของกระทรวงการต่างประเทศ สปป.ลาว ซึ่งความร่วมมือ MGC ถือเป็นความร่วมมือระหว่างอินเดียและประเทศต่างๆ ในบริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขง ได้แก่ ไทย เมียนมา กัมพูชา สปป.ลาว และเวียดนาม โดยครอบคลุมด้านการท่องเที่ยว วัฒนธรรม การศึกษา และการคมนาคมขนส่ง อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ไปจนถึงการสนับสนุนการดำเนินโครงการทางหลวงไตรภาคี อินเดีย-เมียนมา-ไทย ขณะที่อีกโครงการหนึ่งคือการจัดตั้งสภาธุรกิจความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อจะส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจด้วยการพัฒนาการแลกเปลี่ยนด้านการเกษตร วิทยาศาสตร์ และการจัดการทรัพยากรน้ำ เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten137_Laos_benefits_y23.php

รมว.ท่องเที่ยว สปป.ลาว วางแผนรับนักท่องเที่ยวจีน

รัฐบาล สปป.ลาว เร่งจัดกิจกรรมดึงดูดนักท่องเที่ยว รวมถึงเร่งปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการมาเยือนของนักท่องเที่ยวชาวจีนจำนวนมากระหว่างปี 2023-2025 โดยนักท่องเที่ยวจีนถือเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้มาเยือน สปป.ลาว กลุ่มสำคัญ นับตั้งแต่รัฐบาลจีนอนุญาตการเดินทางออกนอกประเทศในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา อีกทั้งปัจจุบันรัฐบาล จีน-สปป.ลาว ได้เปิดให้บริการเส้นทางรถไฟสายใหม่ เพื่อเอื่อต่อการเดินทางและการขนส่ง ร่วมกับการปรับปรุงการเชื่อมต่อถนนระหว่างสถานีรถไฟ สถานที่ท่องเที่ยว และถนนสายหลัก ขณะที่รัฐบาลยังคงให้ความสำคัญกับสายการบินที่ต้องการกำหนดเที่ยวบินระหว่าง สปป.ลาวและจีน เป็นสำคัญ ตามรายงานของกระทรวงสารสนเทศ วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว โดยในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ชาวจีนมากกว่าหนึ่งล้านคนเดินทางมาเยือน สปป.ลาว คิดเป็นประมาณร้อยละ 20 ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Tourism136.php

นายกฯ สปป.ลาว ให้คำมั่นปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้ดีขึ้น

นายกรัฐมนตรี Sonexay Siphandone ให้คำมั่นว่าจะแก้ไขกฎหมายหวังปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ท่ามกลางการแข่งขันระหว่างประเทศที่รุนแรง เพื่อให้การดำเนินธุรกิจและการลงทุนเป็นไปอย่างราบรื่น ซึ่งนายกฯ ได้กล่าวกับฝ่ายนิติบัญญัติในการประชุมสมัยสามัญครั้งที่ 5 ของสมัชชาแห่งชาติ (NA) โดยได้มอบหมายให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเร่งจัดประเภทที่ดินเพื่อให้สามารถออกสัมปทานที่ดินได้อย่างรวดเร็ว และถูกต้องตามวัตถุประสงค์ ซึ่งแต่ละจังหวัดต้องมีข้อมูลที่ชัดเจนและถูกต้องในการจัดประเภทที่ดิน เช่น ด้านการเกษตร อุตสาหกรรม การพัฒนาบริการ และการพัฒนาที่อยู่อาศัย โดยการให้ความสำคัญกับการจัดประเภทที่ดินมีขึ้นหลังจากทราบว่ามีโครงการที่ศึกษาความเป็นไปได้แล้ว แต่การพัฒนาไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากที่ดินไม่เพียงพอสำหรับโครงการที่เสนอ นอกจากการให้สัมปทานที่ดินของรัฐแบบเดิมแล้ว รัฐบาลจะสำรวจรูปแบบความร่วมมือในการให้สัมปทานที่ดินแก่ภาคเอกชนสำหรับโครงการลงทุนใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งนายกฯ ยังให้คำมั่นว่าจะปรับปรุงขั้นตอนต่างๆ เพื่อเร่งการลงนามในบันทึกความเข้าใจที่เกี่ยวข้องกับโครงการลงทุน เพื่อส่งเสริมการลงทุนและดึงดูดนักลงทุนต่างชาติมากขึ้น

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_PMvows135.php