‘เมียนมา’ เผยราคาหัวหอมในตลาดย่างกุ้ง พุ่ง 2,400 จ๊าตต่อวิสส์

The Global New Light of Myanmar สำนักข่าวท้องถิ่นเมียนมา รายงานว่าเมื่อวันที่ 5 ส.ค. ราคาหัวหอมพุ่งแตะ 2,400 จ๊าตต่อวิสส์ นับเป็นครั้งแรกในปีนี้ของตลาดย่างกุ้ง ด้วยจำนวนหัวหอม 90,000 หัวต่อวิสส์ ราคาหัวหอมจะอยู่ที่ราว 1,800-2,400 จ๊าตต่อวิสส์ ทั้งนี้ เมียนมาได้ตั้งเป้าที่จะส่งออกหัวหอม 1 แสนตันในปีงบประมาณ 2566-2567 รวมไปถึงมีแผนที่จะส่งออกหัวหอมกว่า 20,000 ตัน และ 35,000 ตันในไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4 ตามลำดับ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/onion-price-rises-to-k2400-per-viss-in-yangon-market/

‘เมียนมา’ เผยส่งออกถั่วพัลส์ 4 เดือน พุ่ง 430 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

กระทรวงพาณิชย์ รายงานว่าเมียนมาส่งออกถั่วพัลส์ไปยังต่างประเทศมากกว่า 550,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าราว 430 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 4 เดือนของปีงบประมาณ 2566-2567 โดยการส่งออกของเมียนมาส่วนใหญ่ผ่านทางทะเล มูลค่า 362.39 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือปริมาณ 462,894 ตัน ในขณะที่ส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านผ่านพรมแดน อยู่ที่ 77.07 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือปริมาณ 88,907 ตัน ทั้งนี้ สินค้าส่งออกสำคัญของเมียนมา ได้แก่ ถั่วเขียวผิวดำ ถั่วเขียวและถั่วแระ ส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะตลาดอินเดีย จีนและยุโรป นอกจากนี้ จากข้อมูลทางสถิติของกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่าการส่งออกถั่วพัลส์ของเมียนมาทะลุเกินกว่า 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีงบประมาณ 2565-2566

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-pulses-exports-surge-garnering-us430-mln-over-four-months/#article-title

‘เมียนมา’ เผยราคาน้ำตาลพุ่ง 3,400 จ๊าตต่อวิสส์

ธนาคารกลางเมียนมา (CBM) เปิดเผยว่าหลังจากการออกธนบัตรใหม่ 20,000 จ๊าต ที่มีผลต่อความเชื่อเรื่องความเสี่ยงของภาวะเงินเฟ้อ และสต็อกน้ำตาลที่อยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้ราคาน้ำตาลพุ่ง 3,400 จ๊าตต่อวิสส์ ทั้งนี้ จากเหตุการณ์ที่ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น พบว่ามีบริษัทหลายแห่งวางแผนการเพาะปลูก 200,000 จ๊าตต่อเอเคอร์ สำหรับการเพาะปลูกอ้อยใหม่ในปี 2566-2567 นอกจากนี้ อูวินเท (U Win Htay) รองประธานสมาคมผลิตภัณฑ์น้ำตาลและอ้อยของเมียนมา กล่าวว่าการผลิตน้ำตาลของเมียนมา อยู่ที่ประมาณ 450,000 ตันต่อปี และส่วนใหญ่ส่งออกไปยังจีนและเวียดนาม แต่ว่าในปัจจุบันส่งออกไปยังเวียดนามเท่านั้น

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/local-sugar-price-surges-to-k3400-per-viss/#article-title

‘เมียนมา’ เผยราคาน้ำมันพุ่ง 15% เดือน ก.ค.

ราคาน้ำมันในเมียนมา เดือน ก.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 300 จ๊าตต่อลิตร หรือราว 15% หลังจากราคาน้ำมันอยู่ในระดับทรงตัวมาแล้วในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักงานกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม สถานการณ์ราคาน้ำมันในเมืองมัณฑะเลย์ วันที่ 30 มิ.ย. – 30 ก.ค. พบว่าราคาน้ำมันออกเทน 92 เพิ่มขึ้นจาก 1,990 จ๊าตต่อลิตร ขึ้นมาอยู่ที่ 2,280 จ๊าตต่อลิตร ในขณะที่ราคาน้ำมันออกเทน 95 เพิ่มขึ้นจาก 2,085 จ๊าตต่อลิตร ขึ้นมาอยู่ที่ 2,395 จ๊าตต่อลิตร และราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นจาก 1,975 จ๊าตต่อลิตร ขึ้นมาอยู่ที่ 2,360 จ๊าตต่อลิตร

ที่มา : https://www.mizzima.com/article/myanmar-petrol-prices-15-cent-july

‘ไทย’ หารือทวิภาคีกับเมียนมา

นายศรัณย์ เจริญสุวรรณ. ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ให้การต้อนรับนาย U Chan Aye ผู้แทนของเมียนมาที่เดินทางมาเยือนที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 21 ก.ค. เพื่อหารือเกี่ยวกับการส่งเสริมความร่วมมือและความสัมพันธ์ในทุกด้าน โดยทั้งสองประเทศได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการหารืออย่างสม่ำเสมอในทุกระดับ เพื่อรักษาความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน และส่งเสริมความร่วมมือทวิภาคีในด้านต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนของทั้งสองประเทศ ในขณะที่ด้านเศรษฐกิจ ทั้งสองประเทศพึงพอใจกับการเติบโตของการค้าทวิภาคีและหารือถึงแนวทางที่จะส่งเสริมความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ อาทิเช่น การชำระเงินโดยตรงระหว่างสกุลเงินบาท-จั๊ต และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น

ที่มา : https://www.nationthailand.com/thailand/general/40029671

‘เมียนมา’ เดือน มิ.ย. นำเข้าปุ๋ย 144,900 ตัน

จากข้อมูลสถิติของกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าเมียนมานำเข้าปุ๋ยจากต่างประเทศในเดือน มิ.ย. อยู่ที่ 144,900 ตัน มูลค่า 58.04 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยนำเข้าปุ๋ยผ่านเส้นทางเดินเรือ 106,900 ตัน และผ่านเส้นทางการค้าชายแดน 38,000 ตัน ทั้งนี้ ปุ๋ยที่นำเข้าผ่านเส้นทางเดินเรือส่วนใหญ่มาจากประเทศจีน 44,000 ตัน รองลงมาโอมาน ไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม รัสเซีย เกาหลีใต้ มาเลเซีย สปป.ลาว สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ นอร์เวย์และจอร์แดน ในขณะที่ปุ๋ยที่นำเข้าผ่านเส้นทางการค้าชายแดนส่วนใหญ่มาจากประเทศจีน 36,000 ตัน และไทย 2,000 ตัน

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-imported-144900-tonnes-of-fertilizer-in-june/#article-title

‘เมียนมา’ เผยราคาถั่วดำและถั่วพีเจียนดิ่งลงฮวบ เหตุความต้องการตลาดโลก

ตามข้อมูล ณ วันที่ 1 ก.ค. ของสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมเมียนมา (Bayintnaung Commodity Centre) เปิดเผยว่าราคาถั่วเขียวผิวดำ (Black Grams) และราคาถั่วแระ (Pigeon Pea) อยู่ที่ระดับสูงสุด 3.2 ล้านจ๊าดต่อตัน และ 2.3 ล้านจ๊าดต่อตัน ต่อมาราคาถั่วแระและราคาถั่วเขียวผิวดำ ลดลงมาอยู่ที่ 2.97 ล้านจ๊าดต่อตัน และ 2.24 ล้านจ๊าดต่อตันในวันที่ 21 ก.ค. ทั้งนี้ ความต้องการของอินเดียมีความสัมพันธ์อย่างมากกับทิศทางของราคาถั่วเขียวผิวดำและถั่วแระเมียนมา เนื่องจากเป็นผู้ซื้อรายสำคัญของประเทศ อีกทั้ง อินเดียมีความต้องการและการบริโภคถั่วเขียวผิวดำและถั่วแระเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สาเหตุสำคัญมาจากเมียนมาและอินเดียได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2564 ส่งผลให้อินเดียนำเข้าถั่วเขียวผิวดำ 250,000 ตัน และถั่วแระ 100,000 ตัน เป็นระยะเวลา 5 ปีติดต่อกัน

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/black-gram-pigeon-pea-prices-plunge-tracking-weak-foreign-demand/#article-title

ระบบการศึกษาในเมียนมา ‘วิกฤต’

คุณ ไศล (Salai) ครูท้องถิ่นในเมียนมา กล่าวว่าหลังจากเกิดความรุนแรงจากเหตุการณ์รัฐประหารในปี 2564 นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายส่วนใหญ่ทิ้งการเรียน และหันมาจับอาวุธ เพื่อสนับสนุนการก่อจราจลระดับรากหญ้า ทั้งนี้ จากรายงานของธนาคารโลก (WB) ระบุว่าเมียนมาเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการสู้รบนองเลือดที่ขยายไปวงกว้าง อีกทั้ง นับตั้งแต่รัฐประหาร มีนักเรียนเพียง 22% ที่ได้เข้าศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ตลอดจนเมื่อพิจารณาในภาพรวม พบว่าอัตราการลงทะเบียนเพื่อเข้าศึกษาในสถาบันการศึกษาของเมียนมา ปรับตัวลดลง 12% ตั้งแต่ปี 2560-2566 แสดงให้เห็นถึงวิกฤตของการเข้าถึงการศึกษาในเมียนมา

ที่มา : https://www.thedailystar.net/news/asia/news/myanmars-education-system-crisis-3373856

‘เมียนมา’ เผยยอดค้าชายแดนชินชเวฮอว์ ทะลุ 291 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

จากข้อมูลสถิติของกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่ามูลค่าการค้าชายแดนเมียนมา-จีน ผ่านด่านชายแดนชินชเวฮอว์ ระหว่างวันที่ 1 เม.ย. จนถึง 7 ก.ค. ในปีงบประมาณ 2566-2564 อยู่ที่ 291.39 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การส่งออก มีมูลค่า 68.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการนำเข้า มีมูลค่า 223.18 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นราว 266 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีงบประมาณ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ทั้งนี้ สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ถั่วเขียวผิวมัน ถั่วแดง ยางพาราและเนยถั่ว นอกจากนี้ เมียนมาเปิดด่านพรมแดนกับจีน จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ ด่านชายแดนมูเซะ (Muse), ด่านลวยเจ (Lweje), ด่านกัมปะติ (Kampaiti), ด่านชีงชเวห่อ (Chin Shwe Haw) และ ด่านกันตุง (Kengtung)

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/chinshwehaw-border-trade-value-surpasses-us291-mln-as-of-7-july/#article-title

SCB EIC คาดเศรษฐกิจ CLMV ขยายตัวต่อเนื่องจากแรงส่งการบริโภคและภาคการท่องเที่ยว แม้มีปัจจัยกดดันจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และความเสี่ยงเฉพาะประเทศ

โดย ปัณณ์ พัฒนศิริ และ ดร.ฐิติมา ชูเชิด จากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

SCB EIC คาดเศรษฐกิจ CLMV มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในปี 2023

โดยประเมินว่า เศรษฐกิจกัมพูชาจะขยายตัว 5.9% สปป.ลาว 4.0% เมียนมา 3.0% และเวียดนาม 5.0% ตามลำดับ จากภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่องหลังการเปิดประเทศของจีน ทั้งด้านจำนวนนักท่องเที่ยวและค่าใช้จ่ายต่อคน ตลอดจนการบริโภคภายในประเทศที่ปรับดีขึ้นตามตลาดแรงงานและแรงกดดันเงินเฟ้อที่ลดลง ทั้งนี้เศรษฐกิจ CLMV จะขยายตัวค่อยเป็นค่อยไปและยังต่ำกว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยช่วงก่อน COVID-19 ในปีนี้ ส่วนหนึ่งจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ทยอยฟื้นตัวแต่ยังต่ำกว่าระดับก่อน COVID-19 การส่งออกและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่ค่อนข้างซบเซาตามเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวชะลอลง และปัจจัยกดดันเฉพาะประเทศ

.

ปัจจัยกดดันเฉพาะประเทศทำให้ทิศทางการฟื้นตัวรายประเทศไม่เหมือนกัน

ประเทศที่พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติสูง เช่น กัมพูชา มีแนวโน้มฟื้นตัวแข็งแกร่งขึ้นในปีนี้ ช่วยลดทอนผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวชะลอลงต่อการส่งออกได้ ขณะที่สปป.ลาวได้ประโยชน์จากโครงการโลจิสติกส์ต่าง ๆ อาทิ รถไฟความเร็วสูงจีน – สปป.ลาว และจุดเปลี่ยนถ่ายสินค้าท่าแห้งท่านาแล้ง จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยวและการขนส่งภายในภูมิภาค แม้อัตราเงินเฟ้อสูงยังเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจอยู่ สำหรับเศรษฐกิจเวียดนามมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงมาก เนื่องจากพึ่งพาการส่งออกและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสูง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่มีแนวโน้มซบเซาในปีนี้ อีกทั้ง ยังเผชิญภาวะการเงินในประเทศตึงตัวขึ้นมาก ส่งผลให้ธุรกิจบางกลุ่ม โดยเฉพาะภาคอสังหาฯ ระดมทุนได้ยาก ส่งผลกระทบความเชื่อมั่นและการลงทุนภาคเอกชนไประยะหนึ่ง

.

ความเปราะบางเชิงโครงสร้างกดดันให้เศรษฐกิจ CLMV บางประเทศขยายตัวต่ำกว่าอดีต

ในระยะปานกลาง SCB EIC คาดว่า กัมพูชาและเวียดนามจะสามารถกลับมาขยายตัวใกล้ค่าเฉลี่ยในอดีต เนื่องจากปัจจัยกดดันเศรษฐกิจในปีนี้เป็นปัจจัยชั่วคราวและคาดว่าจะทยอยคลี่คลายได้ แต่สปป.ลาวและเมียนมามีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตไปอีกระยะ ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง โดยสปป.ลาวมีความเสี่ยงด้านเสถียรภาพภาคต่างประเทศและภาคการคลัง จากระดับทุนสำรองระหว่างประเทศที่ไม่สูงนักในภาวะเงินกีบอ่อนค่าเร็ว และหนี้สาธารณะสูง ส่งผลให้ภาครัฐต้องใช้นโยบายการเงินและนโยบายการคลังตึงตัวมากขึ้น เพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินและอาจพิจารณาเจรจาปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะ ซึ่งจะกระทบต่อความสามารถในการใช้จ่ายลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ สำหรับเมียนมาความไม่สงบทางการเมืองที่ยังไม่คลี่คลายยังเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจ ส่งผลให้ฟื้นความเชี่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภคได้ยาก ขณะที่ชาติตะวันตกขยายมาตรการคว่ำบาตรให้ครอบคลุมบุคคลและนิติบุคคลเพิ่มเติม ส่งผลให้สภาพแวดล้อมการทำธุรกิจในเมียนมาไม่เอื้อต่อการลงทุน และกดดันให้เศรษฐกิจเมียนมาขยายตัวต่ำในระยะปานกลาง

.

แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของ CLMV

แม้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงต่อเนื่อง ทิศทางนโยบายการเงินยังขึ้นกับบริบทเศรษฐกิจรายประเทศ อัตราเงินเฟ้อทยอยชะลอตัวในทุกประเทศตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่ลดลง แต่ทิศทางนโยบายการเงินจะคำนึงถึงบริบทเศรษฐกิจการเงินในประเทศนั้น ๆ เช่น เวียดนามปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและออกมาตรการสนับสนุนสภาพคล่องในตลาดการเงินเพื่อบรรเทาอุปสรรคการระดมทุนของภาคธุรกิจที่ตึงตัวขึ้นมาก โดย SCB EIC คาดว่านโยบายการเงินเวียดนามจะผ่อนคลายต่อไป เนื่องจากเศรษฐกิจมีแนวโน้มซบเซาในปีนี้ และภาคอสังหาฯ ยังคงอ่อนแอคาดว่าต้องใช้เวลาอีกระยะก่อนจะทยอยฟื้นตัวได้ ขณะที่นโยบายการเงินสปป.ลาวมีแนวโน้มตึงตัวต่อไป เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังสูงแม้จะเริ่มชะลอลงบ้าง ซึ่งเป็นผลจากเงินกีบอ่อนค่า ทำให้ราคาสินค้านำเข้าสูงขึ้นมาก ธนาคารกลางสปป.ลาวจึงต้องเน้นดูแลเสถียรภาพด้านราคาในปีนี้

.

แนวโน้มการค้าและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศระหว่างไทยกับ CLMV

แนวโน้มการค้าและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศระหว่างไทยกับ CLMV ยังคงซบเซาในปีนี้ สอดคล้องกับการชะลอตัวของการค้าภายในภูมิภาคและความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมที่ลดลง อย่างไรก็ดี คาดว่าการส่งออกไทยไป CLMV จะฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจ CLMV จะทยอยฟื้นตัวดีขึ้นและฐานส่งออกปีก่อนต่ำกว่าช่วงครึ่งแรกของปี สำหรับการลงทุนโดยตรงจากไทยไป CLMV ยังคงมีแนวโน้มซบเซาจากหลายปัจจัย อาทิ ต้นทุนการระดมทุนในประเทศสูงขึ้น เศรษฐกิจ CLMV ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ และสภาพแวดล้อมการทำธุรกิจในบางประเทศไม่เอื้อต่อการลงทุนและขยายกิจการ ในระยะต่อไป SCB EIC ยังมีมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจ CLMV โดยมองว่า ยังเป็นตลาดสำคัญของธุรกิจไทย เนื่องจากมีความได้เปรียบด้านจำนวนแรงงานและค่าแรง ตลาดในประเทศเติบโตต่อเนื่อง การเข้าร่วมสนธิสัญญาการค้าเสรีต่าง ๆ และทำเลที่ตั้งซึ่งสามารถเชื่อมไทยไปยังตลาดสำคัญในภูมิภาคได้

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/clmv-190723