บ.เสื้อผ้าญี่ปุ่นหนีจีนซบอาเซียนเหตุ ‘ค่าแรงพุ่ง-ซีโร่ โควิด’

บรรดาซัพพลายเออร์ที่ผลิตเสื้อผ้าแฟชั่นให้แบรนด์เสื้อผ้าดังของญี่ปุ่นจำนวนมากเริ่มย้ายฐานการผลิตออกจากจีนเพื่อไปตั้งฐานการผลิตในประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียนแทน โดยเฉพาะในเวียดนามและกัมพูชา เนื่องจากต้นทุนค่าแรงงานในจีนที่แพงขึ้นและนโยบายกำจัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของทางการปักกิ่งให้เป็นศูนย์ ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ การเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ของบรรดาผู้ผลิตเสื้อผ้าญี่ปุ่น เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจท่ามกลางภาวะเงินเยนอ่อนค่าและต้นทุนวัตถุดิบแพงขึ้นมาก ขณะที่ความตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ที่มีผลบังคับไปเมื่อวันที่ 1 ม.ค. ที่ผ่านมา ก็มีส่วนช่วยต่อลมหายใจให้แก่บริษัทเหล่านี้ได้มาก โดยข้อมูลขององค์การการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) ระบุเสริมว่า ค่าจ้างแรงงานรายเดือนโดยเฉลี่ยของคนงานในโรงงานในกวางโจวของจีนอยู่ที่ประมาณ 670 ดอลลาร์ สูงกว่าค่าจ้างรายเดือนคนงานในโฮจิมินห์ ซิตี้ของเวียดนามซึ่งอยู่ที่ประมาณ 270 ดอลลาร์และในกรุงธาดา บังกลาเทศซึ่งอยู่ที่ 120 ดอลลาร์

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/world/1042066

ญี่ปุ่น บริจาคสิ่งของหนุน สปป.ลาว เพื่อเป็นประธานอาเซียนในปี 67

รัฐบาลญี่ปุ่นได้จัดหายานพาหนะ อุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) มูลค่ากว่า 63 พันล้านกีบ (500 ล้านเยน) ให้แก่สปป.ลาว เพื่อสนับสนุนในการเป็นประธานอาเซียนที่จะจัดการประชุมขึ้นในปี 2567 ซึ่งประกอบไปด้วย รถยนต์โตโยต้า คัมรี ไฮบริด 33 คัน ซึ่งจะใช้ในการขนส่งรัฐมนตรีจากประเทศสมาชิกอาเซียนและคู่เจรจาเมื่อเข้าร่วมประชุมอาเซียนที่ประเทศลาวในปี 2567 และอุปกรณ์ไอทีเพื่อปรับปรุงระบบสื่อสารและสัญญาณอินเทอร์เน็ต โดยมีนายทองพัน สะหวันเพ็ด รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสปป.ลาว และนายเคนอิจิ โคบายาชิ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศสปป.ลาว เข้าร่วมพิธีลงนามที่กระทรวงการต่างประเทศในเวียงจันทน์เมื่อวันจันทร์ที่ 28 พ.ย.2565 ที่ผ่านมา

ที่มา: https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten232_Japan_y22.php

บริษัทญี่ปุ่นจับมือสหกรณ์เม็ดมะม่วงหิมพานต์กัมพูชา

สหกรณ์การเกษตร 12 แห่ง ในกัมพูชา ได้ทำสัญญาร่วมกับบริษัทญี่ปุ่น 2 แห่ง ได้แก่ บริษัท Top Planning และ Kamya เพื่อจัดหาเม็ดมะม่วงหิมพานต์สดปริมาณกว่า 100 ตัน ซึ่งคาดว่าจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยเหลือเกษตรกรกัมพูชาที่กำลังประสบกับปัญหาราคาเม็ดมะม่วงหิมพานต์ตกต่ำ ภายใต้สัญญาดังกล่าวมีกำหนดที่จะเริ่มดำเนินการในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวปีหน้า โดยในข้อกำหนดเน้นย้ำถึงด้านคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าเป็นสำคัญ ในขณะที่รัฐบาลกัมพูชาคาดหวังเป็นอย่างมากว่าการลงนามดังกล่าวจะช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิต ของเกษตรกรกัมพูชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการรักษาเสถียรภาพทางด้านราคาสินค้าเกษตร ซึ่งภายใต้ข้อตกลงนี้บริษัทญี่ปุ่นตั้งราคาเม็ดมะม่วงหิมพานต์สดหนึ่งตันไว้ที่ราคา 1,625 ดอลลาร์ต่อตัน โดยในช่วง 7 เดือนแรกของปี กัมพูชาส่งออกเม็ดมะม่วงหิมพานต์สดปริมาณกว่า 670,000 ตัน ไปยังเวียดนาม คิดเป็นมูลค่า 1 ล้านดอลลาร์ ลดลงมากกว่าร้อยละ 37 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501140414/japanese-firms-tie-up-with-cambodia-cashew-cooperatives/

ญี่ปุ่นบริจาครถยนต์และอุปกรณ์กู้ภัยทางน้ำ ให้สปป.ลาว

นาย. เคนอิจิ โคบายาชิ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำสปป.ลาว ตัวแทนจากประเทศญี่ปุ่น ได้มอบรถยนต์โตโยต้า เครื่องกรองน้ำ และอุปกรณ์ช่วยค้นหาและกู้ภัยสำหรับปัญหาน้ำท่วม ให้กับสปป.ลาว โดยมีน.ส. บัยคำ คัตติยา รมว.แรงงานและสวัสดิการสังคมเป็นผู้รับมอบ ซึ่งการช่วยเหลือของญี่ปุ่นนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งมีมูลค่ารวม 1 พันล้านเยน (มากกว่า 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)

ที่มา: https://laotiantimes.com/2022/08/29/japan-donates-vehicles-and-rescue-equipment-to-help-flood-stricken-laos/

บ.ญี่ปุ่น เข้าซื้อหุ้น 35.1% ในบ.พลังงานเวียดนาม

สำนักข่าวนิกเคอิ (Nikkei) เปิดเผยว่าบริษัทผลิตไฟฟ้าของญี่ปุ่น JERA Co., Inc ลงนามในข้อตกลงที่จะซื้อหุ้น 35.1% ของบริษัทเวียดนาม Gia Lai Electric Joint Stock Company (GEC) ด้วยการตอบสนองความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการลดการปล่อยคาร์บอน ทั้งนี้ บริษัทญี่ปุ่น JERA ถือเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง Tokyo Electric Power และ Chubu Electric Power ที่จะเข้ามาลงทุน 15 พันล้านเยน (112 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในบริษัทพลังงานหมุนเวียนของเวียดนาม โดยการซื้อหุ้นในครั้งนี้ ทางบริษัท JERA ตั้งเป้าว่าจะเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียน 5,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2568

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/japanese-firm-buys-351-stake-at-vietnams-power-company/235754.vnp

คาดเงินกู้ญี่ปุ่นกระตุ้นการขยายท่าเรือสีหนุวิลล์ในกัมพูชา

ญี่ปุ่นสนับสนุนเงินกู้ให้กับกัมพูชาเพื่อทำการขยายพื้นที่ในการจัดเก็บตู้คอนเทนเนอร์ในท่าเรือสีหนุวิลล์ ด้วยวงเงินกู้ยืม 306 ล้านดอลลาร์ จากญี่ปุ่น โดยนายกรัฐมนตรี ฮุนเซน คาดหวังว่าเงินกู้ข้างต้นจะช่วยให้กัมพูชาขยายและปรับปรุงท่าเรืออิสระสีหนุวิลล์ให้เป็นท่าเรือน้ำลึกที่สำคัญในระดับภูมิภาค ซึ่งทาง Hem Vanndy รัฐมนตรีต่างประเทศกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังของกัมพูชา และ Kamei Haruko หัวหน้าผู้แทนสำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งประเทศญี่ปุ่น (JICA) กัมพูชา ได้ทำการลงนามร่วมกันเกี่ยวกับสัญญาเงินกู้ดังกล่าว โดยท่าเรือแห่งนี้จดทะเบียนเป็นท่าเรือน้ำลึกเชิงพาณิชย์แห่งเดียวในกัมพูชา ซึ่งมีรายได้รวม 93.2 ล้านดอลลาร์ในปี 2021 เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามรายงานของกระทรวงโยธาธิการและการขนส่งกัมพูชา ซึ่งปัจจุบันท่าเรือแห่งนี้รองรับตู้คอนเทนเนอร์ 6.9 ล้านตันในปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยโครงการขยายท่าเรือมีกำหนดที่จะเริ่มขึ้นในช่วงปลายปี 2025 ระยะที่ 2 และ 3 ของโครงการ จะเริ่มในปี 2028 และ 2029 ตามลำดับ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501128516/japan-loan-boosts-sihanoukville-port-expansion/

พณ.เปิดตัวเลขการค้า RCEP ครึ่งปีแรกพุ่ง 169 พันล้านเหรียญสหรัฐ โตกว่า 13% หนุนใช้ประโยชน์เพิ่มช่องทางนำเข้าสินค้าทุน

นายสินิตย์ เลิศไกร รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ติดตามสถิติการค้าของไทยกับกลุ่มประเทศสมาชิก RCEP ในช่วงครึ่งปีแรก โดยได้รับรายงานว่า นับจากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ม.ค.ผ่านมา การค้าระหว่างไทยกับประเทศสมาชิก RCEP ในช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย.65) มีมูลค่ารวม 169,041 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 13% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยไทยส่งออกไปยังประเทศสมาชิก RCEP มูลค่า 78,172 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 9% ตลาดส่งออกสำคัญที่ขยายตัวได้ดี อาทิ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ สำหรับการใช้สิทธิประโยชน์ส่งออกภายใต้ความตกลง RCEP ในช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย.65 มีมูลค่า 204.13 ล้านเหรียญสหรัฐ (+2,296%) เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2565 ซึ่งเป็นเดือนแรกของการมีผลบังคับใช้ความตกลง RCEP โดยมีผู้ส่งออกขอใช้สิทธิ์ RCEP ไปยังญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ มากที่สุด และสินค้าที่ขอใช้สิทธิ์ส่งออกสูงสุด อาทิ น้ำมันดิบ ปลากระป๋องและแปรรูป มันสำปะหลัง ทุเรียนสด และรถจักรยานยนต์ สำหรับการนำเข้าโดยใช้สิทธิ์ RCEP มีมูลค่า 72.34 ล้านเหรียญสหรัฐ (+1,887%) และรายการสินค้าที่ใช้สิทธิ์นำเข้าสูงสุด อาทิ ด้ายเส้นใยประดิษฐ์ เคมีภัณฑ์ ไม้อัด เม็ดพลาสติก และส่วนประกอบเครื่องยนต์ (ลูกสูบ)

ที่มา : https://siamrath.co.th/n/370441

จักรยานมือสองญี่ปุ่น ครองส่วนแบ่งตลาดใน “มัณฑะเลย์”

เมืองมัณฑะเลย์เป็นเมืองที่ขึ้นชื่อว่ามีการใช้จักรยานเพื่อการท่องเที่ยวในเขตเมืองเป็นหลัก ซึ่งจักรยานมือสองจากญี่ปุ่นมีส่วนแบ่งการตลาดสูงในเมืองมัณฑะเลย์ ทำให้มียอดขายสูงขึ้นส่งผลให้ราคาปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ราคาอยู่ที่ประมาณ 120,000 – 150,000 จัตต่อคัน ซึ่งจักรยานจากญี่ปุ่นที่นำเข้ามาในประเทศจะผ่านทางทะเล หลังจากนั้นร้านที่รับซื้อจะทำการซ่อมบำรุงรักษาเพื่อไปขายต่อให้กับผู้ที่สนใจรับซื้อ ปัจจุบันในตลาดจะมีที่นำเข้ามาทั้งจากจีนและญี่ปุ่นแต่ที่นิยมส่วนมากจะเป็นของญี่ปุ่นเพราะ มีความทนทานสูงและสมรรถนะที่ดี และในช่วงที่น้ำมันแพงยิ่งเป็นตัวเร่งให้จักรยานเป็นที่ต้องการในตลาดเป็นมากขึ้น

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/used-bikes-from-japan-grasp-market-share-in-mandalay-city/

‘พาณิชย์’ ดึงญี่ปุ่นลงทุนไทยชูใช้สิทธิ ‘FTA-RCEP’ ปักหมุดอุตสาหกรรม BCG

นายสินิตย์ เลิศไกร รมช.พาณิชย์ ประธานเปิดงานสัมมนาเชิงนโยบาย “ความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้ามิติใหม่ ไทย – ญี่ปุ่น” โอกาสฉลองครบรอบ 135 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – ญี่ปุ่น ว่า ได้มีการแลกเปลี่ยนแนวคิดเรื่องนโยบายและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างกัน ในมิติใหม่ที่สอดรับกับสถานการณ์โลกหลังวิกฤตโควิด-19 โดยมีเป้าหมายส่งเสริมอุตสาหกรรมของกลุ่มเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ พลังงานสะอาด สุขภาพและการแพทย์

ทั้งนี้ ไทยมีความตกลงการค้าเสรีกับญี่ปุ่น ได้แก่ ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน – ญี่ปุ่น (AJCEP) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การค้าระหว่างไทยและญี่ปุ่นเติบโตอย่างมาก

ที่มา : https://www.thaipost.net/economy-news/138495/

กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังญี่ปุ่นในช่วง ม.ค.-ก.พ. มูลค่าแตะ 291 ล้านดอลลาร์

กัมพูชาส่งออกสินค้ามูลค่า 291 ล้านดอลลาร์ ไปยังญี่ปุ่นในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ลดลงร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งตัวเลขดังกล่าวรายงานโดยองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) โดยกัมพูชานำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่นมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 87.3 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.4 เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งคิดเป็นมูลค่าการค้าทวิภาคีรวม 378.4 ล้านดอลลาร์ โดยสินค้าสำคัญของกัมพูชาที่ได้ส่งออกไปยังญี่ปุ่นได้แก่ เสื้อผ้า อุปกรณ์ไฟฟ้า และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้าส่งออกสำคัญ ในขณะที่สินค้าสำคัญของญี่ปุ่นที่ได้ทำการส่งออกไปยังกัมพูชา ได้แก่ เครื่องจักร สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และผลิตภัณฑ์ไฮเทค เป็นสำคัญ ซึ่งในปีที่แล้ว ปริมาณการค้าทวิภาคีระหว่าง กัมพูชา-ญี่ปุ่น อยู่ที่ 2,332 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นกัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังญี่ปุ่นมูลค่า 1,752 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ที่มา: https://www.khmertimeskh.com/501058463/cambodia-exports-to-japan-nets-291-million-in-january-february/