เลือกตั้งดัน GDP ไทย

จากข้อมูลธนาคารโลก คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2566 จะเติบโตร้อยละ 3.6 ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิมที่มีการคาดการณ์ไว้เมื่อเดือนธันวาคม 2565 โดยเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นจากในปี 2565 ที่เติบโตร้อยละ 2.6 และคาดว่าในปี 2567 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.1 ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ  หรือ IMF  ยังคงคาดการณ์เศรษฐกิจประเทศไทยสำหรับปีนี้และปีหน้า โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 3.7% ในปีนี้ และ 3.6% ในปีหน้า เมื่อเทียบกับที่เคยคาดการณ์ไว้ในเดือนต.ค. แต่ลดคาดการณ์การขยายตัวเฉลี่ยสำหรับ 5 ประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งประกอบด้วยอินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์,  สิงคโปร์ และไทย

อย่างไรก็ตาม มีการจับตาปัจจัยเรื่องการเลือกตั้ง ที่จะช่วยดันเศรษฐกิจไทย โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจคาดว่าช่วงการจัดกิจกรรมหาเสียงเต็มรูปแบบของพรรคการเมืองทุกพรรคไปจนถึงวันเลือกตั้งจริง จะมีเม็ดเงินสะพัดทุกกิจกรรมลงในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศในระดับรากหญ้าไม่ต่ำกว่า 40,000-50,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสที่ 2 เติบโตไปพร้อมกับการท่องเที่ยว โดยดันจีดีพีไทยให้สูงขึ้นในช่วงไตรมาสดังกล่าว 1-1.5% และคาดว่าจะดันให้เศรษฐกิจไทยในช่วงตลอดปี 2566 มีอัตราการเติบโตเป็นบวก 3-4% ได้อย่างแน่นอน

ที่มา : https://siamrath.co.th/c/437831

OECD คาด GDP กัมพูชาโต 5.4% ในปีนี้

องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) คาดการณ์เศรษฐกิจของกัมพูชาจะเติบโตร้อยละ 5.4 ในปี 2023 หลังจากที่ขยายตัวประมาณร้อยละ 5.1 เมื่อปีที่แล้ว ภายใต้การฟื้นตัวของภาคการผลิต และภาคการท่องเที่ยวที่จะเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นการเติบโตในปีนี้ อีกทั้งทางการจีนได้ยกเลิกมาตรการป้องกันโควิด-19 ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ ด้าน Pan Sorasak รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา กล่าวเสริมว่า ความก้าวหน้าของการพัฒนาเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในโซนเอเชีย ได้แสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นต่อความไม่แน่นอนของสถานการณ์โลก สะท้อนจากการเติบโตทางเศรษฐกิจในหลายๆ ประเทศ แม้ว่าจะเผชิญกับความท้าทาย เช่น อัตราเงินเฟ้อสูงและภาวะเศรษฐกิจโลกที่ตกต่ำ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501267156/oecd-sees-cambodia-gdp-growth-at-5-4/

ธนาคารโลกคาดเศรษฐกิจกัมพูชายังคงขยายตัว แม้หลายประเทศในภูมิภาคมีแนวโน้มหดตัว

ธนาคารโลก (World Bank: WB) ระบุว่าประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในช่วงสองทศวรรษ และมีความผันผวนน้อยกว่าประเทศอื่นๆ แต่หลังจากวิกฤตการเงินในเอเชียช่วงปี 1997-1998 ภูมิภาคนี้เริ่มมีการปฏิรูปเชิงโครงสร้างที่ค่อนข้างจำกัด ส่งผลทำให้การเปลี่ยนแปลงเชิงผลิตภาพขยายตัวเพียงเล็กน้อย แม้จะเปิดกว้างสำหรับภาคการค้าและการลงทุนในภาคการผลิต ผลที่ตามมาคือ การเติบโตของผลิตภาพในเศรษฐกิจระดับภูมิภาคหลายแห่งปรับตัวลดลงตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินโลกในปี 2008-2009 ถึงอย่างไรภาคอุตสาหกรรมของทั้งกัมพูชาและเวียดนามกลับมีการเติบโตที่ดีกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค โดย WB คาดการณ์ GDP ของกัมพูชาในปี 2023 ไว้ที่ร้อยละ 5.2

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501265854/cambodia-is-regional-exception-to-falling-trend-in-manufacturing/

“เวียดนาม” เผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่กับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล

จากรายงานเศรษฐกิจดิจิทัลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประจำปี 2565 (e-Conomy SEA 2022) ฉบับที่ 7 โดย Google, Temasek และ Bain & Company ระบุว่าเศรษฐกิจดิจิทัลของเวียดนามในปี 2565 มีมูลค่าสูงถึง 23 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะพุ่งทะยานแตะ 49 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568 ซึ่งเป็นการเติบโตเร็วที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ทั้งนี้ จากข้อมูลของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยตัวเลขของรายได้ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ของเวียดนาม อยู่ที่ 148 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีที่แล้ว คิดเป็น 14.26% ของ GDP และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเศรษฐกิจดิจิทัลที่คิดเป็น 20% ของ GDP ประเทศ ทำให้เวียดนามจำเป็นต้องรักษาการเติบโตเศรษฐกิจดิจิทัลต่อปีที่ประมาณ 20% ซึ่งสูงกว่าประมาณการณ์การขยายตัวของ GDP ที่คาดการณ์ไว้มากกว่าสามเท่า

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1498513/central-bank-must-keep-a-close-on-the-financial-market-wb.html

องค์การสำคัญระดับโลกคาดการณ์ GDP กัมพูชา โตต่อเนื่องในปี 2023

องค์การสำคัญระดับโลกคาดเศรษฐกิจกัมพูชาจะขยายตัวกว่าร้อยละ 5.6 ในปีนี้ เทียบกับการคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ร้อยละ 6.6 กล่าวโดย Vongsey Vissoth ปลัดกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังกัมพูชา ซึ่งผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของกัมพูชามีแนวโน้มที่จะสูงถึง 28.58 พันล้านดอลลาร์ภายในสิ้นปีนี้ ตามแบบจำลองมหภาคของ Trading Economics และการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ ในระยะยาว GDP ของกัมพูชาคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 30.24 พันล้านดอลลาร์ในปี 2024 และเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 38.39 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2025 ตามแบบจำลองทางเศรษฐมิติ ในขณะที่ Economist Intelligence Unit (EIU) คาดการณ์ว่าการเติบโตของประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะอยู่ในระดับปานกลางที่ร้อยละ 5 ในปี 2023 หลังจากที่สูงถึงประมาณร้อยละ 5.5 ในปีก่อนหน้า เนื่องจากเศรษฐกิจยังคงฟื้นตัวจากโรคระบาดอย่างค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงยังได้รับประโยชน์จาก ข้อตกลงการค้าระดับภูมิภาคใหม่ ทางด้านธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) คาดการณ์เศรษฐกิจกัมพูชาจะเติบโตอย่างแข็งแกร่งในปีนี้ที่ร้อยละ 5.5 ด้วยอุปสงค์ภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการเดินทางที่ปรับตัวดีขึ้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501233031/kingdoms-growth-story-to-continue-in-2023/

EIC คาดเศรษฐกิจ CLMV ปี’66 ขยายตัวแกร่ง แต่ต่ำกว่าศักยภาพก่อน COVID-19

SCB EIC คาดเศรษฐกิจ CLMV ในปี 2566 ขยายตัวแข็งแกร่งขึ้น แต่ยังต่ำกว่าศักยภาพการเติบโตในช่วงก่อนการระบาด COVID-19 โดยมีอัตราการเติบโตที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ ขึ้นอยู่กับโครงสร้างเศรษฐกิจและปัจจัยเสี่ยงรายประเทศ โดยประเมินว่าในปีนี้กัมพูชาจะขยายตัวได้ 5.5% สปป.ลาวและเมียนมา 3.0% และเวียดนาม 6.2% อีกทั้ง เศรษฐกิจ CLMV ในปี 2566 มีแนวโน้มฟื้นตัวจากอุปสงค์ภายในประเทศและการท่องเที่ยว การบริโภคภายในประเทศมีปัจจัยบวกจากตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง เห็นได้จากการจ้างงานในเวียดนามในไตรมาส 4 ปี 2565 ที่เพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดตั้งแต่เกิดการระบาด COVID-19 ขณะเดียวกัน ภาคบริการจะได้อานิสงส์จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ โดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวจีนซึ่งมีความสำคัญต่อ CLMV คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 30-35% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดในปี 2562 โดยจีนอนุมัติให้กรุ๊ปทัวร์สามารถเดินทางมากัมพูชา และสปป.ลาวได้ตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ และคาดว่าจะเพิ่มรายชื่อประเทศที่สามารถเดินทางมาได้เร็ว ๆ นี้ ทั้งนี้กัมพูชาและเวียดนามจะได้รับผลประโยชน์จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวมากที่สุด เนื่องจากพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวสูงอยู่ที่ 18.2% และ 9.8% ต่อ GDP ตามลำดับ

ที่มา : https://thaipublica.org/2023/02/eic-expects-stronger-clmv-economic-growth-in-2023/

กัมพูชาคาด GDP ปี 2023 โต 5.6%

กัมพูชาคาดผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) จะขยายตัวที่ร้อยละ 5.6 ในปี 2023 ตามข้อมูลของกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังกัมพูชา หลังจากในปี 2022 เศรษฐกิจกัมพูชาขยายตัวร้อยละ 5.2 แม้จะเผชิญกับความไม่แน่นอนทั่วโลก อย่างเช่น สงครามยูเครนรัสเซียที่กำลังดำเนินอยู่ รวมถึงอัตราเงินเฟ้อ การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย และการฟื้นตัวของโควิด-19 ทั่วโลก นำโดยภาคธุรกิจที่นอกเหนือจากอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มคาดว่าจะขยายตัวถึงร้อยละ 11.7 โดยได้รับแรงหนุนจากการส่งออกที่เพิ่มสูงขึ้นตามความต้องการของตลาดโลก อาทิเช่น เฟอร์นิเจอร์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของกัมพูชาคาดว่าจะมีการเติบโตอยู่ในช่วงร้อยละ 5.5 ในปีนี้ สำหรับอุตสาหกรรมโรงแรมและร้านอาหารคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตเป็นตัวอย่างน้อยร้อยละ 30 ฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิด-19 โดยคาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะเดินทางมายังกัมพูชาอยู่ที่ประมาณ 2.28 ล้านคน ในช่วงเวลาดังกล่าว

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501226196/cambodia-expects-5-6-gdp-growth-in-2023/

“เวียดนาม” ประกาศลดภาษี VAT เหตุช่วยฟื้นตัวเศรษฐกิจ

กรมจัดเก็บภาษีอากร (GDT) เปิดเผยว่าทางหน่วยงานประสบความสำเร็จในการจัดเก็บงบประมาณรายได้ของรัฐบาล อยู่ที่ 1.692 ล้านล้านดอง หรือคิดประมาณ 20% ของงบประมาณรายได้รวม ซึ่งการจัดเก็บงบประมาณดังกล่าวสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หน่วยงานสามารถจัดเก็บรายได้ในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมากกว่า 85% แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐฯ อยู่ในระดับสูง ประมาณ 18% ของ GDP ส่งผลให้ธุรกิจ ประชาชนและเศรษฐกิจ เผชิญกับความยากลำบากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นเวียดนามจึงดำเนินนโยบายการคลัง เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค ตลอดจนกระตุ้นเศรษฐกิจและการบริโภค ด้วยการลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 2% หรือประมาณ 51.4 ล้านล้านดอง

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vat-reduction-helps-economic-recovery-2101467.html

“สปป.ลาว” เร่งจัดหาเงินในการชำระหนี้ เงินเดือนและโครงการพัฒนาของภาครัฐ

กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าการจ่ายเงินเดือนข้าราชการ การพัฒนาโครงการลงทุนและการชำระหนี้ เป็นค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ของรัฐบาลที่ได้จัดสรรในปี 2566 โดยรัฐบาลปรับเพิ่มวงเงินงบประมาณรายจ่ายจากปีที่แล้ว อยู่ที่ 34.5 ล้านล้านกีบ ขึ้นมาอยู่ที่ 43.49 ล้านล้านกีบในปี 2566 ในขณะที่รายได้ของประเทศตั้งเป้าไว้ที่ 38.44 ล้านล้านกีบ เพิ่มขึ้น 21.7% เมื่อเทียบปีต่อปี และแผนการใช้จ่ายงบประมาณในปีนี้ คิดเป็นร้อยละ 18.58% ของ GDP ทั้งนี้ รัฐบาลได้ทำการปรับปรุงเกี่ยวกับการบริหารรายจ่ายและการพัฒนาระบบการชำระเงิน ซึ่งเป้าหมายที่สำคัญ คือ การจัดการรายได้ในประเทศให้เพียงพอกับการใช้จ่ายได้ หรือทำให้เกินดุลงบประมาณ เพื่อให้รัฐฯ มีเงินสำรองในการชำระหนี้ อย่างไรก็ตาม ค่าเงินกีบที่อ่อนค่าลง ทำให้รัฐบาลต้องคาดการณ์ว่าจะสามารถชำระหนี้ต่างประเทศได้หรือไม่

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten2023_More14.php

สื่ออินเดีย ชี้เวียดนามก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมแห่งใหม่ของเอเชีย

บทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ “THE STAT READE TIMES” เปิดเผยว่าเวียดนามจะก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมชั้นนำของเอเชีย โดยเฉพาะเทคโนโลยีและเครื่องแต่งกาย โดยบทความข้างต้นระบุว่าบางประเทศในเอเชียยังอยู่ในช่วงค่อยๆ ฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของไวรัส แต่เวียดนามยังคงมีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ และ GDP ของประเทศ เร่งขยายตัว 8.02% ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 นับเป็นอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นรวดเร็วที่สุดในภูมิภาคเอเชีย อีกทั้ง เวียดนามมีแรงงานที่สามารถแข่งขันได้และต้นทุนการผลิตต่ำ ประกอบกับประชากรวัยหนุ่มสาว จำนวน 97 ล้านคน โดยสัดส่วนประชากร 70% อยู่ในช่วงอายุต่ำกว่า 35 ปี ซึ่งเป็นกำลังแรงงานจำนวนมากสำหรับอุตสาหกรรมการผลิต

ที่มา : https://en.nhandan.vn/indian-newspaper-vietnam-could-be-asias-next-industrial-hotspot-post121907.html